ย้อนไป 43 ปีก่อน ท่ามกลางบรรยากาศเผด็จการ หนุ่มสาวผู้หลงใหลอรรถรสตัวอักษรในสถาบันอุดมศึกษาต่างพากันลุกขึ้นสร้างพื้นที่ทางงานเขียนที่เรียกว่า "วรรณศิลป์" ขึ้น เพื่อแสดงตัวตน บอกเล่าความรู้สึกนึกคิดผ่านตัวอักษร ท่ามกลางสื่อส่วนใหญ่ที่ถูกควบคุมจนเป็นเรื่องเล่าขานในหมู่นักกิจกรรมรุ่นหลัง
ด้วยสมัยหนึ่ง พวกเขามีบทบาทในการรักษาวัฒนธรรมทางภาษา สร้างนักเขียนมือฉกาจ รวมถึงกระตุ้นและกระทุ้งจิตสำนึกให้นักศึกษาที่หลงระเริงกับกิจกรรมสนุกสนานหันมามองความยากลำบากของประชาชนในสังคม แน่นอนว่าบางครั้งปากกาของพวกเขาทิ่มแทงเผด็จการทั้งในและนอกรั้วสถานศึกษาอย่างช่วยไม่ได้...
กำเนิด "วรรณศิลป์" ของคนหนุ่มสาว
กำเนิดชุมนุมหรือชมรมวรรณศิลป์ของนักศึกษา เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งชุมนุมวรรณศิลป์ มธ. เล่าถึงที่มาว่า "ก่อนหน้ามีวรรณศิลป์ขึ้นมาจากรายการกาพย์กลอนทางโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งเป็นโทรทัศน์ช่องแรกในประเทศไทย มีทั้งดนตรีไทย แข่งกาพย์กลอน มีการเชิญอาจารย์ผู้รู้ในเชิงกลอนมาเล่นให้ดู มีผลถึงนักศึกษาคือก่อให้เกิดกลุ่มกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเป็นแบบสายลมแสงแดดแทบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะนวนิยายที่เราเรียกนิยายน้ำเน่า เรื่องศาลาคนเศร้า บันเทิงก็มี มิตร-เพชรา หนังไทย รวมถึงกลอนด้วย" ดังนั้น การประชันกลอนสดทางโทรทัศน์จึงเป็นจุดกำเนิดของวรรณศิลป์ในสถาบันอุดมศึกษา 2 แห่งแรกคือ ธรรมศาสตร์และจุฬาฯ
ชมรมวรรณศิลป์จุฬาฯ ตั้งในปี 2504 มี สุรีย์ พันธุ์เจริญ เป็นประธานคนแรก ชุมนุมวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์ เริ่มต้นก้าวแรกในปี 2505 โดยนักกลอนอย่าง ดุสิต พนาพันธุ์ ชมรมวรรณศิลป์ เกษตรฯ ตั้งปี 2508โดย ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ จากนั้น วรรณศิลป์ มช. และสถาบันอื่นก็เกิดตามมา แต่บรรยากาศทางการเมืองเวลานั้นทำให้ กิจกรรมไปไม่พ้นจากตัวตนนักศึกษา เช่น กลอนจะเป็นประเภทที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนอาวุโสในวงการเรียก "กลอนหาผัวหาเมีย" (อ้างคำกล่าวของ ขรรค์ชัย บุนปาน) เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ยังเล่าถึงความคึกคักอีกว่า
"สมัยนั้นคึกคักแน่นอน นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยสมัยนั้นถูกจำกัด เป็นยุคเผด็จการไม่มีประชาธิปไตย กิจกรรมนักศึกษาไปในทางบันเทิงเริงรมย์ วรรณศิลป์ก็คึกคักในกิจกรรมของวรรณศิลป์ด้วยกัน สมาชิกในชุมนุมชมรมสร้างกิจกรรมสอนแต่งกลอน แข่งกลอนระหว่างกลุ่ม ประสานกันระหว่างมหาวิทยาลัย ผลสะเทือนก็คือทำให้วรรณศิลป์กลายเป็นกิจกรรมหนึ่งของนักศึกษาในยุคนั้น"
ดังนั้นนับแต่ก่อตั้งราวทศวรรษ เป็นช่วงวรรณศิลป์รุ่งเรือง เป็นที่รู้จักโดยการโต้กลอนสดระหว่างสถาบัน ทำให้วงวรรณกรรมมหาวิทยาลัยคึกคัก กลายเป็นจุดกำเนิด "วัฒนธรรมเล่มละบาท" ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ให้จำกัดความหนังสือมือทำที่พวกเขาทำออกมาช่วง2504-2510 แล้วขายอย่างคึกคักที่ประตู มธ. ท่าพระจันทร์
เวลาผ่านไป งานเขียนเหล่านี้คลี่คลายตัวเองตามลำดับ ปากกาชาววรรณศิลป์คมกล้าขึ้น หลังงานเขียน "เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน" ที่คนรู้จักในนาม "ฉันจึงมาหาความหมาย" ของ วิทยากร เชียงกูล นักศึกษามธ. ของกลุ่มอิสระพระจันทร์เสี้ยวที่จะกลายเป็นประธานวรรณศิลป์ในเวลาต่อมา ออกสู่สายตาปัญญาชน มีเนื้อหาตั้งคำถามการดำเนินชีวิตนักศึกษาอย่างเถรตรงสร้างความสั่นสะเทือนยิ่งนัก
นี่เองที่เป็นหน่ออ่อน "ขบถ" ความคิดต่อต่อต้านเผด็จการ ตั้งคำถามหาสังคมที่เป็นธรรม ปะทุออกอย่างเป็นรูปธรรมเป็น 14 ตุลา 2516 ในที่สุด หลังหมดยุคเผด็จการ สังคมไทยผ่าน 6 ตุลาคม 2519 รัฐประหารหลายครั้ง ผ่านพฤษภาทมิฬ เข้าสู่สังคมทุนนิยมบริโภคเต็มตัวในปัจจุบัน วรรณศิลป์ตามมหาวิทยาลัยกำลังทำอะไรกันอยู่ ?
กิจกรรมวรรณศิลป์ 5 สถาบัน
ท่ามกลางกระแสสังคมบริโภคนิยม
คนทำงานวรรณศิลป์ย่อมรักการอ่าน ปัจจุบันก็เหมือนอดีตเพราะคนเข้าชมรมล้วนเป็นนักอ่าน อริสา สุมามาลย์ (เหมียว) ประธานชมรมวรรณศิลป์จุฬาฯ เล่าความเป็นมาก่อนเข้าชมรมว่า "เข้าตอนปี 2 ตอนปี 1 อยู่คณะอักษรฯ มีการรวมตัวทำจุลสารอยู่แล้ว เป็นคนเขียนเรื่องส่ง มองวรรณศิลป์ในเชิงกลุ่มทำจุลสาร อยากร่วมเขียนร่วมส่ง พอมาก็ทำงานจนกลายเป็นประธาน งานมากกว่าที่คาด ไม่ได้มีแค่จุลสารยังมีอย่างอื่น เช่นการประกวด เสวนา มีความผูกพันกันเชิงการนั่งคุยนั่งคิดประเด็นต่างๆ"
ดิฐพร นานาศิลป์ (โบ) ประธานชุมนุมวรรณศิลป์ มธ. บอกสาเหตุการเข้าชมรมคล้ายกันเพราะ "หาหนังสืออ่าน ชอบตั้งแต่เด็ก คิดว่าที่นี่คงมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน" ส่วน วีรวัฒน์ เวียงไชย (อาร์ต) เหรัญญิกชมรมวรรณศิลป์เกษตรฯ มาวรรณศิลป์เพราะ "ปกติเขียนกลอนอยู่แล้ว ตอนปี 1 เห็นป้ายรับสมัคร กะว่าคนเยอะ จะได้เขียน ได้คุยกับพี่เรื่องพวกนี้"
พรพันธ์ นันทพิพัฒน์พงศ์ (พร) และ กฤษณ์ ปฐมทัศน์ (ต้น) ประธานวรรณศิลป์จาก ม.หอการค้าไทย และ ม. เชียงใหม่เล่าว่า "เพราะงานรับน้อง พี่เขาแนะนำชมรมให้ลองทำกิจกรรม พอเข้าไปแล้วรู้สึกดีและผูกพันกับที่นี่" ส่วน ต้น ก็ไม่ต่างจากคนอื่น "เข้ามหาวิทยาลัยปีแรกคิดว่าต้องหากิจกรรมทำ ผมเองชอบการอ่านการเขียนอยู่แล้ว วรรณศิลป์ถือเป็นชมรมแรกที่ต้องเข้า โชคดีมากวันแรกเจอรุ่นพี่ปี 3 อยู่เยอะเลยรู้สึกอบอุ่น"
วรรณศิลป์ในศตวรรษที่ 21 ปีหนึ่งทำอะไรกันบ้างทางเกษตรฯ อาร์ต เล่าว่า "มีโครงการ "สู่ถนนนักเขียน" เชิญนักเขียนมาพูดสร้างแรงบันดาลใจและแนะว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นนักเขียน มีประกวดกลอน เรื่องสั้น เทอมละครั้ง มีงานจุลสารใช้ชื่อ บรรณศิลป์" ทางจุฬาฯ เหมียว บอกมีการทำจุลสาร ออกเยี่ยมสำนักพิมพ์ "เยี่ยมสำนักพิมพ์คือพานิสิตที่สนใจไป มีวิทยากรให้ความรู้ในกระบวนการทำหนังสือ ต้นปีเรามีประกวดหนังสือทำมือชื่อโครงการ I-Indy รับงานไม่จำกัดอายุ จะมีประกาศรางวัลในงานวันที่ 7 มกราคม 2548 มีเสวนาเรื่อง ทางรอดของหนังสือทำมือ จุลสารชุมนุมเราคือ Pen House ชื่อนี้ดึงดูดได้ ความหมายจริงๆ คือบ้านกวี บ้านของคนที่เขียนหนังสือ"
ฝั่งธรรมศาสตร์ โบ แจงว่า "ท่าพระจันทร์ทำหนังสือชื่อ "กระดานดำ" เทอมละเล่ม รังสิตทำ "กระดาษชนวน" ออกรายเดือน ซึ่งทันสถานการณ์กว่ากระดานดำที่จะมีบุคลิกนิ่ง มีการจัดเสวนาหนังสือ และความคิด ความคิดก็คือการเปิดประเด็นแลกเปลี่ยนเชิญวิทยากรมาคุย หนังสือคือหยิบหนังสือมาแลกเปลี่ยนโดยเชิญผู้เขียนมาด้วย นอกจากนี้มีการออกค่ายเพื่อผลิตงานเขียนออกมา อย่างค่ายกวี ค่ายศึกษาชนบท"
ด้านหอการค้า พร เล่าว่า "ไปร่วมยูทอล์กคอนเทสต์ของไทยประกันชีวิต จัดงานโต้วาทีภาษาวาทศิลป์ ชิงถ้วยสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งจัดมาเป็นครั้งที่ 11 มีโครงการให้น้องแต่งนวนิยาย เรื่องสั้นรวมเล่มแจกจ่าย"
ส่วนมช. ต้น อธิบายว่า "หลักคือ "รักการอ่าน" งานหาหนังสือเข้าชมรม เป็นวารสาร วิเคราะห์ข่าว หนังสือในชมรมเป็นวรรณกรรมเยาวชนหรือต่างประเทศ เสวนาจัดทุกปี มีค่าย "ปลายฝนต้นฝัน" นอกสถานที่เชิญนักเขียนในเชียงใหม่มาให้คำแนะนำ จุดประสงค์เพื่อให้เกิดอยากคิดอยากเขียน จุลสารชมรมเราตั้งไว้ว่าชื่อ "อุ่น" แต่ตอนนี้ใช้ชื่อ ชมรมวรรณศิลป์ เด่นกว่าชื่อเป็นคอนเซ็ปต์เล่ม ที่กำลังจะออกชื่อ ความว่าง"
จัดกิจกรรมย่อมหวังผู้ร่วมงาน แต่งานขีดเขียนนั้นต่างจากบันเทิง วรรณศิลป์ทุกสถาบันมีปัญหาไม่ต่างกันเรื่อง "คนทำงานและเข้าร่วม" เพราะปัจจุบัน น้อยคนจะตกตะกอนทางความคิดผ่านปลายปากกาท่ามกลางสังคมเช่นนี้ เหมียว ให้ความเห็นว่า "งานที่เสร็จแล้วอย่างเยี่ยมสำนักพิมพ์ถือว่าสำเร็จส่วนหนึ่ง คนสนใจเยอะ จุลสารเป็นโครงการต่อเนื่อง ยังไม่เห็นผลว่าคนอ่านตอบรับยังไง เห็นกันเองคือคนทำงานพัฒนา คนที่มาร่วมก็ไม่ได้มากกว่าที่อื่น เพราะเป็นชมรมที่คนสนใจด้านนี้โดยเฉพาะ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมา ไม่มีการแสดงอย่างคอรัส ละคร ดนตรี"
แม้มหาวิทยาลัยหลายแห่งตระหนักถึงปัญหาจำนวนคนทำกิจกรรม เช่น เกษตรฯ ออกใบรับรองเพื่อจูงใจ แต่ อาร์ต มองว่า "ค่ายมีรูปธรรมคือไปสร้างโรงเรียน วรรณศิลป์จะมีอะไรโชว์ อ่านสักวาคนก็ไม่เอา ความสนใจอยู่เฉพาะกลุ่ม งานสู่ถนนนักเขียนเสียงตอบรับดี เราดูกระแสขึ้นกับใครมาด้วย โน้ต อุดม มามีปัญหาที่เงินไม่พอ พอเชิญคนไม่ดังคนฟังก็มาน้อย ปีหนึ่งเข้ามาเยอะ นานเข้าก็หายไป ใบรับรองช่วยแค่ระยะสั้นหวังให้คนอยู่ชมรมไม่ได้ ระยะสั้นจัดกิจกรรมคนมาเยอะถ้าอยู่ทำประจำไม่กี่คน"
ส่วน โบ ให้มุมมองว่า "มธ. การเป็น 2 ที่แย่ คนน้อยอยู่แล้วยิ่งต้องหาร 2 ลำบากในการประสานงาน ส่วนมากพี่อยู่ท่าพระจันทร์ น้องอยู่รังสิต ขาดการติดต่อ บางทีน้องใหม่ก็ไม่รู้จะไปทางไหน งานที่จัดผมว่าคุณภาพได้ ถึงคนน้อยก็ได้ที่สนใจจริงและได้อะไรกลับไปเยอะ แง่ปริมาณไม่สำเร็จ ปัจจุบันกิจกรรมมีมาก คนชอบบันเทิง ชอบรวดเร็วมากกว่าจะมาประณีตกับงานเขียนที่ปัจจุบันมีเวทีเยอะ ไม่เหมือนสมัยก่อนต้องมาชุมนุม เรามีอินเทอร์เน็ต ทำหนังสือทำมือก็ได้ คนรักการเขียนเลยกระจาย" ขณะที่ ต้น พูดถึงคนทำกิจกรรม มช. ว่า "เทียบที่อื่นถือว่าน้อย เช่น ค่ายหนึ่งมีคน 13-14 คน คนทำ 8 ลูกค่าย 7 ทั้งที่ตอนแรกมีมากกว่านั้น โดนกิจกรรมอื่นแย่งไป แต่ก็อบอุ่นกันดีครับ"
หนทางวรรณศิลป์ข้างหน้าเป็นอย่างไร... "พอใจจุลสาร เสวนา ก็โอเค มองต่อไปอยากให้หลุดเป็นเรื่องแสดงมากขึ้น คนเดี๋ยวนี้สนอะไรที่เร็ว ถ้านักเขียนไม่แสดงตัวออกมา ไม่เป็นที่ยอมรับเขาก็ไม่รู้จะเขียนทำไม เขาก็เขียนลงเน็ตก็พอ ส่วนหนึ่งที่ชมรมการแสดงมีคนเยอะเพราะทำให้คนร่วมได้รับการยอมรับ เก็บเอาไว้เฉยๆ มันจะไม่เกิดกระแสที่คนมาสนใจ เขาก็จะไปหาการยอมรับที่มันง่ายขึ้น อย่างกระแสอินดี้ที่ยอมรับกันแค่เสื้อผ้า เราน่าจะช่วยกันสร้างกระแสให้วัยรุ่นยอมรับในเชิงความคิด" เหมียว สะท้อนความคิดอย่างน่าสนใจ
โลกตัวอักษรภายในและภายนอก
ในสายตาตัวแทนวรรณศิลป์
ท่ามกลางกระแสหนังสือแปลมาแรงในวงวรรณกรรม นักเขียนในดวงใจของประธานวรรณศิลป์ 5 สถาบันคือใคร และพวกเขามองวงวรรณกรรมภายในกับนอกรั้วมหาวิทยาลัยอย่างไร ...ต้น บอกกับเราว่า "ชอบแดนอรัญ แสงทอง เมื่อก่อนชอบ ทินกร หุตางกูร เขาเขียนนิยายเรื่องสั้นสมัยใหม่ ผมชอบงานเขียนกระแสสำนึก มีอะไรในใจพูดออกมา" ก่อนพูดถึงสถานการณ์หนังสือนักศึกษามช.ว่า "หนังสือออกมาก ส่วนใหญ่ผ่านโรงพิมพ์ เช่นชมรมระเบียงศิลป์ ตอนนี้ผมคิดจุลสารทำมือชื่อ "โฮะ" สำหรับกระแสหนังสือแปล มอง 2 แง่ คือ คนอ่าน ถ้าเขาไม่รู้ภาษาต่างประเทศก็มีโอกาสอ่านงานดี แต่บางทีพวกนี้แปลผิดจาก แง่คนเขียนก็กลัวนักเขียนไทยจะมีงานออกได้บ้างหรือไม่ อยากให้พอดี คนอ่านงานหลายแนว บก. มีรสนิยมหลายอย่าง อย่าพิมพ์แค่งานที่ขายได้และถูกแนวกับตัวเองเท่านั้น"
เหมียว พูดถึงวรรณกรรมในและนอกรั้วจามจุรีว่า "เยอะ รู้สึกดีที่มีคนเขียนแล้ว Fight ที่จะเผยแพร่ หนังสือทำมือมีมาก บางกลุ่มทำจนมีแนว ทำให้เราต้องพัฒนามากขึ้น ส่วนตัวชอบหนังสือทำมือ เพราเผยแพร่ง่าย เราคุมได้ทั้งแนวและเนื้อหา" ส่วนนักเขียนเธอชอบ สุชาติ สวัสดิ์ศรี "แม้ไม่ได้ตามผลงานมาก พบตัวจริงในงานเสวนา เขามีมุมมองที่ดี นอกจากเป็นนักเขียนแล้วยังวาดภาพ Abstract ด้วย เป็นศิลปะสองอย่างที่ผสมผสานกัน อีกคนคือบินหลา สันกาลาคีรี อย่างเรื่อง รวมเรื่องสั้นคิดถึงทุกปี มีแก่นเรื่องที่เป็นคติประจำใจหลายอย่าง"
มา มธ. กันบ้าง โบ บอกว่า "มธ. หนังสือออกมาก แต่ละชุมนุมอยากเผยแพร่งาน อิสลามก็มี อมธ.ก็ทำ ผมว่าดี ได้มีทางเลือกในการแสดงความคิดมากขึ้น กระแสหนังสือแปลภายนอกนั้นขอเสริมว่าดาราเขียนหนังสือมากขึ้น คนที่อยากเป็นนักเขียนจริงๆ แต่ไม่หล่อหรือไม่ดังถูกปิดกั้น อยากให้คนไทยเปิดโอกาสให้นักเขียนโนเนม และเดี๋ยวนี้หนังสือข้อเขียนทางเพศขายได้มาก บางเล่มพิมพ์เป็นสิบครั้ง คิดว่ามากไปหรือเปล่า" สำหรับนักเขียนในดวงใจนั้นเขาชอบ "เสนีย์ เสาวพงศ์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และวิมล ไทรนิ่มนวล เพราะเขียนสนุก ให้ข้อคิด"
พร พูดต่อว่า "หอการค้าหนังสือน้อย ความสนใจไม่มากพอ ส่วนตัวมองกระแสวรรณกรรมแปลแรง ทำให้ไม่มีนักเขียนไทยหน้าใหม่ คนทำหนังสือสนใจหนังสือแปลเพราะไม่ต้องใช้ความคิด วงการหนังสือจะถอยลงไหม" ส่วนตัวพรชอบอ่านงาน "วรรณกรรม เรื่องสั้น ชอบวิมล ไทรนิ่มนวล ชอบเรื่องงู อ่านแล้วพลิกในตอนจบ ไม่สามารถวางหนังสือได้ต้องอ่านทีเดียวจบ" อาร์ต เล่าเรื่องในรั้วนนทรีว่า "มีหลายกลุ่มตอนนี้อารมณ์นอกกรอบมา เขียนไม่ตามหลักเกณฑ์ พูดถึงวรรณกรรมแปล จากที่ไปสัปดาห์หนังสือมีมากจนนักเขียนไทยท้อ ผลดีอาจทำให้นักเขียนเก่าปรับปรุงตัวแต่เป็นผลเสียกับนักเขียนหน้าใหม่ที่จะไม่กล้าเขียนเพราะคนเขียนต้องหวังได้พิมพ์ หนังสือแปลส่วนมากคนคิดว่าดี บางทีเขาแปลผิดเราไม่รู้ ร้อยละ 90 ไม่กลับไปดูต้นฉบับภาษาอังกฤษ เหมือนการดูถูกคนอ่าน" สำหรับนักเขียนในดวงใจของเขาคือ "กิ่งฉัตร เคยเจอที่งานสัปดาห์หนังสือ คุยแล้วรู้สึกเป็นกันเอง ติดตามอ่านจนครบ"
วรรณศิลป์ล่มสลาย?
กับ คาถาจากรุ่นพี่ชื่อ "เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์"
ยุคสมัยปัจจุบันมีสิ่งเร้ามากมาย ช่วยไม่ได้ที่วรรณศิลป์จะต้องพบกับอุปสรรคต่างๆ หลายครั้งมีคนบอกว่าพวกเขาอาจจะต้องปิดฉากตัวเอง แต่ในวันนี้พวกเขายืนยันว่าจะทำงานต่อ แม้จะท้อในบางครั้ง "คงไม่ล่ม จุฬาฯ ตอนนี้มีคนและกิจกรรมมากขึ้น เราทำให้ไม่ซีเรียส พัฒนาต่อไปได้อีก" เหมียว กล่าว โบ เองก็ยืนยันไม่ต่างกัน "สำหรับวรรณศิลป์ มธ. นั้นคนอาจน้อยลง แต่ตราบใดที่มีหนังสือเชื่อว่าไม่ล่มแน่นอน"
"ถ้าล่มคงเป็นกิจกรรมมากกว่า บางชมรมเปลี่ยนวัตถุประสงค์เพื่อให้มีคน เขาคิดว่ามีอุดมการณ์แต่ไม่มีคนก็ไม่มีประโยชน์" อาร์ต เสริม ขณะที่ ต้น บอกว่าต้องทน "คนทำงานลดลงนั้นธรรมดา ตัวชมรมด้วยต้องสู้ ต้องอดทน"
"ไม่อยากให้เปรียบกับอดีตที่เฟื่องฟูเพราะมีปัจจัยการเมืองบังคับ ปัจจุบันมันบ่มเพาะอีกแบบ ดังนั้นจะให้ต่อต้านเหมือนแต่ก่อนมันไม่ได้แล้ว มันจะออกมาในการสะท้อนความคิดแทน" เหมียว กล่าว
ส่วนเนาวรัตน์ ผู้บุกเบิกงานวรรณศิลป์เมื่อ 42 ปีก่อนออกปากฝาก How To สำหรับรุ่นหลังว่า "ผมมี How To แบบไทยให้ มี กขคงจ คือ ก. กิจกรรมต้องต่อเนื่อง จัดเดือนละครั้ง ขอให้มีประจำทั้งปี มีคนดูหรือไม่ช่างมัน! ทำเองดูเองก็ได้ ข. คือข้อมูล ต้องมีการสรุป หาข้อมูล มีการประเมิน การสอบถาม มันดีไหม ต้องปรับไหม ค. คือ เครือข่าย ต้องประสานประชุมร่วมกันว่าเราจะทำอะไรให้สังคมในมหาวิทยาลัย สังคมภายนอก ทั้งระยะสั้นและยาว ง. งบประมาณ จะทำงานนี้ยังไง หาเงินยังไง จัดรูปแบบการทำงาน จ. คือ ใจ หรือจิตสำนึกว่านี่สำคัญ ไม่ใช่เป็นเหาฉลามเกาะเป็นภาระ แต่เป็นกระบวนการสร้างภูมิปัญญา สร้างรูปแบบใหม่และเนื้อหาที่ดีขึ้นมา ทั้งหมดนี้ต้องไปพร้อมกัน เหมือนกับเครื่องจักร ไม่ใช่เล่นปั่นแปะ ผมยังคาดหวัง ไม่เช่นนั้นจะมีวรรณศิลป์ไว้ทำอะไร แต่ไม่คาดหวังว่าจะเหมือนอดีต ทุกอย่างไม่ควรขยับในจุดเดิม เป็นวงกลมใช่ แต่ต้องสูงขึ้นไปเป็นเกลียว"
หากยุคนี้คือสายลมแสงแดดถ้าเทียบกันกับช่วงเวลายุคที่วรรณศิลป์เฟื่องฟูครั้งก่อน ก็เป็นความเหมือนที่แตกต่างแต่ทำไมสถานการณ์คนละเรื่อง "เมื่อก่อนมีวรรณศิลป์เพราะโทรทัศน์ นี่คือสื่อใหม่ และผู้บริหารสื่อรักในกาพย์กลอน เขาสร้างรายการขึ้น สื่อเป็นตัวกระตุ้น ตัวจุดไฟ เผยแพร่ค่านิยม ปัจจุบันสื่อมีหลากหลายซับซ้อนเล่นเกมกันมาก สร้างโลกของการอยากได้ใคร่ดี รายการต่างๆ กลายเป็นค่านิยมของสังคม เด็กรุ่นใหม่เป็นเหยื่อสื่อที่ไม่จุดไฟเรื่องการสร้างสรรค์ โทษกิจกรรมนักศึกษาก็ไม่ได้ เด็กๆ รุ่นใหม่จับต้นชนปลายไม่ถูกเลยไปตามกระแสสังคมบริโภค ไม่ใช่สังคมผู้ผลิต" เนาวรัตน์กล่าว
วรรณศิลป์ในอดีตทำงานกลอน แต่ปัจจุบัน กวีรุ่นใหม่ลดลงอย่างน่าใจหาย "ไม่ห่วงว่ากวีนิพนธ์จะตาย เราไม่ได้เขียนเพื่ออนุรักษ์ เขียนเพราะอยาก มีความสุขเพราะเขียน ผมเคยพูด 4 อย่า 5 ต้อง คือ อย่าตกยุค อย่าหลงยุค อย่าล้ำยุค อย่าประจบยุค 5 ต้องคือ ต้องทันยุค ต้องเป็นปากเสียงผู้เสียเปรียบ ต้องทัศนะปัจเจก ต้องมีจิตสำนึกทางการเมือง ต้องทำงานอย่างราชสีห์ นอกจากไม่ยินดีต่อมงกุฎที่สวมครอบแล้ว ต้องไม่ยินดีเอาซากสัตว์อื่นมาสวมด้วย แล้วจะไม่กังวลว่าต่อไปจะไม่มีคนเขียน งานดีอยู่ที่เนื้อหา ไม่ใช่รูปแบบ รูปแบบเอามารับใช้เนื้อหา เนื้อหาดีมันอยู่ อย่าง "เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ" ใครก็จำได้ ไม่ได้ติดว่าคือกาพย์ยานี 11 น่าวิตกกว่าคือระบบการศึกษาไม่ทำให้คนมีประสบการณ์เรื่องบทกวี"
เมื่อฟังรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ในวงการแล้ว คงพอเป็นคำตอบได้ว่า วรรณศิลป์สมัยปัจจุบันทำอะไรกันอยู่ และพลังใจของพวกเขาหดหายไปหรือยัง ...อย่างไรก็ตาม สิ่งสุดท้ายที่พวกเขาพร้อมใจกันพูดก็คือ
"ไม่มีทางที่เราจะหายหรือล่มสลายไปแน่นอน"