เค้กชิ้นโต หวานฉ่ำไปด้วยช็อกโกแลตสีเข้มและลูกเชอรี่สีแดงเปล่งปลั่ง ผลไม้เชื่อมเงาวาวถูกวางบนหน้าพายกรอบอย่างยั่วยวนชวนกิน ผักสดกรอบแกะสลักประดิดประดอยเป็นรูปทรงแปลกตาวางเคียงข้างน้ำพริกรสจัดในจานใบเขื่อง เส้นพาสต้าสีเหลืองนวลทิ้งตัวนอนอยู่ในแผ่นชีสหอมกรุ่น มันฝรั่งถูกฝานเป็นแว่นหนาต้มจนสุกนิ่มคู่กับหอมหัวใหญ่ซอยบางเฉียบผัดคลุกเคล้ากับผงกะหรี่ กลายเป็นอาหารจานเด็ดที่รับประทานคู่กับไก่ย่างเนื้อนุ่มหนังกรอบได้อย่างลงตัว น่ายินดีที่ว่า อาหารคาวหวานหลากหลายเชื้อชาติทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถูกผลิตขึ้นภายในครัวเล็ก ๆ ด้วยฝีมืออันประณีตของคนไทย
ด้วยทุกวันนี้ เรื่องอาหารการกินถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับคนไทยอีกต่อไป ผู้คนพากันสนใจและตื่นตัวกับเมนูอาหารหลากหลายชนิด ความสุขของใครหลายคนอยู่ที่การได้ละเลียดลิ้มลองอาหารหน้าตาสวยงามแปลกใหม่ ร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ รูปแบบทันสมัยมากมายผุดขึ้นมากลางเมืองเพื่อตอบรับความต้องการของผู้บริโภค การเปิดร้านเบเกอรี่เล็ก ๆ หรือการเป็นเชฟทำอาหารกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในความฝันของหนุ่มสาวแห่งยุคสมัย
เสน่ห์ปลายจวัก
ในวันนี้ การดูแลตัวเองและรักษาสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ การทำอาหารด้วยตัวเองกลายเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงและดูดี ด้วยส่วนผสมของอาหารที่ผู้ทำจะดัดแปลงพลิกแพลงให้ตรงกับความต้องการได้ตามใจชอบ น้ำเต้าหู้เพื่อสุขภาพ เค้กสูตรไขมันต่ำ น้ำสมุนไพรกลิ่นหอมหวาน จึงเกิดขึ้นด้วยฝีมือของตัวเองอย่างมั่นใจในความสะอาดและมีคุณค่าตรงกับความ ต้องการ
ดังนั้น ในปัจจุบันจึงเกิดพ่อครัวแม่ครัวมือสมัครเล่น ที่สนใจอยากหัดทำอาหารและขนมเพื่อสุขภาพสำหรับกินเล่นกันเองภายในครอบครัวเป็นจำนวนไม่น้อย
ในขณะเดียวกัน เมื่ออาหารไทยกำลังเป็นที่ได้รับความนิยมและได้รับการยอมรับในรสชาติอันจัดจ้าน และเต็มไปด้วยคุณค่าจากสมุนไพรที่เป็นส่วนผสม ทำให้อาชีพเชฟอาหารไทยระดับสากลกลายเป็นอาชีพในฝันของคนอีกมากมาย
ด้วยอุปนิสัยอันละเมียดละไม ช่างประดิดประดอยของคนไทย ซึ่งเหมาะกับการทำอาหารที่ต้องอาศัยความใจเย็นอดทนในการทำและตกแต่งหน้าตาของอาหารจานนั้นให้ออกมาสวยงาม เป็นทั้งอาหารปากและอาหารตาให้กับคนกินได้อย่างน่าประทับใจ ประกอบกับความเป็นนักดัดแปลงของคนไทย ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสรรค์อาหารฝรั่งสไตล์ไทยได้อย่างพลิกแพลง จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็น บัตเตอร์เค้กหน้าหม้อแกง พายลูกตาล สปาเก็ตตี้ผัดปลาเค็ม ฯลฯ วางขายบนตลาดและได้รับความนิยมทั้งในหมู่คนไทยและหมู่ชาวต่างชาติเจ้าของต้นตำรับสูตรอาหารเอง
ร้านเบเกอรี่ ร้านอาหาร กลายเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ที่ทำรายได้งดงามให้กับหนุ่มสาวยุคใหม่ ตามถนนหนทางจะพบเห็นร้านอาหารหน้าตาทันสมัย ภายในร้านตกแต่งได้น่านั่งและมีอาหารคาวหวานที่มีคุณภาพและฝีมือดีเทียบเท่าอาหารระดับโรงแรมอยู่มากมาย
และสิ่งหนึ่งที่ตามมาหลังจากการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและเบเกอรี่ ก็คือความเบ่งบานในธุรกิจโรงเรียนสอนทำอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเสน่ห์ปลายจวักของพ่อครัวแม่ครัวยุคใหม่ ที่ฝึกปรือฝีมือตัวเองด้วยการเข้าคอร์สเรียนทำอาหาร และเบเกอรี่ในโรงเรียนสอนทำอาหารเหล่านั้น
โรงเรียนธุรกิจการอาหารไทยและนานาชาติ (TIFA)
ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการอาหารเมืองไทยและดำรงตำแหน่งหัวเรือใหญ่แห่งโรงเรียนสอนทำอาหารแห่งนี้ ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโรงเรียนสอนทำอาหารของตนว่า
"อาจารย์จะมีโรงเรียนอยู่สองประเภท ประเภทแรกคือสถาบันศิลปศาสตร์การอาหาร ซึ่งจะเป็นสถาบันการเรียนนอกระบบ ลักษณะการเรียนจะเป็นหลักสูตรระยะสั้นที่จัดคอร์สเรียนขึ้นตามอัธยาศัย มีหลักสูตรคอร์สเรียนมากมายที่ทันสมัยและเข้ากับความต้องการของคนในช่วงเวลานั้น ๆ โดยระยะเวลาการเรียนจะอยู่ที่ 2-3 วัน สถาบันแห่งนี้เปิดมา 20 กว่าปีแล้ว และผลิตลูกศิษย์ออกไปเป็นหมื่นเป็นแสนคน เราทำมาจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง จนเรามองว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากทำก็คือ อยากทำโรงเรียนในระบบ ทำเป็นสายสามัญ รับเด็กจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มาเรียนในหลักสูตรอาหาร 3 ปีเต็มและได้วุฒิ ปวช.และความคิดนั้นก็ทำให้เกิด โรงเรียนธุรกิจการอาหารไทยและนานาชาติแห่งนี้ขึ้นมา"
ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นครัวโลก แต่น่าแปลกที่ประเทศไทยกลับไม่มีระบบการศึกษาที่รองรับบุคลากรสายอาชีพในการทำอาหาร
"เรามีการเรียนการสอนให้เด็กเป็นช่างไฟ ช่างอิเล็คทรอนิคส์ ช่างกล เยอะแยะไปหมด แต่สำหรับสายอาหารและเบเกอรี่ เราไม่มีแม้กระทั่งวุฒิ ปวช. ในขณะที่รัฐบาลบอกว่าจะให้ไทยเป็นครัวโลก แต่เรากลับไม่เคยเห็นบัณฑิตของสาขาขนมอบ สาขาอาหาร ขึ้นไปรับปริญญา นี่คือสิ่งที่เรามองเห็นและอยากผลักดันให้เกิดบุคลากรในสายนี้ขึ้น"
การเรียนการสอน
โรงเรียนธุรกิจการอาหารไทยและนานาชาติ (TIFA) เปิดรับเด็กนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้เวลาเรียน 3 ปี จะได้วุฒิ ปวช.ทางด้านสาขาวิชาอาหารและขนม
"เรารับเด็กจำนวนไม่มาก อย่างตอนนี้เรามีเด็กทั้งหมด 17 คน การเรียนการสอนจะมีครบทั้งวิชาสามัญ ภาษาไทย สังคม คณิตศาสตร์ และมีในส่วนของภาคปฏิบัติการทำอาหารอยู่ 40 เปอร์เซ็นต์ตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการ เรามีอุปกรณ์การครัว เตาอบที่ทันสมัยและตรงตามมาตรฐานมาให้ใช้จริง ส่วนวิชาภาษาอังกฤษ อาจารย์จะเน้นโดยให้ชาวต่างชาติมาสอนภาษาอังกฤษสำหรับการครัวโดยตรง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการไปเรียนต่อหรือไปประกอบอาชีพในต่างประเทศของนักเรียน" ผู้อำนวยการโรงเรียนธุรกิจการอาหารไทยและนานาชาติกล่าว
สำหรับจุดเด่นของโรงเรียนแห่งนี้ ยิ่งศักดิ์ กล่าวว่า การทำสถาบันศิลปศาสตร์การอาหารมายาวนานถึง 20 ปี ย่อมเป็นสิ่งการันตีถึงคุณภาพที่แน่นอน และมั่นใจถึงกระบวนการถ่ายทอดความรู้ที่ดีและทันสมัย ประกอบกับจุดแข็งที่วางไว้ชัดเจนเกี่ยวกับความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารในเมืองไทย
" ฝากหลักสูตรนี้ไว้บนแผ่นดินไทย วางรากฐานการศึกษาเพราะอยากให้เมืองไทยมีความก้าวหน้าทางด้านอาหารเทียบเท่ากับสากล ถ้าอยากรวย อยากเอาแต่เงิน ก็เปิดแต่หลักสูตรสั้นเก็บเงินได้ไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ เพราะถือว่า นั่นคือธุรกิจ แต่หลักสูตรของโรงเรียนนี้ เพียงเทอมละ 17,000 บาทเกิดขึ้นได้ ก็เพราะอยากพัฒนาให้การทำอาหาร ทำขนม ในเมืองไทยมีคุณภาพมากขึ้น แต่จริง ๆ แล้วหลักสูตรการทำอาหารพวกนี้จะขี้เหนียวไม่ได้ อุปกรณ์ก็ต้องใช้ที่มันมาตรฐานเหมือนจริง ก็อยากฝากให้รัฐบาลหันมาสนใจและให้ความสนับสนุนมากกว่านี้"
อนาคตของคนเรียน
สำหรับอนาคตข้างหน้าของผู้ที่จบหลักสูตร ปวช. สาขาการทำอาหารและขนมจากโรงเรียนแห่งนี้ ย่อมมุ่งหวังที่จะก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางสู่การเป็นเชฟมืออาชีพและมุ่งสู่การประกอบธุรกิจอาหารของตัวเอง
สุจิณ อินทร์ศรีชื่น อายุ 19 ปี นักเรียนในหลักสูตร ปวช. กล่าวว่า ในอนาคตก็จะไปประกอบอาชีพทางด้านการทำอาหาร โดยสนใจในคอร์สการเรียนอาหารไทยมากเป็นพิเศษ เพราะตอนนี้อาหารไทยได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากมีความรู้ในด้านนี้ก็ถือเป็นประโยชน์สำหรับตัวเอง
ทางด้านผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้น รัตนา พิมพ์งาม อายุ 32 ปี ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเยอรมนีและถือโอกาสช่วงกลับเมืองไทยมาเรียนการทำอาหารเพื่อเพิ่มความรู้ให้กับตัวเองกล่าวว่า
"ลงเรียนเป็นคอร์สรวมทั้งหมด 4 คอร์ส คือไทยประยุกต์ ช่างอาหารไทย ไทยต้นตำรับ และอาหารไทยประเภทเส้น พี่เรียนไปเพื่อจะกลับไปเปิดร้านอาหารที่เยอรมนี เพราะถ้าเรามีความรู้ด้านนี้ มันจะเป็นการสร้างโอกาสให้เราเติบโตได้มากขึ้น"
สำหรับโอกาสความก้าวหน้าของนักเรียนเพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นสากลนั้น ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ได้กล่าวแสดงความมั่นใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนแห่งนี้กับต่างประเทศ
"เราไม่เคยปิดตัวเอง เรามีโครงการส่งเด็กนักเรียนไปฝึกงานตามร้านอาหารในต่างประเทศ ทันทีที่เขาเรียนจบเขาจะได้ไปเปิดโลก เปิดประสบการณ์ โดยไปรับการฝึก 3 เดือน เมื่อเสร็จแล้วจะได้หนังสือรับรองว่าเด็กคนนี้ผ่านงานจากร้านในฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และนอกจากนั้นจะได้ภาษากลับมาด้วย เขาจะกลับมาอย่างพร้อมที่จะไปทำงานที่ไหนก็ได้ทั่วโลก"
โรงเรียนการอาหารนานาชาติสวนดุสิต (Suan Dusit International Culinary School)
เมื่อแนวโน้มการขยายตัวทางด้านธุรกิจอาหารไทยเพิ่มสูงขึ้น แนวคิดที่จะจัดตั้งโรงเรียนการอาหารนานาชาติสวนดุสิตจึงเกิดขึ้นท่ามกลางชื่อเสียงทางด้านการประกอบอาหารและการบริหารจัดการธุรกิจอาหารของสถาบันที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีตั้งแต่แรกเริ่ม
ชัชชญา รักตะกนิษฐ ผู้จัดการและผู้สอนแห่งโรงเรียนการอาหารนานาชาติสวนดุสิตกล่าวว่า เมื่อแนวโน้มของการเจริญเติบโตทางด้านอาหารมีทีท่าจะเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงมองว่าน่าจะเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารขึ้น โดยถือเป็นการดึงความเชี่ยวชาญเดิมที่มีอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อจะผลิตนักศึกษาหรือผู้ประกอบการเข้าสู่อุตสาหกรรมด้านการอาหารได้อย่างตรงตามมาตรฐานสากล
"โรงเรียนนี้มีอายุเข้าสู่ปีที่ 3 หลักสูตรต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นมา โดยจะต้องผ่านการสำรวจตลาด สำรวจความต้องการ ราคา สำรวจวัตถุประสงค์ ใจของเราต้องการให้คนเรียนเป็นมืออาชีพ มาเรียนแล้วต้องทำให้เป็นจริง ไม่ใช่ได้แค่สูตร เราถือว่าการเรียนที่แจกแต่สูตรนั้นไม่มีคุณภาพ เพราะการเรียนทำอาหารจำเป็นต้องอาศัยทักษะ อาศัยการฝึกฝนอย่างจริงจัง"
เครื่องมือและอุปกรณ์
ชัชชญากล่าวถึงจุดแข็งของการเรียนการสอนในโรงเรียนแห่งนี้ว่า ด้วยสถานที่และอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากที่สุดทำให้นักเรียนได้มีโอกาสใช้อุปกรณ์เหล่านี้จริง ประกอบกับลักษณะการเรียนการสอนที่ไม่เน้นให้ทำงานเป็นกลุ่มใหญ่ แต่เน้นที่การได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ทำให้นักเรียนที่จบจากที่นี่มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติได้จริง
"ในพื้นที่จำกัดบนตึกนี้ เรามีห้องทุกอย่าง แม้กระทั่งห้องบาร์ และห้องสาธิต โดยลักษณะการเรียนเราจะมองที่ความเข้มข้นของเนื้อหาที่นักเรียนจะได้รับ เราไม่เน้นว่ามาเรียนแล้วจะต้องได้สูตรเยอะหลายเมนู อย่างถ้าเรียนที่นี่คอร์สเบเกอรี่ ภายในหนึ่งวัน คนเรียนก็จะได้เพียง 2-3 สูตร เพราะเรากำหนดให้ทุกคนได้ทำเองทุกขั้นตอน ถึงจะช้าแต่ว่าได้คุณภาพมากกว่าปริมาณ"
สำหรับหลักสูตรที่เป็นที่นิยมมากที่สุดก็คือหลักสูตรเรียนทำอาหารไทย โดยการเรียนจะเน้นให้ผู้เรียนสามารถไปประกอบอาชีพยังต่างประเทศได้
"เนื่องจากกระแสครัวไทยไปนอกแรงมาก คนอยากไปทำงานต่างประเทศเยอะ หลักสูตรเราจึงตั้งขึ้นเพื่อรองรับให้นักเรียนสามารถไปทำงานต่อในต่างประเทศได้ เราจะมีการสอนเรื่องสุขอนามัย การสุขาภิบาลและ ความสะอาดซึ่งสำคัญมากในต่างประเทศ นอกจากนั้นการเรียนเราจะไม่เพียงแต่สอนทำอาหารเท่านั้น แต่ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ หลักโภชนาการ รู้ภาษาอังกฤษการครัว การคิดคำนวณต้นทุน-กำไร คือเราจะสอนให้รู้ทั้งระบบ รวมไปถึงการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหารเพื่อให้นักเรียนออกไปประกอบอาชีพได้โดยมีพื้นฐานที่แน่นพอ" ชัชชญากล่าว
นักเรียนรับจนถึงอายุ60
กลุ่มผู้เรียนของโรงเรียนการอาหารนานาชาติสวนดุสิตนั้น ถูกกำหนดไว้ที่อายุ 20-60 ปี สำหรับการเรียนในหลักสูตรระยะยาว และอายุ 18 ปีขึ้นไปสำหรับหลักสูตรระยะสั้น ส่วนในอนาคตนั้นทางโรงเรียนยังมีการวางแผนเตรียมตัวเปิดสอนในหลักสูตรอนุปริญญาสาขาการอาหารอีกด้วย
"หลักสูตรอนุปริญญา เราจะกำหนดให้เรียน 1 ปี ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงวางโครงการอยู่ ส่วนหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาวที่เราเปิดอยู่ในขณะนี้ เราเปิดเพื่อรองรับคนในหลาย ๆ วัย จะเห็นว่านักเรียนของเรามีช่วงอายุที่กว้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่ได้เรียนด้วย" ผู้จัดการโรงเรียนการอาหารกล่าว
เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้ว ทางโรงเรียนจะส่งนักเรียนที่สนใจจะศึกษาต่อทางด้านอาหารในระดับที่สูงขึ้นไปรับการอบรมฝึกงานตามสถานที่ต่างๆ
"เริ่มแรกเราจะส่งไปฝึกงานก่อน ถ้าสำหรับหลักสูตรเบเกอรี่ และอาหารยุโรปก็จะส่งไปฝึกงานที่การบินไทย , ครัวรัฐสภา และรถเบเกอรี่ อยากฝึกจุดไหนก็เข้าไปได้ ถ้าหน่วยก้านดีก็อาจได้ทำงานต่อเลย ส่วนคนที่ต้องการไปเรียนต่อต่างประเทศ เราก็จะมีการแนะนำเพื่อที่จะได้กลับมาเป็นเชฟหรือเป็นผู้สอนทางด้านการอาหารต่อไป"
อรทัย เปรมจิตปิยะพันธ์ นักเรียนในหลักสูตรการทำเค้ก คุกกี้ของโรงเรียนการอาหารแห่งนี้ กล่าวว่า ตนอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น และขณะนี้ได้เปิดร้านเบเกอรี่เล็ก ๆ หลังมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้นำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้กับกิจการตัวเองได้เป็นอย่างดี
"เริ่มแรกที่เข้ามาเรียนก็คิดว่าจะเรียนเพื่อเป็นงานอดิเรก แต่เมื่อมีช่องทางก็นำความรู้ที่เรียนมาทั้งการทำอาหาร ทำขนม การบริหารจัดการต่าง ๆ มาเปิดร้านเบเกอรี่ ขายนม และกาแฟสด ซึ่งกิจการตอนนี้ก็กำลังเติบโตไปได้ด้วยดีค่ะ" อรทัยกล่าว
เมื่อเสน่ห์ปลายจวักยังคงมีมนต์ขลังดึงดูดให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศหลงใหลในรสมือคนไทย
เมื่อเราสามารถผลิตบุคลากรด้านการทำอาหารที่มีฝีมือและมีคุณภาพ
โอกาสดี ๆ ที่จะพัฒนาธุรกิจการทำอาหารให้เติบโตก้าวหน้าย่อมอยู่ไม่ไกลอีกต่อไป