"ตุ้งแช่ ตุ้งแช่..."
เมื่อเทศกาลตรุษจีนเวียนมาบรรจบ เสียงฉาบกลองลั่นระรัวของขบวนแห่ทั้งสิงโต มังกร แป๊ะยิ้ม เซียน และเทพเจ้าทั้งหลาย ก็จะกลับมาสร้างความคึกคักรับเทศกาลตรุษจีนอีกครั้ง
ขบวนแห่ขบวนไหนมีลูกล่อลูกชนหรือลูกเล่น อย่างเช่นการตีลังกา การต่อตัว การไต่ไม้ ก็จะได้รับความสนใจและเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมได้อย่างมาก แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาสำหรับคณะที่สร้างผลงานการแห่ได้เข้าตาคนดู ก็จะได้รับการว่าจ้างอยู่สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานแห่ตามศาลเจ้าต่างๆ งานมงคลรื่นเริง หรือแม้กระทั่งงานแก้บน
ซึ่งขบวนแห่สิงโต มังกร แป๊ะยิ้มหรือบรรดาเซียนต่างๆ นับเป็นหนึ่งในสีสันที่สร้างความคึกคักสนุกสนานให้กับเทศกาลตรุษจีนได้ไม่น้อย
แต่ว่าท่ามกลางความสนุกสนาน และเสียงปรบมือชื่นชมต่อเหล่านักเชิดสิงโต มังกร และผู้ที่เต้นเร่าใต้หัวหุ่นจีน หรือในตัวหุ่นจีนด้วยความสนุกสนานนั้นจะมีใครรู้บ้างว่า ณ วันนี้ ผู้ที่สร้างสรรค์ศิลปะของหัวหุ่นในเมืองไทยนั้น นับวันยิ่งเหลือน้อยลงทุกที...
"คกเท้า"ผู้อยู่เบื้องหลังหุ่น
ภายในห้องแถวเล็กๆ ย่านชุมชนชาวจีน ชายคนหนึ่งกำลังนั่งก้มหน้าก้มตาลงสีให้กับหุ่น ฮก ลก ซิ่ว อย่างบรรจงอยู่บนพื้นห้อง พื้นที่สำหรับทำงานของเขามีอยู่เพียงแค่บริเวณกลางห้องเท่านั้น เพราะที่ว่างส่วนอื่นๆ ถูกจับจองด้วยบรรดาหัวหุ่นทั้งเล็กใหญ่และมีหน้าตาแตกต่างกันไป ทั้งหัวหุ่นเทพเจ้า หุ่นเด็ก และหุ่นหัวสัตว์ต่างๆ ทั้งม้า สิงโต มังกร ฯลฯ รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กระป๋องสี พู่กัน เศษกระดาษ
"ประสิทธิ์ เลิศสถาพร" หรือ "คกเท้า" คือชายคนนั้น
คกเท้าเป็นชื่อเรียกเล่นๆในภาษาจีนที่แปลว่า"หัวแหลม" ซึ่งเขามีโอกาสได้รู้จักกับอาชีพทำหัวหุ่นและตัวหุ่นมาตั้งแต่อายุ 12 ปี
"เมื่อก่อนนี้บ้านผมอยู่ที่มาบุญครอง อาทิตย์หนึ่งก็จะได้มาที่เยาวราชครั้งหนึ่ง เพราะต้องมาขายของ และได้เห็นที่หน้าโรงหนัง ทั้งโรงหนังบรอดเวย์ โรงหนังเท็กซัส คือแถวๆ เยาวราชจะมีโรงหนังเยอะ มีทั้งหนังแขกหนังฝรั่ง หน้าโรงหนังก็จะมีหุ่น มีสัตว์ประหลาด เหมือนเป็นการโฆษณาหนัง ตอนนั้นเขานิยมโฆษณากันด้วยหุ่น แบบขยับได้ก็มี มีทั้งรูปเต่าไฟ รูปไดโนเสาร์ ซูเปอร์แมน คิงคอง ชุดหลังสุดคงเป็นชุดศึกขนแกะมนุษย์ทองคำ ทั้งโรงหนังสกาล่า โรงหนังปารีสก็ใช้หุ่นแบบนี้ แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแล้ว"
หุ่นโฆษณาหน้าโรงหนังเหล่านั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ "คกเท้า" หันมาสนใจการสร้างหุ่นอย่างเป็นจริงเป็นจัง
"พอมาเยาวราชทีก็จะมานั่งดูอาจารย์เขาทำหุ่นพวกนี้อยู่ที่หน้าบ้านสักชั่วโมงหนึ่ง เพราะว่าเราชอบ มานั่งดูบ่อยทุกอาทิตย์จนอาจารย์เริ่มคุ้นหน้าคุ้นตา หลังๆ พอมาอาจารย์เขาก็ทัก "อ้าว มาแล้วเหรอ" ก็มานั่งดูทุกอาทิตย์จนรู้จักกัน แกก็เลยบอกว่าถ้าสนใจก็ให้มาหัดทำงานนี้ดีกว่า สัก 4-5 ปี ก็ทำงานได้เป็น ‘เถ่าชิ่ว’ แล้ว คือเป็นมืออาชีพแล้ว แกก็บอกว่าให้เรียกพ่อมาคุย มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์"
อาจารย์ที่คกเท้าพูดถึงก็คืออาจารย์ตงหัง แซ่ตั้ง ที่เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการทำหุ่นเหล่านี้ให้แก่เขา อาจารย์ตงหังก็ถือว่าเป็นมืออาชีพด้านการทำหุ่นอีกคนหนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดวิชามาจากพ่อของอาจารย์เองซึ่งก็ทำอาชีพสร้างหุ่นอยู่ที่เมืองจีนเช่นกัน น่าเสียดายว่าท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว
"แรกๆ ก็มาเรียนแบบเช้าไปเย็นกลับ แต่ตอนหลังก็มาอยู่เป็นอาทิตย์ เพราะจากมาบุญครองมาเยาวราชในตอนนั้นก็เหมือนกับเดินทางไปนอกเมือง ตอนนั้นก็ทำงานหนัก ต้องทำกันอยู่จนถึงสว่าง เวลาไปทำหุ่นที่โรงหนังก็ต้องทำเป็นส่วนๆ แล้วก็ยกไปประกอบกันที่โรงหนัง" คกเท้าเล่า
การทำอะไรด้วยใจรัก มักจะให้ผลที่ดีเสมอ ด้วยเวลา 4-5 ปี ตามที่อาจารย์บอก คกเท้าก็กลายเป็น "เถ่าชิ่ว" จากการที่ได้ฝึกทำหุ่นหลากหลายรูปแบบ ทั้งความรู้ที่ได้รับสะสมจากอาจารย์ตงหัง ทั้งประสบการณ์จากการฝึกปฏิบัติด้วยตนเองอย่างตั้งใจ ทำให้เด็กที่เร่ขายของอยู่แถวๆ เยาวราช กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญจนสามารถยึดอาชีพการทำหุ่นเป็นอาชีพประจำหาเลี้ยงครอบครัวให้สุขสบายได้
ชีวิตคนทำหุ่น
แม้หลังจากที่หุ่นโฆษณาตามโรงหนังเริ่มเสื่อมความนิยมลง อาชีพการทำหุ่นของคกเท้าก็ยังอยู่ได้ เนื่องจากยังมีคนสั่งทำหุ่นเพื่อไปแห่ตามศาลเจ้าต่างๆ
"พอโรงหนังเขาไม่ใช้หุ่นกันแล้ว ก็ยังมีงานจากการแห่ตามศาลเจ้า ทั้งที่หาดใหญ่ เชียงใหม่ อุดรฯ ขบวนแห่ช่วงตรุษจีนนี่ก็เป็นงานของเราหมด เขาจะมาสั่งของจากเราหมด แต่ถ้าเป็นงานใหญ่ๆ ก็จะให้เราขึ้นไปทำ" งานใหญ่ที่คกเท้าพูดถึง ก็เช่นการทำหุ่นมังกรขนาดความยาว 72 เมตร ให้จังหวัดขอนแก่น และพญานาคขนาดความยาว 42 เมตร จำนวน 2 ตัว ที่ทำให้จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อถามถึงวิธีการทำหุ่น คกเท้าก็อธิบายให้ฟังเป็นขั้นตอน เริ่มจากขั้นแรกคือเอาโฟมมาแกะเป็นรูปที่ต้องการจะทำก่อนเพื่อทำบล็อก หากจะทำเป็นหน้ากาก บล็อกก็จะเป็นเฉพาะส่วนของหน้าเท่านั้น แต่หากเป็นแบบสวมหัว เช่น หัวแป๊ะยิ้ม ก็จะเป็นบล็อกอีกแบบหนึ่ง คือแกะโฟมเป็นเหมือนรูปปั้นเลย
บล็อกโฟมนี้เมื่อแกะเสร็จแล้วก็สามารถนำมาใช้ซ้ำได้หลายๆ ครั้ง จากนั้นเริ่มทำหุ่นด้วยการเอากระดาษมาปะบนบล็อกนั้น ชั้นแรกใช้กระดาษลอกลายชุบน้ำปะ จากนั้นใช้แป้งเปียกผสมกาวลาเท็กซ์ทาแล้วปะกระดาษอื่นๆ เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ มาปะต่อให้ครบ 8 ชั้น เสร็จแล้วตากพัดลมไว้ข้ามวันจนแห้งสนิท
จากนั้นจึงแกะออกจากบล็อก หากเป็นหน้ากากก็สามารถแกะออกได้เลย แต่หากเป็นหัวหุ่นแบบสวมจะต้องผ่าครึ่งก่อน เพื่อให้แกะได้สะดวก จากนั้นจึงเอามาประกอบกันใหม่ เจาะช่องลูกตา จมูก ปากให้เรียบร้อย เดินลวดตรงขอบเพื่อป้องกันกระดาษลุ่ย เรียบร้อยทุกขั้นตอนแล้วจึงผสมดินสอพองกับกาวลาเท็กซ์ทาจนทั่วให้กลายเป็นสีขาว
เมื่อกาวกับดินสอพองแห้งแล้ว ใช้กระดาษทรายขัดให้ผิวหุ่นเรียบเนียน แล้วจึงลงสี เขียนหน้าเขียนตาให้เป็นลวดลายตามที่ต้องการด้วยสีโปสเตอร์ สีน้ำ และสีพลาสติก เสร็จแล้วเคลือบด้วยเชลแล็กเพื่อให้เงางามและป้องกันสีลอก จากนั้นขั้นตอนท้ายสุดก็คือการตกแต่ง ใช้ลูกปัดใส่แทนลูกนัยน์ตาให้ดูมีชีวิตเหมือนจริงมากขึ้น และใส่หนวดใส่เคราตามรายละเอียดของหุ่นแต่ละตัว
วิธีการทำหุ่นในปัจจุบันกับเมื่ออดีตนั้น รายละเอียดไม่ต่างกันมากนัก แต่ความต่างอยู่ที่วัสดุในการขึ้นโครง โดยเมื่อก่อนนั้นจะต้องใช้ไม้ไผ่มาสานเป็นโครง แต่ปัจจุบันนี้มีโฟมซึ่งช่วยให้การทำหุ่นง่ายขึ้น และสามารถแกะบล็อกได้ละเอียดและสวยงามมากขึ้นกว่าเดิม
"จากแต่เดิมมาถึงตอนนี้ก็หาวัสดุได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องจุกจิกมาก สมัยก่อนทำหุ่นตัวหนึ่งก็ต้องเอาไม้ไผ่มาสาน แต่ตอนนี้ก็ยังใช้ไม่ไผ่อยู่บ้างเฉพาะอะไรที่มันใหญ่เกินไปใช้โฟมไม่ได้ เช่นอันที่เป็นกระถาง ถ้าใช้โฟมมันก็เปลือง เพราะมันไม่โปร่ง ก็จะใช้ไม้ไผ่มาสานขึ้นรูปเป็นรูปกระถาง"
"ส่วนบล็อกก็ทำแค่ครั้งเดียวแล้วก็เอาไว้ใช้ได้หลายครั้งจนกว่าจะสึก แล้วค่อยทำใหม่ ทำงานด้านนี้ต้องมีฝีมือทางด้านการวาดภาพ และการแกะบล็อก เพราะบางทีไปจ้างคนอื่นแกะก็อาจไม่ได้ดังใจเรา แต่ถ้าเราแกะเองได้ เวลาเราไปเจออะไรมาเราก็ทำเองได้ จะทำของพวกนี้ก็ต้องมีพรสวรรค์แล้วก็ใจรักด้วย ต้องหัวไว ไม่ใช่สอนไปอย่างนี้แล้วก็จะทำแบบนี้ไปตลอด อย่างฮกลกซิ่ว 3 หัวนี้ ผมใช้แค่ 2 บล็อก แล้วค่อยมาตกแต่งติดปะเข้าไป จะได้ไม่ต้องใช้ 3 บล็อก เกะกะเปล่าๆ" คกเท้า บอก
ดูจากพื้นที่ของห้องแล้ว แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างหุ่นมังกรความยาว 72 เมตร หรือพญานาค 42 เมตรได้ ซึ่งคกเท้าบอกว่า "ส่วนมากมังกรจะทำเฉพาะส่วนหัว กับหาง ส่วนลำตัวจะสอนเค้าให้ทำเองโดยใช้หวายทำเป็นโครง เพราะเราไม่มีที่ทาง ลูกน้องก็ไม่ค่อยมี แต่จริงๆ แล้วมังกรจะสวยหรือไม่สวยก็อยู่ที่หัวนั่นแหละ"
อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ทำหุ่นนั้น ไม่ใช่อุปกรณ์ที่มีความพิเศษแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่โฟม กระดาษ กาว และสีธรรมดาๆ เท่านั้น แต่เมื่อได้เห็นผลงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ต้องยอมรับว่า หุ่นนั้นไม่ได้ดูธรรมดาเหมือนกับอุปกรณ์ที่ใช้เลยแม้แต่น้อย ซึ่งนั่นก็ต้องยกประโยชน์ให้กับฝีมือของผู้สร้าง
"เทคนิคมันก็อยู่ที่พรสวรรค์และความชำนาญของเรา อย่างเช่นการปะกระดาษบนบล็อก ใครๆ ก็ปะได้ แต่เวลาแกะ จะแกะได้ไหม จะแกะง่ายหรือยาก ก็ต้องขึ้นอยู่ที่เทคนิคของเรา ต้องดูว่าจะแกะวิธีไหน จะแกะเวลาไหน ถ้าแกะตอนยังไม่แห้งหัวมันก็จะเบี้ยว เมื่อลงสีไปลวดลายจะไม่คม ส่วนเวลาวาดบางทีก็ต้องใช้แบบ แต่บางทีก็ไม่ต้อง ถ้าคนมือแรกยังไม่ชำนาญก็ต้องดูแบบ แต่ถ้าอย่างเรา แกะมังกรก็ไม่ต้องดูแบบแล้ว" คกเท้าบอก
"เพราะแบบอยู่ที่นี่" เขาใช้นิ้วเคาะหัวตัวเอง
หลากหลายผลงาน...สรรค์สร้างจากกระดาษ
กว่า 30 ปี แล้ว ที่หุ่นนับร้อยนับพันตัวถูกสร้างขึ้นด้วยสองมือของคกเท้า เรียกได้ว่าเมื่อมีใครต้องการจะทำหุ่นขึ้นมาสักตัวหนึ่ง ก็ต้องเรียกหาคกเท้า หากจะบอกว่าเขาคือคนทำหุ่นจากกระดาษหนึ่งเดียวของเมืองไทยก็คงจะไม่ผิด รับประกันฝีมือได้จากรางวัลเชิดชูเกียรตินักประดิษฐ์ไทย ประจำปี 2544 ซึ่งผลงานชิ้นใหญ่ๆ ก็ล้วนแล้วแต่มาจากฝีมือของเขา ทั้งหัวสิงโตกว่า 30-40 ตัว ที่เอาไว้เชิดในงานตรุษจีนระดับชาติที่จังหวัดนครสวรรค์ มังกรทองที่ยาวถึง 72 เมตร ที่ทำให้กับจังหวัดขอนแก่นเพื่อเฉลิมฉลอง 72 พรรษามหาราชินี และพญานาคความยาว 42 เมตร ทั้งสองตัวที่ใช้ในการจุดคบเพลิงที่งานกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 18 พ.ศ.2538 ที่จังหวัดเชียงใหม่
คกเท้าเล่าถึงเมื่อคราวที่มีคนมาสั่งทำพญานาคเพื่อใช้ในงานซีเกมส์ว่า "คนที่มาสั่งก็ไม่ยอมบอกว่าจะเอาไปใช้ในงานซีเกมส์ บอกแค่ว่าเอาพญานาค 2 ตัวนะเฮีย ลำตัวขนาดนี้ สีสันอย่างนี้ แล้วเดี๋ยวเฮียต้องขึ้นไปเชียงใหม่ ไปติดตั้งไปอะไรเขาก็บอกแค่นี้ เราก็ไม่รู้เรื่อง แต่พอรู้แล้วก็ไม่ได้โก่งราคาหรือว่าอะไร"
พูดถึงเรื่องราคา คกเท้าบอกว่าก็ขึ้นอยู่กับขนาดของหุ่น เช่น หากเป็นหน้ากากเอาไว้โชว์ก็ตกอันละหนึ่งพันบาท หุ่น ฮก ลก ซิ่ว ชุดหนึ่ง ถ้าขายเฉพาะหัวทั้ง 3 หัว ราคาก็ประมาณสองหมื่นบาท แต่ถ้าหากอยากจะได้แบบครบชุด คือมีทั้งหัวหุ่น เสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่หุ่นแต่ละตัวจะต้องถือ เช่น คทา ไม้เท้า ฯลฯ เรียกว่าซื้อแล้วใส่ไปร่วมขบวนแห่ได้เลย ทั้งหมดนี้ก็ประมาณสี่หมื่นบาท ซึ่งเสื้อผ้าที่มีให้นี้ส่งตรงมาจากประเทศจีนเลยทีเดียว แต่หากเป็นหุ่นมังกรอันนี้ราคาก็ว่ากันเป็นเรือนแสน และหุ่นที่ราคาสูงที่สุดที่เคยทำก็คือมังกรทองราคา 500,000 บาท แต่หุ่นตัวหนึ่งๆ ก็ใช้ได้เป็นสิบๆ ปี หากเก็บรักษาให้ดี ผึ่งลมทุกครั้งหลังใช้ เก็บใส่กล่องมิดชิดไม่ให้มดแมลงสาบเข้าไปแทะได้ก็สามารถเก็บไว้ใช้ได้คุ้มเงิน
ดูเหมือนว่า หุ่นที่คกเท้าทำ จะหนักไปทางจีนๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้วเขาบอกว่า ทำได้ทุกแบบแล้วแต่จะสั่ง จะแบบจีนก็ได้ แบบไทยก็ได้ เช่นปีไก่นี้ ใครอยากจะได้หุ่นไก่ก็สั่งมาได้ จะสั่งกี่ตัว สีอะไร ขนาดเท่าไรก็ว่ามา ซึ่งที่ผ่านๆ มาก็เคยทำมาแล้วทุกรูปแบบ ทั้งหุ่นแบบจีน เช่น มังกร สิงโต เทพ ฮก ลก ซิ่ว เทพเจ้ากวนอู ฯลฯ หุ่นแบบไทย เช่น พญานาค หรือหุ่นแบบฟรีสไตล์ เช่น รูปป๋องแป๋ง รูปไก่ รูปกระถาง หรือแม้แต่รูปกระป๋องน้ำมันเครื่องก็ยังเคยทำมาแล้ว
เมื่อถามถึงชิ้นงานที่คกเท้าภูมิใจที่สุด เขาบอกว่าหุ่นพญานาคที่ใช้จุดคบเพลิงในงานซีเกมส์นั่นก็ภูมิใจ เพราะเป็นงานระดับชาติ ป๋องแป๋งยักษ์ที่เคยใช้แสดงในงานตรุษจีนที่เยาวราชนั่นก็ภูมิใจเช่นกัน
"แต่อันที่ภูมิใจที่สุดคงเป็นลูกฝรั่งที่ร้านขายน้ำฝรั่งปั่นแถวเยาวราชมาสั่งทำตอนที่เขาเปิดร้านใหม่ๆ เพราะอันนั้นมีให้เห็นทั่วเลย ทั้งลูกเล็กลูกใหญ่" คกเท้าบอกยิ้มๆก่อนที่จะเล่าความรู้สึกเพิ่มเติม
"เราเป็นคนอยู่เบื้องหลัง ส่วนมากจะไม่ค่อยมีคนรู้ว่าใครเป็นคนทำ พูดถึงเรื่องรายได้ก็พออยู่พอกิน ที่ทำอยู่ก็เพราะใจรัก แล้วทำงานอย่างนี้ก็ไม่ต้องง้อใครงานมันขึ้นอยู่กับตัวเรา มันตามใจเรา" คกเท้าบอก
แม้ใจจะรักอาชีพการทำหุ่น แต่ด้วยวัยและอายุที่มากขึ้น คกเท้าให้คำตอบกับคำถามที่ว่า ‘ยังไหวไหม”ว่า "ก็ร่อแร่ๆ" พร้อมกับขยายความว่า "ตอนนี้เป็นโรคเกาต์ ปวดขา เพราะต้องนั่งทำตลอด บางทีกลางคืนตีสามตีสี่ก็ยังนั่งทำอยู่ เพราะงานอย่างนี้มันต้องใช้สมาธิ ต้องใช้ความเงียบ และตอนนี้แก่ตัวแล้ว เวลาเขียนหน้าตาของหุ่นมือก็จะสั่น ไม่ค่อยเที่ยงเหมือนตอนหนุ่มๆ"
แม้จะเป็นมือวางอันดับหนึ่งในเรื่องของการทำหุ่น แต่คกเท้าก็ยังไม่สามารถหาผู้ที่จะมาสืบทอดวิชาทำหุ่นต่อไปได้
"ตอนนี้ก็ไม่มีคนมาสืบทอด ลูกเต้าก็ไม่อยากทำต่อ ก็ไม่เสียดายหรอกเพราะมันบังคับกันไม่ได้ แต่ก็พยายามสอนคนอื่นๆ ก็ยังมีเด็กๆ บางคนในตึกที่สนใจ มีอะไรก็คอยมาถาม ว่างๆ เราก็เรียกมาช่วยทำ ก็แล้วแต่ว่าเขาสนใจมากแค่ไหน ก็จะสอนให้เต็มที่ ไม่ปิดบัง"
****
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเชิดสิงโตและมังกร
เชิดสิงโตเป็นการละเล่นของชาวจีนเหนือ และจีนใต้ เมื่อใกล้ถึงวันตรุษจีน ก็จะมีชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งจัดให้มีการเชิดสิงโต ซึ่งเรียกว่า " ซิ่งฮุ่ย" โดยไปขอเงินบริจาคจากพวกคหบดี และก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งจัดเครื่องดนตรี และเตรียมทำตัวสิงโตสำหรับวันงาน
เมื่อเตรียมงานแล้วผู้จัดงานก็จะประกาศเส้นทางที่ขบวนสิงโตจะผ่านให้ชาวบ้านทราบ พอวันงานมาถึงหัวหน้าทีมจะนำเอาสิงโตไปแสดงความเคารพต่อคหบดี มือกลองก็เริ่มตีกลอง จากนั้นก็เริ่มแสดงการเชิดสิงโต เมื่อมีบ้านใดนำเอาซองรางวัลไปแขวนไว้บนยอดไม้ ยิ่งสูงเท่าใด ผู้แสดงก็ต้องต่อตัวกันขึ้นไปเพื่อเอาซองรางวัลนั้น
มีการเชิดอีกแบบหนึ่งที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่า เรียกว่าชุดสิงโตกินประทัด เมื่อผ่านบ้านใครเจ้าของบ้าน ก็จะโยนประทัดใส่ สิงโตต้องอ้าปากรับ และผู้เชิดก็จะไม่ถอยหนียอมรับความร้อนจากประทัดนั้น เมื่อทนไม่ไหวก็อาจจะมีผู้เชิดคนอื่นมาเปลี่ยน ชาวจีนเชื่อว่า ยิ่งให้สิงโตกินประทัดดังเท่าใดและมากเท่าใด การค้าที่บ้านก็ยิ่งจะรุ่งเรืองเท่านั้น
ส่วนมังกรแม้เป็นสัตว์ในเทพนิยาย แต่ชาวจีนให้ความสำคัญต่อมังกรมาก เพราะมังกรเป็นเทพ ผู้กำหนดให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลสามารถให้ความอุดมสมบูรณ์ต่อพืชพันธุ์ธัญญาหาร ทั้งยังเป็นสัตว์สิริมงคลที่ชาวจีนนับถือมานาน การเชิดมังกรจะเริ่มเมื่อใดนั้นยากที่จะกำหนดให้แน่ชัดลงไป แต่เนื่องจากมังกรเป็นเทพแห่งลมและฝน สามารถเปลี่ยนลมให้กลายเป็นฝน และกลับก้อนเมฆให้ฝนตก พิธีขอฝน จึงขาดการเซ่นไหว้มังกรไปไม่ได้ จากพิธีกรรมทางศาสนาในการเซ่นไหว้นี้เอง ก็ได้กลายมาเป็นการละเล่นพื้นบ้านในเวลาต่อมา ในปัจจุบันนี้การเชิดมังกรเป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชิดมังกรในวันตรุษจีน ซึ่งเป็นงานเชิดที่ยิ่งใหญ่ หรือแม้ในงานแห่เจ้า ก็จะเว้นการเชิดมังกรเงินและมังกรทองเสียไม่ได้เช่นกัน : จากเรื่อง "การละเล่นพื้นบ้านของจีนในสมัยโบราณถึงปัจจุบัน" โดย หวงหวาเจี๋ย
*****
ในวันที่ 9-10 ก.พ. 48 นี้ จะมีงาน "เทศกาลตรุษจีนไชน่าทาวน์เยาวราช 50 พรรษา สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร สานสัมพันธไมตรี 30 ปี ไทย-จีน" บริเวณวงเวียนโอเดียน ถนนเยาวราช จนถึงแยกราชวงศ์ โดยภายในงานจะมีถนนสายทองคำถิ่นมังกรสยาม ย่านไชน่าทาวน์ที่ใหญ่ที่สุด มีการประกวด หนุ่ม-สาว ไชน่าทาวน์ กิจกรรมสาธิตทางวัฒนธรรมจีนอื่นๆ ซึ่งในงานนี้ คกเท้าก็จะไปเปิดร้านสาธิตการทำหุ่นให้ผู้ร่วมงานได้ชมกันอีกด้วย หากใครสนใจก็ขอเชิญไปชมกันได้ หรือหากสนใจในรายละเอียดของหุ่นต่างๆก็สามารถสอบถามได้ที่บ้านคกเท้า โทร.0-2226-6286