xs
xsm
sm
md
lg

จากแม่สีธรรมชาติ สู่วิถีผ้าพื้นบ้านภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากเอ่ยถึงผ้าพื้นบ้านไทย หลายคนรู้จักผ้ามัดหมี่ภาคอีสาน ผ้าซิ่นไทยลื้อภาคเหนือ ผ้าซิ่นตีนจกคูบั ราชบุรี ซึ่งปัจจุบันยังคงมีการทอให้เห็น แต่หากเอ่ยถึงผ้าภาคใต้ที่รู้จักกันดีอย่างผ้ายกนคร ผ้าเกาะยอ ผ้านาหมื่นศรี ผ้าพุมเรียง ผ้าจวนตานี ปัจจุบันการทอผ้าเหล่านี้ได้ลดจำนวนลงเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ ทว่าในความเจือจางของการถักทอผืนผ้าจากเส้นใย ยังมีบางหมู่บ้านในภาคใต้คงวิถีการทอผ้าด้วยกี่กระทบมือแบบดั้งเดิม พร้อมกับการประยุกต์นำเอาวัสดุบางส่วนจากธรรมชาติเฉพาะท้องถิ่นสร้างสีสันให้กับเส้นไหมหรือเส้นฝ้าย

"ผู้จัดการปริทรรศน์" พาล่องใต้สัมผัสวิถีผ้าพื้นบ้าน และภูมิปัญญาการใช้แม่สีจากธรรมชาติของชาวบ้าน

แกะลายผ้าไหมพุมเรียงอันลือชื่อ

บ้านท่ากระจาย อำเภอท่าชนะ สุราษฎร์ธานีมีการทอผ้าในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยมุสลิมสืบทอดมาอย่างน้อย 4 ชั่วอายุคน พร้อมกันนั้นยังมีชื่อเสียงในการทอผ้าไหมพุมเรียง เป็นผ้าไหมทอยกดอกโดยใช้กี่กระทบมือมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน

ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอสุราษฎร์ธานีมีมาแต่โบราณ เรียกว่า ลายราชวัตร ลายราชวัตรมี 2 แบบ ลายใหญ่เรียกว่าราชวัตรโคม และลายราชวัตรเล็ก ปลายผ้าด้านล่างนิยมทอเป็นลายยอดแหลมคล้ายพีระมิด ใช้ดิ้นเงินดิ้นทองในการทอตามรูปแบบการทอผ้าในราชสำนักมาเลย์ ราชวัตรเป็นชื่อพระราชทานในรัชกาลที่ 5 ที่เสด็จฯเยี่ยมทางภาคใต้ ตั้งชื่อลวดลายให้มีความหมายใช้ในงานมงคล ชาวบ้านส่วนใหญ่ทอใช้เป็นผ้าขาวม้าคาดเอว

มะเสนาะ ใสหยิด วัย 72 ปี เริ่มทอผ้ามาตั้งแต่ยังสาวรุ่นเล่าย้อนอดีตสมัยก่อนพร้อมๆ กับปั่นฝ้าย "เห็นพี่สาวทอก็หัดทอ ทอมาเรื่อยๆ แม่ของยาย ทอมาเป็น 100 ปีแล้ว ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขาดแคลนอุปกรณ์ หยุดทอผ้านานหลายปี สมัยก่อนมีลายราชวัตร และลายพิกุล ต่อมาคิดหาลายใหม่ทำ สมัยก่อนทำในครัวเรือนไว้ใช้เอง ทำเป็นผ้าถุง ผ้าขาวม้า เดี๋ยวนี้ซื้อผ้าปาเต๊ะใช้ แต่ยังมีบางบ้านทอขึ้นมาใช้เอง"

ภายในห้องที่มะเสนาะกำลังปั่นฝ้าย เต็มไปด้วยกี่กระทบมือแบบดั้งเดิม และเส้นไหมเฉดสีต่างๆซึ่งได้จากสีย้อมธรรมชาติจากริมทะเล อาทิ ต้นตะบูนแดง

มะอ๊ะ คชสวัสดิ์ ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านท่ากระจาย ทอผ้ามาตั้งแต่อายุ 15 ปีกระทั่งปัจจุบันอายุ 60 ปี กำลังสาละวนกับการต้มตะบูนแดงเพื่อนำมาทำสีย้อมผ้า อธิบายว่า "แม่พี่น้องทอทุกคน เมื่อก่อนในหมู่บ้านทอผ้ากันทุกครัวเรือน พอมีการก่อตั้งศูนย์ทอผ้าท่ากระจาย คนในหมู่บ้านก็ออกมาทอที่ศูนย์ฯ ทอผ้าเป็นอาชีพเสริมรองจากการทำนาทำไร่ทำสวน สมัยปู่ย่าตายายมีการนำผ้าด้ายมาย้อมสีธรรมชาติ พอตายไปก็ทิ้ง ไม่ได้นำกลับมาใช้ ต่อมามีการใช้สีเคมี กระทั่ง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มนำสีธรรมชาติมาใช้ ข้อดีทำให้ผ้านิ่ม ใส่สบาย ไม่อับ ต่างจากสีเคมีทำให้ผ้ากระด้าง"

เมื่อน้ำต้มตะบูนเข้มได้ที่ สยามล ผู้ช่วยสาวได้นำผ้ากรองแยกเปลือกทิ้ง จากนั้นนำฝ้ายดิบสีขาวขุ่นมาแช่น้ำให้อิ่มตัวพร้อมดูดซับน้ำสี สยามลเล่าเสริมว่าว่างจากงานประจำจะมาทอผ้าที่ศูนย์ฯ เช่นเดียวกับสมาชิกคนอื่น รายได้วันละ 100 กว่าบาท จากออเดอร์สั่งเข้ามามาก

เธอบอกว่าปัจจุบันผู้บริโภคให้ความนิยมผ้าทอสีธรรมชาติมากกว่าสีเคมี ห่างจากหมู่บ้านท่ากระจาย ด้วยเวลาเพียง 2 ชั่วโมงก็มาถึงหมู่บ้านห้วยพุน ที่นี่ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม เมื่อปี 2545 รวมตัวกันตั้งกลุ่มทอผ้าบ้านห้วยพุน ทอผ้าเป็นรายได้เสริมเดือนละ 800-1,000 บาทต่อคน หลังว่างจากการทำเรือกสวนไร่นา ผ้าทอส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้ายลายราชวัตรเล็ก ย้อมสีธรรมชาติ

"ใบสาบเสือให้สีเขียว เพิ่งนำมาใช้เป็นปีแรก ขึ้นอยู่ริมบ้าน เห็นใบเขียวดี จึงลองนำมาตำแล้วผสมน้ำด่างดู ได้ผลสีเขียว ถูกใจจึงนำมาใช้เรื่อยมา" บรรดาแม่บ้านและหญิงสาวสมาชิกกลุ่มผลัดกันเอ่ยถึงสีย้อมธรรมชาติที่คิดค้นจากต้นไม้ใกล้ตัวรอบๆบ้าน

"ก่อนหน้านี้นำเอาใบมะขามป้อมลงแช่น้ำด่างได้สีแดง ลงแช่น้ำบูนได้สีดำ สะตอให้สีเขียว ต้นตะบูนแดงตามชายทะเล ตอนแรกก็ทำดู ขึ้นสีสวยก็ทำกันใหญ่ ออกแบบลายผ้าเอง ผ้าลายราชวัตรดอกเล็กส่วนใหญ่นิยมสีดำ สีเขียวใบสาบเสือ รายได้พออยู่ได้ เป็นบางโอกาส บางครั้ง 500 บาทถ้าขายดีก็ได้เยอะ"

ลวดลายบนผ้าทั้งที่หมู่บ้านท่ากระจายและหมู่บ้านห้วยพุนมีลักษณะเหมือนกันคือ ต่างไม่มีลวดลายสัตว์บนผืนผ้า ซึ่งประไพ ทองเชิญ หรือพี่หยอย นักวิจัยเชิงปฏิบัติการแม่สีธรรมชาติในวิถีผ้าพื้นบ้านภาคใต้ ให้เหตุผลว่า เป็นไปตามความเชื่อเรื่องบาปบุญทางศาสนาอิสลาม

"เอกลักษณ์โดยทั่วไปผ้าภาคใต้เป็นผ้าทอยกดอก ไม่ค่อยเห็นการทอผ้าพื้น ลวดลายดอกไม้ ต้นไม้ อย่างดอกแก้ว ดอกพิกุล ฯลฯ ไม่มีลายสัตว์ เป็นเพราะอิทธิพลทางศาสนา เพราะชาวมุสลิมเชื่อว่าจะต้องไม่เบียดเบียนสัตว์ ถ้านำสัตว์มาอยู่บนตัวจะเป็นบาป"

สวนสมรมแหล่งรวมสีย้อมธรรมชาติ

เนื่องจากทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านคีรีวงอำเภอลานสกา นครศรีธรรมราช คงความอุดมสมบูรณ์ของป่าเขา มีผลไม้หลายอย่างบนพื้นที่เดียวกัน อาทิ เงาะ ทุเรียน มังคุด สะตอ ลางสาด ขนุน หมาก ลูกเนียง ลูกเหรียง ฯลฯ เรียกว่า "สวนสมรม" นอกจากจะให้ผลผลิตเป็นผลไม้หลากชนิดแล้ว พืชเหล่านี้ยังให้แม่สีสำหรับนำไปย้อมผ้า

จรวย ชุมสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่การเงิน อายุ 43 ปี อาชีพหลักทำสวน บอกว่า ชาวบ้านใช้เวลาทำสวน 3 เดือน 9 เดือนที่เหลือเป็นช่วงว่างงานจึงหันไปหาอาชีพเสริม รวมตัวกันตั้งกลุ่มผ้ามัดย้อม โดยนำวัสดุจากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และไม่ทำลายธรรมชาติ

"รวมตัวครั้งแรก ปี 2531 หมู่บ้านประสบอุทกภัยน้ำท่วม ไร่สวนเสียหาย รายได้หลักหายไป ทำอาชีพเสริมให้กับครอบครัว ไม่ทำลายธรรมชาติ ปี 2535 มีนักวิชาการจากมูลนิธิโกมลคีมทองเข้ามาอบรม ครั้งแรกมีสมาชิก 10 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 65 คน รายได้ 2,500-4,000 บาทต่อเดือน เสน่ห์อยู่ที่ความไม่ซ้ำ และเย็นสบายตา"

นำประสบการณ์วัยเด็กมาสร้างสี "สีที่เอามาใช้เอามาจากสวนของเราเอง สีธรรมชาติไม่ร้อน ไม่เป็นอันตรายต่อผิว อาศัยความรู้เดิมจากช่วงเด็กตามผู้ใหญ่ไปสวน เก็บมังคุด หมาก สะตอใส่เสื้อแล้วยางติดเสื้อ ซักไม่ออก"

"ครั้งแรกผสมกับน้ำเปล่าสีติดไม่ดี ลองเอาสารกระตุ้นมาทดลอง มีปัญหาเรื่องสีไม่ทน ไม่แน่น ศึกษาจากคนภายนอกมาปรับเรียนรู้ในชุมชน ลองนำใบชมพู่มาต้มได้สีชมพู และสีน้ำตาลอ่อน ใบทุเรียนให้สีเหลือง ใบกระท้อน สีที่ได้จางมาก จากนั้นประยุกต์นำเปลือกลูกเนียง มังคุด มาทดลอง ปรากฏว่าได้รับความนิยม มังคุดแก่จัดให้สีส้ม มังคุดร่วงให้สีชมพู หรือน้ำตาลแล้วแต่สารกระตุ้น เปลือกเงาะ สะตอ และลูกเนียงให้สีดำหรือสีเทา แก่นขนุนแก่จัดได้สีเหลืองสดเข้ม นำไปแสดงสินค้าครั้งแรกที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ ลูกค้าไม่กล้าซื้อไปใส่ จึงพัฒนาหันมาลองใช้ใบหูกวางมาย้อมได้สีเขียวอมเหลือง"

"สารกระตุ้น หรือมอร์แดนต์ (mordant)ช่วยในการยึดและก่อให้เกิดเฉดสีกลุ่มโทนสีใสและโทนสีเข้ม โทนสีใสเติมสารส้ม,น้ำด่าง โทนสีทึบเติมน้ำโคลน,น้ำสนิม ครั่งให้สีแดงเมื่อมีความเปรี้ยวไปกระตุ้น ผสมน้ำส้มแขกให้สีแดงแสด ตอนนี้กำลังพัฒนาสีครามจากฮ่อม และย่านครามขึ้นที่นี่ เป็นภูมินิเวศน์เฉพาะ เพื่อให้เป็นสีเอกลักษณ์ผ้ามัดย้อมที่นี่"

ตั้งแต่ย้อมสีมา เฉดสีที่ถือเป็นความภูมิใจสำหรับกลุ่มทอผ้าคีรีวง เพราะยังไม่ปรากฏว่ามีที่อื่นทำได้คือสีย้อมจากใบมังคุดได้สีส้ม และสีชมพู ซึ่งเป็นสีที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมมากที่สุด รองลงมาคือสีเขียวอมเหลืองจากใบหูกวาง และสีจากเปลือกสะตอ และลูกเนียง

"จุดเด่นของสินค้าใช้สีจากวัสดุในท้องถิ่น มีสีเป็นเอกลักษณ์ของชาวคีรีวง นำใบไม้ของผลไม้มาสกัดสีโดยไม่ทำลายธรรมชาติ แต่ละสีไม่มีเคมีเจือปน"

ต้นไม้บางชนิดให้ผลเฉพาะฤดูกาล ยกตัวอย่างเปลือกลูกเนียงให้สีเทาหรือดำ มีเฉพาะเดือน 9 เดือน 10 ชาวบ้านมีวิธีเก็บรักษาด้วยการนำเปลือกลูกเนียงมาเก็บไว้ กรณีที่พืชหายากทดแทนโดยใช้สีอื่น ช่วงไหนไม่มีเงาะใช้เปลือกลูกเนียงแทน กระตุ้นด้วยโคลนให้สีออกมาใกล้เคียงกัน

สีย้อมธรรมชาติจากป่าพรุ

ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นจากเม็ดฝนที่ไหลรินไม่ขาดสาย คละคลุ้งไปด้วยควันไฟจากเตาต้มใบคุระ และย่านมันแดงที่พวยพุ่งจากหลังบ้านของ จำรูญ พลายด้วง ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านเนินธัมมัง หมู่บ้านหนึ่งในอำเภอเชียรใหญ่ นครศรีธรรมราช อีกหมู่บ้านที่นำเอาบางส่วนของต้นไม้ในเขตป่าพรุมาใช้ประโยชน์เป็นสีย้อมผ้า

"โทนสีที่ได้จากป่าพรุทั้งหมด"ระหว่างรอใบคุระ และย่านมันแดงขับน้ำสีออกมา จำรูญเล่าถึงกระบวนการได้มาซึ่งเฉดสีต่างๆ จากธรรมชาติ

"ก่อนหน้านี้ซื้อเส้นใยจาก อย.มาผลิตเป็นผืนผ้า ขายในราคาแพง จำนวนคนที่มาซื้อน้อย จึงระดมความคิดกับสมาชิกต้องการลดต้นทุนการผลิต ลงทุนน้อยที่สุด และสนองความต้องการของชุมชนในการรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ป่าพรุ บ้านเนินธัมมัง จนได้รู้จักวิธีการย้อมสีผ้าจากธรรมชาติ เกิดที่นี่ โตที่นี่ 40 กว่าปีอยู่ที่นี่ตลอด รู้ว่าสภาพป่าพรุเป็นอย่างไร คนเราอยู่กับธรรมชาติ ฟื้นฟูอย่างไรให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน"

ใช้วิธีลองผิดลองถูกจนได้แม่สีย้อมผ้า "ครั้งแรกไปอบรมที่คีรีวง จดจำมาทำ วันนั้นซื้อผ้าฝ้ายมาต้มกับใบไม้ ตัดย่านมันแดง พืชเถาวัลย์ขึ้นริมคลองป่าพรุ ต้มได้สีเขียวน้ำสนิม ลองนำไปลงแช่น้ำสนิมครั้งแรกได้สีเขียวอ่อน ยิ่งแช่ซ้ำหลายครั้งได้สีเข้มขึ้นเรื่อยๆ นำผ้าไหมชุบย่านมันแดงแช่น้ำปูนใสได้สีเหลือง ใบคุระให้สีเทา สีควันบุหรี่ ครั้งที่ 5 ได้สีดำ ลูกจากอยู่ริมคลอง ในน้ำกร่อย สีแรกเริ่มได้จากตานโตนด ใบไทร ใบคุระ เป็นคนชอบทดลอง หาพืชมาลองต้ม ดูว่าจะได้สีอะไร ล่าสุดเพิ่งได้ลูกจิกนามาลองต้มได้สีดำ"

ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง ใบคุระ และย่านมันแดง ก็ขับน้ำสีน้ำตาลเข้มออกจากใบ พร้อมที่จะนำมาย้อมผ้าฝ้ายดิบที่ล้างผงซักฟอกเอาไขมันออก และผึ่งลมไว้รอชุบแม่สีที่เพิ่งออกจากเตา จำรูญนำผ้าฝ้ายแช่น้ำใบคุระ และย่านมันแดง ลงแช่ในถังซึ่งภายในบรรจุสารกระตุ้นสี ถังแรกบรรจุด้วยน้ำด่าง หรือน้ำขี้เถ้า ทำให้เส้นไหมกลายเป็นสีเขียวอ่อน ถังถัดมาบรรจุด้วยน้ำปูนได้สีน้ำตาล ถัดมาเป็นน้ำสารส้มได้สีเขียวใบเตย และถังน้ำสนิมให้สีเทา

ประไพ ทองเชิญ หรือพี่หยอย นักวิจัยเชิงปฏิบัติการแม่สีธรรมชาติในวิถีผ้าพื้นบ้านภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ลงไปศึกษาร่วมกับชาวบ้าน อธิบายถึงวิถีผ้าพื้นบ้านภาคใต้

"ทุกพื้นที่มีการทอผ้าด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านของแต่ละถิ่น คนใต้แต่ก่อนถ้าฟังคนแก่แถวนาหมื่นสี จังหวัดตรังเล่าว่า มีการปลูกฝ้ายดอกขาวเต็มแล้วนำมาปั่น คนแก่แถวพัทลุงเล่าว่า มีการปั่นฝ้าย และทอผ้าใช้ในชีวิตประจำวัน แต่จะทอผ้ายกให้กับราชสำนัก เจ้านายตามหัวเมืองในสมัยก่อน วิถีชีวิตของชาวมุสลิมแต่ก่อนใช้ผ้าไหม ผ้าส่าหรี ปัจจุบันอุตสาหกรรมพัฒนาไปมาก มีผ้าโรงงานให้เลือกหลากหลาย"

จากการพูดคุยกับชาวบ้านที่เป็นตัวแทนผ้าพื้นบ้าน เธอบอกว่าปัญหาที่พบมากที่สุดคือเรื่องเส้นใย บางครั้งได้สีไม่ตรงตามที่ต้องการ จะให้โรงงานย้อมให้ไม่ได้ ลูกค้าต้องการสีน้ำเงินแต่เส้นไหมขาดแคลนสี จึงหาหนทางที่สามารถย้อมสีได้เองจากส่วนต่างๆ ของต้นไม้ที่ขึ้นในแต่ละท้องถิ่น

โดยประสบการณ์จากการศึกษาเรื่องสีธรรมชาติ ประไพมองว่าภาคใต้มีศักยภาพเรื่องการใช้สีธรรมชาติได้เปรียบกว่าภาคอื่น "พืชพันธุ์แต่ละที่เฉพาะถิ่น ชาวบ้านจะมีสีหลักเป็นเอกลักษณ์ ภาคใต้มีความหลากหลาย ทั้งพืชในเขตนา พืชริมทะเล พืชในภูเขา เรื่องของดิน ทำให้ความเข้มข้นของสีเข้มข้นกว่า คิดว่าภาคใต้มีศักยภาพในการทำสีและพัฒนาเรื่องสีธรรมชาติไปข้างหน้าได้เยอะมาก"

การพัฒนาสีธรรมชาติมีความเป็นไปได้ไม่จำกัด เพราะองค์ความรู้อยู่ที่ชาวบ้านจะทดลอง ใบไม้ต่างฤดูให้ผลแตกต่างเป็นเรื่องสนุก หลักการเดียวแต่สามารถนำวัสดุหลายอย่างมาใช้ให้เกิดสีหลากหลาย เป็นความรู้ที่ไม่ตายตัว สามารถต่อยอดได้ เป็นทิศทางการพึ่งตนเอง มีภูมิรู้อยู่กับตนเอง สามารถพัฒนาไปได้ด้วยตนเอง








กำลังโหลดความคิดเห็น