xs
xsm
sm
md
lg

ดนตรีข้างถนน เวทีใหญ่ของศิลปินเปิดหมวก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ริมบาทวิถีพื้นที่เดียวกัน หลายคนคงเคยเห็นภาพของผู้พิการไม่สมประกอบ เด็กหรือคนชราผู้ไร้ซึ่งหนทางประกอบสัมมาอาชีพในการเลี้ยงตน มีเพียงความสงสารเห็นใจจากผู้คนสัญจรไปมาหยิบยื่นน้ำใจเล็กๆน้อยๆเพียงพอต่อการประทังชีวิต ซึ่งคนในสังคมเรียกขานคนเหล่านี้ว่า ขอทาน

ขณะที่อีกกลุ่มเข้ามาจับจองพื้นที่ริมบาทวิถีเปิดแสดงดนตรีขนาดย่อม มีเพียงอุปกรณ์เครื่องดนตรีเพียงไม่กี่ชิ้น บรรเลงขับกล่อมบนเวทีที่ดูจะมีอาณาเขตกว้างขวางสุดจะบรรยาย ผู้ชมคือคนสัญจรผ่านไปมาไม่ต้องตีตั๋ว เพียงความพอใจที่แสดงออกด้วยการหยิบยื่นเงินตราแลกกับเสียงเพลงลงบนหมวก กล่องที่วางเบื้องหน้า ความแตกต่างที่แทบจะแยกกันไม่ออกระหว่างการขายความน่าสงสารและอีกกลุ่มขายความสามารถแลกกับเงินตรา ทำให้ศิลปินเปิดหมวก หรือศิลปินริมฟุตบาท หรือศิลปินข้างถนน สุดแต่จะเรียกถูกรวมอยู่ในกลุ่มวณิพก-ขอทาน

ทุกวันนี้แม้การให้คุณค่าเชิงลบต่อการแสดงริมถนนยังคงมีอยู่ แต่เด็กวัยรุ่น-คนทั่วไปก็หันมาเล่นดนตรีข้างถนนหรือที่เรียกว่า ดนตรีเปิดหมวกกันมากขึ้น เสมือนว่าสิ่งที่ซุกซ่อนภายในหมวกหรือกล่องใบแล้วใบเล่าที่วางริมทาง นอกเหนือเงินตรา ของกินของใช้ที่ร่วงจากน้ำใจสู่น้ำมือลงสู่ก้นหมวก ยังมีศาสตร์และศิลป์แห่งการใช้ชีวิตซุกซ่อน ซึ่งเหล่าศิลปินเปิดหมวกรุ่นใหญ่และรุ่นเล็กบางส่วนเข้าแถวเรียงขบวนพักจากการเปิดหมวกมาเปิดใจเล่าสู่สาธารณชน


อี๊ด ฟุตบาท ตำนานศิลปินเปิดหมวก
หากเอ่ยถึงศิลปินริมฟุตบาท ชื่อของ อี๊ด ฟุตบาธ หรือ อิทธิพล วาทะวัฒนะ เป็นชื่อหนึ่งที่หลายคนนึกถึง กระทั่งศิลปินยุคหลังๆแรงบันดาลใจที่ทำให้กล้าแสดงริมบาทวิถีก็มักจะมาจากเขาคนนี้

"เราได้เวทีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเวทีที่กว้างมาก" อี๊ด ฟุตบาทกล่าวถึงการเป็นศิลปินริมบาทวิถีศิลปินเปิดหมวกรุ่นใหญ่ย้อนหลังเล่าว่าประมาณปี 2520-2521 ขณะนั้นเรียนช่างศิลป์ ปี 3 เป็นยุคแสวงหาของหนุ่มสาว อยากทำอะไรแปลกใหม่ อยากทดลองความลุ่มลึกทางดนตรีว่า มวลชนจะรับได้หรือไม่ เมื่อวสันต์ (สิทธิเขตต์)ชวนวาดรูปข้างถนน จึงได้นำกีตาร์ และแต่งเพลง ผสมกับวาดภาพเปิดหมวกไปพร้อมๆกัน

"การเปิดหมวกไม่ได้บอกว่าเราเป็นขอทาน บอกว่าเราต่ำที่สุดแล้ว ไม่ใช่แบบนั้น บ้านเมืองอื่นเค้าก็มี แต่คนมาคิดว่าต่ำต้อย จึงตั้งชื่อว่า อี๊ด ฟุตบาท ให้ต่ำที่สุด เวลาตกจะได้ไม่เจ็บ" อี๊ดกล่าวพร้อมบอกต่อว่าสิ่งที่อยากจะบอกคือมันเป็นอาชีพอาชีพหนึ่งทางด้านศิลปะแนวความคิด คือน้ำพักน้ำแรง ทำให้ไม่หลงตัวเอง และอดทน หมวกที่เปิดออกมาก็ไม่มีอะไร เปิดรับเงินแค่นั้นเป็นวัฒนธรรมของคนยุโรป วางหมวกไว้ตรงหน้า คนประทับใจก็ให้ ตอนหลังไม่เปิดหมวกอย่างเดียว มีวางซีดีที่ทำเองออกมาขาย

"แรกๆกลัว ถ้าเราไม่กล้า ก็จะไม่กล้าตลอดชีวิต วนแถวสนามหลวงอยู่หลายเที่ยวเหมือนกัน ที่สุดเอาก็เอา ขับร้องเล่นกีตาร์ ตีนเหยียบกระเดื่อง ตีฉาบ กรับตีเกี๊ยว เป่าเมาท์ เล่นกีตาร์ หัวโขกเคาะกะละมัง คนเห็นว่าบ้าดี เด็กวัยรุ่นชอบ เหมารถเมล์มาเป็นกลุ่ม ตั้งแต่ยี่สิบจนถึงสองพันคน หลังๆมาคิดว่าไม่ใช่เรื่องสันโดษแล้ว อย่างนั้นมันจะเป็นคอนเสิร์ต เลยหนีออกมาทางอนุสาวรีย์ชัยบ้าง ตระเวนไปแถวลุมพินีบ้าง ต่างจังหวัดบ้าง"

"เล่นสนามหลวงไม่ร้องเพลงใคร แต่งเองหมดเลย พยายามเก็บข้อมูลจากข้างถนน คุยกับเพื่อนอายุมาก เพื่อนอายุน้อย เด็กๆ หญิงโสเภณี หมอดูใต้ต้นมะขาม แต่งได้อาทิตย์ละเพลง ได้แค่ไหนร้องแค่นั่น 4 เพลงมั่ง5 เพลงมั่ง ร้องวนไปวนมา พอเห็นว่าแต่งเพลงได้เยอะ เก็บเงินได้ 8 พัน จากการวาดรูปผสมเปิดหมวก ทำอัลบั้มออกมา ไกด์สนามหลวงชุดแรก จากนั้นไปทำเพลงกับแกรมมี่ชื่อชุดบ้านนอกซอกตึก ชุดน้ำพักน้ำแรง ส่งให้เพลงจดหมายถึงพ่อได้รับความนิยม จนถึงวันนี้ผ่านมาถึงชุดที่ 5 ดูนี่ดูนี่สิ ทำกับลูกสาวสองคน"

"หลังจากที่เพลงจดหมายถึงพ่อได้รับการยอมรับ ค่านิยมของคนเปลี่ยนเป็นอีกอย่าง สุดท้ายทำให้รู้ว่าต้องมีเพลงดัง จากเพลงม้วนละ 30 บาท กลายเป็นม้วนละ 100-200"

"ตอนนั้นลูกคนโต 6 ขวบ คนเล็กอายุ 4 ขวบ แรกๆลูกอาย พอเริ่มครั้งแรก สนุกกับมันไม่อาย แก้ไข ซ้อมมากขึ้น พอคนตอบรับก็ได้กำลังใจ ตั้งใจที่จะเป็นนักดนตรี อยากให้ดนตรีข้างถนนมันละเอียดอ่อนขึ้น"

เปรียว–สรีวันท์ เด็กสาววัย18 ปี กำลังเรียนม.6 ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองการประกวดเยาวชนดนตรี แห่งประเทศไทย ร่วมเล่นดนตรีกับอี๊ด ฟุตบาท พ่อของเธอ พร้อมน้องสาวในเพลงจดหมายถึงพ่อ จุดเริ่มต้นตระเวนร้องเพลงริมฟุตบาธ เสริมว่า

"เล่นดนตรีกับพ่อ เป็นเหมือนกับหน้าที่ อยากมีส่วนร่วมกับพ่อช่วยค่าใช้จ่ายในครอบครัว แรกๆยังเด็กๆไม่รู้สึกอะไร พ่อบอกให้ร้องก็ร้อง พ่อไม่ได้เรียนดนตรี ทฤษฏีเจอคนดูถูก จึงให้หนูและน้องเรียนดนตรี พอเริ่มเรียนดนตรีความรู้สึกคนละอย่าง เล่นดนตรีต้องมีฝีมือเพื่อให้คนยอมรับ ไม่อาย ภูมิใจ เวลามีคนให้เงิน รู้สึกดีใจ เค้าชื่นชอบให้ขวัญกำลังใจ"

"ได้ร่วมเล่นดนตรี เป็นบทเรียนในการดำเนินชีวิต รู้ความยากลำบาก ดิ้นรนให้ได้เงินสักก้อนไม่ใช่เรื่องง่าย เห็นคุณค่าของเงิน ได้ความกล้าแสดงออก ชินกับการเล่นต่อหน้ามวลชน เมื่อออกงานคลาสสิกใหญ่ๆแสดงต่อหน้าคนจำนวนมาก ตอนนี้ไม่ค่อยได้เปิดหมวก ตระเวนเล่นตามร้านเพลงเพื่อชีวิต และโรงแรม"

อี๊ดกล่าวเสริมถึงการยอมรับของคนต่อดนตรีข้างถนนต่อไปว่าคนไทยไม่ชอบการแสดงออกที่บ้าบิ่น ไม่ยอมรับเพลงใต้ดิน การไม่มีชื่อเสียงคือสัตว์ที่น่ารังเกียจ ยิ่งคนต่างจังหวัดกับการไม่มีชื่อเสียงยิ่งแย่ใหญ่ พร้อมเสริมให้กำลังใจรุ่นใหม่ๆไม่ต้องแคร์ ไม่ได้ไขว่คว้าหาชื่อเสียง แต่เป็นการแสดงสิ่งที่อยู่ข้างในตัวออกมา

"ศิลปินข้างถนนเป็นที่ให้ได้ทดลองถูกผิด อาทิตย์นี้ยังไม่โดน ลองเปลี่ยนที่ อาทิตย์หน้าเอาใหม่ คนเราอยู่ที่เพลงเพลงเดียวเท่านั้นก็จะเปลี่ยนชีวิต ฐานะ แต่ความเป็นตัวตนไม่เปลี่ยน เพราะได้สู้กับสิ่งที่ยากลำบากมา"

"ยุคสมัยเปลี่ยนไปหมดแล้ว เลิกเล่น เรามาถึงตรงนี้ ต้องเปิดโอกาสให้รุ่นน้องๆที่เค้าแสวงหา หลบให้น้องที่เพิ่งเข้ามาได้แสวงหาตัวตน หาจังหวะ บางคนแสวงหากลางคืน บางคนลุยกลางวันแดดๆ"

"ภูมิใจที่คนเอาเป็นแบบอย่าง เด็กที่เล่นดนตรีแบบมวยวัด พอได้เล่นดนตรีข้างถนน เค้าจะรู้สึกว่าต้องไปเรียนเพิ่ม บางคนเล่นเก่ง ได้สัมผัสทั้งคนที่รักและเกียจ คนที่เป็นกำลังใจที่สุดคือคนที่เดินมาบอกให้สู้ต่อไป ตรงนั้นคือพลังยิ่งใหญ่สำหรับคนเล่นข้างถนน" อี๊ด ศิลปินริมฟุตบาธกล่าวทิ้งท้าย

ตัวตนที่แท้จริงของศิลปินเปิดหมวก

ภาพศิลปินริมฟุตบาธของอี๊ด ฟุตบาท กลายเป็นต้นแบบให้ ชัยพร นามประทีป หรือ เอี้ยว ณ ปานนั้น ศิลปินเปิดหมวกในยุคแสวงหาตัวตนอีกคน หันมาเปิดหมวก แบกกีตาร์โปร่งตัวเดียวร้องเพลง เพียงแต่สถานที่แรกเริ่มของเขา ไม่ได้เริ่มจากสนามหลวง แต่เป็นลานห้างสรรพสินค้า

"สนามหลวงไม่ค่อยมัน เจอคนไม่หลากหลาย เลือกไปเปิดหมวกตามห้างฯครั้งแรกไปแสดงที่สยามสแควร์ ตอนนั้นคนเล่นไม่เยอะ ถือว่าเป็นของใหม่ อีกอย่างวัฒนธรรมคนไทยมองการเล่นอะไรข้างถนนเป็นเรื่องของคนที่ต่ำ คนครบ 32 ไม่น่าจะมาเล่นแบบนี้"

เอี้ยวเล่าต่อว่าคนนอกมองดูถูก แต่สำหรับเขาเล่นเพื่อบันเทิงใจ "คิดคนละอย่าง ช่วงต้นอายุ 21 ปี ยังเป็นหนุ่มกำลังแสวงหา คิดแบบเอามัน ทดลองใช้ชีวิต ช่วงนั้นเปิดเอามัน อายไม่มี ไม่ใช่สิ่งผิด ตังค์เป็นผลพลอยได้ เปิดไปนานๆ ทั้งเรื่องมัน เรื่องตังค์ ผสมกันไป"

เอี้ยวพยายามทำให้เห็นความต่างว่าศิลปินเปิดหมวกต่างจากวณิพก "แรกๆเข้มข้นกับตัวเอง วางกติกาเปิดสามชั่วโมง ตั้งแต่ 6 โมงเย็น แบกกระเป๋าขึ้นรถเมล์ปุเลง 3 ทุ่ม คนจะมาก-น้อยเลิก ตังค์ที่ใส่ในหมวกไม่เอาออก อยากให้เห็นชัดๆว่าคุณจะให้ตังค์ผม อย่าให้ด้วยความสงสารนะ ผมไม่ได้เอาความสงสารมาขายกิน ซื่อตรงไม่พูดโกหก เคยมีเพื่อนตามมาเล่นโกหกว่าเอาเงินไปเรียนหนังสือ บ้านยากจน ไล่ไปเลย ไม่สร้างประวัติศาสตร์ให้ตัวเอง บอกจบสูง เป็นคนรุ่น 14 ตุลา เป็นเรื่องกระจอกมาก ให้คนเห็นเองดีกว่า และอย่าขายความน่าสงสาร"

"แรกๆคำนึงถึงเรื่องรายได้น้อย แทบไม่ได้นับจำนวนเงินเลย ได้เท่าไหร่เก็บปิดหมวก หลังๆเริ่มนับ ดีมั่งไม่ดีมั่ง แล้วแต่คนบางครั้ง 3 ชั่วโมงเคยได้ 50 บาท บางครั้งเจอชาวต่างชาติให้ 100 บางคนให้ 20 แล้วแต่ ช่วงแรกๆที่ยังไม่มีผลงานขายเทป ได้น้อยสุด 50 บาท มากที่สุด 500 บาท ต่อ 3 ชั่วโมง ตอนหลังพอมีงานเพลงเล่นด้วยขายด้วย เริ่มดำรงอยู่ได้ด้วยการเปิดหมวกจริงๆ รายได้เป็นกอบเป็นกำ กติกาที่ให้กับตัวเองเปลี่ยนจากที่ไม่เอาเงินออกหมวก พอขายเทปให้คนซื้อหยิบเงินทอนเอง บางครั้งหยิบเงินเฉพาะที่ขายเทปได้ออก"

"เคยเปิดที่สยามช่วงแรกๆทั้งหมากฝรั่ง บะจ่าง แอปเปิล จนคนเดินมาคิดว่าเราขายของ เปรยว่าเราขายของเท่ดี คือของวางจนไม่เห็นตังค์ ประเภทยืนรอบอกอยากเลี้ยงข้าว ไปๆมาๆเลี้ยงเบียร์ ประเภทมองตั้งแต่หัวจดเท้า แขนขาก็ดี บางครั้งเดินมาถามว่าเอาเงินไปทำอะไร พอตอบว่ากินข้าวเตะหมวกทิ้ง พี่ไม่เก็บเลยนะ จนคนดูต้องมาช่วยเก็บ แถมช่วยต่อว่าคนที่เตะ"

เอี้ยวบอกว่าศิลปินเปิดหมวกคือคนเล่นดนตรีบนเวทีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่มีขอบเขต อย่างไรเวทีสำหรับเขาก็ยังต้องมีข้อจำกัด "เปิดหมวกที่กรุงเทพฯคิดว่าเปิดทั่ว เคยจดไว้เล่นๆ 30-40 จุด เลือกที่เงียบพอที่จะสื่อสารกับคนได้ สยาม สแควร์ จตุจักร คนสัญจรเยอะ เป็นบรรยากาศผ่อนคลาย แต่ถ้าให้ไปเล่นริมถนน บนสะพานลอย เคยไปเล่นไม่ค่อยมีประโยชน์ รถเสียงดังสื่อสารกับคนไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ อีกอย่างต้องมีพื้นที่ให้คนดูยืนโดยไม่กีดขวางทางเดิน"

"เปิดหมวกทุกวันไม่ไหว เปิด 3-4 วันครั้ง ตามความพร้อมและโอกาส สถานที่เอื้ออำนวยมีไม่มาก ก็อาจจะเปิดเยอะขึ้นเป็น 4-5 ชั่วโมง ล่าสุดเมษายนที่ผ่านมามีโอกาสไปเปิดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 9 วันเต็มนิ้วสั้นเลย ถือเป็นครั้งที่แสดงมากที่สุด นานที่สุด สาเหตุที่ทำเพราะเราไม่มีที่เปิดหมวก ตลาดวาย คราวนี้จะให้แบกกีตาร์ขึ้นรถเมล์ เสี่ยงดวงว่าจะมีที่ไหนเปิดให้เล่น เราก็อายุมาก กำลังกายมันน้อยลง ถ้ามีโอกาสที่ไหนจึงทำเต็มที่"

นอกจากพื้นที่เล่นจะลดลง ความกระตือรือร้นจะจางหาย ความอยากพัฒนาตนเองด้านดนตรีเป็นอีกเหตุที่ทำให้เปิดหมวกน้อยลง "ความตื่นเต้นประเภทตีคอร์ดร้องเพลง แต่งเพลงเท่าที่ความรู้ทางดนตรีที่มีอยู่ ก้าวข้ามตรงนั้นมาพ้นแล้ว อยากจะเพิ่ม ทำความรู้จักกับดนตรีให้มากกว่านี้ จึงไปเรียนเพิ่ม ทำให้ต้องใช้เวลาฝึกฝนเยอะ"

เอี้ยวมองย้อนกลับไป ครั้งเปิดหมวกแรกๆแล้วบอกว่า "เราเหมือนปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่งที่คนมาเจอ บังเอิญว่าปรากฏการณ์นี้สามารถพูดคุยบางช่วงบางตอนได้ มีคนเข้ามาทักหน้าซ้ำๆ แล้วก็ไป บางคนซื้อน้ำมาให้ บางคนพาไปกินข้าว เอารังนกมาให้ เข้ามาสัมผัส สักพักก็ไปใช้ชีวิตของเค้าต่อ ประเภทขอเป็นสาวก ขอตามถือกีตาร์ให้ไม่เอา แลกเปลี่ยนโทร.คุย กลับไปใช้ชีวิต ผ่านไปปี-2ปีคุยกันใหม่"

"เมืองนอกไม่คิดดูถูก คนดูคิดว่ามามองศิลปะ บ้านเราอยู่ที่คนเล่น เล่นด้วยความรู้สึกชนิดไหน เป็นศิลปะแบบที่ใส่ใจหรือเปล่า ขณะที่แสดงให้คนดู จะมีคนจำนวนหนึ่งแยกแยะได้ ส่วนคนที่แยกแยะไม่ได้เราไม่สามารถทำอะไรเค้าได้ ก็ต้องปล่อยไป มันอยู่ข้างใน ว่าสามารถทนแรงเสียดทานเหล่านี้ได้มาก-น้อยแค่ไหน ทำได้ดีที่สุดคือคิดว่าเรามาเล่นดนตรี" เอี้ยวเล่าประสบการณ์และแนวทางรับมือการถูกมองแบบรังเกียจ

สิ่งที่ได้รับกลับมาจากการเปิดหมวก เอี้ยวบอกว่าที่เห็นได้ชัดคือการเปิดหมวกต่อเนื่องมาจนถึง 17 ปี แล้วก็เป็นการสะสมประสบการณ์ของชีวิต ความคิดอ่านของคนที่มองมา การเจอคนแลกเปลี่ยน นำไปสู่ภาพพจน์โตมาจากการเล่นดนตรีเปิดหมวก ช่วงจังหวะของชีวิตที่ได้เลือกในวัยหนึ่ง เป็นต้นทุนนำมาสู่ประสบการณ์อีกวัย

"ความเปลี่ยนแปลง ตัวเอง หลังช่วงแรกเปิดโดยไม่มีงานตัวเอง จนปี 2535-2536 จึงมีก็ขายเทปด้วย รายได้เป็นกอบเป็นกำ พอเลี้ยงตัวเองได้ ตอนหลังความเปลี่ยนแปลงเยอะขึ้น สำหรับตัวเอง เริ่มเบื่อ อิ่มตัว ความตื่นเต้นทั้งหลายที่เห็น เกิดจากภายในตัวเรา ปฏิกิริยาคนรอบข้าง เจอแบบซ้ำ พอซ้ำความตื่นเต้นก็น้อยลง"

อุดมการณ์เปลี่ยน "หลายคนมีแค่ความกล้า ที่จะแบกกีตาร์หนึ่งตัวแล้วไปยืนเล่น แลกตังค์ ซึ่งอยากให้คิดเรื่องดนตรีเพิ่มว่านักดนตรีข้างถนนสนใจเรื่องดนตรีเหมือนกันไม่ใช่ตีคอร์ตร้องเพลงๆ แสดงความกล้าหาญ ถ้าไม่ใส่ใจเรื่องดนตรี มีแต่ความกล้า ไม่พ้นคนมองกระจอก อย่างน้อยที่สุดความตั้งใจที่จะเล่นดนตรี"

"หมวกขาดไปแล้ว 2 ใบ ถ้าวันนี้หรือเมื่ออายุมากขึ้นไปเปิดหมวก พี่ก็เห็นประวัติ วิถีชีวิตช่วงหนึ่งของพี่อยู่ในนั้น ใบนี้แหละที่พาเราตะลุยมาหลายที่ หลายรอบ" เอี้ยวกล่าวทิ้งท้ายถึงวิถีคนเปิดหมวก

สวนจตุจักร ตลาดนัดศิลปินเปิดหมวกมือใหม่

ท่ามกลางไอแดดที่แผดเผา คละคลุ้งไปด้วยเสียงจอแจของผู้คนหลายร้อยคนที่กำลังเบียดเสียดจับจ่ายซื้อของในช่วงวันหยุดที่สวนจตุจักร จนหลายคนเกือบเสียสติ ทว่าเสียงดนตรีที่ลอยพลิ้วมาจากบริเวณริมทางเท้า ใกล้ๆกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินโครงการ 1 เต็มไปด้วยนักดนตรีเปิดหมวก ขับกล่อมดุจน้ำเย็นประโลมความเร่าร้อนให้คนใจเย็นลง

มนัสกรันย์ พลวรรณาภา ครูหนุ่มโรงเรียนเอกชน วัย 37 ปี ใช้เวลาจากวันว่าง เข้ามาจับจองพื้นที่เปิดหมวกเป็นรายแรกๆ ก่อนที่คนอื่นๆจะตามมากันมากขึ้น

"ปกติทั่วสวนเล่นได้ไม่เกิน 15 คนแต่คิดว่าตอนนี้น่าจะเกิน เห็นอี๊ด ฟุตบาท แรกๆยังไม่กล้า ติดหัวโขนอยู่ ยังติดภาพพจน์ว่ามาเล่นดนตรีข้างถนนแบบนี้จะเป็นพวกเบกเกอร์ หรือขอทาน คนมองไม่ดีรึป่าว ใช้เวลานานเกือบ 3 เดือน ครั้งแรกเล่นหน้าลานเวิลด์เทรด เอาหมวกปิดหน้า หลับตาเล่น เล่นได้ 600 กว่าบาท ครั้งที่ 2 มาเล่นที่จตุจักร แลกบัตรนักแสดงดนตรี ลากกระเป๋ามาอย่างดี แต่พอเห็นเพื่อนครู ไม่กล้าเล่น ใช้เวลาตัดสินใจหลายครั้งกว่าเล่นได้ แล้วก็เล่นยาวเรื่อยมาถึงวันนี้ เล่นแล้วคนให้การตอบรับ ทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้นเคยได้เยอะที่สุด ประมาณ 3,200 บาท แต่เดี๋ยวนี้มีคนมาเล่นเยอะทำให้รายได้ลดลง"

"เล่นครั้งแรกเจอคุณยายคนหนึ่งเดินผ่านแล้วพูดเปรยๆว่าไม่มีที่ทำมาหากินแล้วหรือไงถึงมาเล่น อีกรายหนึ่งตอนแสดงหน้าเวิลด์เทรดมายืนอยู่ข้างๆขณะที่เล่น นึกว่าสนใจกลับบอกว่านายนี่แน่มากเลยนะ มาเล่นข้างถนน เฉยๆมั่นใจในการแสดง อย่าคิดว่าแสดงข้างถนนไม่มีเกียรติ ต้องมีความศรัทธาในตัวเองให้ได้ว่าเรามีความสามารถ และแสดงให้เต็มที่" เขาเล่าถึงประสบการณ์ความลำบากที่ผ่านมา

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเขาให้ความหมายต่อสิ่งที่กำลังทำว่า เป็นการแสดงอย่างหนึ่งที่ใช้ความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการแสดงบนเวที เพียงแต่เวทีเป็นคนละเวทีกับศิลปินทั่วไป และมีเฉพาะเวทีนี้เท่านั้นที่ทำให้หมวกมีชีวิตขึ้นมาได้

"ใช้ชื่อย่อเฉพาะอาชีพนี้ว่า PM จะแปลเป็นไทยว่าเปิดหมวก หรือ public musician หรือจะแปลในแง่ธุรกิจได้ว่า private manager การบริหารงานด้วยตัวเองเพียงลำพัง"

เลี้ยวขวาไปเพียงเล็กน้อย เสียงเพลงพระราชนิพนธ์ลอยจากช่องเป่าเบี่ยงเบนความสนใจจากการเลือกซื้อของให้หันมามองดู ชายวัยกลางคน แต่งตัวภูมิฐาน สวมหมวกซุกซ่อนหน้าตา กำลังเป่าแซกโซโฟน

จุก คือคำที่ชายวัย 47 ปีใช้เรียกแทนตัวเอง เขาเล่าว่าทำเป็นงานอดิเรก ผ่อนคลายจากงานหลักรับราชการ กว่าจะเข้ามาจุดนี้ได้ เขาบอกว่าตัดสินใจอยู่เป็นปีที่จะมาเล่นริมทาง "ศิลปินเปิดกล่องหรือหมวกมีสองอย่างหารายได้พิเศษ อีกอย่างเป็นการปลดปล่อย สิ่งที่อยากทำ เรื่องศักดิ์ศรีสำคัญพอสมควร ขออนุญาตก่อนเล่น เค้าต้องเปิดโอกาสให้ทำ ถึงทำ ไม่เปิดไม่ทำ เล่นเพื่อโชว์ผลงาน มองแบบศิลปิน ไม่ได้เล่นหวังเงินทอง ไปถึงสบายๆไม่ตะบี้ตะบันเป่า เป็นตัวของตัวเอง เล่นเพลงพระราชนิพนธ์ ถือเป็นเพลงครู ถึงเล่นเพลงตลาด เขตทุกเขต ควรเปิดโอกาสปิดถนน แยกวณิพกกับศิลปินออกจากกัน ศิลปินบางคนรวยแต่ไม่มีเวทีแสดง เลยต้องมาทำ เราเปิดกล่อง เอาหมวกไปวางเหมือนวณิพก ถ้าเปิดกล่องเป็นศิลปินมากกว่า เหมือนต่างประเทศมากกว่า"

ครั้งหนึ่งอภิเชษฐ หรือ อาร์ต และ กานน สีหะกุลัง ศิลปินเปิดหมวกดูโอ วัย 21 ปี เคยเปิดหมวกแสดงร่วมกัน แต่ช่วงหลังคีย์บอร์ดไฟฟ้าถูกห้ามใช้ กานนจึงต้องหันมาเดี่ยวแซกโซโฟนเปิดหมวกขับกล่อมคนเดินไปมาเพียงคนเดียว วันนี้สองหนุ่มกลับมารวมกันแสดงเฉพาะกิจ พร้อมเล่าที่มาที่ไปว่า

"นักดนตรีเปิดหมวกเป็นศิลปะ เป็นงานอิสระ อดิเรก เคยคิดว่ามาเล่นจะเหมือนเป็นวณิพก คนดูถูก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เป็นดนตรีอย่างหนึ่ง เล่นแนวตลาดทั่วไป ทั้งไทยและเทศ วันแรกได้ 600-700 บาท ได้มากที่สุด 2,500 บาท ผลพลอยได้คือได้ความกล้า งานนอกที่ตามมาจากการแสดงเปิดหมวก เล่นงานแต่งงาน หรือตามร้านอาหาร" อาร์ตเริ่มต้นเล่า

กานนเสริมว่าเหตุที่ทำเพราะอยากลอง "มองเป็นอาชีพแก้เซ็งเฉยๆ บ้าง เปิดหมวกต่างจากศิลปิน เหมือนวณิพก เพียงแต่ต่างกันที่เรามีเสียงเพลงเป็นของแลก ทำไปทำมาสนุกจึงทำมาเรื่อย ใครฟังก็ได้ไม่ฟังก็ได้ เล่นไม่ได้ดูคนว่าต้องเล่นสไตล์ไหน เป่าตามใจ ช่วงที่ไปเชียงใหม่ ไปแสดงในงานถนนคนเดิน ที่นี่คนให้เงินเยอะ เชียงใหม่ไม่ค่อยให้กันเท่าไหร่ ประทับใจคนรอบข้าง ร้านค้ารอบๆได้น้ำ ได้ลูกอม กระดาษทิชชู รู้สึกดี แต่ก็ไม่ชอบคนบางประเภท อย่างคนญี่ปุ่นไม่มองของ เตะหมวกก็มี บางคนด่าว่าหนวกหู เอาเงินที่ได้เก็บไว้เรียนต่อ คงทำอีกสักพักก็เลิก เพราะเริ่มเบื่อแล้ว มันซ้ำๆซากๆคนก็เหมือนเดิม คิดว่าไปหาร้านเล่นดีกว่า"

-----

บนเส้นทางดนตรีริมถนนของคนเปิดหมวก แม้จะไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ เสียงเสียดสีแรงเสียดทานจากสายตาของคนรอบข้าง แต่ยังมีทางเล็กๆที่คนส่วนหนึ่งเห็นสิ่งที่ลุ่มลึกในการแสดง ฝีมือและน้ำอดน้ำทน เป็นพลังใจก่อร่างเป็นผลงานทางดนตรี และเป็นทางให้คนธรรมดาที่มีใจรักดนตรีได้เดินตามรอยทาง






กำลังโหลดความคิดเห็น