xs
xsm
sm
md
lg

สาวประเภทสอง กับเสรีภาพในชุดนักศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดอกไม้สีม่วงกลีบแข็งดูแปลกตา เบ่งบานออกดอกชูช่องดงาม แลดูโดดเด่นอวดสายตาอย่างท้าทาย

หลายคนหยุดแวะส่งยิ้มให้อย่างมีไมตรียอมรับ ในขณะที่อีกหลายคนเบือนหันหน้าหนี ด้วยไม่ชอบใจความผิดที่ผิดทางของเจ้าดอกไม้ดอกนั้น

ในสังคมแห่งมนุษย์ ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เปรียบเสมือน ดอกไม้สีม่วงกลีบแข็ง พวกเธอเป็นกลุ่มคนที่ยืนอยู่ข้างนอกกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดเพศสภาพให้ยามแรกเกิด ด้วยร่างกายของชาย แต่จิตใจภายในของพวกเธอกลับเป็นหญิง เธอเป็นกลุ่มคนที่สังคมให้คำจำกัดความว่า "สาวประเภทสอง"

แม้ปัจจุบัน คนกลุ่มนี้จะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการยอมรับนั้นยังมีขอบเขตและข้อจำกัดอีกหลายอย่าง รวมไปถึงสาวประเภทสองที่อยู่ในบทบาทของนิสิตนักศึกษา ผู้ถูกสังคมเพ่งเล็งหาขอบเขตแห่งเสรีภาพในการแสดงออกของพวกเธอ


เสรีภาพในชุดนักศึกษา

ช่วงเวลาในมหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ด้วยเป็นเวลาที่วัยรุ่นเตรียมก้าวขาเพื่อออกเดินไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่สถาบันการศึกษาได้กำหนดไว้ เริ่มผ่อนคลายลงจากในช่วงมัธยม ความเป็นอิสระเข้ามาแทนที่กรอบระเบียบอันเคร่งครัด

ทุกคนในรั้วมหาวิทยาลัยล้วนแล้วแต่มี "เสรีภาพ" ในการดำเนินชีวิตของตัวเอง ทุกคนต่างเรียนรู้ที่จะใช้เสรีภาพของตัวเองให้ถูกต้องและอยู่ในขอบเขตอันสมควร แต่ทว่าบางครั้ง เรื่องบางเรื่องก็ไม่สามารถถูกตัดสินได้เพียงคนกลุ่มเดียวว่าอะไรคือขอบเขตอันเหมาะสม

เมื่อปากกาที่คนแต่ละกลุ่มนำมาใช้ขีดเส้นขอบเขตเป็นคนละด้าม หลายครั้งความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น รวมไปถึงเรื่องเสรีภาพในการแต่งชุดนักศึกษาของสาวประเภทสอง

ด้วยชุดเครื่องแบบนักศึกษาที่ถูกแบ่งแยกชัดเจนถึงเพศชายและหญิง สาวประเภทสองที่กำลังเรียนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัยหลายต่อหลายคนได้ตัดสินใจใส่ชุดนักศึกษาหญิง ไว้ผมยาว หากมองเผิน ๆ ก็จะไม่พบว่ามีความผิดเพี้ยนไปจากเพศหญิงที่แท้จริงแต่อย่างใด

ยามเข้าห้องน้ำ พวกเธอก็เลือกที่จะเข้าห้องน้ำหญิงมากกว่าที่จะเข้าห้องน้ำชาย ด้วยเหตุผลที่ว่า ณ วันนี้ พวกเธอไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นเพศชายอีกต่อไป

แน่นอนว่า เมื่อเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษา เสียงที่สะท้อนออกมาก็มีทั้งคัดค้านและตอบรับ ขอบเขตแห่งเสรีภาพถูกนำมากล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเสรีภาพที่พึงมีของสาวประเภทสอง หรือเป็นเสรีภาพที่อยู่นอกขอบเขตอันควรจะเป็น

"ปอย" ตรีชฎา เพชรรัตน์

ตรีชฎา เพชรรัตน์ หรือ "ปอย" ผู้คว้ารางวัล Miss Tiffany 2004 และ Miss International Queen 2004 มาครอบครอง ปัจจุบันเธออายุ 19 ปี และกำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เธอเป็นอีกคนหนึ่งที่เลือกแต่งชุดนักศึกษาหญิงในยามเรียน

"ปอยคิดว่าสังคมน่าจะยอมรับกับเรื่องนี้ การที่พวกเราแต่งชุดนักศึกษาหญิงไปเรียนไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย อย่างน้อยก่อนที่สาวประเภทสองจะเลือกใส่กระโปรงหรือเสื้อนักศึกษาของผู้หญิง ก็ต้องคิดแล้วว่ารูปร่างตัวเองนั้นเหมือนผู้หญิง เป็นผู้หญิงเต็มตัวแล้ว เรารู้และมีความคิดในการแต่งชุดนักศึกษาให้ถูกกาลเทศะ โดยการแต่งตัวปอยก็เลือกที่จะแต่งให้สุภาพเรียบร้อย กระโปรงก็ไม่สั้นเกินไป เสื้อก็ไม่รัดจนปริ ถูกระเบียบและถูกกาลเทศะของการเป็นนักศึกษาทุกอย่าง ปอยคิดว่าตัวปอยก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ถ้าจะให้ปอยใส่ชุดนักศึกษาผู้ชายไปเรียนมันก็ไม่ได้"

สำหรับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ตรีชฎากล่าวว่า มหาวิทยาลัยของเธอค่อนข้างที่จะให้เสรีภาพกับพวกเธอพอสมควร โดยมีสาวประเภทสองอีกหลายคนที่ใส่ชุดนักศึกษาหญิงไปเรียนได้เป็นปกติ เธอให้ความเห็นว่า การไปบังคับให้สาวประเภทสองต้องใส่ชุดนักศึกษาผู้ชายเป็นเรื่องที่สร้างความกดดันและบั่นทอนสุขภาพจิต

"มันก็เหมือนกับไปบังคับให้ผู้หญิงต้องใส่ชุดนักศึกษาผู้ชายไปเรียน หรือถ้ามองกลับกัน สมมติคุณเป็นผู้ชายแล้วเราบังคับให้แต่งชุดนักศึกษาผู้หญิง เป็นใครก็ไม่ชอบทั้งนั้น" ตรีชฎากล่าว

ในส่วนของการเลือกเข้าห้องน้ำ ตรีชฎากล่าวว่า สำหรับตัวเธอนั้นไม่มีปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเธอผ่าตัดแปลงเพศเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งคนภายนอกก็ไม่มีใครรู้ว่าเธอเป็นสาวประเภทสอง แต่ทั้งนี้การเข้าห้องน้ำหญิงก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความเกรงใจผู้หญิงคนอื่นด้วย

"อันดับแรกก็ต้องคิดว่า ห้องน้ำนี้ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อพวกเรา เวลาเข้าก็ต้องสำรวม แล้วก็ควรที่จะแน่ใจในระดับหนึ่งว่าตัวเองรูปร่างลักษณะเหมือนผู้หญิงแล้ว มีจิตใจเป็นผู้หญิงอย่างสมบูรณ์จริง ๆ ไม่ใช่ว่าผมสั้นเหมือนผู้ชาย กล้ามใหญ่ แต่เดินเข้าห้องน้ำหญิง แล้วยิ่งเข้าไปแล้วทำท่าแอบมองหรือไม่สำรวมต่อผู้หญิงคนอื่นก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควร"

"โน้ต" นตชนก คำป้อ

เธอคนนี้ เป็นสาวสวยจาก คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบพัสตราภรณ์ แห่งรั้วธรรมศาสตร์ ด้วยชุดนักศึกษาหญิงถูกระเบียบเรียบร้อยที่เธอสวมใส่ มีน้อยคนนักที่จะเดาออกว่าแท้จริงแล้วเธอเป็นสาวประเภทสอง

นตชนกให้ความเห็นว่า สายตาของคนในสังคมที่มองสาวประเภทสองใส่ชุดนักศึกษาหญิงนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าคนเหล่านั้นจะอยู่ในสังคมแบบใด แต่ในสังคมธรรมศาสตร์แห่งนี้ เธอมีเสรีภาพในการแต่งชุดนักศึกษาหญิง ที่สำคัญคือเธอได้รับการยอมรับในสิ่งที่เธอเป็น

"เพื่อน ๆ และอาจารย์ให้ความยอมรับอย่างดี แทบทุกคนปฏิบัติต่อโน้ตในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง ธรรมศาสตร์ให้เสรีภาพและเปิดโอกาสให้สาวประเภทสองสามารถใส่ชุดนักศึกษาหญิงเข้าเรียนและเข้าสอบได้ แม้กระทั่งเรื่องอยู่หอพัก ธรรมศาสตร์ก็ให้โอกาสสาวประเภทสองสามารถทำเรื่องอยู่หอหญิงได้ แต่สำหรับบางสถาบันที่มีกฎระเบียบบังคับห้ามไม่ให้สาวประเภทสองใส่ชุดนักศึกษาหญิงนั้น โน้ตอยากให้คนเหล่านั้นเข้าใจว่าเราเกิดมาเป็นอย่างนี้ เราเลือกไม่ได้ เรามีจิตใจเป็นผู้หญิง จึงอยากแต่งตัวให้เหมือนกับเป็นผู้หญิงคนหนึ่งก็เท่านั้นเอง"

เมื่อถามถึงขอบเขตในการแต่งชุดนักศึกษาหญิง เธอกล่าวว่า ขอบเขตนั้นจำเป็นต้องมี โดยต้องพิจารณาความเหมาะสมและรู้จักกาลเทศะ คือต้องแต่งตัวให้เรียบร้อยถูกระเบียบ ไม่แต่งให้ชุดนักศึกษาดูโป๊เกินไป ซึ่งหากแต่งชุดนักศึกษาให้กลายเป็นชุดที่ไม่เรียบร้อย ภาพลบก็จะเกิดขึ้นกับสาวประเภทสอง โดยคนภายนอกมองมาก็จะรู้สึกไม่ดี ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะกลายเป็นผลเสียต่อตัวพวกเธอเอง

นตชนกเป็นสาวประเภทสองอีกคนหนึ่งที่เข้าห้องน้ำหญิงมาตลอด ด้วยภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูเป็นผู้หญิงเต็มตัวจึงไม่ได้สร้างปัญหาใด ๆ ให้กับเธอ ตรงกันข้ามหากเธอเข้าห้องน้ำผู้ชายจะกลับกลายเป็นเรื่องแปลกประหลาดทันที

"ถ้าเข้าห้องน้ำชายก็จะอึดอัดและเขิน ตัวผู้ชายเองก็คงตกใจหากเราเดินเข้าห้องน้ำชาย เพราะร่างกายหน้าตาและภาพรวมของเราเป็นผู้หญิงมากกว่า แต่หากเข้าห้องน้ำหญิง ผู้หญิงก็จะเฉย ๆ อาจเป็นเพราะไม่รู้ หรือไม่ได้คิดว่าเราเป็นผู้ชาย" นตชนกกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

เธอยืนยันว่าแม้เรียนจบทำงานแล้ว เธอก็จะแต่งชุดผู้หญิงตลอดไป เธอกล่าวว่า อยากให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงออกในความเป็นตัวของตัวเอง การที่คนเราจะเป็นคนดีหรือจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานไม่ได้อยู่ที่การแต่งตัว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศว่าต้องเป็นหญิงแท้หรือชายแท้เท่านั้นจึงจะทำงานได้

"กฎเกณฑ์กฎระเบียบต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและความเหมาะสม ในยุคแห่งเสรีภาพอย่างทุกวันนี้ การปิดกั้นทางโอกาสน่าจะลดน้อยลงได้แล้ว อยากให้สังคมเปิดกว้างยอมรับ และคิดว่าหากสาวประเภทสองไม่ถูกบังคับ ไม่ถูกกดดันให้แอบซ่อนสิ่งที่ตัวเองเป็น เรื่องดี ๆ หลายอย่างอาจเกิดขึ้นก็ได้ มีรุ่นพี่ของโน้ตหลายคนที่เก่งและมีความสามารถ แต่เมื่อเรียนจบไปแล้วกลับมีปัญหาตอนสมัครงาน หากไม่ใช่งานอิสระหรืองานในองค์กรต่างประเทศก็มักจะเกิดการไม่ยอมรับขึ้น เพราะสังคมไทยยังคงให้ความสำคัญกับเพศของคนคนหนึ่งมากกว่าที่จะให้ความสำคัญในตัวผลงาน หรือในความสามารถที่พวกเรามี"

"มะหมี่" ชาลิณี ศรีโสภากุล

รอยยิ้มกว้างขวางสดใสบนใบหน้าของเธอ ชักชวนให้ใครหลายคนหันมามองสาวจากมหาวิทยาลัยศรีปทุมคนนี้ ชุดนักศึกษาผู้หญิงดูเข้ากันเป็นอย่างดีกับรูปร่างสูงโปร่งของเธอ

"มะหมี่คิดว่า ตอนนี้สังคมเปิดกว้างให้กับพวกเรามากกว่าในอดีต คงเป็นเพราะสมัยนี้กะเทยเก่งและมีชื่อเสียงในด้านดี ๆ มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ช่วยลบภาพกะเทยในสมัยก่อนที่มักถูกคนมองว่าเป็นคนไม่ดี คอยแต่จะสร้างเรื่อง สร้างปัญหาให้ค่อย ๆ หมดไป ผู้คนจึงให้ความยอมรับกะเทยมากขึ้น"

แน่นอนว่าเธอคนนี้ต้องยืนอยู่ข้างฝ่ายสนับสนุนให้สาวประเภทสองแต่งชุดนักศึกษาหญิง ด้วยเหตุผลง่าย ๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เธอมีจิตใจเป็นผู้หญิงเต็มตัว มีรูปร่างลักษณะเหมือนผู้หญิงทุกประการ แล้วเหตุใดจึงต้องบังคับไม่ให้เธอแสดงออกในสิ่งที่เธอเป็น

"การที่คนเราจะเอาบรรทัดฐานของตัวเองเป็นที่ตั้ง ดูถูกค่าของคนอื่นเพียงแค่ว่าร่างกายของเขาไม่เหมือนกับของเรา เป็นความคิดที่คับแคบเกินไป บนโลกนี้ไม่ได้มีคนแค่สองเพศ แต่ยังมีเพศที่สามคือพวกเรายืนอยู่ในสังคมเดียวกับคุณ การแต่งชุดนักศึกษาหญิงไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ได้ทำให้สังคมเลวร้ายลง เราแค่อยากเป็นผู้หญิงธรรมดา ๆ และอยากให้สังคมเปิดใจยอมรับสิ่งที่พวกเราทำมากกว่าสิ่งที่พวกเราเป็น"

การเข้าห้องน้ำหญิงก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเธอคนนี้ ชาลิณีกล่าวว่าเธอเข้าห้องน้ำหญิงในมหาวิทยาลัยศรีปทุมมาสี่ปีแล้ว ไม่เคยมีผู้หญิงคนใดมองว่าเธอเป็นผู้ชายไม่ควรเข้ามา แต่ถ้าหากเข้าห้องน้ำชาย ก็จะกลายเป็นว่า ผู้ชายจะพากันตกใจและมองจนเธอไม่กล้าเข้าไปเสียมากกว่า

บทบาทของสาวประเภทสองที่เริ่มมีมากขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพ ดารา นักร้อง ไปจนถึงอาชีพครูอาจารย์ ส่งผลให้สังคมเกิดความกังวล เนื่องจากกลัวว่าเยาวชนอาจเกิดความสับสนและเลียนแบบ ปัญหานี้ส่งผลให้สาวประเภทสองในฐานะนักศึกษาผู้กำลังจะก้าวไปสู่การเป็นบัณฑิตต้องเผชิญกับภาวะกดดันไม่ใช่น้อย

"การเป็นกะเทยไม่ได้เป็นกันง่าย ๆ นะคะ มันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่ว่าเด็กดูทีวีบ่อย ๆ เห็นคนในกลุ่มพวกเรามากขึ้น จะทำให้เด็กกลายเป็นกะเทยกันหมด สาเหตุอาจมาจากฮอร์โมนที่มันผิดพลาด หรือปัญหาในครอบครัว มะหมี่คิดว่าการเลียนแบบที่เกิดขึ้นในเด็กนั้นจะไม่น่าเป็นห่วงเลย หากสถาบันครอบครัวของเด็กคนนั้นเข้มแข็งและไม่มีปมปัญหาให้เด็กต้องระบายออกอย่างผิด ๆ สรุปว่าอย่าโทษแต่ที่ตัวพวกเรา แต่ควรจะพิจารณาถึงประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุสำคัญจริง ๆ มากกว่า" ชาลิณีกล่าวทิ้งท้าย

ขอบเขตเสรีภาพในกรอบแห่งกฎเกณฑ์

หากสังคมใดไร้กฎระเบียบ สังคมนั้นย่อมเป็นสังคมที่สับสนวุ่นวาย สังคมแห่งสถาบันการศึกษาก็เช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ต้องสร้างกฎเกณฑ์ของตัวเองเพื่อเป็นแนวทางให้นิสิตนักศึกษาเดินไปในทิศทางเดียวกัน

หลายมหาวิทยาลัยมิได้มีกฎเกณฑ์บังคับเรื่องการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาของสาวประเภทสอง หากแต่ก็มีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่ออกระเบียบควบคุมการแต่งชุดเครื่องแบบเหล่านั้นให้เป็นไปตามเพศสภาพที่ถูกต้อง

"ปลาโอ" นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ในส่วนตัวแล้วคิดว่าการยอมรับสาวประเภทสองที่ใส่ชุดนักศึกษาหญิงนั้นยังมีน้อย สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็จะมีกฎระเบียบห้ามไม่ให้สาวประเภทสองใส่เครื่องแบบหญิงโดยเด็ดขาด เพราะชุดนิสิตเป็นชุดพระราชทาน นิสิตทุกคนต้องให้ความเคารพในชุดเครื่องแบบของตัวเอง

"จริง ๆ แล้ว สาวประเภทสองไม่จำเป็นต้องแสดงออกถึงความเป็นผู้หญิงด้วยการใส่ชุดนักศึกษาหญิงก็ได้ ในเมื่อมหาวิทยาลัยมีกฎระเบียบระบุไว้ชัดเจน ถ้าจะไปฝ่าฝืนกฎมันก็ไม่ดี หากอยากแต่งตัวเป็นผู้หญิงจริง ๆ ก็ยังมีชุดธรรมดาให้ใส่ได้ตามสบายในวันที่ไม่มีเรียน มันเป็นเรื่องของกาลเทศะที่ควรเลือกแต่งตัวให้เหมาะสมมากกว่า"

"ปลาโอ" มีความเห็นว่า เสรีภาพในการแต่งชุดนักศึกษาหญิงของสาวประเภทสองนั้นขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยมากกว่า หากสถาบันการศึกษาที่ตนเองสังกัดไม่มีกฎเกณฑ์บังคับ สาวประเภทสองก็น่าจะมีสิทธิ์ในการสวมใส่ชุดนักศึกษาหญิงได้อย่างเสรี แต่ทั้งนี้ก็ควรพิจารณารูปร่างลักษณะของตัวเองก่อนว่า เมื่อใส่ชุดนักศึกษาหญิงแล้วออกมาแล้วดูได้หรือไม่ เพราะถ้ารูปร่างของตนไม่เอื้ออำนวย แต่งออกมาแล้วดูไม่ดีหรือไม่เข้ากับเสื้อผ้าผู้หญิงก็ไม่ควรใส่ เพราะจะดูไม่น่ามอง

เสียงสะท้อนจากมหาวิทยาลัย

รองศาสตราจารย์ ดร. ทวี ฉิมอ้อย รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มิได้มีกฎระเบียบบังคับเรื่องการแต่งกายของนักศึกษา หมายความว่าหากนักศึกษาที่เป็นสาวประเภทสองแต่งชุดนักศึกษาหญิงมาเรียนก็ไม่ถือเป็นความผิด แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่ามหาวิทยาลัยให้ความส่งเสริมหรือสนับสนุน แต่จะถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิทธิเสรีภาพที่นักศึกษาต้องเลือกประพฤติให้ถูกต้องเหมาะสมตามความคิดของตัวเอง

"มหาวิทยาลัยของเรามีเสรีภาพให้ทุกคนเสมอ เราต้องยอมรับว่าทุกวันนี้มีนักศึกษาที่มีลักษณะไม่ตรงกับเพศที่แท้จริงของตัวเองเยอะพอสมควร ไม่เพียงแต่ผู้ชายที่มีลักษณะเหมือนผู้หญิง แต่ยังรวมไปถึงผู้หญิงที่มีลักษณะเหมือนผู้ชายก็เยอะ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่มีกฎเกณฑ์มากำหนดบังคับให้นักศึกษาต้องแต่งตัวอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สิ่งสำคัญที่นักศึกษาจำเป็นต้องรู้จักคือกาลเทศะที่เหมาะสม เมื่อถึงเวลาที่ต้องติดต่อหรือทำอะไรที่เป็นทางการ นักศึกษาก็ต้องใส่ชุดให้ตรงกับเพศที่แท้จริง อย่างเช่นตอนถ่ายรูปติดบัตรนักศึกษา และตอนรับปริญญา กล่าวก็คือเรายอมรับในสิ่งที่นักศึกษาของเราเป็น ไม่ว่าเขาจะเป็นเพศอะไร เขาเหล่านั้นก็คือลูกศิษย์ แต่สิ่งสำคัญคือพวกเขาจำเป็นต้องเรียนรู้การวางตัวและการใช้เสรีภาพให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมด้วยตัวเอง" รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว

...........

ดอกไม้สีม่วงกลีบแข็งดอกนั้น..ยังคงยืนอยู่ที่เดิม

บางครั้งลมพัดแรงจนกลีบก้านไหวเอน แต่พวกมันก็เลือกที่จะเป็นดอกไม้กลีบแข็งสีเดิมไม่เปลี่ยน

สาวประเภทสองผู้ถูกธรรมชาติสร้างให้เธอเป็นเพศชาย แต่กลับมอบหัวใจของเพศหญิงไว้ให้ หลายคนเดินทางฝ่าฟันกับเสียงคัดค้านของครอบครัวและสังคมมาไม่น้อย กว่าที่จะมายืนอยู่ในวัยมหาวิทยาลัยเช่นวันนี้

ชุดนักศึกษาหญิงคือการแสดงออกซึ่งความเป็นผู้หญิงของเธอ แม้เสียงต่อต้านจะดังมาให้ได้ยิน แต่นี่แหละ...คือทางที่พวกเธอเลือกเดิน






กำลังโหลดความคิดเห็น