ใครที่เคยขับรถผ่านสะพานพระราม 8 ข้ามมหานทีที่ยิ่งใหญ่อย่างแม่น้ำเจ้าพระยา....คงจะต้องยอมรับกันว่า นี่เป็นสะพานอีกแห่งหนึ่งของไทยที่มีความสวยงามและโดดเด่นไม่เป็นสองรองใคร
ภาพอันงดงามของตัวสะพานและภูมิทัศน์รอบๆ โดยเฉพาะยามค่ำคืนที่ความลงตัวของสถาปัตยกรรมผนวกรวมกับแสงไฟที่ประดับประดาและฉากสีดำของแผ่นฟ้าที่อยู่เบื้องหลัง ล้วนแล้วแต่มีมนต์เสน่ห์ทำให้ผู้สัญจรไปมาได้จอดรถถ่ายรูป ชะลอรถยลโฉมสะพานมานักต่อนัก
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ จากนี้อีกประมาณ 1 ปีบริเวณพื้นที่บริเวณสะพานพระราม 8 กว่า 50 ไร่ จะถูกกรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่ร่วมไม้ร่วมมือกับทางกระทรวงอุตสาหกรรมเนรมิตโครงการใหญ่ 3 โครงการคือ ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ธนบุรี ศูนย์หัตถกรรมแห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์โรงงานสุราบางยี่ขันขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นการรวบรวมประวัติศาสตร์และศิลปศาสตร์มาไว้ให้ชมกันภายใต้การออกแบบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แน่นอนว่า อภิมหาโครงการยิ่งใหญ่ขนาดนี้ย่อมมีที่มาและที่ไปที่ไม่ธรรมดา
พิพิธภัณฑ์ของคนฝั่งธนฯ
สะพานพระราม 8 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 13 มีแนวสายทางเชื่อมต่อกับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณโรงงานสุราบางยี่ขันบรรจบกับปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้กับธนาคาร แห่งประเทศไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2538 ให้กรุงเทพมหานคร ก่อสร้างเพื่อบรรเทาการจราจรบนสะพานพระปิ่นเกล้า รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนฯ และเป็นจุดเชื่อมต่อโครงการพระราชดำริตามแนวจตุรทิศ
ภายหลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้นและเปิดใช้บริการ ด้วยความสวยงามของสถาปัตยกรรมและการออกแบบได้ทำให้สะพานแห่งนี้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของคนไทยทั้งประเทศแวะเวียนมาชมอย่างไม่ขาดสาย
และล่าสุด กรุงเทพมหานครได้เตรียมที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์ของสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรีอย่างขนานใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าหลังเสร็จสิ้นจะกลายเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองหลวงเลยทีเดียว
พิชัย ไชยพจน์พานิช รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะที่กำกับดูแลกลุ่มเขตในย่านฝั่งธนบุรีตอนเหนือ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการปรับภูมิทัศน์รอบๆ สะพานพระราม 8 ว่า เป็นผลสืบเนื่องจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน-อภิรักษ์ โกษะโยธิน มีดำริให้กรุงเทพมหานครจัดสร้างศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ธนบุรี ซึ่งเบื้องต้นตนเองในฐานะที่กำกับดูแลกลุ่มเขตในย่านฝั่งธนบุรีตอนเหนือได้พิจารณาร่วมกับผู้อำนวยการเขตบางพลัดและเขตบางกอกน้อยในพื้นที่และเห็นตรงกันว่า บริเวณเชิงสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรีมีความเหมาะสมในการดำเนินการดังกล่าว
ทั้งนี้ นอกจากศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ธนบุรีแล้ว กทม.ยังจะดำเนินการก่อสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ในบริเวณดังกล่าวด้วย โดยจะมีพื้นที่ในการจัดสร้างทั้งหมดประมาณ 50 ไร่ และเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท
"เท่าที่ได้ศึกษาข้อมูล คงจะมีการก่อสร้างอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 5 ชั้น ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และอาจจะก่อสร้างลงลึกลงไปในพื้นดินอีกสักประมาณ 2 ชั้น สำหรับเป็นที่จอดรถใต้ดินสำหรับผู้ที่มาเยี่ยมชม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทำการศึกษาพื้นที่บริเวณดังกล่าวว่าสามารถลงลึกลงใต้พื้นดินประมาณเท่าไรกันแน่ เพื่อป้องกันพื้นดินทรุด หากมีจำนวนผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยมอบให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกแบบอาคารให้สอดคล้องและกลมกลืนกับภูมิทัศน์บริเวณสะพานพระราม 8 ทั้งตอนกลางวันและยามค่ำคืน เนื่องจากก่อนหน้านี้ย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาทางจุฬาลงกรณ์ได้ออกแบบตัวสะพานพระราม 8 มาแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถนำแบบออกมาเปิดเผยได้เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการกลั่นกรองความเหมาะสมร่วมกันอยู่"
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะจัดแสดงภายในศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ธนบุรีอย่างแน่นอนคือ การรวบรวมพระราชกรณียกิจและพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลหรือรัชกาลที่ 8 การจัดแสดงผลงานทางประวัติศาสตร์ธนบุรีรวมถึงพิพิธภัณฑ์ที่แสดงถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครง การ อาทิ ชุมชนบ้านปูน โรงงานสุราบางยี่ขัน เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ศึกษาอีกครั้งว่า จะให้ชั้นไหนจัดแสดงอะไรเพื่อความเหมาะสมและเป็นระบบ เพื่อสร้างแรงดึงดูดใจที่จะให้ผู้ที่มาเที่ยวชมประทับใจและกลับมาเยี่ยมชมอีก ซึ่งคาดว่าหากไม่ติดขัดอะไรทาง กทม.จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนเมษายนปีนี้และจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 ปี
"ที่ผ่านมา กทม.ได้ทำการศึกษาการก่อสร้างที่บริเวณพื้นที่ดังกล่าวจำนวนกว่า 50 ไร่ ในการก่อสร้างศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ธนบุรีมาหลายครั้งแล้ว แต่ยังติดขัดเรื่องคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นชุมชนรายรอบการก่อสร้าง ต้องสละถิ่นฐานที่เคยอยู่เพื่อส่วนรวม แต่ใช่ว่าโครงการแล้วเสร็จแล้ว ชุมชนจะเลือนหายไปเหลือแค่ความทรงจำของชาว กทม. เพราะกทม.ตระหนักในเรื่องนี้ แม้ไม่อาจทำให้ฟื้นกลับให้เหมือนเดิม แต่อย่างน้อยพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยจะถูกจับมาจำลองไว้"
พิชัยให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ภายหลังที่กทม.ได้ทำการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวมาระยะหนึ่งก็ได้ทราบว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรม มีโครงการก่อสร้างศูนย์หัตถกรรมแห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์โรงงานสุราบางยี่ขัน ภายในบริเวณเดียวกัน ซึ่งทางกทม.เห็นว่าโครงการของทั้งสองหน่วยงานน่าจะดำเนินการควบคู่กันได้
ดังนั้น จึงได้เชิญอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้องมาร่วมหารือในเบื้องต้นแล้วพบว่าทั้งกทม.และกระทรวงอุตสาหกรรมสามารถดำเนินการร่วมกันได้ จึงได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายหารือร่วมกันในรายละเอียด ทั้งในเรื่องผลการกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดหาที่อยู่ใหม่รองรับผู้ที่เคยอยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อน
"เรื่องงบประมาณการก่อสร้างที่ทางกทม.และทางกระทรวงอุตสาหกรรมต้องใช้ในการก่อสร้าง เบื้องต้นได้ตกลงกันว่าหน่วยงานใดจะก่อสร้างอะไรก็ให้ทางเจ้าหน้าที่ของบไปคำนวณรายจ่ายมาเองทั้งหมดเพื่อจะได้เอางบมาวางเป็นกองกลางในการดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหาในเรื่องงบประมาณการก่อสร้างที่ดำเนินการร่วมกันและกำลังอยู่ในขั้นตอนว่าจะทำให้อาคารก่อสร้างโครงการของทั้งกทม.กับทางกระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อมโยงกันดีหรือไม่เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าชมของประชาชนและเพื่อให้ดูโครงการทั้งสองหน่วยงานเป็นเอกภาพมากขึ้น"
"ขณะที่ทางด้านของค่าเยี่ยมชมและค่าจอดรถในบริเวณดังกล่าวนี้นั้นทางกทม.จะนำไปหารือกับทางกระทรวงอุตสาหกรรมอีกครั้งเพื่อความเหมาะสมในฐานะผู้ร่วมดำเนินการก่อสร้างโครงการร่วมกัน"
มีอะไรอยู่ในพิพิธภัณฑ์เหล้า
ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา....
พูดถึงโรงเหล้าแล้วก็ต้องนึกถึงบทกวีของสุนทรภู่ทุกครั้งไป เพราะได้ยินได้ฟังครั้งใดก็ช่างบาดลึกเข้าไปในหัวจิตหัวใจเสียเหลือเกิน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะพิพิธภัณฑ์โรงงานสุราบางยี่ขันเท่านั้นที่จะสร้างขึ้นควบคู่ไปกับศึกษาประวัติศาสตร์ธนบุรี หากยังรวมไปถึงศูนย์หัตถกรรมแห่งชาติอีก 1 โครงการอีกด้วย
ปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้รายละเอียดเกี่ยวกับทั้ง 2 โครงการให้ฟังว่า กระทรวงมีโครงการที่จะสร้างศูนย์หัตถกรรมแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์โรงงานสุราบางยี่ขันมานานแล้วแต่ยังติดในเรื่องสถานที่การก่อสร้าง และได้พยายามหาสถานที่ก่อนหน้านี้มาหลายแห่งแล้ว แต่ไม่เหมาะ เหมือนอย่างบริเวณชุมชนบ้านปูน โรงงานสุราบางยี่ขัน บริเวณสะพานพระราม 8
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะมาแย่งสถานที่กทม.ในการก่อสร้างโครงการ แต่เพราะทางกระทรวงฯ เองก็เล็งเห็นว่าที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมแทบทุกด้าน ทั้งเรื่องภูมิทัศน์ การคมนาคม ทั้งทางบก และทางน้ำ หากโครงการนี้เกิดขึ้นประชาชนและทุกคนที่มาเยี่ยมชมโครงการนี้จะสะดวกสบายและยิ่งทางกระทรวงเองได้ร่วมมือก่อสร้างกับทางกทม.ซึ่งถือเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมดำเนินการก่อสร้างเพื่อในรูปแบบของตัวอาคารและสภาพแวดล้อมอื่นๆดูกลมกลืนในพื้นที่ก่อสร้างที่เดียวกัน
สำหรับโครงการแรกคือศูนย์หัตถกรรมแห่งชาตินั้น เท่าที่ได้มีการตกผลึกความคิดนั้น มีเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์หัตถกรรมมากมายหลากหลายชนิดที่ทำจากฝีมือคนไทยทั่วประเทศมารวบรวมไว้อยู่
ทั้งกำไลทำจากไม้ เครื่องเขินลงหิน กำไลเงิน ฯลฯ พร้อมประวัติ วิธีการทำ แหล่งที่มาไว้อย่างละเอียด และอาจจะมีการจัดที่สำหรับให้เจ้าของผลงานที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมนำมาจัดแสดงได้นำผลิตภัณฑ์มาวางจำหน่ายด้วย
ส่วนพิพิธภัณฑ์สุรา รูปแบบภายในจะนำเสนอประวัติความเป็นมาของการเริ่มผลิตสุราในเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รูป และตัวอย่างสุราเท่าที่ทางกระทรวงมีนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ พร้อมกันนี้จะได้นำเสนอโทษของการดื่มสุราไว้ให้ชมกันในรูปแบบที่เอาแบบโบราณผสมกับโมเดิร์นให้ดูคลาสสิก ตามที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกแบบคร่าวๆ มาให้เป็นอาคาร 5 ชั้นและทราบว่าทางกทม.ขอเพิ่มแบบสร้างที่จอดรถใต้ดินดีกว่าที่จะสร้างลานจอดรถข้างบนเพื่อบดบังทัศนียภาพของสะพานพระราม 8 และบดบังสวนสาธารณะที่กทม.จะสร้างล้อมรอบโครงการ
"ตอนนี้ทางกระทรวงฯขอเวลาในการศึกษาแบบอาคารแต่ละชั้นที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกแบบและนำข้อมูลอย่างอื่นทั้งเรื่องงบประมาณที่จะวางกรอบไม่ให้เกิน 700 ล้าน เหมือนอย่างกทม.แต่คิดว่าทางกระทรวงฯคงใช้งบประมาณมากกว่ากทม.เพราะมีตัวอาคาร 2 หลังค่าใช้จ่ายจึงสูงกว่าอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไปประกอบการตัดสินใจก่อนในการดำเนินการเพื่อให้โครงการนี้ที่ทำร่วมกับทางกทม.ออกมาเป็นโครงการที่จะสร้างความประทับใจให้ประชาชนที่เฝ้าติดตามรอชมผลงานอยู่" อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสรุป
....ฟังเรื่องราวและรายละเอียดเกี่ยวกับทั้ง 3 โครงการที่จะเกิดขึ้นบริเวณสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรีแล้ว ก็ต้องบอกว่าน่าสนใจทีเดียว ซึ่งเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้นและพร้อมที่จะเปิดใช้บริการ ประชาชนคนไทยคงจะประทับใจและหลั่งใหลเข้ามาเที่ยวชมกันไม่ขาดสายอย่างแน่นอน