xs
xsm
sm
md
lg

โก่งคอขัน ประชันร้าน "ไก่ย่าง" รสเด็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชื่อว่าคนไทยคงรู้จักและคุ้นเคยกับไก่ย่างกันเป็นอย่างดี

ไก่ย่างหากินได้ทั่วไปตามตรอกซอย หน้าปั๊ม ข้างปั๊ม ยันโรงแรมหรูเริ่ด

สำหรับในกรุงเทพฯ แน่นอนว่าร้านไก่ย่างรสเด็ด ชื่อดังมีอยู่มากมายหลายร้าน ซึ่งในบรรยากาศเปิดศักราชปีไก่ "ผู้จัดการปริทรรศน์" ได้คัดร้านไก่ย่างเจ้าเก่าที่มีชื่อเสียงในเมืองกรุงมากำนัลแด่คุณผู้อ่าน ส่วนจะมีที่ไหนบ้าง และใช่ร้านไก่ย่างในดวงใจหรือเปล่าขอเชิญทัศนาได้


"ศิริชัย ไก่ย่าง" ต้นตำรับไก่หมุน

"ศิริชัยไก่ย่าง" รู้กันดีในหมู่นักเปิบไก่ เจ้านี้เป็นต้นตำรับไก่หมุนเจ้าแรกในประเทศไทย เพราะปกติแล้วไก่ย่างทั่วๆ ไปที่เราเห็นมักจะเป็นไก่ที่นำมาแบะออกทั้งตัวแล้วถึงจะนำมาย่าง แต่ที่ศิริชัยไก่ย่างกลับแตกต่างออกไป

"มนู วุฒิกร" ผู้คิดค้นการทำไก่หมุนจนโด่งดัง กลายเป็นแม่แบบไก่หมุนที่รายอื่น ๆ นำไปเลียนแบบกันทั่วบ้านทั่วเมือง เล่าว่า ความเป็นมาของ "ศิริชัยไก่ย่าง" เกิดขึ้นมาจากความที่เขาคลุกคลีอยู่กับการทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก และเป็นลูกชายคนโตของครอบครัวที่ต้องช่วยเตี่ยทำอาหารขายมาตลอด จนกระทั่งได้รับการถ่ายทอดเรื่องการทำอาหารอย่างครบเครื่องจากเตี่ยของตน ที่ถือเป็นมรดกติดตัวเพื่อหาเลี้ยงชีพ

เมื่อมนูมีครอบครัวก็ได้ชักชวนภรรยาออกมาเปิดร้านขายไก่ย่าง โดยใช้ชื่อว่า "ศิริชัยไก่ย่าง" เปิดขายร้านแรกที่ลาดพร้าว

สำหรับชื่อ"ศิริชัย" แฟนไก่ย่างอาจงงว่า ชื่อนี้ได้แต่ใดมา

มนูบอกว่า ศิริชัย เป็นชื่อของลูกค้าผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นลูกค้าประจำตั้งแต่สมัยที่ทำร้านอาหารกับเตี่ย และได้ตั้งชื่อให้ไว้ โดยบอกว่าชื่อนั้นเป็นศิริมงคลแก่ครอบครัว จึงได้นำชื่อศิริชัยมา เป็นชื่อร้านไก่ย่าง

และด้วยความที่มนูอยากให้ไก่ย่างของทางร้านแปลกใหม่กว่าร้านไก่ย่างอื่นๆ มนูจึงคิดค้นการย่างไก่แบบใหม่เพื่อไม่ให้เหมือนใคร โดยแทนที่จะแบะอกไก่ออกแล้วเสียบไม้ย่างเหมือนเจ้าอื่นๆ เขากลับเลือกการย่างไก่โดยใช้แกนหมุนในการย่างไก่ ซึ่งได้แนวคิดมาจากการทำเป็ดปักกิ่งที่ให้หนังกรอบ ส่วนเนื้อในนุ่ม

นอกจากการย่างไก่แบบแกนหมุนแล้ว ไก่ที่มนูนำมาย่างก็มีสูตรหมักเครื่องพิเศษ ซึ่งกว่าจะลงตัวก็ทดลองย่างไปชิมไปอยู่นานพอสมควร

สำหรับสูตรไก่ย่างของศิริชัยฯนั้น จะใช้ กระเทียม พริกไทย รากผักชี ขิง ข่า น้ำผึ้ง โดยส่วนผสมทั้งหมดจะนำมาบดหยาบ ๆ แล้วยัดใส่ท้องไก่ที่คัดพิเศษให้มีน้ำหนักประมาณตัวละ 5 ขีดห้ามขาดห้ามเกิน

เรื่องนี้มนูทดลองมาแล้วว่าไก่ขนาดนี้ ย่างไฟประมาณ 20 นาทีเนื้อจะสุกหอมอร่อยได้ที่ ถ้าเล็กหรือใหญ่กว่านี้จะไม่อร่อยเท่า

หลังจากยัดไส้แล้วก่อนจะนำไปย่างนั้นจะนำไก่ทั้งตัวไปชุบซีอิ๊ว เหล้าจีนและเครื่องสมุนไพรจีนให้ผิวชุ่ม จากนั้นจึงนำไปย่างไฟ โดยในการย่างไก่หมุนที่มนูคิดนั้น เป็นวิธีการย่างไก่แบบเบ็ดเสร็จ มีแกนเหล็กที่นำไก่มาเสียบเรียงแถวกันได้ 6 ตัว มี 2 แถว และใช้เตาถ่านที่สุมไฟให้ระอุในการย่าง แกนจะหมุนไก่ไปเรื่อย ๆ ประมาณ 20 นาที เนื้อไก่ก็จะสุกได้ที่พอดี ส่วนเครื่องหมักที่อยู่ในท้องไก่จะแทรกซึมเข้าไปแทนน้ำในเนื้อไก่ที่ระเหยเพราะโดนความร้อน

วิธีการนี้มนูบอกว่าจะทำให้ได้หนังไก่กรอบนอก แต่ว่าเนื้อไก่ข้างในจะนุ่มหอมกลิ่นเครื่องสมุนไพรที่หมักไว้ในตัวไก่ ฉีกเนื้อไก่ส่งเข้าปากกินเพียวๆ ก็ได้รสชาติดีอยู่แล้ว หรือจะจิ้มกินกับน้ำจิ้มสูตรพิเศษของทางร้านก็ช่วยเพิ่มความอร่อยเข้าไปอีก

ก็ถ้าใครอยากจะไปลิ้มลองรสชาติของไก่ย่าง (ไก่หมุน) ของร้าน "ศิริชัยไก่ย่าง" ก็ตามไปชิมกันได้ซึ่งเปิดขายอยู่ 2สาขา สาขาลาดพร้าว และที่สาขาวงศ์สว่าง

"ลิขิตไก่ย่าง" กรุ่นกลิ่นไก่หอมเครื่องเทศ

สำหรับแฟนพันธุ์แท้ไก่ย่าง น่าจะคุ้นเคยกับ ร้าน "ลิขิตไก่ย่าง" ข้างสนามมวยราชดำเนินเป็นอย่างดี ชื่อนี้เอ่ยมาเมื่อไหร่ บางคนพานน้ำลายสอเต็มปาก

แต่ว่าการจะมามีวันนี้ของลิขิตไก่ย่างก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เลิศชาย ปัณทุราสัญญ์ ผู้ที่ดูแลกิจการร้าน "ลิขิตไก่ย่าง" ณ ปัจจุบันนี้ เล่าถึงที่มาของร้านว่า มีชื่อ มาจากชื่อของคุณพ่อ คือ "ลิขิต สัมมาขันธ์" ซึ่งคุณพ่อได้เริ่มมาขายไก่ย่าง ที่ข้างสนามมวยราชดำเนินแห่งนี้ ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และขายไก่มาตั้งแต่เริ่มต้นที่ราคาตัวละ 12 บาท ก่อนจะขยับราคาขึ้นตามเศรษฐกิจ เป็นตัวละ 16 บาท 18 บาท จนกระทั่งปัจจุบันขายที่ตัวละ 100 บาท

การทำไก่ย่างของร้านลิขิตฯจะพิถีพิถันตั้งแต่การเลือกไก่ โดยจะคัดไก่พันธุ์เนื้อ ที่มีลักษณะตัวป้อมๆ น้ำหนักประมาณ 7-8 ขีด ที่มาจากฟาร์มโดยตรง จากนั้นจะนำไก่ไปผ่าท้อง ล้างให้สะอาด นำไขมัน หนัง และเครื่องในออก สำหรับไขมันที่เอาออกก็เพื่อไม่ให้เวลาย่างแล้วไฟลุกขึ้นมา

ส่วนเครื่องหมักไก่ก็จะมีกระเทียม พริกไทย ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของทางร้าน วิธีการหมักก็จะชุบขึ้นมาแล้วทำการหมักทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที จากนั้นก็นำมาเสียบกับไม้ไผ่ ที่คัดเฉพาะไม้ไผ่จากราชบุรี

เรื่องนี้เลิศชาย อธิบายว่า ถ้าไม้ไผ่หนาเกินไปเวลาหนีบไก่ไม้จะแตก เพราะฉะนั้นต้องใช้ไม้ไผ่ที่บางและทรงแบน เวลาอ้าจะไม่แตก และใช้เชือกมัดไว้ธรรมดา

ส่วนการย่างไก่ จะย่างด้วยเตาถ่าน เพราะไก่จะออกมามีกลิ่นหอม โดยมีเทคนิคในการย่างตรงที่ปริมาณถ่านในเตาที่ใช้ประมาณครึ่งเตา และใช้ขี้เถ้าโปะให้หนาพอควร เพราะไม่อย่างนั้นไฟจะแรงเกินไปเนื้อไก่จะไหม้ แล้วเนื้อข้างในจะไม่สุก ต้องย่างไฟอ่อนๆ พอดีๆ ตัวหนึ่งในเวลาในการย่างประมาณ 15 นาที เมื่อสุกจะกินได้หมดทั้งหน้าหลัง

สำหรับความเด่นของไก่ย่างลิขิตนั้น จะอยู่ที่ไก่ย่างที่หอมกลิ่นเครื่องหมักทั้งกระเทียม พริกไทย และรสชาติของเครื่องหมักที่ซึมลึกถึงเนื้อในของไก่ย่าง ได้รสชาติในตัวเนื้อไก่ นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถสั่งทางร้านได้ด้วยว่าจะเอาไก่ย่างแบบเนื้อนุ่ม หรือว่าเนื้อแห้ง โดยทางร้านสามารถจัดการย่างให้ได้ตามความต้องการ และการกินไก่ย่างของที่นี่ก็จะมีน้ำจิ้มให้เลือก 2 แบบ คือ น้ำจิ้มหวานและน้ำจิ้มแจ่ว ที่เป็นสูตรเฉพาะของทางร้าน

นอกจากเรื่องของความอร่อยในตัวไก่ย่างแล้วนั้น สิ่งที่ร้านลิขิตไก่ย่าง ให้ความสำคัญและเน้นหนักก็คือในเรื่องของความระมัดระวังคุณภาพของตัวไก่ย่าง ทั้งการทำก็ดี การย่างก็ดี ไม่ว่าจะคุณภาพในตัวไก่หรือรสชาติ ไม่ว่าจะมากินไก่ย่างที่ร้าน "ลิขิตไก่ย่าง" ในวันไหนๆ รสชาติก็จะเหมือนเดิม ไม่มีเปลี่ยนแปลง

สำหรับผู้ที่เป็นขาประจำมานั่งกินไก่ย่างที่ร้าน "ลิขิตไก่ย่าง" อยู่บ่อยๆ ก็คงจะรู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร ส่วนถ้าใครยังไม่เคยมาสัมผัสกับรสชาติของไก่ย่างลิขิตนั้นก็ลองแวะมาชิมรสชาติกันได้ที่ร้าน ข้างสนามมวยราชดำเนินและอีกสาขาที่ช่อง 9 อสมท.

"นิตยาไก่ย่าง" ไก่พื้นบ้านเนื้อแน่น เหนียวนุ่ม

"นิตยาไก่ย่าง" ชื่อนี้ไม่เคยตกขบวนของไก่ย่างรสเด็ด ซึ่งความจริงแล้ว "นิตยาไก่ย่าง" ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จากการอยากทำธุรกิจร่วมกันในหมู่พี่น้องของ รวีรัตน์ ลักษณวิสิษฐ์ ที่ก่อนหน้านี้หมู่พี่น้องได้ร่วมกันทำ"น้ำพริกนิตยา" ที่ติดปากติดใจของใครหลายๆคนมาแล้ว

แต่กระนั้น รวีรัตน์กับพี่น้องก็ยังอยากจะทำอาหารขายอีก จึงตกลงกันว่า น่าจะขายไก่ย่างเพราะเป็นอาหารที่ขายดี และมีความชอบเป็นการส่วนตัว

ในที่สุด"นิตยาไก่ย่าง" ก็ถือกำเนิดขึ้นมา สาขาแรกที่ ถ.รัตนาธิเบศร์ โดยนิตยานั้นเป็นชื่อพี่สาวของรวีรัตน์ ซึ่งเป็นชื่อที่ติดตลาดและคุ้นหูอยู่แล้ว

หากถามถึงว่าไก่ย่างนิตยานี้มีความพิเศษตรงไหน เรื่องนี้ รวีรัตน์เล่าว่า จริงๆแล้วสูตรการหมักไก่ย่างนิตยาก็จะเหมือนสูตรการหมักทั่วๆไป โดยมีเครื่องหลักๆ คือ พริกไทย กระเทียม เกลือ 3 อย่าง แต่ไก่นิตยาจะเน้นเครื่องให้ถึงรสชาติ และที่เด่นไปกว่าไก่ย่างทั่วไปก็คือ ไก่นิตยาจะไม่ใช้ไก่เนื้อ แต่จะใช้ไก่บ้านในการย่างเพราะจะมีเนื้อที่แน่นและเหนียวนุ่มมากกว่าไก่เนื้อ และจะคัดไก่ที่อยู่ในช่วงวัยกำลังเริ่มหนุ่ม มีน้ำหนักอยู่ที่ตัวประมาณ 9 ขีด

สำหรับไก่ จะเลือกใช้ "ไก่บ้านตะนาวศรี" ที่เป็นไก่พันธุ์ดี เลี้ยงจากฟาร์มระบบปิดที่ได้มาตรฐาน มีการควบคุมโรคด้วยสมุนไพรธรรมชาติที่นำมาบดผสมรวมกับอาหารให้ไก่กิน ปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเร่งการเจริญเติบโต ทำให้ไม่มีสารเคมีตกค้างภายในร่างกาย ไขมันต่ำเหมาะสำหรับผู้ที่รักษาสุขภาพ

สิ่งที่ขาดเสียมิได้ในการกินไก่บ้านย่างก็คือ ไก่ย่างนิตยา จะเด่นเรื่อง "น้ำจิ้มแจ่ว" โดยคิดสูตรอยู่ถึง 3 ปี กว่าจะมีรสชาติออกมาถูกปากถูกใจคนชอบกินไก่ย่าง ส่วนใครที่ชอบน้ำจิ้มหวานทางร้านก็มีให้

นอกจากรสชาติไก่แล้ว นิตยาไก่ย่าง ยังเน้นเรื่องการบริการของพนักงาน ที่ต้องสุภาพยิ้มแย้ม เป็นมิตรกับลูกค้า

ใครที่อยากจะกิน "ไก่ย่างนิตยา" ก็ตามไปกินกันได้ โดยตอนนี้มีถึง6 สาขา คือ ถ.รัตนาธิเบศร์ 1 519, ถ.ประชาชื่น เมืองทองธานี แยกประชานุกูล พหลโยธิน (กม.27) แยกพระนั่งเกล้า ส่วนอีกไม่นาน(ประมาณปลายเดือน ก.พ.) จะเปิดสาขา 7 ที่ ปิ่นเกล้า ใครเป็นแฟนไก่ย่างนิตยาก็ตามไปพิสูจน์รสชาติกันได้

"ไก่ย่างจีระพันธ์" หวาน มัน เค็ม หอมกลิ่นกะทิ

"ไก่ย่างจีระพันธ์" นับเป็นอีกหนึ่งร้านที่ได้รับความเชื่อถือจากคอไก่ย่าง เพราะไก่ย่างจีระพันธ์จะเด่นที่รสชาติ หวาน มัน เค็ม หอมกลิ่นกะทิ ซึ่งถือว่าโดนใจแฟนไก่ย่างหลายๆคน

ร้านไก่ย่างจีระพันธ์ถือกำเนิดมาจาก "อับดุลเลาะห์ อาดัม" ชายผู้ที่มีความมุ่งมั่น ต่อสู้กับชีวิตมาอย่างโชกโชน โดยการเริ่มต้นของไก่ย่างจีระพันธ์นั้น เกิดขึ้นมาจากที่อับดุลเลาะห์ ไปช่วยกิจการร้านไก่ย่างร้านเดิมของคุณป้า ที่ชื่อว่า "ไก่ย่างจิระพันธ์" ซึ่งก็มีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง จนกระทั่งคุณป้าอายุมากจะเลิกกิจการ และไม่มีลูกหลานมาสานต่อกิจการ

ด้วยความที่อับดุลเลาะห์ได้รับความไว้วางใจจากป้า จึงได้รับให้เปิดกิจการร้านต่อ โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อจากเดิมเล็กน้อย เป็น "ไก่ย่างจีระพันธ์" เพราะเกรงว่าจะไปซ้ำกับชื่อเดิมที่อาจจะมีญาติๆ คนอื่นนำชื่อไปใช้ และก็ได้มีการปรับปรุงสูตรไก่ย่างขึ้นมาใหม่ จนทำให้ไก่ย่างตำรับจีระพันธ์มีรสชาติที่อร่อยกว่าเดิม

สำหรับการทำไก่ย่างของร้านจีระพันธ์นี้ จะเริ่มตั้งแต่การเลือกไก่ที่มีน้ำหนักพอเหมาะนำมาย่างคือตัวละ 1 กิโลกรัม 1 ขีดหรือ 1 กิโลกรัม 2 ขีด โดยใช้กระเทียมไทยกลีบเล็ก เพราะจะทำให้รสชาติดีกว่ากระเทียมจีนกลีบใหญ่ และหมักไก่อย่างต่ำ 1 คืนโดยแช่ตู้เย็น(ช่องธรรมดา) หรือแช่ในถังน้ำแข็ง เพื่อให้เครื่องปรุงซึมเข้าเนื้อไก่อย่างทั่วถึง

ส่วนวิธีการย่างตามสูตรของร้านจะนำไก่เข้าเตาอบก่อน ให้ไก่สุกประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำมาย่างด้วยไฟอ่อนๆประมาณ 2 ชั่วโมง เพราะถ้าเกิดนำไปย่างเลยหนังไก่จะไหม้แต่เนื้อข้างในจะไม่สุกและกระดูกจะแดงไม่น่ากิน เมื่อไก่สุกแล้ว หนังจะกรอบ กระดูกไม่แดง

สำหรับการย่างไก่นั้น ก็ต้องมีเทคนิคในการย่างด้วย คือจะใช้วิธีการย่าง 2 เตา โดยเตาแรกจะใช้ไฟแรง เมื่อย่างไปสักพักจนหนังเริ่มแห้งแล้วก็ให้ย้ายมาย่างเตาที่ 2 ย่างด้วยไฟอ่อนๆย่างไปเรื่อยๆประมาณ ชั่วโมงครึ่ง-2 ชั่วโมง ไก่ย่างบางแห่งที่เห็นสีเหลืองน่ากินเพราะใส่สีผสมอาหาร แต่ไก่ย่างจีระพันธ์จะทาด้วยขมิ้นผง โดยในขณะย่างจะมีการพรมน้ำกะทิ ทำให้ไก่ที่ย่างออกมามีเนื้อหวาน มัน เค็มและหอมกะทิ ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของไก่ย่างจีระพันธ์

ส่วนการสับไก่ก็ไม่ธรรมดา ทางร้านมีเคล็ดลับคือ เมื่อสับชิ้นแรกแล้วให้สังเกตว่าเนื้อไก่แห้งดีหรือไม่ ถ้าเนื้อไก่ไม่ค่อยแห้งให้สับชิ้นใหญ่ขึ้น เพราะถ้าสับชิ้นเล็กๆจะทำให้เนื้อไก่เละได้

ปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่าอับดุลเลาะห์จะถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่ว่าลูกทั้ง 5 คนของอับดุลเลาะห์ก็ได้ช่วยกันสานต่อกิจการ "ไก่ย่างจีระพันธ์" ซึ่งใครอยากจะไปพิสูจน์รสชาติก็ไปกันได้ที่ร้าน "ไก่ย่างจีระพันธ์" ริมถนนพระราม 9 ตัดใหม่ ฝั่งขาออกไปมอเตอร์เวย์

" ไก่ย่างบุญรอด" หน้าหนาวมาเยือนถึงจะได้กิน

" ไก่ย่างบุญรอด" ไก่ย่างเจ้านี้หากินยากหน่อย เพราะไม่ได้เปิดขายตามปกติเหมือนร้านไก่ย่างทั่วไป

แต่ไก่ย่างบุญรอดจะทำส่งขายเฉพาะช่วงเทศกาลเบียร์เท่านั้น เรียกว่าพอลมหนาวมาเยือนถึงจะมีโอกาสได้กินไก่ย่างบุญรอด

สำหรับ "ไก่ย่างบุญรอด" นั้น เป็นไก่ย่างที่ความพิเศษตรงที่เป็นไก่ย่างสูตรแท้และดั้งเดิมของตระกูลภิรมย์ภักดี มีจุดเริ่มต้นมาจากความที่พระยาภิรมย์ภักดีผู้ให้กำเนิดเบียร์สิงห์นั้นเคยไปเยอรมนีแล้วเห็นว่าคนเยอรมันกินไส้กรอกและไก่ย่างแกล้มกับเบียร์ เมื่อกลับมาจึงนำสูตรไก่ย่างจากเยอรมนีแล้วมาดัดแปลงสูตรให้ถูกปากคนไทย และได้มอบหมายสูตรนี้ให้ ตี๋กุ๊ก ซึ่งเป็นกุ๊กประจำของบริษัทบุญรอดฯ เป็นผู้ดูแล

และไก่ย่างบุญรอด ก็ได้ออกโรงเปิดเผยโฉมครั้งแรกให้ผู้คนได้ลองลิ้มชิมรสชาติเป็นครั้งแรก เมื่อครั้งงานกาชาดที่วังสราญรมย์ เมื่อหลายสิบปีก่อน จากนั้นพองานกาชาดย้ายมาอยู่ที่สวนอัมพรก็ยังตามมาขาย จนบริษัทบุญรอดมาทำลานเบียร์ที่เวิลด์เทรด (เซ็นทรัลเวิร์ด พลาซา) เมื่อ 4 – 5 ปีก่อน ก็ทำไก่ย่างบุญรอดมาขายที่ลานเบียร์

ด้วยความที่จะได้กินไก่ย่างบุญรอดแต่ละที ต้องรอนานในแต่ละปีกว่าจะได้กิน แต่ถ้าเมื่อมีโอกาสได้กินแล้วก็ไม่ผิดหวัง เพราะไก่ย่างบุญรอดนั้น มีความพิเศษกว่าไก่ย่างเจ้าอื่นๆ ตรงที่เขาจะพิถีพิถันและใช้แต่ของดีๆ มาทำ อย่างไก่จะสั่งตรงจากฟาร์ม ซึ่งต้องเป็นไก่พันธุ์เนื้อนุ่ม ขนาดตัวละ 7 – 8 ขีด ส่วนสูตรน้ำหมักนั้นเป็นสูตรของพระยาภิรมย์ภักดีที่ให้ตี๋กุ๊กดูแล และตอนนี้ลูกชายของตี๋กุ๊กชื่อ ห่าน ซึ่งเป็นกุ๊กของบุญรอดเหมือนกันเป็นคนสืบทอดต่อมา

สำหรับสูตรน้ำหมักไก่ย่างที่ว่าพิเศษนั้น ความสำคัญอยู่ที่ซอสและเหล้าจีน และใช้เวลาในการหมักกว่าครึ่งชั่วโมง ส่วนในตัวไก่ยังต้องยัดไส้ด้วยกระเทียมและหอมที่บุบให้พอแหลก ตัวไก่ด้านนอกก็ทาด้วยเนยเค็มเพื่อให้ผิวสวยและเพิ่มรสชาติ จากนั้นถึงจะนำมาย่างแบบหมุนไก่กับเตาย่างที่จัดทำขึ้นมาเป็นพิเศษ ใช้ไฟแรงกำลังดีในการย่าง ย่างจนเนื้อไก่แห้งหนังกรอบ ข้างในสุกก็เป็นอันว่าใช้ได้

ไก่ย่างบุญรอดนี้เวลากินจะมีกลิ่นหอมของเหล้าจีนโดดเด่นขึ้นมา กินตอนร้อนๆ หนังจะกรอบเนื้อในจะนุ่มชุ่มซอส ยิ่งจิ้มกินคู่กับน้ำจิ้มสูตรพิเศษ ของทางร้านยิ่งจะเพิ่มรสชาติเข้าไปอีก น้ำจิ้มสูตรนี้รสชาติออกเปรี้ยวนำ เพราะใช้น้ำส้มแท้ 7% ที่จะให้ความเปรี้ยวมากกว่าปกติ นอกจากนี้ก็มีพริกชี้ฟ้าแดง พริกฝรั่งแดง แล้วต้องเติมวอดก้าเข้าไปหน่อยเพื่อช่วยให้รสชาติอร่อยขึ้นจมูก

ใครอยากจะไปกิน "ไก่ย่างบุญรอด" ก็คงต้องรอให้ถึงหน้าหนาว เมื่อไหร่ ก็แวะเวียนไปกินกันได้ ที่ลานเบียร์เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซา หรือที่ลานเบียร์สยามดิสคัฟเวอรี่

*************
นอกจากไก่ย่างชื่อดังที่กล่าวมาทั้ง 5 ที่ ในกรุงเทพฯแล้ว ในต่างจังหวัดก็ยังมีย่านไก่ย่างที่น่าสนใจอีก อาทิ

ไก่ย่างเขาสวนกวาง จ. ขอนแก่น

เมนูขึ้นชื่อของจังหวัดขอนแก่น เป็นไก่พันธุ์ผสมสามสายเลือด ไก่พื้นเมือง ไก่ไข่และไก่พันธุ์ และต้องเป็นไก่ที่เลี้ยงในอำเภอเขาสวนกวางเท่านั้น เพราะเนื้อแน่น อร่อย ไม่เหลวอย่างไก่พันธุ์ทั่วๆไป สูตรน้ำจิ้มไก่ย่างเขาสวนกวางก็คิดรสชาติให้เด็ดเป็นพิเศษ วิธีการย่างแม้จะใช้เตาถ่านธรรมดาแต่ต้องใช้ถ่านไม้อย่างดี โดยนำไก่ที่หมักเครื่องเทศแล้วย่างประมาณ 20 นาที (ถ้านานเกินไปจะทำให้เนื้อไก่แข็งไม่นุ่ม) เคล็ดลับอยู่ที่ระหว่างย่างจะต้องใช้กระเทียมเจียวราดลงบนตัวไก่ไปเรื่อยๆจะทำให้ไก่มีรสชาติหอม อร่อย

ไก่ย่างท่าช้าง จ. นครราชสีมา

ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักกันดี ใครไปใครมาแถวตำบลท่าช้าง โคราชแล้วพลาดชิม “ไก่ย่างท่าช้าง” ก็นับว่าเสียเที่ยว เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่สูตรการหมักไก่ย่างที่ทางร้านขออุบไว้ บอกได้เพียงว่าสูตรเด็ดนี้เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร ความพิเศษอีกอย่างอยู่ที่ความนุ่มของเนื้อไก่ที่จะคัดสรรเอาเฉพาะไก่ที่สด สมบูรณ์โดยเฉพาะ คัดเอาน้ำหนักและขนาดพอเหมาะเมื่อหมักจะได้เข้าเนื้อมากขึ้น เวลาย่างต้องย่างให้ไก่แห้งแต่นุ่ม มีกลิ่นเครื่องเทศและเครื่องปรุงที่เป็นสูตรเฉพาะ ยิ่งกินพร้อมกับข้าวเหนียวที่หุงได้นุ่มแต่ไม่แฉะ หากผ่านมาแวะชิมคงไม่ผิดหวังแน่นอน

ไก่ย่างห้วยทับทัน จ. ศรีสะเกษ

ไก่ย่างไม้มะดันห้วยทับทันคัดจากไก่พันธุ์พื้นเมืองและไก่สามสายเลือด ความพิเศษของไก่ที่นี่อยู่ตรงการใช้ไม้มะดันเป็นไม้เสียบไก่แทนไม้ไผ่ เนื่องจากไม้มะดันเป็นไม้ที่มีรสชาติเปรี้ยว และสามารถหาได้ง่ายในพื้นที่ โดยจะพบได้ตามธรรมชาติบริเวณริมน้ำห้วยทับทัน เมื่อผสานรสชาติเปรี้ยวนิดๆจากไม้เสียบไก่ทำให้รสชาติของไก่ย่างโดดเด่น ไม่เหมือนใคร ยิ่งเมื่อปะเหมาะกับสูตร เครื่องปรุงเนื้อไก่ และวิธีการย่างที่ทำให้ไก่สุกแห้งพอดี ไม่แฉะเยิ้มด้วยน้ำมันเหมือนเจ้าอื่นๆ เหล่านี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่เจ้าอื่นๆไม่อาจลอกเลียนได้เลย

ไก่ย่างหนองกี่ จ. บุรีรัมย์

ไก่ย่างที่เสียบไม้ย่างด้วยเตาถ่าน มีวิธีทำที่ต่างจากร้านทั่วไปตรงที่จะหั่นไก่เป็นชิ้นๆ หมักกับเกลือ ซีอิ๊ว กระเทียมตะไคร้ โดยหมักทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีแล้วนำไปย่างไฟที่ก่อด้วยเตาถ่านเท่านั้น จากนั้นจึงนำน้ำมันเจียวจนหอมทาชโลมทาให้ทั่ว

ไก่ย่างวิเชียรบุรี จ. เพชรบูรณ์

ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความอร่อย ต่างจากทั่วไป ทั้งรสชาติและความกรอบ เนื้อนุ่ม รวมไปถึงน้ำจิ้มที่รสชาติแปลกๆ ร้านที่จำหน่ายไก่ย่างเหล่านี้จะตั้งอยู่สายสระบุรี-หล่มสัก ทางแยกเข้าอำเภอวิเชียรบุรี ร้านดั้งเดิมที่มีคนไปแวะชิมมากที่สุดได้แก่ ไก่ย่างของนายทรวง “ตาแป๊ะ”








กำลังโหลดความคิดเห็น