xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าของ "พ่อ" กับปลายทางที่บ้านบางแค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ผมรับใช้ประเทศชาติมาอย่างดีที่สุดแล้ว แม้ตายไปก็ไม่เสียใจ ...ผมเลี้ยงลูกมาคนเดียวตั้งแต่ยังเล็กๆ เป็นทั้งพ่อทั้งแม่ของลูก ให้กินนมกระป๋องตรามะลิแทนนมแม่ เดี๋ยวนี้ลูกตัวโตกว่าผมแล้ว เวลาเจอกันผมก็บอกลูกสาวเสมอว่า ถ้าพ่อตายไปก็ไม่ต้องเสียใจนะ ชีวิตคนมันสั้นจะเอาอะไรกันมากมาย ขอแค่ให้เขาไม่ลำบาก ดูแลตัวเองได้ แค่นี้ผมก็พอใจ" ชายชราชื่อ "กล้า สำเภาทอง" ย้อนคิดถึงอดีตรำพันแผ่วเบาถึงลูกสาวอันเป็นที่รัก

บนเก้าอี้ยาวไม้เก่า ที่ตั้งวางเรียงรายบนทางเดิน ยังมีชายชราร่างกายวัยร่วงโรยนั่งทอดอาลัย พวกเขาแทบมิไยดีความเคลื่อนไหวปัจจุบันรอบตัว สายตาทอดไปเบื้องหน้าแต่มิได้จับจ้องอยู่กับสิ่งใด ราวกับยินยอมปลีกตัวตนไปอยู่อีกโลกหนึ่งแห่งความทรงจำ

...ตึกไม้เก่าสีฟ้าซีดในสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค มี "พ่อ" อีกหลายคนที่ละทิ้งโลกแห่งความสุขและครอบครัวมาด้วยเหตุอันจนใจ จนนานวันผ่านไปเมื่อเรือใกล้ถึงฝั่ง แม้จะคิดยังไม่กล้า ถึงการได้อยู่พร้อมหน้ากับลูกหลานเป็นครั้งสุดท้ายก่อนสิ้นลมหายใจ


เงียบสงบจนเงียบเหงา สัมผัสแรกที่ต้องกระทบเมื่อย่างก้าวเข้าสู่บ้านบางแค เหมือนความรู้สึกเมื่อเข้าไปในโรงพยาบาลแล้วรับสัมผัสได้ถึงการป่วยไข้ ฉันใดก็ฉันนั้น ณ บ้านแห่งนี้ ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว คือ บรรยากาศแห่งความรู้สึกที่ปกคลุมอยู่

อุมาพร ผ่องจิต หัวหน้าฝ่ายสังคม (7 ว.) พาเดินรอบสถานและพาไปรู้จักกับ "กล้า สำเภาทอง" พ่อผู้มีอดีตเคยเป็นทหารผ่านศึก เคยโลดแล่นข้ามน้ำข้ามทะเล กับชีวิตที่ผกผัน และทุกข์ยากมาอย่างสาหัส

1.

...วันนี้ ณ ปั้นปลาย พ่อคนนี้ฝากชีวิตไว้แล้วให้บ้านบางแคดูแล

ยามแรกเจอ พ่อกล้าแสดงอาการแปลกใจเล็กน้อยที่อยู่ๆ ก็มีคนอยากมาซักถามประวัติความเป็นมาของตัวเอง ...ด้วยริ้วรอยบนใบหน้าที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างยาวนาน ชายชราทอดสายตาเหยียดยาวไปไกล เริ่มลำดับภาพตั้งแต่เล็กยันชราให้เราฟัง

"ผมไม่รู้จักพ่อแม่ที่แท้จริงหรอก เพราะถูกซื้อมาเป็นลูกตั้งแต่เล็ก แต่ก็ไม่ค่อยถูกกันกับพ่อแม่ อายุได้เจ็ดแปดขวบก็ออกมาจากบ้าน เดินไปเรื่อยๆ อยู่แถวเจริญกรุง ก็รับจ้างเขาไปเรื่อย สมัยก่อนสงครามรถยังใช้ถ่านอยู่ ผมก็ไปรับจ้างเติมถ่านให้รถ แล้วก็มาเป็นกระเป๋ารถ เป็นคนขับรถให้แก่อู่รถอุดมโชค ได้ค่าจ้างเดือนละ 90 บาท"

เด็กชายยากไร้ผู้ไม่รู้จักพ่อแม่ เข้ากับพ่อแม่บุญธรรมไม่ได้ ต้องกรำชีวิตอันยากลำบากตั้งแต่เล็กมาถึงวันฉกรรจ์ อาชีพพลิกผันอีกครั้งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทบมาถึงไทย ด้วยหัวใจอาจหาญ นายกล้า วัย 21 ปีรับสมัครเข้าเป็นทหารเกณฑ์

"ช่วงสงครามเกาหลี ผมเข้ารับราชการทหาร เป็นทหารเกณฑ์ไปรบที่เกาหลีเหนือ ผมลงเรือที่ท่าราชวรดิฐไปขึ้นเรือสินค้าญี่ปุ่นชื่อ โฮมารู ที่เกาะสีชัง 10 วัน 10 คืนต้องอยู่กลางทะเลกว่าจะถึงเกาะซาเซโปที่ญี่ปุ่น ขึ้นจากเรือญี่ปุ่นก็ต่อเรือของสหประชาชาติอีก 2 วันไปเกาหลี พอขึ้นบกต้องนั่งรถไฟต่อไปเลยเส้นขนานสาย 8 ไปประจำอยู่บนเขา ตอนไปกันเป็นกองพัน เหยียบกับระเบิดถูกยิงตายไป 24 คน ผมไม่รู้หรอกนะว่ามีข้าศึกมีทหารเยอะขนาดไหน แต่พอสิ้นสงคราม แนวรบสงบศึก มีคนเดินออกมาจากรูกำบังกันเป็นแสนคน"

ชายชราเล่าด้วยน้ำเสียงยังตื่นเต้นกับอดีต ดวงตาฉายประกายสดใสกับอาชีพแรกที่เขาภาคภูมิใจเป็นนักหนา คือ การได้รับใช้ชาติ แต่ชีวิตทหารผ่านศึกหลังสงครามก็ยังมีเรื่องราวมากมายที่มีความเจ็บช้ำรอคอยอยู่

"ผมกลับมาวันที่ 28 ตุลาคม 2493 ไปขอเงินสะสมที่หักจากเงินเดือนทหารไป 60 บาทจาก 500 บาทต่อเดือน แต่ไม่ได้ ป่านนี้ก็ยังไม่ได้"

เงินก้อนที่หวังจะนำมาเป็นทุนรอนไม่มีแล้ว จะไปพึ่งพาใครก็ไร้ญาติขาดมิตร นายกล้าเดินเข้าไปสมัครเป็นนักมวยเพื่อสามารถดำรงชีวิตในค่ายมวยได้

"นักมวยตอนนั้นมันเยอะมาก เถ้าแก่เขาเห็นแล้วว่าอยู่ไปแบบนี้คงยังไม่ได้ชกแน่ เลยถามว่าขับรถเป็นมั้ย ผมก็บอกขับเป็น เขาเลยไปหางานให้เป็นคนขับรถร.ส.พ. สายเจริญกรุง วิ่งอยู่เส้นท่าเตียน ถนนตก วิ่งรถที่นี่ได้ 6 ปี ก็ไปทำงานขับรถให้โรงแรมเอราวัณ"

2.

ชายชราหยุดชะงักเล่าเรื่อง มองดูเพื่อนวัยเดียวกันที่สมัยก่อนคงใช้ชีวิตมาอย่างโชกโชนค่อยๆ พยุงตัวด้วยไม้เท้าเดินผ่านไปอย่างกะปลกะเปลี้ย ภาพวัยร่วงโรยของเหล่าเพื่อนฝูงที่นี่สะท้อนออกมาด้วยเสียงเศร้าเมื่อเขาเริ่มเล่าเรื่องต่อไป

"ตอนขับรถอยู่ที่เอราวัณผมมีเมียเป็นคนกินเหล้า มีลูกสาวด้วยกันแล้วก็ยังเมาอยู่ตลอดทั้งวัน ผมเลี้ยงดูลูกมาคนเดียว ต้องให้นมกระป๋องแทนนมแม่ หนักเข้าก็อยู่กับเมียด้วยไม่ไหวแล้ว สงสารลูกก็หอบลูกไปให้คนอื่นจ้างเลี้ยงที่กาญจนบุรี ตอนแรกก็กะว่าจะยกให้คนอื่นไปเลย แต่ก็ทำไม่ได้ ทำงานอยู่เดือนละครั้งก็ต้องเอาเงินไปจ่ายให้เขาช่วยเลี้ยงลูก"

"ลูกผมเพิ่งเดินได้เตาะแตะ ตอนที่ผมหอบลูกหนีเมียไปอยู่กาญจนบุรี ก็ให้เขาเอาเข้าโรงเรียนอนุบาล ตอนนี้ลูกเขาเรียนจบเข้าทำงานในกรุงเทพฯแล้ว อยู่โรงงานตัดผ้า ทุกอาทิตย์ก็มาเยี่ยมผม ผมก็เอาบัตรเอทีเอ็มให้เค้าไปกดเงินใช้ ตอนนี้ผมได้รับเงินยังชีพในฐานะทหารผ่านศึกเดือนละ 1,000 บาททุกเดือน แต่เราอยู่ที่นี่ไม่ต้องใช้เงินอะไร เอาให้ลูกไปใช้ดีกว่า ผมเลี้ยงลูกมาคนเดียวตั้งแต่ยังเล็กๆ เป็นทั้งพ่อทั้งแม่ของลูก ให้กินนมกระป๋องตรามะลิแทนนมแม่ เดี๋ยวนี้ลูกตัวโตกว่าผมแล้ว เวลาเจอกันผมก็บอกลูกสาวเสมอว่า ถ้าพ่อตายไปก็ไม่ต้องเสียใจนะ ชีวิตคนมันสั้นจะเอาอะไรกันมากมาย ขอแค่ให้เขาไม่ลำบาก ดูแลตัวเองได้ แค่นี้ผมก็พอใจ ...ผมเคยไปถามหาแม่เขา แต่ก็รู้ว่าตายแล้ว เผาไปกับศพอื่นๆ ที่โรงพยาบาล"

ชีวิตลูกเติบโตขึ้นมาห่างพ่อ แต่ชีวิตพ่อหลังทำงานสุดท้ายที่เอราวัณกลับทุกข์เข็ญกว่า

"ผมเริ่มป่วยจนทำงานต่อไม่ได้ กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท มาอีกก็ต้องผ่าตัดต่อมลูกหมาก เบามันไหลไม่หยุด ผมไปถามใครเขาให้ไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ผมก็ไปผ่า"

หลังจากไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีบ้าน ด้วยอายุที่มากขึ้นพร้อมกับโรคภัย ชายชราผมขาวเริ่มเร่ร่อนอีกครั้งไปใช้ชีวิตหลับนอนอยู่ที่หัวลำโพงถึง 2 ปี

3.

ชายชราหยุดเล่าอีกครั้งตอนเจ้าหน้าที่ยกถาดอาหารเย็นมาให้ ต้มจืดผักกาดขาววุ้นเส้น กับปลานิลวางอยู่ในถาดพร้อมข้าว เขาเหลือบมองเพื่อนชายชราอีกคนที่นั่งถัดไปไม่ไกลรับยาจากเจ้าหน้าที่ เมื่อเพื่อนเริ่มลงมือรับประทานอาหาร ชายชราหันมาเล่าต่อถึงชีวิตรันทดเมื่อไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิต

"ผมเดินเข้าไปที่ผ่านสึก ถามเขาว่าพอจะช่วยเหลืออะไรได้มั้ย เขาให้ขึ้นทะเบียน ถึงได้รับเงินยังชีพมาตั้งแต่นั้น นายทหารร้อยเอกถามผมทำไมไม่ไปอยู่สถานสงเคราะห์ ผมก็สมัครไปอยู่สถานสงเคราะห์ที่บุรีรัมย์แต่นั่งรถไฟผิดไปอยู่ยะลาแทน พอย้ายไปบุรีรัมย์ได้อาหารก็ไม่ถูกปาก ผมกินปลาร้าไม่เป็น ก็ขอย้ายมาอยู่ที่นี่แหละ"

ช่วงที่ชายชราแบกร่างกายเจ็บไข้ระเหเร่ร่อน เขาขาดการติดต่อไปโดยปริยายกับลูกสาว แต่ด้วยกตัญญูลูกสาวพอเข้ามาอยู่กรุงเทพฯก็โทรศัพท์ตามหาพ่อ จนทราบว่ามาอยู่ในบ้านพักคนชราแห่งนี้แล้ว

"ลูกเขาตามหาผมจนเจอ ผมก็ดีใจที่เขามาหา เดี๋ยวนี้ก็มาหาทุกอาทิตย์ มีสองอาทิตย์นี้แหละที่ไม่ได้มา"

พ่อกล้าเล่าถึงชีวิตของลูกสาวด้วยน้ำเสียงและสายตาอันเปี่ยมสุข ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า ตั้งแต่ติดต่อกับลูกได้ เขาจะนั่งนับวันรอคอยการมาเยี่ยมจากลูกอยู่ทุกอาทิตย์

ถามว่า แล้วจะไม่กลับไปอยู่กับลูกสาวอีกหรือ

ชายชรา ตอบว่า "ทุกวันนี้ลูกเอาตัวรอดอยู่ได้ก็ดีแล้ว แค่นี้ผมก็พอใจ บ้านเช่า บ้านของตัวเองเขายังไม่มี ต้องไปอาศัยที่ทำงานนอน ถ้าเราจะไปอยู่กับเขาก็เพิ่มภาระให้เขาอีกเปล่าๆ"

ชายชราเพิ่มเติมชีวิตที่ขาดหายไปอีกส่วน ด้วยวัย 73 ปี พ่อกล้าไม่ได้มีเพียงลูกสาวคนเดียวเท่านั้น แต่ยังมีลูกอีก 6 คนจากอีก 2 ภรรยา ที่มาวันนี่ พ่อกล้าบอกว่า "เดินสวนกันก็คงไม่รู้จัก"

"ตอนผมขับรถ รสพ. มีเมียมาแล้ว 2 คนก่อนจะมามีคนสุดท้ายที่มีลูกสาวด้วยกัน ทั้งสองคนที่เลิกกันเพราะอยู่ด้วยกันไม่ได้ ลูกๆ เดี๋ยวนี้โตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้ว เกือบ 20 ปีไม่เคยติดต่อมาหาเลย ถ้าเดินสวนทางกันคงไม่รู้จัก จะมีก็แต่ลูกสาวคนนี้แหละที่ดีกตัญญูคอยติดต่อมาหาเราอยู่"

ชายชราเริ่มหันไปหยิบขวดซีอิ๊วขาวมาเทลงบนปลานิล มืออันสั่นระริกค่อยๆ หยิบปลาตักข้าวอย่างเบามือ พอเสียงพูดคุยระหว่างเราเสียงเดียวที่มีอยู่ในบริเวณนี้เงียบลง ก็คล้ายดั่งปล่อยโลกแห่งการรอคอยแห่งบ้านพักแห่งนี้กลับคืนสู่สภาพปกติอีกครั้ง

ก่อนออกมาจากบ้านบางแค เงาแสงสุดท้ายของอาทิตย์กำลังลับจากเมือง ชายชรานั่งนิ่งเดียวดายหันมามองด้วยสายตาอ้างว้าง ภาพของคนเคยเป็นพ่อที่เห็นกระทบใจจนสั่นสะท้าน

ภายนอกบนบาทวิถีแห่งชีวิตคน ล้วนมีแต่พ่อที่อุ้มชูปกป้องลูกน้อยเดินพ้นผ่านพ้นวัย กระทั่งยืนได้ด้วยลำแข้งตนเอง เห็นแล้วอดภาวนาในใจไม่ได้ ขอให้ชีวิตในวัยชราของพ่อเหล่านี้ได้รับการทะนุถนอมอย่างดี และได้อยู่อาศัยจนวาระสุดท้ายอย่างผาสุกร่วมกันในครอบครัว

********
พ่อที่บ้านพักคนชรา

สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค ที่อยู่สุดท้ายที่พ่อหลายยุคได้พึ่งพิงมา 51 ปีแล้ว
นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2496 โดยการก่อตั้งจาก ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น สถานสงเคราะห์แห่งแรกของรัฐที่จัดสวัสดิการในรูปแบบสถาบันผู้สูงอายุเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่ยากจน ประสบปัญหาความทุกข์ยาก เดือดร้อนไม่มีที่อยู่อาศัย ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู หรืออยู่กับครอบครัวแล้วไม่มีความสุข รวมทั้งยังสร้างขึ้นมาเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวที่มีรายได้น้อย ยากจนไม่สามารถเลี้ยงดูผู้สูงอายุให้อยู่กับครอบครัวได้ ตลอดจนเพื่อรักษาประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทยในการที่จะโอบอุ้มและช่วยเหลือผู้สูงอายุ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้สูงอายุ
กรองกาญจน์ สุขสำราญ เจ้าหน้าที่บ้านบางแค ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้สูงอายุใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ที่นี่ 220 คน เป็นชาย 50 คน หญิง 170 คน ทางเจ้าหน้าที่ก็พยายามจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้สูงอายุเหล่านี้รู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่าและยังสามารถมีชีวิตอย่างมีความสุขอยู่มิได้ขาด แต่ทุกมีนาคมของทุกปีจะมีหนึ่งวันที่ คือ วันเผาศพ ที่เป็นวันแห่งความโศกเศร้า เมื่อผู้สูงอายุเหล่านี้ต้องเผาศพเพื่อนที่เคยอยู่ร่วมมา ปีที่แล้วมี 25 ศพ
...เขาทั้งหลายเหล่านี้จะมีสักกี่รายที่ไม่เคยอยู่ในฐานะของพ่อหรือแม่มาก่อน แต่กลับดับชีวิตลงโดยที่ไม่มีครอบครัวคอยส่งไปถึงอีกฝั่ง
กรองกาญจน์ เพิ่มเติมอีกว่า ผู้สูงอายุที่มีปัญหาและต้องเข้ามาที่บ้านพักมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกที จนต้องพยายามให้ทางต่างจังหวัดดูแลเกี่ยวกับเรื่องเอง เพราะสถานที่ปัจจุบันไม่สามารถรับผู้สูงอายุในจำนวนที่เพิ่มขึ้นได้แล้ว
ส่วน อุมาพร ผ่องจิต บอกว่า แม้สถานที่แห่งนี้จะให้ปัจจัย 4 และเจ้าที่ดูแลผู้สูงอายุเยี่ยงญาติผู้ใหญ่อย่างไร ก็มิอาจเติมเต็มทางจิตใจให้ผู้ที่เคยเป็นพ่อแม่เหล่านี้ได้
"แม้ผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลอย่างดีทั้งร่างกายและจิตใจ แต่เราก็คงเติมเต็มให้กับเขาไม่ได้ ลึกๆ แล้วเขาก็ยังปรารถนาให้ลูกหลานกลับมารับ แต่ผู้สูงอายุน้อยรายที่จะได้กลับคืนสู่ครอบครัว ไม่เหมือนเด็กๆ ที่วันหนึ่งจะมีครอบครัวรับไปอุปภัมภ์ เพราะผู้สูงอายุถ้ารับไปก็มีแต่จะเป็นภาระทั้งเรื่องการดูแลและการป่วยไข้ บางรายยังเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต จิตวิทยาผู้สูงอายุก็ต้องการคนเอาใจใส่ รับฟังเรื่องราวของเขา ถึงแม้ว่าลูกหลานจะให้เงินให้ทอง แต่ถ้าไม่ใส่ใจก็เหมือนกับทอดทิ้งเขาเหมือนกัน เพราะทำให้เขาอยู่อย่างไม่มีความสุข และไม่อยากจะอยู่กับครอบครัวอีก"
เธอทิ้งท้ายไว้ว่า "อยากจะฝากถึงเยาวชนรุ่นหลัง เมื่อโตไปทำอย่างไรถึงจะให้เขารับผิดชอบหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว มีจิตสำนึกในการกตัญญูรู้คุณ ถ้าคุณไม่ทำคุณมีส่วนในการทำลายวัฒนธรรมของเราอยู่ ทำอย่างไรสังคมจะช่วยรณรงค์ไม่ให้มีการทอดทิ้งผู้สูงอายุ หรือทอดทิ้งแล้ว ก็ยังอยากให้มารับกลับไป"

นึกแล้วก็น่าใจหายที่ปัจจุบันพ่อแม่พอแก่เฒ่า กลับกลายเป็นความรับผิดชอบของสังคมที่ต้องดูแลปรนนิบัติ มิใช่ลูกหลาน
"ลูกจ๋า... ลืมพ่อที่บ้านพักคนชราแล้วหรือยัง" คงเป็นคำถามในใจพ่ออีกหลายคนในวันพ่อนี้ แต่ก็คงเป็นคำถามที่เพียงแต่ตั้งไว้ในใจมิได้เอ่ยออกมา เพราะเกรงว่าคำตอบจะโหดร้ายทับถมต่อชีวิตบั้นปลายที่อย่างไรก็คงมอดดับลงอย่างเดียวดายเหมือนพ่ออีกหลายคนที่จากไปอยู่ดี...






กำลังโหลดความคิดเห็น