ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่สังคมไทยกำลังให้ความสนใจอย่างคึกคัก สำหรับกรณี "เด็กติดเกม" โดยเฉพาะเกมออนไลน์ ซึ่งกลายเป็นข่าวเกรียวกราวตามสื่อต่างๆ อยู่พักใหญ่ ไม่ว่ากรณีที่ลูกชายถูกแม่ขังล่ามโซ่ กันไม่ให้ออกไปเล่นเกม หรือแม้แต่อาการติดจนไม่เป็นอันกินอันนอนของเยาวชนไทย ทำให้เสียการเรียน และนำมาซึ่งปัญหาสังคมต่างๆ นานา
ด้วยปรากฏการณ์เหล่านี้เอง ที่ทำให้หน่วยงานหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาจัดระเบียบการเล่นเกมกันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งศูนย์ป้องกันปัญหาการติดเกมขึ้น หรือล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติออกมา 4 ข้อคือ
1. การจำกัดชั่วโมงการเล่นเกมออนไลน์ของเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้เล่นไม่เกินวันละ 3 ชั่วโมง 2. ห้ามเล่นการพนัน ชิงโชค หรือซื้อขายอุปกรณ์ 3. ออกระเบียบเกี่ยวกับการจดทะเบียนร้านอินเทอร์เน็ตเพื่อกำกับดูแลการให้บริการ และ 4. รณรงค์ให้เยาวชนและผู้ปกครองทราบโทษของการเล่นเกมออนไลน์ที่ติดต่อกันเป็นเวลานาน
เด็กติดเกม...ปัญหาที่ใหญ่ยิ่ง
น.พ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ให้ข้อมูลว่า ในสังคมยุคปัจจุบัน ปัญหาเด็กติดเกมมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากการให้คำปรึกษาพบว่า มีพ่อแม่ผู้ปกครองหลายราย ทั้งโทร.เข้ามาสอบถามและปรึกษาปัญหาเหล่านี้โดยตรง รวมทั้งจากการพูดคุยกับทางโรงเรียน หรือข่าวคราวตามสื่อต่างๆ ซึ่งได้บ่งชี้ว่าปัญหานี้กำลังระบาดเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น กรมสุขภาพจิตจึงเห็นสมควรให้มีการดำเนินการแก้ปัญหาและให้คำแนะนำผู้ปกครองอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยตั้งเป็น "ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมและเน็ต" ซึ่งได้มีการพัฒนารูปแบบที่เฉพาะมากขึ้น จากแต่เดิมที่มีการให้คำปรึกษาอยู่แล้ว โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 รูปแบบ คือ สำหรับเด็กที่ติดน้อย ติดปานกลาง และติดมาก
ในส่วนของเด็กที่ติดน้อยหมายถึง ช่วงที่เด็กเริ่มเล่น แต่ยังไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ยังควบคุมตัวเองได้ ไม่ใช้เงินเปลือง การเรียนยังปกติ แต่ตัวเด็กเองก็ยังไม่รู้ว่าเหมาะสมหรือเปล่า และพ่อแม่ก็ยังไม่รู้ว่าลูกติดเกมหรือไม่ ซึ่งหลักสูตรนี้ก็จะเป็นการให้ความรู้เบื้องต้นภายใต้ชื่อ " การอบรมเทคนิคการดูแลเด็กติดเกมเบื้องต้นสำหรับผู้ปกครอง" โดยเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กวัยประถม แต่การที่นำพ่อแม่มาอบรมก็เพื่อให้เข้าใจและมีความรู้ว่า ลูกของตนอยู่ในระดับไหนแล้ว ถ้ายังไม่ติดจะได้ไม่ไปดุว่ามากเกินไป หรือถ้าเริ่มเล่นเยอะแล้วก็จะได้ไม่ประมาท
นอกจากนี้ จะเน้นให้ความรู้ในเรื่องความสำคัญของวินัยและความรับผิดชอบ เนื่องจากปัญหาส่วนใหญ่ที่พบนั้น มาจากผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจว่าวินัยสำคัญอย่างไร เพราะบางครั้งพ่อแม่เห็นลูกไปเล่นเกมแล้วตัวเองก็สบาย เพราะเด็กไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นข้างนอก ไม่ต้องเป็นห่วง แต่พอเล่นเยอะแล้วจะดึงเขากลับมาก็ลำบาก
"เราจะให้ความรู้ในเรื่องของวินัย ความรับผิดชอบ การมีกิจกรรมสร้างสรรค์ทางเลือก หรือแม้แต่ความสำคัญของครอบครัว เพราะถ้าเด็กมีความสุขกับการอยู่กับพ่อแม่ ก็สามารถไปทดแทนเกมได้ แต่ถ้าทุกครั้งที่คุยกับพ่อแม่แล้วไม่สนุก คอยแต่จะดุว่า เขาก็ไปอยู่กับเกมดีกว่า เพราะมีความสุขกว่า"
เปิดค่ายบำบัดเด็กติดเกมขึ้นสมอง
สำหรับเด็กที่ติดเกมมากขึ้น จนถึงระดับที่เริ่มเป็นปัญหาและมีผลกระทบ เช่น เล่นเกมยาวนาน ไม่กินข้าว ใช้เงินเปลือง ไม่หลับไม่นอน แต่ยังสามารถคุมตัวเองได้เมื่อถึงจุดวิกฤตจริงๆ เช่นช่วงใกล้สอบ ซึ่งตรงจุดนี้เองที่พบว่า พ่อแม่บางส่วนก็จะเริ่มทะเลาะกับลูกบ้าง มีการห้ามเล่น มีการดึงปลั๊ก ซึ่งจะทำให้สัมพันธภาพทั้งพ่อแม่และลูกเสียไปส่วนหนึ่ง
ดังนั้น จึงได้มีการออกแบบหลักสูตรโปรแกรม "ค่ายครอบครัวสร้างสรรค์" เพื่อป้องกันปัญหาเด็กติดเกมขึ้น นั่นคือ การนำพ่อแม่และลูกไปเข้าค่ายด้วยกัน เพื่อให้มีประสบการณ์ร่วมกันในมิติใหม่ เพราะที่ผ่านมาประสบการณ์ร่วมกันจะมีแต่ในเชิงลบตลอด เช่น พ่อแม่ก็จะเอาแต่ว่า ลูกก็ไม่อยากสนใจรับฟัง จะเอาแต่เล่นเกมอย่างเดียว เป็นต้น
"เราจะมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้พ่อแม่ลูกเข้าใจกัน ให้ลูกเห็นว่าจริงๆ แล้ว พ่อแม่ก็เป็นห่วง หรือให้พ่อแม่เห็นว่าลูกตัวเองก็มีความสามารถหลายอย่าง รวมถึงการฝึกให้มีการวางวินัยร่วมกัน และเมื่อมีการทดสอบแล้วเห็นว่า เด็กสามารถคุมวินัยได้แล้ว เราก็จะวางคอมพิวเตอร์ไว้ให้ ปล่อยให้เขาเล่นได้อิสระ เสมือนการเรียนรู้ร่วมกันในค่าย เมื่อพ่อแม่เตือนเขาก็จะฟัง"
สำหรับเด็กกลุ่มที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ติดเกมแล้วนั้น เด็กกลุ่มนี้ถึงแม้จะรู้ว่าเกิดผลเสียมากมาย แต่ก็ควบคุมตัวเองไม่ได้ เพื่อนชวนทีไรก็ต้องไป เห็นร้านเกมที่ไหนเป็นต้องเข้า ซึ่งตรงนี้ก็จะได้มีการจัดเป็นหลักสูตรสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 2 ชม. 8 สัปดาห์ติดต่อกัน เพื่อให้เด็กใช้กระบวนการกลุ่มเข้ามาช่วย โดยให้เพื่อนๆ ที่ติดเกมเหมือนกัน มานั่งคุยกัน มาสะท้อนปัญหา เรียนรู้ร่วมกัน
รวมถึงวางตารางชีวิตในการเล่นเกมว่า ควรใช้เวลาเท่าใด อะไรเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ต้องไปเล่น เป็นต้น ทั้งนี้ ใน 8 สัปดาห์ดังกล่าว ก็จะได้เชิญผู้ปกครองมาร่วมในสัปดาห์ที่ 1, 5 และ 8 โดยหวังว่าจะช่วยเด็กที่ติดมากๆ ให้กลับคืนมาได้
"ในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความสมัครใจทั้งหมด ไม่มีการบังคับ แต่ถามว่าจะเริ่มอย่างไร เพราะเด็กส่วนใหญ่เขาก็ไม่อยากมา ดังนั้น จึงต้องเริ่มที่พ่อแม่ซึ่งคือคนที่เห็นปัญหาก่อน เพราะถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจแล้ว ก็จะกลายเป็นบอกลูกตรงๆ หรือดุว่า ลูกติดหนักแล้วนะ ไปเข้าคอร์สซะ ซึ่งก็เป็นภาษาสื่อความที่ไม่น่าฟัง แต่ถ้าพ่อแม่มาเรียนรู้ก่อน แล้วค่อยไปอธิบายให้ลูกฟัง ลูกก็อาจยอมสมัครใจมาได้"
สำหรับข้อมูลเรื่องการเข้าค่ายหรือโครงการฝึกอบรมเหล่านี้นั้น น.พ.บัณฑิต ขยายความว่า ในหลักสูตรแรกจะใช้เวลา 1 วัน โดยเริ่มโครงการแรกวันที่ 14 ธ.ค. นี้ ผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่ 0-2354-8307 ต่อ แผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเล็กน้อยเป็นค่าอาหารและค่าเอกสารประมาณ 200 บาท ส่วนการเข้าค่ายโครงการ 2 นั้น จะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ช่วงเดือนมกราคม โดยจะเป็นพ่อแม่ลูก หรือเฉพาะพ่อหรือแม่ก็ได้ แต่จะเป็นในลักษณะผู้ใหญ่กับเด็ก เพื่อให้มีการสาธิตสัมพันธภาพในรูปแบบใหม่
หลังจากนั้นจะเว้นไปประมาณ 2-3 อาทิตย์ เพื่อกลับมาติดตามและประเมินผลอีก 1 วัน ขณะที่โครงการอบรมที่ 3 จะจัดขึ้นสัปดาห์แรกในวันที่ 6 ม.ค. 2548 และต่อเนื่องไปอีก 8 สัปดาห์ ๆ ละ 1 ครั้ง
อย่างไรก็ดี น.พ.บัณฑิตฝากคำแนะนำมายังพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลายที่เริ่มกังวลว่าลูกหลานของตนจะติดเกมว่า ในช่วงเริ่มต้นถือเป็นโอกาสทอง ดังนั้น ถ้าพ่อแม่เริ่มสงสัยว่าลูกเล่นเยอะ ให้รีบช่วยเหลือ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าให้รีบส่งไปรักษา แต่หมายถึงให้เริ่มวิเคราะห์ตัวเองว่า เรามีส่วนอย่างไรที่ทำให้ลูกต้องหันเอาเวลาไปสนใจกับสิ่งเหล่านี้ ดูว่าเรามีเวลาให้ลูกแค่ไหน และเวลาที่เราให้มีคุณภาพหรือไม่
นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของเวลาที่เหมาะสมในการเล่นเกมที่กำหนดให้ไม่ควรเกิน 3 ชม. ต่อ 1 วัน ก็ถือว่าเป็นขั้นมากแล้ว เพราะจริงๆ เพียงแค่ 1-2 ชม. ก็น่าจะเพียงพอ เพราะหากมองถึงเวลาหลังจากลูกกลับจากโรงเรียนจนถึงเข้านอน ก็เป็นเวลาแค่ 4-5 ชม. ดังนั้น ถ้าเสียเวลาไปกับการเล่นเกมเกือบครึ่งหนึ่ง ก็เท่ากับว่าไม่ค่อยเกิดประโยชน์
"อยากให้มองว่า การพัฒนาในการพบเจอกันของมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิต มันซับซ้อนและมีประโยชน์ต่อชีวิตมากกว่าคอมพิวเตอร์ ดังนั้น พ่อแม่และเด็กต้องรู้ว่า พัฒนาการนอกคอมพิวเตอร์ ยังมีเรื่องให้น่าศึกษาและเรียนรู้อีกเยอะมาก" น.พ.บัณฑิตให้แง่คิด
เซียนโวยเกมไม่ได้มีแต่ข้อเสีย
ฟังผลเสียของเกมมากันมากมาย....เห็นทีจะต้องมารับทราบความในใจของบรรดาเซียนเกมกันบ้างว่า เป็นอย่างไร
"ขุนเข่าไร้น้ำใจ" ฉายาเซียนเกมผู้คร่ำหวอดในวงการเกมรายหนึ่ง เผยทัศนะเกี่ยวกับประโยชน์ของเกมว่า ในส่วนประโยชน์ของเกมนั้นหลายๆ คนน่าจะทราบดีแต่ไม่ค่อยนำมาพูดถึงเท่าที่ควรนัก ก็คือ เกมเป็นจุดเริ่มหนึ่งที่ทำให้เด็กสนใจเทคโนโลยีสมัยใหม่ เด็กบางคนอยากทำเกมเล่นเองเลยตอนที่เล่นเพราะรู้สึกไม่ค่อยพอใจกับเกมที่คนอื่นทำมามากนัก แต่ขาดความรู้ในการทำจึงเลิกล้มความคิดไป ทั้งๆที่คนไทยก็เล่นเกมมานานพอๆกับประเทศที่ผลิตเกมมาขาย
อีกอย่างระบบการศึกษาในบ้านเรายังไม่มีการสอนในแบบเจาะลึก คือไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่เก่งจริงมาแนะแนวทาง แม้จะมีบางคนเขียนตำราออกมาขายแต่เท่าที่ดูแล้วมันไม่ใช่อย่างที่ต้องการ มันมองกิ๊กก๊อกไปหน่อย ผิดกับประเทศญี่ปุ่นหรืออเมริกาที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีเปิดสอนกันในระดับมหาวิทยาลัยกันเลยทีเดียว
"เกมสมัยนี้มันไม่ใช่แค่เกมปัญญาอ่อนอีกต่อไป ถึงขนาดมีข้อมูลระบุว่าอุตสาหกรรมเกมในปัจจุบันทำรายได้มากกว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซะอีก หากใครเปิดเว็บไซต์เกี่ยวกับข่าวสารด้านเกมจะรู้เลยว่าเกือบทุกวันพบว่ามีข่าวเกมใหม่ๆออกมาให้เราทราบอยู่ตลอด บางวันมีมากกว่า 2 เกมซะด้วยซ้ำ แม้จะเป็นเกมเล็กเกมน้อยก็ตามแต่มันก็บ่งบอกให้เราทราบว่า ปัจจุบันมีคนกระโจนเข้ามาสนใจเกมมากขึ้น ส่วนวงการเกมบ้านเราในปัจจุบันก็เริ่มมีความคิดที่จะเริ่มทำเกมเองบ้าง แต่พอทำออกมาปุ๊บ ก็ถูกนำไปเปรียบเทียบกับเกมจากต่างประเทศในทันที จนหลายคนหมดกำลังใจและท้อแท้"
"เมื่อเรามองสังคมในปัจจุบันจะเห็นว่าเด็กที่เล่นเกมอย่างบ้าคลั่งตอนเด็กๆ หลายคนผันตัวเองมาเป็นโปรแกรมเมอร์ คอมพิวเตอร์กราฟิก คนเขียนซอฟต์แวร์ ให้กับบริษัทดังๆในบ้านเรามากมาย ซึ่งถ้าไปถามพวกเขาว่าตอนเด็กๆเล่นเกมไหม? เขาจะตอบทันทีเลยว่า ผมเล่นแน่นอนและชอบมากด้วย เกมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตตอนเด็ก ถ้าไม่มีเกมเป็นตัวกระตุ้นให้สนใจด้านไอที คงไปทำอาชีพอื่นแล้ว ส่วนในชีวิตปัจจุบันก็เล่นเกมบ้างแต่ไม่มากเหมือนเมื่อก่อน เพราะมีภาระหน้าที่ในการทำงานเพื่อปากท้อง เกมช่วยสร้างความบันเทิงใจเพียงเล็กน้อยมากกว่า" เซียนเกมให้มุมมอง
นอกจากนี้ เกมยังช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายของภาษาอังกฤษในเกมไปในตัวได้ด้วย เด็กบางคนถึงขั้นเปิดดิกชันนารีไปเล่นไป เมื่อเล่นไปนานๆก็จะจำความหมายได้แม่นยำ เรียกว่าเกมเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้พวกเขาเท่าทันเทคโนโลยีของโลกได้เช่นกัน
เปิดใจธุรกิจร้านเกม-เน็ต
ทีนี้ก็มาถึงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการควบคุมไม่ให้เด็กที่มีอายุที่ต่ำกว่า 18 เล่นเกมเกินวันละ3ชั่วโมง นั่นก็คือร้านเน็ต ร้านเกมทั้งหลาย
อภิเทพ แซ่โค้ว กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ พี ไอ เนท ผู้ให้บริการร้านอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ ยอมรับว่า อาจจะส่งผลกระทบอยู่บ้างกับร้านที่มีเด็กประเภทนี้อยู่มาก แต่จะมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นกับว่าในร้านนั้นจะมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีมากน้อยแค่ไหน แต่ในส่วนของบริษัทคงไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากลูกค้าประจำของร้านจะเป็นระดับมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ และส่วนมากจะอายุเกิน 18 ดังนั้นจึงไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อทางร้านมากนัก แต่ก็มีเด็กระดับมัธยมอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มาก ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่า คงเป็นไปได้ยากที่จะจำกัดเด็กได้ เพราะยังไม่มีแนวทางอะไรที่จะมายื่นให้กับเด็กได้ เมื่อห้ามเด็กแล้ว เด็กก็ไม่รู้จะไปทำอะไร สุดท้ายเด็กเหล่านี้ก็กลับมาพึ่งเกมอีก ที่สำคัญคือ ปัจจุบันปัญหาที่เด็กจะโดดเรียนมาเล่นเกมนั้นแทบจะไม่มีเลยเพราะมีความร่วมมือกันหลายๆฝ่ายทั้ง ครู ผู้ปกครอง และที่สำคัญทางร้านจะไม่ให้เด็กเข้ามาเล่นในเวลาเรียนอยู่แล้ว
ส่วนมาตรการการจดทะเบียนร้านอินเทอร์เน็ตนั้น คิดว่าก็ดีเพราะเป็นการไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันระหว่างร้านที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียน และที่สำคัญยังสามารถที่จะควบคุมดูแลได้ง่ายเมื่อเวลามีปัญหา
"ข้อดีของเกมก็มีอยู่ที่เห็นได้ชัดก็คือ การผ่อนคลายของเด็ก จากภาระหน้าที่ต่างๆที่คล้ายๆกับผู้ใหญ่ อย่างเช่นเมื่อตื่นมาก็ต้องไปโรงเรียน ทำตามกฎเกณฑ์ของโรงเรียนและที่บ้าน เขาก็คิดว่านั่นคือหน้าที่ของเขา ดังนั้น จึงต้องการที่จะผ่อนคลาย และบางเกมก็จะช่วยให้มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะอาจเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือมาช่วยเพิ่มประสบการณ์มากขึ้น และนั่นก็คือประโยชน์ที่สามารถมองเห็นได้ ส่วนโทษนั้นมันก็มีอย่างเช่นเมื่อเล่นนานเกินไปไม่สนใจในการเรียนเลย ก็อาจส่งผลกระทบต่อการเรียนได้"
ด้านแนวทางแก้ไขเด็กที่ติดเกมนั้น อภิเทพมองว่า ส่วนที่สำคัญที่สุดและเป็นจุดที่จะแก้ปัญหาได้อย่างแน่นอนคือผู้ปกครอง เมื่อมีความเข้าใจระหว่างเด็กและผู้ปกครองปัญหาเหล่านี้ก็คงไม่เกิด เช่น ผู้ปกครองอาจหาเวลาว่างพาเด็กไปเล่นกีฬา ใช้เวลาอยู่ร่วมกันให้มาก ให้คำแนะนำในการเล่นเกมหรือไม่ก็เล่นเกมด้วยกัน คอยชี้แนะว่าเกมไหนดีไม่ดีอย่างไร เพราะเด็กก็เหมือนคนขับรถไม่เป็นจะเลี้ยวไปไหนมาไหนก็ได้ แต่ถ้าผู้ปกครองจะไปบังคับทางให้วิ่ง เขาก็อาจจะไม่ชอบ ในตรงจุดนี้ก็น่าจะมีใครสักคนที่จะมานั่งใกล้ๆมาคอยชี้ทางให้เขามาคอยช่วยเพราะเด็กก็เหมือนคนขับรถยังไม่แข็ง แต่ถ้าจะไปปิดว่าทางนี้ห้ามไป มันคงจะไม่ใช่วิธีแก้ที่ถูกต้อง
ขณะที่อิศรา สมสวย พนักงานดูแลร้านสไมล์อินเตอร์เน็ตย่านพาต้าปิ่นเกล้า ให้ความเห็นว่า การออกมาตรการนี้แรกๆ ก็คงเหมือนกับตอนที่ออกมาตรการ ห้ามเด็กเล่นเกิน 4 ทุ่ม ที่จะมีตำรวจเข้ามาดูแลอย่างจริงจังในช่วงแรกๆ แต่เมื่อผ่านไปนานๆก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนมาตรการใหม่นี้คิดว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อทางร้านอยู่บ้างแต่คงไม่มากนักเพราะปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กที่มีอายุเกิน 18 ปีอยู่แล้ว
"มาตรการที่ทางร้านใช้อยู่ในปัจจุบันก็คือการต้อนเด็กให้กลับก่อน 4ทุ่ม เพราะมันเป็นข้อบังคับที่ต้องใช้อยู่ในปัจจุบันและทางเราก็ไม่ต้องการที่จะมีปัญหาตรงจุดนี้"
บริษัทน้อมรับการควบคุม รายใหม่ลงทุนต้องคิดหนัก
ข้ามฟากมาในฝั่งของบริษัทเจ้าของเกมกันบ้าง...
ทวีชัย ภูริทิพย์ ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทเอ็นซีทรู บริษัทร่วมทุนผู้ให้บริการเกม "ลิเนจ 2" เกมออนไลน์อันดับหนึ่งในประเทศเกาหลีตัวจริงที่กำลังเข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย แสดงความเห็นว่า มาตรการที่ออกมานั้นเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะมาตรการที่ห้ามไม่ให้มีการซื้อขายอุปกรณ์และไอเท็มต่างๆในเกม สำหรับการห้ามเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมออนไลน์ได้แค่วันละ 3 ชั่วโมงว่าคงไม่มีปัญหาอะไร
แต่คงต้องดูว่าทางกระทรวงไอซีทีจะมีการปรับลดอายุเด็กลงเป็น 15 ปีหรือไม่ และความยืดหยุ่นที่น่าจะมีให้ในวันหยุด เพราะถ้ากำหนดให้เล่นได้เพียง 3 ชั่วโมงในวันหยุดของเด็ก อาจเป็นการจำกัดสิทธิมากเกินไป เพราะวันหยุดเป็นวันที่เด็กมีเวลาว่างมากกว่าวันอื่นมาก
สำหรับตลาดเกมออนไลน์ในประเทศไทย เมื่อมาตรการนี้ออกมาเป็นกฎแล้ว แน่นอนว่าคงต้องได้รับผลกระทบบ้างแน่นอน โดยเฉพาะรายใหม่ๆ ที่คิดจะเข้ามาคงต้องคิดหนักมากขึ้นกว่าเดิมว่าจะลงทุนหรือไม่ ตอนนี้ทางต่างประเทศเขาก็จับตาดูอยู่ตลอด โดยเฉพาะบริษัทซึ่งร่วมทุนกับบริษัทใหญ่ในประเทศเกาหลี เพราะไทยมักมีกฎแปลกๆออกมาเสมอ ถ้ามีกฎแบบนี้ออกมามากๆ ก็อาจทำให้บรรยากาศไม่เหมาต่อการลงทุนเท่าไร
"ตอนนี้อยากได้รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการจำกัดสิทธิเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในทางปฏิบัติ ผมว่าเป็นเรื่องที่ลำบากมาก ผู้เล่นเองก็ค่อนข้างลำบากที่จะต้องไปทำการยืนยันตัวเองที่ไปรษณีย์ทุกคน เรายังต่างกับเกาหลีมาก ที่นั่นเขาสามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้"
สุดท้าย....ทวีชัยกล่าวถึงมาตรการเรื่องภาษีสำหรับเกมออนไลน์ว่า ในตอนนี้ยังไม่มีกฎอะไรออกมา แต่อยากฝากเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าเลยว่า ควรพิจารณาให้ดีว่าจะไปอยู่ในประเภทใด เพราะเกมออนไลน์เป็นธุรกิจประเภทบันเทิงที่ไม่ได้เป็นภัยต่อสังคมถึงขนาดต้องนำไปรวมกับกลุ่มธุรกิจประเภทบุหรี่หรือสุรา ถ้านำไปรวมกันในอนาคตภาพลักษณ์ของธุรกิจประเภทนี้จะยิ่งดูแย่ลง แต่ทางบริษัทก็เห็นด้วยที่คณะรัฐมนตรีต้องการนำเงินภาษีไปช่วยในโครงการฟื้นฟูเด็กติดเกม แต่ควรเป็นภาษีในรูปแบบอื่นมากกว่า