ในมุมหนึ่งของสังคม เสียงเพลงปฏิวัติซึ่งเคยดังกระหึ่มปลุกขวัญกำลังใจผู้ซึ่งมีอุดมการณ์ร่วมกัน กำลังจะถูกปลุกขึ้นมาร้องอีกครั้งภายใต้บริบทและฝูงชนต่างยุคสมัย ในคอนเสิร์ตซิมโฟนีออเคสตราเพลงปฏิวัติ ครั้งที่ 2 ซึ่งจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 25 ธันวาคมนี้ ณ ห้องประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ท่ามกลางบรรยากาศแสงสีแห่งดวงไฟระยิบระยับประดับประดาตามตึกรามอาคารสูงๆของห้างสรรพสินค้า คลอเคล้าด้วยเสียงบรรเลงเพลงจิงเกิลเบล ภาพผู้คนครึกครื้นไปกับเทศกาลเฉลิมฉลองคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วัน
1.
แม้กาลเวลาจะล่วงเลยมาหลายปี เสียงทุ้มนุ่มของหว่อง คาราวาน หรือมงคล อุทก ยังคงตรึงคนฟังให้นิ่งสดับ เพียงแต่ครั้งนั้น เพลง "เดินทางไกลใต้ตะวันสีแดง" ซึ่งแต่งโดยสุรชัย จันทิมาธร หรือหงา คาราวาน เมื่อครั้งรอนแรมร่วมปฏิวัติอยู่ในเขตป่า แถวจังหวัดน่าน ประมาณปี 2522-2523 ในสมรภูมิยุทธการศึกผาแดง จะได้รับการถ่ายทอดเพื่อปลุกขวัญกำลังใจเพื่อนร่วมอุดมการณ์ มาวันนี้เพลงดังกล่าวได้จะถูกถ่ายทอดอีกครั้งร่วมกับเสียงของเครื่องดนตรีซิมโฟนีวงใหญ่
มงคล อุทก อดีตนักปฏิวัติ ผู้หันหลังให้กับสังคมเมืองไปใช้ชีวิตอยู่ในป่า หนึ่งในศิลปินผู้ที่จะขึ้นมาขับกล่อมบรรดาผู้ฟัง กล่าวด้วยน้ำเสียงแห่งความยินดีที่ได้มีโอกาสกลับมาร่วมแสดงในคอนเสิร์ตครั้งที่ 2 อีกครั้ง
"ยินดีที่ครั้งนี้ได้กลับมาร่วมงานอีกครั้ง ไม่มีมหาวิทยาลัยทำเพลงแบบนี้ คงไม่มีใครคิดที่จะทำ ตอนอยู่ในป่าเคยคิดจะทำวงกองทัพปลดแอก ไปเรียนทรัมเป็ตที่จีน คิดไว้สักวันหนึ่งว่าเพลงเราต้องยิ่งใหญ่ สังเกตได้ว่าเพลงปฏิวัติหลายเพลงแต่งแบบยิ่งใหญ่ทั้งนั้น อย่างเพลงพี่หงา(สุรชัย จันทิมาธร) เดินทางไกลใต้ตะวันสีแดง เพลงอรุโณทัย สมัยจิตร ภูมิศักดิ์ เขียนก็มีวงดนตรีจีนเอาไปบรรเลง เพลงมาร์ชกองทัพปลดแอก ภูพานปฏิวัติ ตอนนั้นดังกระหึ่ม"
มงคลเล่าว่าชีวิตท่ามกลางการต่อสู้ ทำให้เขารู้สึกว่าเพลงคอมมิวนิสต์มีบรรยากาศของความเครียด ไม่ค่อยคลี่คลายทางอารมณ์ จึงได้แต่งเพลงฉีกแนว สนุกสนาน ซึ่งเขาเรียกว่าออกแนวจิ๊กโก๋นิดๆ ขึ้นมารับใช้ทหาร
"เข้าป่าวันที่ 6 ตุลา 19 แรกๆตั้งใจเข้าไปลี้ภัย รอเหตุการณ์สงบในที่สุดติดต่อขอข้ามไปลี้ภัยที่ลาว ติดต่อทหารป่าขอความช่วยเหลือ พอเจอจริงๆประกาศขอร่วมต่อสู้ อยู่ป่า 1 ปี ข้ามไปลาว อยู่หน่วยศิลป์ของกองทัพปลดแอก เขียนเพลงในป่าเพื่อรับใช้กองทัพปฏิวัติ แต่งเพลงจากการสังเกตสิ่งรอบกาย การได้พูดคุยกับคนในพื้นที่ ออกมาเป็นเพลง ข้างในป่าสิ่งบันเทิงอย่างเดียว คือเพลงรำวง"
"วันแรกที่เข้าป่าไม่ได้นำเครื่องใช้ เครื่องดนตรีติดตัวไปสักชิ้น ตอนหลังมีกีตาร์ เครื่องดนตรีส่งตามเข้าไป แรกๆเอาถังพลาสติกมาตีแทนกลอง อยู่ในป่าทำเครื่องดนตรี พิณทำเอง สมัยก่อนเป็นความหวัง คิดว่าสักวันจะทำวงปลดดนตรีปลดแอก มีซิมโฟนี การต่อสู้เป็นไปไม่ได้ แต่ทางวัฒนธรรมปรากฏเป็นจริงได้ เก็บงานประวัติศาสตร์ไว้ ไม่เก็บก็สูญหาย อาจารย์สุกรีเคยบอกว่าน่าจะมีการบันทึกบทเพลงปฏิวัติเหล่านี้เอาไว้ แม้เป็นตัวโน้ตก็ยังดี"
ด้าน รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวงวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในครั้งนี้กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมงานในครั้งนี้
"เป็นเพลงประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของสังคมไทย ดุริยางคศิลป์มีหน้าที่ทำเพลงทุกชนิดอยู่แล้ว ถ้าถามว่าทำเพื่อใคร ทำเพื่อคนในสังคม เพลงปฏิวัติเป็นเพลงประวัติศาสตร์ของประเทศไทย สมัยหนึ่งคนในสังคมมีความคิดอย่างไร หากถูกเรียบเรียงใหม่มีสีสัน อาศัยความสามารถของคนดนตรี น่าจะมีอีกบทบาทต่างออกไป รับใช้สังคมในอีกยุค นอกจากสืบทอดประวัติศาสตร์ความรู้สึกนึกคิด รับใช้สังคมในแง่ความงามได้"
แม้จะติดภารกิจ ไม่ได้ร่วมแสดงบนเวที งานนี้หงา คาราวาน หรือสุรชัย จันทิมาธร ได้ส่งบทเพลงที่เจ้าตัวแต่งตอนอยู่ในป่า มอบให้เพื่อนๆทำหน้าที่ถ่ายทอด "ปีนี้ไม่ได้ร่วมแสดงบนเวที เพราะติดภารกิจ จริงๆอยากร้องเพลงที่มหาวิทยาลัย อุตส่าห์สร้างสรรค์ประดิษฐ์ทำขึ้น ถือเป็นเกียรติกับเพลงปฏิวัติ เพลงอดีตของประชาชน จบในระดับหนึ่งแล้วเป็นบทสรุปการต่อสู้ครั้งนั้นจบลงอย่างไร ยุติแล้ว บทเพลงต่างๆไม่ได้หายไปไหน น่าดีใจที่มีคนสืบทอด นำมาร้อยเรียงบันทึกเชิงประวัติศาสตร์ คนในยุคนั้น ล้มหายไปทีละคน ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย"
2.
"บรรดาบทเพลงปฏิวัติเป็นหัวใจของงาน" กมล สุสำเภา อดีตนักปฏิวัติ ผู้ซึ่งทำหน้าที่ศิลปินบนเวที พร้อมหน้าที่ดูแลงานในครั้งนี้กล่าวถึงบทเพลงที่อดีตสหายนักต่อสู้ หรือศิลปินที่กำลังจะขึ้นเวทีในอีกไม่กี่วันข้างหน้าแต่งขึ้นตั้งแต่ร่วมต่อสู้อยู่ในป่าเขา พร้อมกับเล่าถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นการจัดหาทุนการศึกษาช่วยเหลือลูกหลานอดีตสหายซึ่งมีสภาพชีวิตแบบชายขอบไม่ต่างจากในอดีต
"โครงการบันทึกประวัติศาสตร์เพลงปฏิวัติมีขึ้น ตั้งแต่ปี 2545 เพื่อรำลึกถึงอดีตสหายที่จากไป และคิดว่าน่าจะนำเพลงปฏิวัติที่พวกเราสร้างสรรค์ไว้ในขบวนการต่อสู้ในพรรคคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ปี 2485-2525 มาบันทึกไว้ จนกระทั่งปีนี้อดีตสหายตี้และนิดได้ไปเห็นสภาพเด็กชาวเขาที่อาศัยอยู่บริเวณฐานที่มั่นเดิม บริเวณชายขอบ ความเป็นอยู่ไม่แตกต่างจากเมื่อก่อนที่ได้เห็น จึงคิดทำโครงการที่จะนำเด็กลูกหลานของคนที่นั่นมาเรียนหลักสูตรสามัญ พร้อมจัดหลักสูตรวิชาชีพเพื่อให้เด็กเรียนจบสามารถกลับไปพัฒนาชุมชนของตนเอง จึงใช้ชื่อว่า โครงการเรียนรู้กู้บ้านเกิด โครงการบันทึกประวัติศาสตร์เห็นว่าน่าสนับสนุน หาเงินช่วยขยายโอกาสทางการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแก่เด็กหมู่บ้านชายขอบจังหวัดน่าน จึงเกิดเป็นคอนเสิร์ตครั้งนี้ขึ้นมา"
"การแสดงครั้งแรกเป็นการนำเอาบทเพลงของนักปฏิวัติแต่ละภาคมาขับร้อง ส่วนครั้งนี้เพลงที่ใช้ขับร้องบนเวทีล้วนเป็นเพลงที่เคยเปิดในวิทยุ สปท.(วิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย) ภายใต้คอนเซ็ปต์ จากแองเตอร์นาซิอองนาล ถึงวันปีใหม่แห่งชัยชนะ ยืนหยัดมั่นคงเช่นเคย ไม่เปลี่ยนทางเหมือนดั่งดาวเหนือ"
คอนเสิร์ตครั้งนี้นอกจากจะมีความพิเศษ ในเรื่องของวงดนตรีที่ได้เพิ่มเติมจากเดิม 52 ชิ้นเป็น 72 ชิ้น พร้อมกันนั้นได้นำเอาเพลงปฏิวัติสากล อย่างเพลงแองเตอร์นาซิอองนาล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกมาขับร้อง
สำหรับเพลงแองเตอร์นาซิอองนาลแต่งขึ้นโดยชาวฝรั่งเศส เมื่อปี 1780 ซึ่งตรงกับเหตุการณ์การปฏิวัติประชาธิปไตย ระหว่างฝ่ายซ้ายคือฝ่ายกรรมกร และฝ่ายขวา การต่อสู้ในปี 1871 ทำให้ฝ่ายกรรมกรสามารถยึดปารีสได้ พร้อมจัดตั้งเป็นคอมมูนปารีสขึ้นมา หลังจากยึดได้เพียงสามเดือน ปีกขวาได้ไปขอกำลังจากปรัสเซียมาช่วย บุกเข้ากรุงปารีส โค่นล้มคอมมูนปารีสลงไป
เดือนกรกฎาคม 1871 คอมมูนปารีสถูกทำลาย เออแฌนปอตตีเยร์ หนึ่งในกรรมการคอมมูนปารีส ถูกสั่งประหารชีวิต จึงลี้ภัยไปยังอังกฤษ ต่อไปยังอเมริกา เมื่อมีโอกาสจึงเขียนเนื้อเพลงเป็นกลอนลงหนังสือชื่อเพลงปฏิวัติ ปี1873 กรรมกรชาวเมืองลีล ชื่อปีแยร์ เดอเฌย์แตร์ นำเอากลอนที่เออแฌนปอตตีเยร์เขียนมาใส่ทำนอง ในชื่อเพลง แลงแตร์นาฌียงนาล ตามภาษาฝรั่งเศส จนแพร่หลายในกลุ่มกรรมกร สหภาพสาธารณรัฐโซเวียตรัสเซียใช้เพลงแลงแตร์นาฌียงนาลเป็นเพลงชาติ ปัจจุบันเพลงนี้ได้รับการแปลออกมาเป็น 10 ภาษาทั่วโลก โดยทุกชาติต่างแปลขึ้นต้นเหมือนกันว่า ตื่นเถิด ในประเทศไทยมี 2 ฉบับของจิตร ภูมิศักดิ์ แปลจากเนื้อเพลงภาษาอังกฤษเรียกว่าเพลง อินเตอร์เนชั่นแนล และอีกเพลงซึ่งจะนำมาร้องบนเวทีครั้งนี้ ชื่อเพลง แองเตอร์นาซิอองนาล ซึ่งแปลจากเนื้อเพลงภาษาจีน
"จนถึงวันปีใหม่แห่งชัยชนะ มาจากเหตุผลที่ว่า เนื่องจากเล่นใกล้วันปีใหม่ และตอนอยู่ในป่ามีเพลงเกี่ยวกับปีใหม่เยอะ หนึ่งในนั้นชื่อ วันปีใหม่แห่งชัยชนะ จึงนำมาเล่นด้วย ยืนหยัดมั่นคงเช่นเคย ไม่เปลี่ยนทางเหมือนดั่งดาวเหนือ สะท้อนความเป็นมาตั้งแต่อุดมการณ์แรกเริ่ม กระทั้งถึงยุคสมัยปัจจุบัน ผ่านการแสดงที่แบ่งเนื้อหาเป็นช่วงต่างๆ" กมลอธิบายที่มาของคอนเซ็ปต์ "จากแองเตอร์นาซิอองนาล ถึงวันปีใหม่แห่งชัยชนะ ยืนหยัดมั่นคงเช่นเคย ไม่เปลี่ยนทางเหมือนดั่งดาวเหนือ"
กมลเล่าถึงช่วงการแสดงต่างๆที่จะมีขึ้นเป็นการเรียกน้ำย่อยให้ฟังว่า เริ่มต้นเปิดตัวด้วยช่วง เปิดม่านเบิกหล้าสากลนิยม โหมโรงก่อนเปิดม่านด้วยกิจกรรมเล็กๆน้อยๆ จากนั้นจึงเริ่มต้นด้วยเพลงแองเตอร์นาซิอองนาล ต้นฉบับแปลจากภาษาจีน โดยมีความพิเศษอยู่ที่นักร้องปฏิวัติทั้ง 6 ท่านร่วมร้องกับนักร้องชายคอรัสอีก 6 ท่าน เพื่อให้แตกต่างจากที่เคยร้องมาทั่วโลก ซึ่งปกติขับร้องในรูปแบบการร้องเดี่ยว หรือร้องคอรัสเป็นหมู่คณะใหญ่
ช่วงที่ 2 ใช้ชื่อว่า "เสียงสู้ขรมในชนบท" เป็นการนำเสนอบทเพลงที่สะท้อนภาพชาวนาได้ลุกขึ้นสู้ ประกอบด้วยเพลง ฉันเกิดอยู่แดนอีสาน ทางสุดท้ายของชาวนา จดหมายถึงบ้าน ยืนหยัดต่อสู้ต่อไป ช่วงที่ 3 ใช้ชื่อว่า "ภาพสู้ปรากฏในเมือง" ประกอบด้วยเพลง ชีวิตกรรมกร เพลงแดนตาราง เพลงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา เพลงลูกจะกลับพร้อมกับชัย และบทเพลงอีกส่วนหนึ่งที่บรรดาเด็กๆจากโครงการเรียนรู้กู้บ้านเกิดร่วมกันขับร้อง อาทิ เพลงพ่อหนูไปเป็นทหารปลดแอก และเพลงทหารประชาชนสามัคคี
ช่วงที่ 4 ใช้ชื่อว่า "ช่วงรุ่งเรืองพรรคและกองทัพ" ประกอบไปด้วยระบำทานตะวัน แสดงภาพชีวิตในฐานที่มั่น เพลงอรุโณทัย แต่งโดยจิ้น กรรมาชน เพลงแสงระวีชี้ทางใจ แต่งโดยธีรศักดิ์ อัจจิมานนท์ หรือ ตือ กงล้อ จากนั้นเป็นเพลงมาร์ช กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ต่อด้วยเพลง 7 สิงหา สู้บนทางปืน ต่อด้วยช่วง "งานพร้อมสรรพสู่ปีใหม่" เป็นช่วงแสดงชีวิตนักปฏิวัติ ได้แก่เพลงนกหวีดปฏิวัติ เสียงเพลงสู่แนวหน้า เพลงมุ่งไปขยายเขตงาน เพลงเดินทางไกลใกล้ตะวันสีแดง แต่งโดย หงา คาราวาน และรำวงวันปีใหม่แห่งชัยชนะ จนมาถึงช่วงสุดท้าย เริงเพลงชัยส่งทาง ซึ่งคนดูจะได้มีส่วนร่วมสนุกไปพร้อมๆกับศิลปิน
สำหรับศิลปินที่จะขึ้นแสดงในปีนี้ ยังคงเป็นกลุ่มเจ้าของเพลงเป็นหลัก "ปัญหามีว่าบางเพลงหาตัวศิลปินไม่เจอ ศิลปินบางคนไม่อยู่ ได้นักร้องจากครั้งก่อนช่วยร้อง ศิลปินปฏิวัตินำทีมโดย หว่อง คาราวาน เศก ศักดิ์สิทธิ์ เจ้าของเพลงสาวรำวง นอกจากนี้ยังมีศิลปินที่เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักปฏิวัติ อาทิ รัตนา มฤคพิทักษ์ ,จิ้น กรรมาชน , เทิด ภูพาน ,เชี่ยวชาญ ภูพาน ,ไฟ ที่มั่นแดง เป็นต้น" กมลกล่าว
กมลเล่าว่าจากประสบการณ์การจัดงานครั้งก่อน ส่วนใหญ่กลุ่มคนดูจะเป็นสหายเก่าทั้งหมด "ครั้งที่ผ่านมาว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ของคนมาดูเป็นสหาย สมาชิกร่วมเหตุการณ์กันมา ทั่วทุกภาค กระทั่งพี่น้องชาวม้งจากภาคเหนือกว่าร้อยคนลงมาร่วมงาน ปีนี้จำนวนบัตรได้เท่าเดิม เกือบ 2,000 ที่นั่ง ถือว่ามีคนให้ความสนใจเยอะ"
"เรื่องนี้เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ ความคิดตอนนั้นบริสุทธิ์ ตอนนี้ให้ไปทำไม่ได้ ปัจจุบันพวกเราซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัย 50 ปี เข้าไปสัมผัสช่วงเวลานั้นอยู่ในกันคนละประมาณ 5 ปี เพลงทั้งหมดในช่วงนั้นเป็นเพียงช่วงอายุ 1 ใน10 ของพวกเราแต่ผลกระเทือนมีมาถึงปัจจุบัน เป็นภาพที่ยังจดจำได้ไม่ลืม กระทบต่อสังคม ช่วงการต่อสู้ ครั้งนั้นมีส่วนผลักดันอย่างสูง ทำให้ประเทศคลี่คลาย สังคมพัฒนาประชาธิปไตย เศรษฐกิจ"
"การแสดงครั้งก่อนวงซิมโฟนี ออเคสตราใช้ 50 ชิ้น แบ่งช่วงบรรเลงระหว่างพวกเครื่องสายกับเป่า ปีนี้เพิ่มเครื่องดนตรีเป็น 72 ชิ้น ถือเป็นรูปแบบที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ วงใหญ่กว่าเดิม เครื่องเป่าและเครื่องสายบรรเลงร่วมกันเป็นวงที่สมบูรณ์ยิ่งใหญ่กว่าครั้งก่อน คนเยอะ ใช้วินัย ทำให้เพลงปฏิวัติสมบูรณ์"
กมลเล่าถึงวงดนตรีซึ่งปีนี้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม พร้อมเล่าย้อนไปถึงวันวานเมื่อครั้งเล่นดนตรีอยู่ในเขตป่าให้ฟังว่าเป็นการเล่นแบบตามมีตามเกิด "เมื่อก่อนเล่นตามมีตามเกิด ไม่มีกลองก็เอาถังน้ำ ไม้ไผ่มาเคาะ มีเมาท์ออร์แกนตัวเดียว พอนำวงออเครสตร้าซิมโฟนีมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งทำให้ออกมาสูงสุดของมนุษยชาติ ทำให้เพลงปฏิวัติสมบูรณ์ขึ้น อาจารย์สุกรีเคยกล่าวไว้ว่า รูปแบบทางดนตรี เหมือนกับรถยนต์ คนจะขับไปเข้าวัด ไปตีไก่ ซื้อหวยก็ได้แล้วแต่วัตถุประสงค์ของคนขับ การนำเครื่องดนตรีสมัยใหม่ อย่างวงดนตรีออเคสตราซิมโฟนี มาร่วมร้องกับเพลงปฏิวัติสามารถเกิดขึ้นได้"
กมลแสดงความรู้สึกต่อไปว่า ครั้งที่แล้วความรู้สึกเหมือนต้นไม้ที่เหี่ยวแล้วได้รับการรดน้ำใส่ปุ๋ย พรวนดิน จนชุ่มชื้น เหมือนอดีตสดชื่นขึ้นมา ไม่ใช่ว่าอุดมการณ์จะกลับมารื้อฟื้น เพราะการกระทำขึ้นอยู่กับกาลเวลา กาลเทศะ เรื่องราวความคิดสากลทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะช่วงวัย ตอนนั้นมันเหมือนดอกไม้บริสุทธิ์พร้อมจะบานโดยไม่ต้องมีสิ่งใดมาบังคับ ไม่ได้รับผลตอบแทน แม้จะตายไม่ว่า ซึ่งคิดว่าสมัยใหม่กลับไปทำแบบนั้นไม่ได้ ทุกคนมีภาระ ผูกพันคนให้รับผิดชอบ ความคิดเปลี่ยน เรื่องราวเปลี่ยน
------
คอนเสิร์ตซิมโฟนีออเคสตรา บทเพลงปฏิวัติ ครั้งที่ 2 'ยืนหยัดมั่นคงเช่นเคย ไม่เปลี่ยนทางเหมือนดั่งดาวเหนือ' ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถ.รัชดาภิเษก วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม 2547 เวลา 19.30 น.บัตรราคา 300, 500 และ 1,000 บาท ติดต่อที่ เยาวเรศ ราชเกษร 0-1441-5944 หรือ กมล สุสำเภา 0-1486-7486