หลายครั้งขณะที่คนกรุงพยายามหมุนวิทยุหาคลื่นโปรด หลายคนอาจสังเกตว่าหน้าปัดคลื่นวิทยุนั้นมีความ "หนาแน่น" กว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะในย่านความถี่ใหม่ที่ลงท้ายด้วย .25 หรือ .75 ซึ่งเป็นความถี่ของสถานีวิทยุชุมชนในเขตพื้นที่ กทม.
จากอดีตที่คนเมืองธรรมดายากจะมีโอกาสได้เช่าเวลาสถานีวิทยุ มิต้องเอ่ยถึงการได้เป็นเจ้าของคลื่นเองที่ความหวังแสนจะริบหรี่ แต่วันนี้คลื่นวิทยุของคนเล็กๆ ที่ไม่ได้เป็นคลื่นกระแสหลักและตั้งอยู่บนผลประโยชน์ทางธุรกิจ กำลังออนแอร์อยู่ทั่วกรุงเทพฯ ให้คนเมืองหลวงได้มีโอกาสสัมผัสอัตลักษณ์ท้องถิ่นของตัวเอง
ไม่เพียงคนเล็กๆ ธรรมดาที่มีโอกาสจับจองคลื่นวิทยุชุมชน แม้แต่เจ้าใหญ่ที่ถูกเบียดตกหน้าปัดก็ยังโดดลงสนามมาขอแชร์สัญญาณด้วย บางคลื่นนั้นฟังดูแทบไม่ต่างจากคลื่นกระแสหลักอื่นๆ ผู้จัดการปริทรรศน์จึงขอนำเสนอเรื่องราวของ "คน" และ "คลื่น" ผู้เป็นตัวแทนของกลุ่มคนเล็กๆ ในวันที่ "เสียง" ของพวกเขาไม่เล็กหรือเงียบงันอีกต่อไป
104.75 สถานีเพื่อการอนุรักษ์
หากคุณอาศัยอยู่ไม่ไกลจากย่านชุมชนพหลโยธิน และหมุนวิทยุมาที่คลื่น F.M.104.75 MHz. ก็จะได้พบกับคลื่นที่เปิดเพลงลูกกรุงให้ฟังตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เวลา 05.00-24.00 น.
คลื่นเล็กๆ นี้เรียกตัวเองว่า "สถานีเพื่อการอนุรักษ์" ด้วยเป็นคลื่นแรกและคลื่นเดียวที่ออกอากาศเพลงไทยสากลเก่าๆ ในหลายรูปแบบตลอดทั้งวัน ทั้งเพลงสุนทราภรณ์ , เพลงลูกกรุงแบบอมตะ แบบร่วมสมัย รวมทั้งเกร็ดประวัติที่น่าสนใจของเพลงไทยสากล
นอกจากนี้ ยังมีคอลัมน์ และช่วงเวลาต่างๆ ในรายการเพื่อสอดแทรกความรู้และเรื่องราวที่น่าสนใจ มีการฟื้นฟูกิจกรรมและการละเล่นเก่าๆ ควบคู่ไปด้วย โดยจะมีการจัดเป็นรายเดือนหรือจัดเป็นพิเศษ เพื่อส่งเสริมรายการในแต่ละช่วง และเพื่อสืบสานให้เกิดความตื่นตัวและน่าติดตามตลอดเวลา
สถานีเพื่อการอนุรักษ์แห่งนี้ ดำเนินรายการโดยนักจัดรายการผู้มีความรู้ และมีชื่อเสียงจากการจัดรายการเพลงไทยสากลเก่า ทั้งสุนทราภรณ์ และไทยลูกกรุง อาทิเช่น คุณอติพร เสนะวงศ์ (สุนทรสนาน) ทายาทของครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งสุนทราภรณ์, คุณอัจฉรา กรรณสูต, คุณเมธี ยิ่งยวด, คุณสาวดี เจริญวงศ์, คุณจารุลินทร์ มุสิกะพงษ์, คุณเศรษฐกร บุญกรกช และนักจัดรายการท่านอื่นๆ ที่ล้วนแต่มีความน่าสนใจในชีวิตและการทำงานที่มีคุณภาพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณอัจฉรา กรรณสูต ผู้จัดรายการ "ชีวิตกับเพลง" และยังเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุ F.M.104.75 แห่งนี้
คุณอัจฉรานั้นไม่ใช่หน้าใหม่ในฐานะนักจัดรายการวิทยุ ด้วยประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในแวดวงวิทยุกระจายเสียงมานับกว่าสิบปี ผนวกกับแนวคิดและอุดมการณ์ที่ต้องการสืบสานวัฒนธรรมไทยอันทรงคุณค่า สถานีเพื่อการอนุรักษ์แห่งนี้จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่ต้องการฟังเพลงไทยสากลที่ทรงคุณค่าในอดีต อันเป็นการเริ่มต้นจุดประกายให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจ และสืบสานอย่างจริงจังให้คงอยู่ตลอดไปในอนาคต
นับเป็นบทใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์วงการวิทยุไทย ที่มีสถานีวิทยุที่อุทิศเวลาทั้งหมดของสถานีเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยเช่นนี้
ถึงบรรทัดนี้หลายคนอาจอยากจะทราบว่า อัจฉรา กรรณสูต ผู้นี้มีความเป็นมาอย่างไร คงต้องใช้ลีลาสำนวนของ "ลัดดา" บอกกล่าวให้ทราบว่า เธอคือ อัจฉรา กรรณสูต ภรรยาของคุณชาติเชื้อ กรรณสูต อดีตผู้บริหารช่อง 7 เป็นอัจฉรา กรรณสูต 1 ใน 13 คนของบัณฑิตรุ่นแรก คณะมนุษยศาสตร์ สื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นประธานสมาคมศิษย์เก่าคนแรกจนถึงปัจจุบัน ผู้ซึ่งต่อมาผ่านงานทั้งในแวดวงวิทยุโทรทัศน์และโฆษณามาหลากหลาย
แต่อย่าเพิ่งตัดสินเธอจากแบ็กกราวนด์ที่ดูสวยหรูเพียงอย่างเดียว เพราะคุณอัจฉราที่เรามีโอกาสพบปะสนทนา คือผู้ใหญ่ที่เห็นคุณค่าของเพลงไทยสากลยุคเก่า ซึ่งนับวันจะล้มหายตายจากไปจากหน้าปัดวิทยุบ้านเราลงทุกที ฉะนั้น "คนเล็กๆ" ในความหมายของเราจึงไม่ได้หมายถึงเพียงกลุ่มคนที่ไม่ได้มีทุนหนา แต่ราคาของหลักการและแนวคิดในการก่อตั้งคลื่นวิทยุที่ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องของธุรกิจ ก็ไม่ควรที่จะถูกประเมินค่าต่ำไปเช่นกัน...
เริ่ม "ออนแอร์"
ต้นปี 2548 สถานีวิทยุ F.M.104.75 MHz. สถานีเพื่อการอนุรักษ์ก็เริ่มออกอากาศต้อนรับศักราชใหม่อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
คุณอัจฉราย้อนความรู้สึกในครั้งแรกที่ออกอากาศให้ฟังว่า ไม่ได้เป็นกังวลหรือตื่นเต้นเท่าใดนัก เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองออกอากาศมาบ้างแล้ว
"เริ่มออกอากาศเมื่อกลางเดือนมกราคม เราก็เริ่มเปิดเพลงเก่าๆ เป็นการทดลองออกอากาศไปก่อน พอต้นเดือนกุมภาพันธ์ก็ทำจริงจังเลย เป็นเรื่องเป็นราวว่าเราจะมีรายการอะไรบ้าง ก่อนที่จะมาทำ 104.75 นี่ ก็มีหลายคนเข้ามาบอกว่าสนใจจะทำไหมวิทยุชุมชน ซึ่งเมื่อก่อนก็บอกว่าไม่สนใจเพราะว่ามันคงไปได้ไม่ไกล แล้วก็มีรุ่นพี่ชื่อว่า คุณจารุลินทร์ มุสิกะพงษ์ ซึ่งก็เคยทำอยู่ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ก็ได้เอาแบบฟอร์มมาให้ว่าตอนนี้เขานิยมทำกัน เพราะว่าเขาเปิดโอกาสให้ชุมชนต่างๆ ได้ทำสถานีวิทยุแบบนี้ขึ้นมา
พอได้แบบฟอร์มมาแล้ว พออ่านแล้วก็รู้สึกว่ามันทำยาก เพราะว่ามันจะต้องมีผังรายการ จะต้องมีแผนการประเมินผล แผนการมีส่วนร่วม มีแผนงบประมาณ มันมากมาย เอ๊...เราจะทำยังไงดีเพราะมันยากจริงๆ ไม่ใช่ว่าจะตั้งกันได้ง่ายๆ แต่ก็มีหลายคนเท่าที่ทราบว่าเขาก็ไปเปิดเพลงลูกทุ่ง พระก็มีมาขอวิทยุชุมชน พระท่านก็เปิดมีเทศน์ทั้งวันเลยแบบนี้..."
ตอนนั้นคุณอัจฉราจึงต้องคิดหนักมากว่าจะทำอย่างไรให้รูปแบบรายการออกมาดี เพราะแม้จะเคยจัดรายการชีวิตกับเพลง ที่มีชื่อเสียงมากที่คลื่น 103.5 มาก่อน แต่การต้องมาวางผังรายการทั้งหมดของสถานีนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากเมื่อได้ฟังคำบอกเล่าถึงประสบการณ์การจัดรายการวิทยุของเธอแล้ว ก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคุณอัจฉราจึงสามารถจัดตั้งคลื่น F.M.104.75 MHz. ได้สำเร็จและเป็นที่รู้จักได้เร็วขนาดนี้
"เป็นคนที่คุ้นเคยกับเพลงสุนทราภรณ์มาตั้งแต่เด็ก ก็เลยคิดว่าถ้าเราจะจัดก็จะจัดสุนทราภรณ์ และเผอิญเราก็ได้ข้อมูลจากภรรยาครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งท่านก็เป็นคล้ายๆ เครือญาติกัน ท่านก็ให้แผ่นเสียงมาบ้าง เราก็มีซีดีบ้าง แล้วเราก็เลยเชิญ นาวาอากาศเอกเมธี ยิ่งยวด คุณสาวดี เจริญวงศ์ มาร่วมจัดทำรายการ เราจัดตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปี 2547 ก็ประมาณ 13 ปีกว่า" คุณอัจฉราย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นรายการชีวิตกับเพลง ที่กลายมาเป็นแม่แบบของรายการในสถานีเพื่อการอนุรักษ์เช่นทุกวันนี้
ภายหลังเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงของคลื่น F.M.103.5 MHz. ซึ่งต้องจ่ายค่าเช่าเวลาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงินที่สูงขึ้นมาก ทางผู้จัดทำรายการอย่างคุณอัจฉราจึงเปลี่ยนไปจัดรายการ "ชีวิตกับเพลง" ที่คลื่น F.M. 97 MHz. ในวันเสาร์ เวลา 20.30-24.00 น. จนกระทั่งปัจจุบัน
เมื่อเห็นช่องทางความเป็นไปได้ที่จะขยายรายการในแนวเดียวกับรายการชีวิตกับเพลง คุณอัจฉราจึงยื่นเรื่องขอจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนไปที่กรมประชาสัมพันธ์ โดยได้รุ่นน้องในคณะกรรมการศิษย์เก่าสื่อสารมวลชน มช. ช่วยแนะนำในเรื่องการวางผังรายการต่างๆ จนกระทั่งได้รับการอนุญาตให้จัดตั้งสถานีและออกอากาศได้ในที่สุด
"ตอนนี้เรายังไม่มีโฆษณา ไม่มีสปอนเซอร์ ก็มีคนตอบรับมากมาย เพราะว่าเราให้โทรศัพท์เข้ามา แจ้งผลการรับฟังบ้าง ขอเพลงบ้าง ก็จะมีอยู่ตลอดเวลา ก็แสดงว่ามันก็มีการตอบรับอย่างดี แล้วก็เพลงเก่าๆ เดี๋ยวนี้หายากแล้ว จะไม่มีแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพลงลูกทุ่งบ้าง คืออันนี้เป็นการอนุรักษ์เพลงไทย ก็มีคนอยากจะฟังเพลงสากลซึ่งจริงๆ เราก็ชอบเหมือนกัน แต่ยังไม่มีการโปรโมตเพลงไทยตลอดทั้งสถานี ทั้งคลื่นเลย ก็อาจจะมีเพลงตั้งแต่เก่า 15 ปีขึ้นไป ถึงจะมีเปิดในรายการนี้"
นอกจากเพลงเก่าหาฟังยากแล้ว ยังมีรายการที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ อีกหลากหลาย
"ตอนนี้นักร้องสุนทราภรณ์ก็อายุมากขึ้น เขาก็จะมีการรับสมัครนักเรียนในรุ่นเด็กๆ เข้ามา เด็กพวกนี้ก็อายุตั้งแต่ 14 ขึ้นไปที่มาฝึก เดี๋ยวนี้ก็เป็นคลื่นลูกใหม่ ในช่วง 8-9 โมงเช้าเป็นต้นไปก็จะเป็นเพลงที่ทางคลื่นลูกใหม่ของสุนทราภรณ์ร้องตามคอนเสิร์ตต่างๆ ก็เอามาเปิด คุณอติพรลูกสาวครูเอื้อ สุนทรสนานก็มาจัดเอง ถ้าช่วงไหนที่ไม่ว่างก็จะให้น้องๆ คลื่นลูกใหม่มาจัดแทน
แล้วก็มีรายการชีวิตกับเพลงช่วง 10 โมงถึงเที่ยงครึ่ง พอช่วงบ่าย 2 โมงก็จะเป็นรายการ "พบกันด้วยเพลง" ซึ่งอันนี้ก็เก่ามาก คุณจารุลินทร์ มุสิกะพงษ์ กับคุณเศรษฐกร บุญกรกช ก็เป็นผู้จัด พอมาช่วง 4 โมงเย็นก็มีคุณสาวดี เจริญวงศ์ จัดเพลงยามเย็น ก็อาจจะมีลูกกรุงผสมบ้างจนถึง 1 ทุ่ม ก็จะมีเกร็ดความรู้คู่ชุมชน ฟังเพลงแล้วและยังได้ข้อมูลด้วย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นศิษย์เก่าสื่อสารมวลชนที่มาร่วมจัด"
ดังนั้น จึงเรียกได้ว่าการทำงานที่คลื่น 104.75 นั้น เป็นบรรยากาศการทำงานแบบพี่แบบน้องจริงๆ และด้วยความสนิทสนมกลมเกลียวของศิษย์เก่าร่วมสถาบันนี่เอง ทางสถานีจึงรับนักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์ สื่อสารมวลชน มช. มาฝึกงานด้านวิทยุที่นี่อีกด้วย
ไม่เพียงเลือดรักสถาบันจะเข้มข้นแล้ว คุณอัจฉราเผยว่าความกลมเกลียวกับชาวชุมชนพหลโยธิน ก็แนบแน่นไม่แพ้กัน
ชุมชนพหลโยธิน 24
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นสถานีวิทยุชุมชน ฉะนั้น วัตถุประสงค์สำคัญในการก่อตั้งสถานีนอกจากการสืบทอดและอนุรักษ์เพลงไทยสากลเก่าๆ แล้ว สถานีแห่งนี้ยังจัดตั้งเพื่อเป็นศูนย์กลางการกระจายข้อมูลข่าวสารแก่ชุมชนในพื้นที่พหลโยธิน เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของหน่วยงานในท้องถิ่น และบริการสาธารณะในการส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพอนามัย ตลอดจนกิจกรรมทางด้านสาธารณสุขที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ที่สำคัญคือ เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชุมชน ทั้งปัญหาความยากจนและยาเสพติด
"พอดีเรามีเพื่อนอยู่ชุมชนนั้นก็เชิญเขามาร่วม ถ้าหากเขามีเรื่องราวอยากจะเผยแพร่ให้ชุมชนเขาได้รับทราบ นอกจากข่าว เราก็จะเชิญตัวแทนของชุมชนมาให้พูด แต่ตอนนี้ยังเป็นคลื่นใหม่เลยยังไม่ได้เชิญเขามา ตอนนี้เราก็ทำไปก่อน เราก็พยายามหาชุมชน หาเรื่องราว ไปที่เขตพญาไท ทำเรื่องคนดีศรีชุมชนมีใครทำอะไรที่เป็นส่วนที่ดีบ้าง หรือไม่เราก็อาจจะเชิญคนที่เขานับถือมาพูดคุยในรายการสักครึ่งชั่วโมง ถ้าวันไหนเขาว่าง"
นอกจากเขตพื้นที่ย่านชุมชนพหลโยธิน 24 แล้ว พื้นที่กระจายเสียงของ F.M.104.75 MHz. บางครั้งยังครอบคลุมไปถึงฝั่งธนบุรีด้วย คุณอัจฉรากล่าวว่ามีผู้ฟังแถวถนนจรัญสนิทวงศ์โทร.มาแจ้งว่าสามารถรับฟังได้ แต่ก็ไม่ทุกบ้าน ขึ้นอยู่กับระดับเครื่องรับสัญญาณของผู้รับด้วยเหมือนกัน
"อย่างแถวลาดพร้าวเขาจะมีคลื่น 104.75 ตั้งเหมือนกัน คือถ้าเกิดมันอยู่ไกลกันก็ตั้งได้ ถ้าเกิดไปทางแถวนั้นอาจจะได้ยินไม่ค่อยชัดเจน ตามที่เขากำหนดให้เสาสัญญาณสูงไม่เกิน 30 เมตรมันก็ไปได้ไม่ไกล บางทีเครื่องรับวิทยุต้องเป็นดิจิตอลนะ บางคนคลื่นวิทยุรับไม่ได้เลยจะรับเฉพาะคลื่นวิทยุหลัก พวกจุดห้าจุดศูนย์ จุดสองห้า จุดเจ็ดห้ารับไม่ได้เลย"
สายสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดและผู้ฟัง
กลุ่มคนฟังเป้าหมายของสถานีเพื่อการอนุรักษ์ F.M.104.75 MHz. จะเป็นกลุ่มคนวัยทำงานวัย 25 ปีขึ้นไป ไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่คุณอัจฉรากล่าวว่าเด็กรุ่นใหม่หลายคนก็สนใจฟังเพลงสุนทราภรณ์ สืบเนื่องมาจากชื่นชอบแนวเพลงคลื่นลูกใหม่ของสุนทราภรณ์
"วัยรุ่นเขาก็มีฟังนะ คลื่นลูกใหม่ของสุนทราภรณ์ก็มีทั้งที่เป็นนักศึกษา บางคนก็เพิ่งจบปริญญาตรี เพราะฉะนั้น เพื่อนฝูงเขา ญาติพี่น้อง พ่อแม่เขาก็จะฟัง ถ้าเป็นเพลงเก่านี่คนฟังจะมีไปจนถึง 70-80 เลยนะ เพราะฉะนั้น รายการเราก็จะเน้นเผื่อสุขภาพด้วย จะอนุรักษ์ทั้งเพลงเก่าและสุขภาพ ตอนนี้ก็กำลังคิดว่าจะติดต่อกระทรวงสาธารณสุขให้มาเป็นสปอนเซอร์เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอนามัยของคนสูงอายุ คือเรารู้ว่ากลุ่มระดับผู้ใหญ่ชอบฟังเพลงเก่าๆ เราก็พยายามดึงคนรุ่นใหม่มาฟังเพลงเหล่านี้ เพราะว่าบางทีนั่งรถไปพ่อแม่ฟัง ลูกก็จะได้ฟังไปด้วย"
ด้วยความที่เป็นรายการแนวอนุรักษ์ และมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใหญ่มากๆ ต่างจากวัยรุ่นที่ถูกชักจูงให้ซื้อสินค้าได้ง่ายกว่าจึงทำให้ยากที่จะมีสปอนเซอร์มาสนใจติดต่อลงโฆษณากับคลื่นนี้ แต่คุณอัจฉราบอกว่ารายการของเธอไม่ได้คำนึงถึงจุดนี้มากนัก
"มันเป็นความสนใจ ไม่ได้คิดถึงเรื่องตัวเงิน แค่ให้เราคุ้มทุนพอแล้ว และให้คนที่เขาไม่เคยได้รับฟังเพลงพวกนี้เขามีความสุข เพราะว่าเขาหาฟังที่ไหนไม่ได้ พอตอนที่ชีวิตกับเพลงไม่ได้ทำที่ 103.5 ขนาดเดินไปที่ไหน ก็มีโทรศัพท์มาที่บ้าน อุ๊ย... เพลงหายไปไหน รายการหายไปไหน โทร.ไปที่บ้าน ถ้าเกิดเราไม่อยู่แม่บ้านที่บ้านก็รับสาย ก็จะโทร.บอกว่าเห็นไหมสถานีเปลี่ยนเจ้านายคนใหม่ ทำไมเป็นอย่างนี้ โมโหกองทัพบก เขาก็เดือดร้อนแทนเรา
เพราะคนเหล่านี้บางทีเขาติดน่ะ เขาทำงานบ้านไปด้วย เขาก็เปิดวิทยุฟังเพลงไปด้วย แล้วยิ่งถ้าเกิดเป็นผู้สูงอายุนี่บางทีเขาไม่อยากดูทีวี ตาเขามองไม่ค่อยดี เขาฟังวิทยุดีกว่า แล้วรู้มาว่าอย่างบางคนเขามีวิทยุหลายเครื่องในห้อง เขาจะตั้งไว้เลยว่าเครื่องนี้ฟังเอฟเอ็ม เครื่องนี้เอาไว้ฟังเอเอ็ม เขาจะรู้เวลา เขาไม่ต้องมาหาใหม่เพราะว่ามันหายาก เขาตาไม่ค่อยดี"
กลุ่มคนฟังรายการส่วนใหญ่จึงเป็นประเภทแฟนเหนียวแน่น ที่ติดตามฟังมาตั้งแต่ครั้งที่คุณอัจฉราจัดรายการที่คลื่น 103.5 และที่ตามมาฟังต่อจากคลื่น 97 MHz.
"มีผู้ฟังน่ารักมากเลย เขาโทรมาบอกว่า อุ๊ย..มาทำอย่างนี้ จะไปได้ไหม จะให้เขาช่วยอะไร..." นอกจากนี้ผู้ฟังที่อายุน้อยกว่ายังเห็นคุณอัจฉราเป็นศิราณี คอยปรึกษาหารือปัญหาต่างๆ ทั้งชีวิต การงาน แม้แต่ความรัก ไปจนถึงเรื่องธรรมะธัมโม
"บางคนเขาก็ส่งเพลงมาให้ ส่งเทปส่งแผ่นเสียงมาให้ก็มี เป็นเพลงหายาก อย่างมีคนหนึ่งจากกรมศิลปากร ซึ่งอัดจากการแสดงสด บางคนก็เอาผลไม้จากสวนเขามาขายบ้าง บางทีมีแผ่นเสียง เขาบอกอยากจะเอาเงินไปรักษาญาติเขาที่ป่วยอยู่ บางทีก็เอามาที 10-20 แผ่น เราก็ช่วยซื้อ"
จากเดิมที่เป็นนักจัดรายการวิทยุที่ต้องเช่าเวลาจากทางสถานี เมื่อเปลี่ยนบทบาทมาเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุเองแล้วนั้น คุณอัจฉรายอมรับว่าเหน็ดเหนื่อยจากภาระรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น
"ตอนนี้ก็ยุ่งมากเราเลยยังไม่ได้ขอสปอนเซอร์ ก็พยายามเชิญคนที่มีชื่อเสียงมาจัดรายการ บางทีก็มีคนติดต่อมาว่าเขาอยากจะมาจัดรายการ เราก็ต้องดูว่าใคร จะจัดยังไง ไม่ใช่ใครอยากจะมาจัดยังไงเราก็ให้ อย่างถ้าเป็นคนมาขอเช่าไปจัดเพลงสากล เราก็ไม่ให้เพราะเป็นคลื่นอนุรักษ์เพลงไทย ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่รู้จักกันแต่ก็ต้องมีคุณภาพด้วย คนนั้นต้องรู้จักและมีความรู้ในเรื่องเพลงด้วย"
จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อในช่วงท้ายเราถามถึงความประทับใจที่เธอได้จากการก่อตั้งสถานีแห่งนี้ คุณอัจฉรายิ้มละไมก่อนตอบว่า ความประทับใจเดียวของเธอนั้นก็คือ "ผู้ฟัง"
"มีความสุขที่คนชอบฟัง ชื่นชม แล้วเราก็ชอบอยู่แล้วเพลงไทยเก่าๆ... ก็คงจะอนุรักษ์เพลงไทยแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตอนนี้วิทยุชุมชนขึ้นกับกรมประชาสัมพันธ์ แต่ถ้าวันไหน กสช.เกิดขึ้นมา เขาอาจจะให้เราทำต่อ หรืออาจจะให้เราเลิก เราก็ต้องยอมรับในส่วนนี้ แต่คิดว่าถ้าเราทำสิ่งที่ดีและคนชื่นชอบ เราก็น่าจะมีโอกาสได้ทำต่อไปเรื่อยๆ เราก็จะต้องทำให้ดีที่สุด" คุณอัจฉรากล่าวทิ้งท้าย