xs
xsm
sm
md
lg

แอ๊ด คาราบาว "ผมไม่มีอุดมการณ์อะไร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"คาราบาว" เมื่อเอ่ยถึงวงดนตรีวงนี้คงไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะสังคมไทยรู้จักพวกเขาดีพอที่จะไม่ต้องบรรยายอะไร

แต่ปัจจุบันมีบางเสียงบอกว่าพวกเขา "เปลี๊ยนไป๋" ตั้งแต่กรณีเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อดัง เพลงเชียร์โครงการวัวแก้จน เพลง "ซูนามิ" ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์" ต่างๆ นานา รวมถึงการแต่งเพลงให้พรรคการเมืองด้วย

วันนี้คาราบาวกำลังทำอะไร?...หลายคนอาจไม่เข้าใจ

คาราบาวกับสถานการณ์ของเมืองไทย
คาราบาวกับเพลงการเมืองดูจะเป็นของคู่กัน นับแต่สามอัลบั้มแรก คือ "ขี้เมา"   "แป๊ะขายขวด" และ "วณิพก" หากพินิจพิเคราะห์ดูดีๆ ในฐานะคนฟัง จะเห็นเนื้อหาของเพลงที่พูดถึงคนตัวเล็กๆ ในสังคมท่ามกลางการพัฒนาประเทศเพื่อจะเป็นนิกส์ (ประเทศอุตสาหกรรมใหม่) ตามแผนเศรษฐกิจที่เดินตามสหรัฐอเมริกาสุดกู่ในช่วงนั้น

เมื่อเวลาผ่านไป เนื้อหาเพลงคาราบาวเริ่มเข้าไปอิงกับสังคมอย่างชัดเจนในชุดของ "ท.ทหารอดทน" ที่เพลงในอัลบั้มชุดนี้ถูกแบนเป็นครั้งแรก เนื่องจากหยิบสถานการณ์ของสังคมในยุคนั้นพูดอย่างตรงไปตรงมา

คาราบาวดังเป็นพลุแตกในปี 2527 กับอัลบั้ม "Made in Thailand" ที่ตอบรับกระแสการลดค่าเงินบาทเป็นครั้งแรกและการรณรงค์ให้ใช้ของไทยๆ ของรัฐบาลในสมัยนั้น ซึ่งทำให้ทำยอดขายเทปได้สูงถึง 3 ล้านตลับ

เพลงลักษณะที่กล่าวไปกลายเป็นเอกลักษณ์ของคาราบาว ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นวงที่แต่งเพลงเพื่อชีวิตและสนับสนุนสิ่งดีๆ ในสังคมได้ดีมากเท่าๆ กับวงรุ่นพี่ที่เกิดขึ้นก่อน

หลังจากนั้นอัลบั้ม "อเมริโกย" "ประชาธิปไตย" จนถึงชุดล่าสุด "นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่" รวมไปถึงเพลงพิเศษที่ทยอยออกสู่ผู้ฟังอีกจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน โดนแบนบ้าง ไม่โดนบ้าง โดนวิจารณ์เอาบ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ถือได้ว่า คาราบาวมีสีสันควบคู่มากับสังคมและสถานการณ์การเมืองไทยโดยตลอด

เพียงแต่ระยะหลังตั้งแต่กรณีเพลง "คาราบาวแดง" "วัวแก้จน" มาจนถึง "ซูนามิ" กลับมีเสียงวิจารณ์และความกังขาพวกเขาอย่างหนัก ซึ่งก็แล้วแต่ใครจะมองอย่างไร...

คาราบาว ในกระแสกาล
ในอดีตอย่างที่กล่าวไปแล้ว คาราบาวในสายตาคนฟังเป็นวงดนตรีเพื่อ "สังคม" และเพื่อ "ชาติ" เห็นได้ชัดจากเพลงที่แต่งขึ้น แต่เมื่อพวกเขาเริ่มทำงานเพลงให้องค์กรต่างๆ สินค้าบางประเภทในธุรกิจของตนเอง ส่งเสริมนโยบายรัฐบางข้อ รวมถึงแต่งเพลงให้กับพรรคการเมือง วันนี้ จึงมีเสียงสะท้อนเชิงตั้งคำถามว่า

พวกเขาละทิ้งอุดมการณ์แล้วละหรือ?

วันนี้เรามานั่งคุยกับแอ๊ด คาราบาว ข้างห้องอัดของเขาย่านกรุงเทพกรีฑา เพื่อไขข้อข้องใจต่างๆ ที่ส่วนใหญ่ถาโถมเข้าใส่พวกเขาอย่างหนักทั้งในโลกไซเบอร์อย่างอินเทอร์เน็ตและโลกแห่งความเป็นจริง

"ผมไม่มีอุดมการณ์อะไร มีแต่ทำงานเพลงเพื่อสังคม ไม่มีอุดมการณ์อะไรทั้งสิ้น" เป็นเสียงของแอ๊ด คาราบาว เมื่อถูกถามถึงสิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์

ก่อนจะกล่าวถึงการรับงานแต่งเพลงที่เอื้อหนุนธุรกิจต่างๆ ว่า "นี่คือการหาอยู่หากิน"

แอ๊ด คาราบาวบอกกับเราถึงความจริง ที่หากพวกเขามัวแต่ทำงานเพลงปกติอย่างเดียว ก็อยู่ยาก เพราะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ มากขึ้นเป็นเงาตามตัวเมื่อเวลาผ่านไป

"อยากบอกว่าส่วนหนึ่งของการดำรงอยู่ เราต้องการห้องอัดเสียง ต้องซื้อเครื่องมือเพิ่ม"

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเทปผีซีดีเถื่อน ที่คนฟังอย่างเราทั้งเถื่อนหรือไม่เถื่อนก็ตาม คิดไม่ถึงว่าจะกระทบต่อพวกเขาหนักหน่วงเช่นกัน "เราเจอปัญหาการปลอมเทปมากมายก่ายกอง ทำให้ไม่มีรายได้พอดูแลห้องอัดเสียง เลยเปิดรับงานโฆษณา นี่คือการรับงานในส่วนของบริษัทมองโกล ทำมา 7 ปีแล้ว"

คาราบาวปัจจุบันจึงต้องยืนหยัดให้ได้ ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบันที่ก่อเกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนทำงานเพลงแบบเขา

"เรื่องเพลงพวกนั้น คาราบาวทำเพลงเลือกตั้งมา 6 ปีแล้ว เหมือนกับรับงานโฆษณาสินค้า เราคิดมุมนั้นไม่คิดเรื่องอื่นเลย เรียกว่านี่คือธุรกิจของคาราบาวอีกภาคหนึ่งดีกว่า เป็นธุรกิจซึ่งมีคนทำชัดเจน" เขากล่าวถึงการแต่งเพลงให้กับพรรคการเมืองและองค์กรต่างๆ

ดังนั้นสำหรับแอ๊ด อาจกล่าวได้ว่า เขาเพียงแต่เปิดภาคธุรกิจเพิ่มเพื่อความอยู่รอด

แต่การเปิดภาคธุรกิจเพิ่มนี้เองที่ทำให้เขาต้อง "รับเละ" ในช่วงหลังๆ

อย่างกรณีเสียงวิจารณ์เพลงซูนามิ ทั้งกรณีคำว่า "ซูนามิ" แทนที่จะเป็น "สึนามิ" หรือแม้แต่ เรื่องบรรยากาศเพลงที่ว่า "ท้องฟ้ามืดมัว" ทำไมไม่เป็นท้องฟ้าใสแจ๋ว!?!?

"เป็นความรู้สึกเรื่องวัน ท้องฟ้ามืด เหมือนกับเรามองไม่เห็นหนทางที่จะอยู่รอดได้เลย มันมา 12 เมตรเต็มไปหมด..." แอ๊ดเล่า

อาจจะจริง เมื่อคำนึงถึงการแต่งเพลงๆ หนึ่งขึ้นมาต้องคิดถึงการสร้างคอร์ด ภาคริทึ่มกีตาร์ ภาคเบส การเรียบเรียงเสียงประสาน ยังมีปัจจัยอื่นอีกอย่างเรื่องการใส่เนื้อเพลง ซึ่งก็แล้วแต่ความถนัดของศิลปินว่าจะแต่งเนื้อก่อนแล้วใส่ทำนองหรือสร้างทำนองก่อนแล้วใส่เนื้อ

บางครั้งการแต่งเพลง การเลือกใช้คำจึงต้องให้ลงกับคอร์ด กับเสียง ที่สำคัญ ต้องมีจินตนาการ ซึ่งไม่ต้องตรงกับความจริงทั้งหมด

"ผมอาจจะผิดก็ได้...แต่ผมไม่ได้ติดใจตรงนี้" เขาเงียบไปสักพักแล้วเอ่ยขึ้น

"ตอนนี้ไม่ใช่เวลามาว่าหรือตำหนิใคร ต้องช่วยกัน สายธารที่หลั่งไหลไปเป็นสิ่งจำเป็น เพราะทุกคนที่เข้าไปช่วยเสียสละมหาศาล คุณหมอพรทิพย์ก็ดี คนที่เข้าไปกู้ก็ดี อยู่กับความเน่าเหม็น ความยากลำบาก ผมส่งคาราบาวแดงลงไป 180,000 ขวด แล้วเสื้อยืดด้วย เพราะเขาไม่ได้เปลี่ยนเสื้อผ้าเลย" แอ๊ดเล่าถึงสิ่งที่เขาทำเพื่อให้ความช่วยเหลือคนทางใต้

"การแต่งเพลงของผมไม่นาน เวลาแต่งต้องคิดก่อนจะพูดเรื่องอะไร เพลงซูนามิคิดจะเขียนวันที่ 29 หลังไปงานศพคุณพุ่ม เจนเซ่น วันที่ 28 แต่ไม่ได้เขียนทันที คืนนั้นน้าทิวา สาระจูฑะ (บก.นิตยสารสีสัน)ให้กลอนมาบทหนึ่ง เราก็เอากลอนบทนั้นมาเริ่มต้น ทำเสร็จตอน 6 โมงเย็น อัด 3 ชม. ตั้งแต่บ่ายสาม แล้วตีรถขึ้นไปเล่นที่ชัยภูมิต่อ ให้ทางบริษัทวอร์เนอร์แจกตามสถานีโทรทัศน์เพื่อจะได้ใช้กัน" แอ๊ดเล่าที่มาของเพลง "ซูนามิ" หรือ "สึนามิ"

ซึ่งสำหรับเขา...ไม่ว่าคำไหนก็หมายถึงคลื่นยักษ์ทั้งสิ้น

"บรรยากาศเศร้าแบบนั้นเพลงจะช่วยผ่อนได้ งานศิลปะต้องมีแทรกในกิจกรรมทางสังคมทุกประเภท ใช้ได้หรือไม่ได้ผมตอบไม่ได้ แต่เราได้ทำ และเชิญชวนพี่น้องที่เป็นศิลปิน ยามบ้านเมืองมีปัญหาคนไทยพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่าไม่ทิ้งกัน ลูกสาวผมเขาก็กำลังแต่งเพลงนี้เป็นภาษาอังกฤษ" แอ๊ดเพิ่มเติมถึงอัลบั้ม "ซับน้ำตาอันดามัน" ที่กำลังจะออกมาเร็วๆ นี้

คาราบาวสำหรับคนชื่อ ยืนยง โอภากุล
สำหรับแอ๊ด จุดยืนวงคาราบาวไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เมื่อเขาเปิดภาคธุรกิจขึ้นมาอีกภาคหนึ่ง

"เรื่องนี้มันไม่เกี่ยวกับอุดมการณ์ เป็นเรื่องทำมาหากิน ผมขี่มอเตอร์ไซค์ฮาร์เล่ย์มีอุดมการณ์ไหม ผมตีไก่มีอุดมการณ์ไหม"

เพราะคนชื่อยืนยง โอภากุล ยืนยันว่าชีวิตมีหลายด้าน...

"ชีวิตคนไม่ได้ผูกติดอุดมคติหรืออุดมการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง มันมีส่วนที่เราต้องรับผิดชอบหรือมีความเป็นส่วนตัว แต่เรื่องเพลงที่ออกมาเป็นตลับเทปผมก็ยังก้มหน้าก้มตาทำ หลังสุดนี่ก็ซับน้ำตาอันดามัน ก่อนหน้านี้ก็มีขวานไทยใจหนึ่งเดียว ผมทำออกมาตลอด"

อนาคตสำหรับคาราบาววางไว้อย่างไร...

"เราเป็นนักดนตรี มีชีวิตสุขสบายทุกวันนี้เพราะดนตรี แม้ว่าอนาคตดนตรีจะเป็นเรื่องพ้นยุค แต่เราคงยืนหยัดทำต่อไป เป็นชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว"

ถึงตรงนี้ทำให้เราทราบว่า นอกจากงานภาคโฆษณาที่คาราบาวเปิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อหารายได้อีกทางหนึ่ง ก่อนหน้านี้วงมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการออกทัวร์คอนเสิร์ตไปตามต่างจังหวัด

"ทำเพลงออกมาชุดหนึ่ง ดังไม่ดัง ขายได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่จะมีเพลงสองเพลงติดปากคน แล้วเราก็ออกไปทัวร์ เราอยู่ได้เพราะทรัพย์สินทางปัญญาของเรา ที่ผ่านมามีหลายเพลงอย่าง หลวงพ่อคูณ ทะเลใจ คนล่าฝัน แม้จะโดนปลอมจนขายไม่ดี ยอดตกเป็น 10 เท่าเราก็อยู่ได้จากการตระเวนทัวร์ มีกิจกรรมไหนที่ต้องผ่อนผันเรื่องช่วยเราก็ทำ ปีหนึ่งเล่นฟรีอยู่หลายงาน"

มุมกลับจากคนฟัง
ทางด้านเสียงสะท้อนจากผู้ฟังก็มีหลากหลาย จากการพูดคุยกับผู้ฟังคนหนึ่งคือ พัฒนเดช นักศึกษามหาวิทยาลัยซึ่งทั้งฟังและเล่นดนตรี ติดตามวงคาราบาวมาได้ระยะหนึ่ง คงพอจะเป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ได้ดี

เขาบอกกับเราว่า "สำหรับผมคาราบาวเปลี่ยนไปเยอะ แรกๆ เขาแต่งเพลงสะท้อนชีวิตคนรากหญ้า เช่นเพลง "ลุงขี้เมา" ที่อาจทำให้เราเกิดความเห็นอกเห็นใจพวกคนจรจัดที่นอนอยู่ตามสะพานลอย แต่ปัจจุบันเขียนถึงแต่เรื่องตามกระแสที่สังคมรู้ๆ กันอยู่แล้ว กลายเป็นแต่งตามกระแสที่สังคมสนใจ"

เขาเปรียบเทียบให้เราฟังว่า "อย่างบัวลอยมันเป็นสัญลักษณ์ บัวลอยก็เหมือนดอกบัวที่พ้นน้ำ มันเป็นหลักธรรม มันลึกล้ำกว่าในปัจจุบันนี้"

สำหรับคนฟังและเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรกอย่างเขายังถอดรหัสอะไรบางอย่างได้จากเพลง "ผมคิดว่าดนตรีต้องมีพัฒนาการ คนเราอยู่นานต้องเติบโตขึ้น ต้องพัฒนา แต่คาราบาวกลับหยุดอยู่กับที่ในมุมมองของผม"

"สิ่งที่คาราบาวทำได้ทุกวันนี้เพราะมีทักษะพื้นฐานที่ดี แต่กลับไม่ก้าวไปข้างหน้า อย่างเพลงซูนามินั้นไม่มีอะไรเลย ผมไม่ผิดหวังที่ในเวลา 3 ชม. เขาถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้ดี แต่ในทัศนะของผมกลับไม่น่าเปิดให้ใครฟัง มองว่าทำให้คนฟังหดหู่และท้อแท้มากกว่าให้กำลังใจ เดี๋ยวนี้แค่มีสถานการณ์อะไรก็นำมาตีแผ่แต่ไม่ได้เสนอมุมมองความคิดใหม่ๆเลย"

"สิ่งที่ให้คาราบาวต่างออกไปจากวงอื่นคือเนื้อเพลงที่กระชับเรียบง่ายและโดนใจ ทำนองเพลงของคาราบาวที่ออกมาตอนนี้ไม่เกินความคาดหวังของผม เราสามารถเดาได้ ไม่ได้รู้สึกตื่นตาตื่นใจเหมือนเมื่อก่อน"

ส่วนกรณีของเรื่องคาราบาวเปลี่ยนไปเขาเสริมว่า "ผมไม่ทราบว่าเขามีหรือไม่มีอุดมการณ์ แต่ถ้าเขาคิดว่าไม่ต้องการให้มีคนมานับถือ แบบนั้นเท่ากับสังคมและคนฟังคาดหวังเอง ผมผิดหวังในฐานะนักดนตรี แต่เขาก็ไม่ได้ทำผิดอะไร"

"ถ้าเช่นนั้นเมื่อก่อนก็เป็นแค่การสร้างภาพว่าตัวเองมีอุดมการณ์เพื่อที่จะให้ติดตลาด ในขณะที่ปัจจุบันมีชี่อเสียงแล้วก็ตามกระแสไปเลยได้"

อย่างไรก็ตาม ยืนยง โอภากุล เป็นนักดนตรีที่มีฝีมือในสายตาของคนฟังเสมอ "ถ้านับแล้วเขาก็เป็นนักดนตรีที่มีฝีมือหาตัวจับยากคนหนึ่งของเมืองไทย ผมอยากให้เขาทำเพลงที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์และจรรโลงสังคมมากกว่านี้ ไม่ได้อยากให้เป็นแบบอดีต แต่ต้องก้าวหน้าขึ้น"

"หากเขาออกปากมาว่าไม่มีอุดมการณ์และทำงานดนตรีเพื่อค้ำจุนตัวเองแล้ว เขาก็ไม่ได้ทำผิดอะไร อย่างในกรณีเครื่องดื่มคาราบาวแดงที่เขาตระบัดสัตย์ มันก็สิทธิ์ของเขาที่จะทำ เพียงแต่เขาก็ควรย้อนมองดูตัวเองว่ายังสามารถพูดได้เต็มปากหรือไม่ว่าทำเพื่อสังคม" พัฒนเดชทิ้งท้าย

วันนี้ท่ามกลางความเห็นที่ถาโถมใส่...
แอ๊ด คาราบาว นิยามตัวเองอย่างไร?

"ใครจะมาวิจารณ์คงไม่หนักใจ อย่าใส่ใจ เราอยู่บนโลกต้องอดทนต่อคำนินทา"

"แอ๊ดคือตัวของตัวเอง ทำหน้าที่ในสิ่งที่ตัวเองรัก คือดนตรี มีชีวิตเหมือนชาวบ้านธรรมดา ทำในสิ่งที่ดีให้ส่วนรวมสังคมเท่าที่ทำได้ เป็นชีวิตธรรมดา" ยืนยงตอบ ก่อนจะขอตัวลุกไปทำ"ซับน้ำตาอันดามัน" ที่ยังค้างอยู่ต่อไป

ไม่ว่าใครจะเห็นอย่างไร มนต์เพลงคาราบาวจะเสื่อมลงหรือไม่ วันนี้คาราบาวเป็นอย่างไร

คงต้องยกให้ผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นคนตอบ...

**************************
เรื่องวุ่นๆ ของ "ซูนามิ" และ "สึนามิ"
ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มชายฝั่งอันดามันนั้น คนไทยรู้จัก "สึนามิ" ผ่านข่าวต่างประเทศ และมากที่สุดอาจจะมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีการกล่าวถึงคลื่นดังกล่าวนี้

สึนามิ เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่า Harbour Wave แปลง่ายๆ ว่าคลื่นที่โจมตีท่าเรือและชายฝั่งนั่นเอง คำแรก สึ แปลว่า ท่าเรือ นามิ แปลว่า คลื่น ใช้เรียกกลุ่มคลื่นที่มีความยาวคลื่นขนาดหลายร้อยไมล์ นับจากยอดคลื่นที่ไล่ตามกันไป ซึ่งเกิดจากการที่น้ำทะเลจำนวนมหาศาลถูกผลักดันให้เคลื่อนที่ในแนวดิ่ง บางครั้งเรียก seismic wave เพราะส่วนใหญ่เกิดจากการเคลื่อนไหวดังกล่าว คนมักสับสน สึนามิ กับ tidal wave ซึ่งเกิดจากน้ำขึ้นน้ำลง แต่ สึนามิ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับการขึ้นลงของน้ำ

กรณีเพลง "ซูนามิ" ของแอ๊ด คาราบาว ที่มีผู้ติติงว่าผิดหลักการของภาษานั้น จากการที่ทีมข่าวบันเทิงของผู้จัดการได้สัมภาษณ์ แอ๊ดกล่าวว่า "คงไม่แก้แล้วเพราะก่อนจะแต่งเพลง "ซูนามิ" มีการสอบถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นแล้ว เวลาออกเสียงภาษาญี่ปุ่นจะกัดฟัน ก็เลยออกเสียงเป็นคำว่า "สึ" ไม่ใช่ "ซู" แต่ที่เนื้อเพลงเป็น "ซู" เพราะเมื่อเอามาเป็นภาษาทางดนตรีแล้วเวลาดีดกีต้าร์เราจะร้องคำว่า "สึ" ไม่ได้ ก็เลยต้องเปลี่ยนเป็นคำว่า "ซู" เพื่อความมัน"

"เป็นภาษาทางดนตรีซึ่งมีความสวยงามอยู่แล้ว ใครจะว่าอะไรก็ไม่สนในตอนนั้นมันเป็นจินตนาการมากกว่า จินตนาการที่ว่าตอนเกิดคลื่น 12 เมตร มันมองไม่เห็นอะไรเลย มันมืดมิด จะให้มาบอกว่ามันมีแสงแดด มันก็ไม่ได้ เวลานั้นเป็นช่วงที่ผู้คนกำลังหนีตาย ทุกคนอยู่ในความหวาดกลัวและตกใจวิ่งหนีคลื่นยักษ์กันชุลมุนมันเป็นภาษาเพลงเป็นจินตนาการ คนทำเพลงก็ทำไป คนพูดก็พูดกันไปต่างๆ นานา ก็แล้วแต่ทัศนคติของแต่ละคน"

เมื่อ 28 ธันวาคม 2547 คณะกรรมการอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ราชบัณฑิตยสถานของไทย ได้บัญญัติคำ Tsunami ว่า "คลื่นสึนามิ" โดยให้คำแปลว่า "คือคลื่นในทะเลที่มีช่วงคลื่นยาวประมาณ 80-200 กม. เกิดจากความสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวหรือแผ่นดินถล่มหรือภูเขาไฟระเบิดที่พื้นท้องมหาสมุทร ซึ่งคลื่นสามารถเคลื่อนตัวข้ามมหาสมุทรห่างจากตำบลที่เกิดเป็นพันๆ กิโลเมตร ด้วยความเร็วประมาณ 600-1,000 กม./ชม. โดยไม่มีลักษณะผิดสังเกตเพราะมีความสูงแค่ประมาณ 30 เซนติเมตร เรือที่แล่นผ่านคลื่นนี้จะได้รับความสั่นสะเทือนทำให้เรือโคลงอย่างแรง มีเสียงดังเหมือนเสียงปืนใหญ่หรือเสียงฟ้าผ่าติดตามมา ทำให้คนประจำเรือเข้าใจว่าเรือเกยหินใต้ทะเล ถ้าคลื่นเคลื่อนตัวผ่านที่ตื้นจะเพิ่มความสูงอย่างรวดเร็วประมาณ 15 เมตร ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งก่อสร้างบริเวณชายหาดนั้นๆ"




กำลังโหลดความคิดเห็น