xs
xsm
sm
md
lg

"เจ้าดารารัศมี" ดวงใจแห่งเมืองเหนือของพุทธเจ้าหลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ดารา – ด้วยนึกถึงเจ้าอายุเต็มสามรอบ ได้คิดไว้แล้วว่าจะให้ของขวัญ เผอิญประจวบเพลาไม่อยู่จะให้ก่อนขึ้นไปทำไม่ทัน จึงได้จัดส่งขึ้นมาด้วยหวังที่จะได้รับที่เชียงใหม่ ไม่ช้ากว่าวันไปถึงเท่าใด ขออำนวยพรให้มีอายุยืนยาวอย่าเจ็บไข้ กลับลงมาโดยสุขสบายทุกประการ ขอให้ดูหนังสือที่เขียนไว้ข้างหลังหีบหน่อย เผลอไปจะไม่ได้อ่าน ขอบอกความคิดถึงเสมอไม่ขาด ตัวไปเที่ยวเองทิ้งอยู่ข้างหลังไม่ห่วง แต่ครั้นเวลาเจ้าจากไปรู้สึกเป็นห่วงจริงๆ..."

พระราชหัตถเลขาจากพระพุทธเจ้าหลวงถึงเจ้าดารารัศมี
เนื่องในโอกาสกลับไปเยี่ยมเชียงใหม่ 6 มีนาคม รศ.127-8

หากใครเคยได้ยินตำนานเรื่องเล่าโศกนาฏกรรมความรัก ระหว่างเจ้าน้อยศุขเกษมกับสาวมะเมี๊ยจากเมืองมะละแหม่ง ที่เคยถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์ เรื่องราวของเจ้าดารารัศมีนั้นก็เป็นเรื่องทำนองคล้ายๆกัน แต่ว่าเกิดขึ้นก่อนหลายปี
ความรักนี้เกิดเพื่อแผ่นดินเช่นเดียวกัน แต่ต่างตรงที่ตอนจบไม่ได้เศร้าสร้อยอย่างเรื่องเจ้าน้อยศุขเกษมซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง

ตำนานเจ้าหญิงล้านนา...ดารารัศมี

หากลองถามพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ถึงเรื่องเจ้านายเก่าๆ ของเมืองเหนือ ย่อมจะต้องมีเรื่องเจ้าดารารัศมีอยู่ในความทรงจำของท่าน เพราะเจ้าน้อยองค์นี้เป็นที่รักของชาวล้านนามากพอๆ กับที่ท่านรักและสิ่งที่ท่านทำให้กับบ้านเกิดของท่านในบั้นปลายชีวิต

ความรักเรื่องนี้เกิดท่ามกลางมรสุมแห่งการล่าอาณานิคม ซึ่งคุกคามอาณาจักรในอุษาคเนย์อย่างหนักช่วงศตวรรษที่ 19 ขณะนั้นสยามเป็นอาณาจักรเอกราชเพียงหนึ่งเดียว ที่หลุดรอดกรงเล็บของมหาอำนาจมาได้ แต่ก็ไม่วายที่จะโดนเฉือนดินแดนอย่างน่าหวาดเสียวเป็นระยะๆ

กรณีดินแดนที่เรียกว่าล้านนาหรือในปัจจุบันคือภาคเหนือตอนบนนั้น ต้องเข้าใจกันเสียก่อนว่า ล้านนามีสถานะเหมือนเวียงจันทน์ ที่ขณะนั้นเป็นประเทศราชของสยามด้วยการส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักที่กรุงเทพฯ ทุกๆ 3 ปีเพื่อแสดงความจงรักภักดี ดังนั้นใครจะเอาความคิดของตนไปตัดสินว่าเชียงใหม่หรือล้านนาเป็นของสยามมานานแล้วผิดอย่างสิ้นเชิง…

เพิ่งจะมาเริ่มถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสยามก็ต่อเมื่อเจ้าหญิงองค์นี้เข้าสู่ราชสำนักของกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2429 นั่นเอง

ผู้เชี่ยวชาญอุษาคเนย์หลายท่านเคยกล่าวไว้ว่า ช่วงนั้นไม่เพียงเราโดนฝรั่งล่าอาณานิคมเท่านั้น สยามเองก็ใช้ลัทธินี้ล่าอาณานิคมกับประเทศราชเหมือนกัน เรียกว่า Internal Colonialism คือการพยายามรวบรวมและรักษาหัวเมืองประเทศราชของตน โดยพยายามทำให้หัวเมืองรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น เห็นได้ดังที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงวางรากฐานการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ ในขณะนั้น

ยุคนี้ ความพยายามแสดงเขตแดนที่แน่นอน และการยืนยันอำนาจเต็มที่ในปริมณฑลรัฐทุกตารางนิ้วของรัฐสยามจึงเริ่มปรากฏชัดเจนเช่นเดียวกับรัฐสมัยใหม่ทางตะวันตก ต่างกับในอดีตที่ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวว่าอาณาเขตและอำนาจของรัฐจารีตสมัยเก่านั้นมีขอบเขตไม่แน่นอนเปรียบได้กับแสงเทียนที่ยิ่งไกลอำนาจก็ยิ่งมีแสงสว่างน้อยลง

แต่ไม่ว่าพายุและเกมต่อรองทางการเมืองระหว่างสยามกับฝรั่งตะวันตกจะเข้มข้นอย่างไร เจ้าหญิงองค์สุดท้องของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีความเกี่ยวพันและมีบทบาทใหญ่หลวงต่อความสัมพันธ์ของสองอาณาจักรนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่ทรงประสูติเมื่อ 24 สิงหาคม พ.ศ.2416 ที่คุ้มหลวงกลางเวียง (ปัจจุบันคือบริเวณศาลากลางหลังเก่าของจังหวัดเชียงใหม่)

ชีวิตวัยเด็กของเจ้าหญิง ซึ่งพระราชบิดามักตรัสเรียกว่า "เจ้าน้อย" ดูเหมือนจะเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ราชสำนักที่กรุงเทพฯ โดยที่เจ้าตัวนั้นไม่รู้มาก่อน จากบันทึกของ ดร.โรเบิร์ต แมคกิลวารี ที่ไปเยือนล้านนาในช่วงนั้น กล่าวถึงสภาพภายในราชสำนักเชียงใหม่ว่า "ชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้าเมืองซึ่งแสดงถึงฐานะที่เหนือผู้คนอื่นๆ ในบ้านเมืองเป็นการจำลองชีวิตจากราชสำนักกรุงเทพฯ"

จนปีพ.ศ. 2425 เกิดข่าวลือ ที่ส่งผลสะเทือนถึงชะตาชีวิต ทำให้เจ้าหญิงเมืองเหนือผู้นี้ต้องมาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 อย่างยากจะหลีกเลี่ยง

มีคำร่ำลือสะพัดทั่วเวียงเชียงใหม่ว่า พระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ ส่งคนมาทาบทามเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์เจ้าเมืองเชียงใหม่ เพื่อขอรับพระราชธิดาน้อยเอาไว้ในพระอุปถัมภ์ หรือแปลให้ง่ายก็คือ รับเป็นพระธิดาบุญธรรมนั่นเอง

ไม่ว่าเรื่องนี้จะจริงหรือเท็จ ทางราชสำนักที่กรุงเทพฯ ก็ร้อนๆ หนาวๆ ไปพอสมควร เนื่องจากสมัยนั้นดินแดนพม่าซึ่งอยู่ติดกับล้านนา โดนอังกฤษยึดไปเรียบร้อยแล้ว และฝรั่งอีกหลายชาติกำลังจ้องหัวเมืองเหนือของสยามตาเป็นมัน

หลังจากนั้นเพียงปีเศษ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิชิตปรีชาการ ได้อัญเชิญตุ้มพระกรรณและพระธำมรงค์เพชร ของรัชกาลที่ 5 ขึ้นไปพระราชทานแก่เจ้าดารารัศมีที่มีพระชนมายุเพียง 11พรรษา นัยว่าเป็นการหมั้น และยังโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าดารารัศมีเข้าพิธีโสกันต์ (โกนจุก) ตามแบบอย่างเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีทั้งที่เป็นเจ้านายล้านนาอีกด้วยเมื่ออายุ 13 ปี เพราะ รัชกาลที่ 5 ทรงรู้ทันเล่ห์กลนโยบายต่างประเทศของฝรั่ง ที่จ้องจะอ้างสิทธิเหนือดินแดนผ่านสายสัมพันธ์นี้

ในที่สุด พระเจ้าอินทวิชยานนท์ก็นำพระราชธิดาลงมาถวายตัวเมื่อปี พ.ศ.2429 และหลังจากนั้นเป็นเวลาเกือบ 28 ปี ชีวิตของเจ้าหญิงเมืองเหนือพระองค์นี้ ผ่านพบสิ่งต่างๆ มากมายจนกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำยิ่งของสองราชอาณาจักรในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนั้น

ไม่ว่าจะเป็นชีวิตในพระบรมมหาราชวังซึ่งไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แม้จะเป็นที่โปรดปรานของพระพุทธเจ้าหลวง แต่ก็ถูกกลั่นแกล้งจากเหล่าสนมนางในคนอื่นที่อิจฉาและโดนดูถูกว่าเป็นเจ้า "ลาว" (คนสยามภาคกลางสมัยนั้นมองว่าคนเหนือรวมกันหมดว่าเป็นลาว) มีการกลั่นแกล้งสารพัดเหมือนกับละครน้ำเน่าในสมัยนี้เช่น เอาหมามุ่ยใส่ในห้องน้ำ เอาอุจจาระมาทิ้งในตำหนัก ไม่รวมการล้อเลียนซุบซิบต่างๆ นานา

แต่ยิ่งล้อเหมือนยิ่งยุ เจ้าดารารัศมีกลับภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของล้านนายิ่ง ปรากฏหลักฐานว่าภายในตำหนักของพระองค์นั้น ผู้คนล้วนแต่งกายแบบชาวเหนือทั้งสิ้น ในหนังสือสี่แผ่นดินของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็มีข้อความกล่าวถึงตำหนักนี้ว่า "ตำหนักเจ้าดารานับว่าแปลกกว่าที่อื่นทั้งสิ้น เพราะข้าหลวงนุ่งซิ่น ไว้ผมมวย แต่งกายอย่างชาวเมืองเชียงใหม่ พูดภาษาเมืองเหนือทั้งตำหนัก และเป็นที่เดียวที่มีเมี่ยงแจกกันกินเป็นประจำ"

นอกจากนี้เจ้าดาราฯ ยังสนพระทัยในวัฒนธรรมภาคกลาง มีการส่งเสริมให้ข้าหลวงเรียนหนังสือไทยภาคกลาง ดนตรีไทยและสากล และปรากฏว่าทรงเชี่ยวชาญการเล่นจะเข้มาก

ถึงแม้จะทรงมีสุนทรียภาพเพลิดเพลินกับศิลปะแขนงต่างๆ อย่างไรก็ตาม พระองค์ก็แทบจะทนไม่ได้กับการโดนกลั่นแกล้งจากผู้อื่น ครั้งหนึ่งถึงกับตรัสว่าอยากจะเสวยลำโพง (มะเขือที่กินเข้าไปแล้วจะเกิดอาการคลุ้มคลั่ง) ให้รู้แล้วรู้รอดไป

...อนิจจาพระราชธิดาเมืองเหนือ จากบ้านมาไกลแล้วยังถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา แต่พระองค์ก็ไม่เคยที่จะไปทูลฯ ฟ้องในหลวง จนวันหนึ่งเรื่องไปถึงพระเนตรพระกรรณ ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสห้ามปรามเจ้าจอมเหล่านั้น เรื่องจึงจบลงในที่สุด ด้วยรัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักยิ่งว่าการที่ใครทำให้เจ้าดาราฯ ได้รับความลำบาก นอกจากจะขัดเคืองพระทัยของพระองค์แล้ว ยังไม่ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับล้านนาด้วย

เรื่องราวเศร้าๆ ยังคงเกิดขึ้นกับพระองค์ ในปีพ.ศ. 2432 เจ้าดารารัศมีทรงให้กำเนิดพระราชธิดาองค์หนึ่ง ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า "เสด็จเจ้าน้อย" สร้างความปีติยินดีให้กับพระนางมาก (ช่วงนี้ได้รับการเลื่อนขึ้นเจ้าจอมมารดา) แต่ให้หลังเพียง 3 ปีเท่านั้น พระธิดาองค์น้อยก็เสด็จสวรรคตด้วยพระชนมายุเพียง 3 พรรษา

ช่วงเดียวกันนั้นเอง พระเจ้าอินทวิชยานนท์ทรงมีพระราชสาสน์ลับส่วนพระองค์ถึงพระราชธิดาเล่าเรื่องที่อังกฤษจะขอรวมเอาล้านนาเข้ากับพม่า เจ้าดารารัศมีจึงทรงถวายพระราชสาสน์ดังกล่าวกับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งก็ทรงพระราชทานต่อไปยังพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากรเพื่อทรงปรึกษาหารือ

ก่อนที่สาสน์ฉบับนั้นจะได้รับการตอบไปยังพระราชบิดาด้วยลายพระหัตถ์ของพระนางว่า "หากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จะทรงยอมให้เชียงใหม่ไปรวมอยู่ในเมืองขึ้นของอังกฤษแล้วไซร้ ก็ขอให้เตรียมพระองค์มารับศพของเจ้าจอมดารารัศมีที่กรุงเทพฯเถิด" ทำเอาเจ้าหลวงเชียงใหม่ต้องระงับสิ่งที่คิดจะทำลงไปทั้งหมดเพื่อ "เจ้าน้อย" ของพระองค์

จดหมายฉบับนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นจดหมายทองคำ สามารถช่วยรักษาอาณาเขตของสยามที่เหลืออยู่น้อยนิดไม่ให้ถูกเฉือนออกไปมากกว่านี้ และยังเป็นผลการดำเนินนโยบายต่างประเทศอันยอดเยี่ยมของสมเด้จพระพุทธเจ้าหลวงอีกด้วย

เจ้าดารารัศมีทรงได้รับการเฉลิมพระยศเป็นพระราชชายา ในตอนเสด็จกลับเชียงใหม่ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2451 ซึ่งถือเป็นตำแหน่งพิเศษนอกเหนือจากพระมเหสีสี่องค์ ตามกฎมนเทียรบาลที่รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งพระราชทานเป็นพิเศษ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี จึงกลายเป็นพระราชชายาพระองค์แรกและองค์สุดท้ายของสยามมาจนปัจจุบัน เพราะไม่ปรากฏว่ามีการพระราชทานตำแหน่งนี้แก่ผู้ใดอีก

ในการเสด็จกลับครั้งนั้น…สิ่งที่ทำให้ผู้คนทั่วไปตระหนักว่าความรักความจงรักภักดีต่อรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นพระราชสวามีของพระราชชายาฯ นั้นอยู่เหนือการเมือง อยู่เหนือกาลเวลาคือ การที่พระราชชายา ทรงบรรจงแก้มัดผมที่ยาวมากมาเช็ดพระบาทของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงขณะเข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลลาที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งในธรรมเนียมล้านนา ถือว่าเป็นการถวายความจงรักภักดีสูงสุดในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง

ดุจเดียวกับที่มะเมี๊ยทำกับเจ้าน้อยศุขเกษมในอีกไม่กี่สิบปีถัดมา ก่อนจากกันไปตลอดกาล

ภายหลังจากพระราชชายาฯ เสด็จกลับลงมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2452 ให้หลังไม่กี่เดือน รัชกาลที่ 5 ก็ทรงเสด็จสวรรคต นำความโศกเศร้ามาสู่พระนางเป็นอันมาก มีผลให้หลังเสร็จงานพระบรมศพแล้ว พระราชชายาจึงกราบถวายบังคมลารัชกาลที่ 6 เสด็จกลับไปประทับที่เชียงใหม่เป็นการถาวรนับแต่นั้น

เจ้าดารารัศมี…ปูชนีย์แห่งนครพิงค์

ช่วงบั้นปลายแห่งชีวิตของพระราชชายาฯได้ทรงงานมากมายหลายด้าน เพื่อประโยชน์ของชาวล้านนา ซึ่งพระองค์ทรงรัก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตรที่ทรงให้มีการทดลองค้นคว้าปรับปรุงวิธีการปลูกพืช ที่ตำหนักสวนเจ้าสบายในอำเภอแม่ริมเพื่อเผยแพร่แก่ประชาชน

โดยจะทรงทดลองปลูกพืชใหม่ ๆ ในสวนเจ้าสบายอยู่เสมอ เช่น ทรงทดลองปลูกกะหล่ำปลีสีม่วง แครอท แตงโมบางเบิด แคนตาลูป รวมทั้งลำไย ผลไม้ขึ้นชื่อของเชียงใหม่ในปัจจุบันท่านก็ทรงนำมาปลูกเป็นพระองค์แรก

นอกจากนี้ยังโปรดดอกไม้กลิ่นหอม ท่านทรงเป็นสมาชิกสมาคมกุหลาบแห่งประเทศอังกฤษ ครั้นพอทางสมาคมส่งพันธุ์กุหลาบมาให้ท่าน มีอยู่หนึ่งพันธุ์ที่ท่านโปรดเป็นพิเศษ จึงทรงทดลองปลูก กุหลาบชนิดนี้มีสีชมพู กลิ่นหอมจัด ดอกจะมีขนาดใหญ่ประมาณ 12-15 เซนติเมตร ในหนึ่งดอกจะมีกลีบถึง 45 กลีบ และที่สำคัญเป็นกุหลาบไร้หนาม ท่านได้ทรงตั้งชื่อว่า "จุฬาลงกรณ์" เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในพระสวามีท่าน ซึ่งตรงนี้ทำให้เห็นชัดว่า พระราชชายาดารารัศมี ทรงมีความจงรักภักดี และความผูกพันอันมากล้นต่อรัชกาลที่ 5 มากเพียงใด

พระราชกรณียกิจของพระองค์ยังมีงานด้านบำรุงพระศาสนาท่านทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียสถานจำนวนมาก อาทิ สร้างและฉลองพระวิหารบรมธาตุ วัดพระธาตุจอมทอง ถวายตำหนักบนดอยสุเทพแด่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ยิ่งเป็นงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมก็มีมาก ที่สำคัญคือการสืบทอดศิลปะการทอผ้าซิ่นยกดอก โดยทรงอาศัยมรดกตกทอดจากพระมารดาคือ ผ้าซิ่นยกดอกของเจ้าแม่ทิพไกสรเป็นตัวอย่าง แล้วคิดค้นวิธีการทอขึ้นมาได้สำเร็จ ทำให้งานศิลปะแขนงนี้ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับชาวเชียงใหม่แล้วความรู้สึกที่มีต่อเจ้าดารารัศมีคือ "เจ้าดาราฯ เหมือนปูชนียบุคคลของล้านนา เพราะเราระลึกเสมอว่าถ้าไม่มีท่าน ชาวเชียงใหม่จะไม่มีเรื่องนาฏศิลป์ เกษตร หรือแม้กระทั่งงานทอผ้า เพราะท่านเป็นผู้นำในทุก ๆ เรื่อง" คุณอุษา ผู้จัดพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์เล่า

พระราชชายาดารารัศมีทรงประชวรและสวรรคตด้วยพระปัปผาสะ (ปอด) พิการ ซึ่งเป็นโรคที่แสดงอาการมาตั้งแต่สมัยพระราชชายาประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง โรคนี้ได้กลับมารุมเร้าพระองค์อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2476 เมื่อพระราชชายาทรงรู้ว่าจะไม่หายจากโรคร้ายแน่แล้วก็ทรงมีคำสั่งเสียสุดท้ายว่า "หากเมื่อใดฉันสิ้นพระชนม์ โปรดนำสิ่งของต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในหีบกาไหล่ทองใน ในหีบเหล็กใบใหญ่อีกชั้นหนึ่งซึ่งตั้งอยู่เหนือแท่นพระบรรทมบรรจุลงในกู่ร่วมกับพระอัฐิด้วย"

ก่อนที่ตำนานชีวิตของพระองค์จะปิดลงอย่างสงบเมื่อ 9 ธันวาคม 2476 รวมพระชนมายุได้ 60 พรรษา และหีบใบนั้นเองหลังจากพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ ผู้ทรงเป็นประมุขของเจ้านายในตระกูลเชียงใหม่ ได้เป็นประธานในการเปิดออกแล้วพบว่า หีบนั้นเป็นของพระราชทานจากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ภายในบรรจุเอกสารมีค่าคือ จดหมายส่วนพระองค์จากรัชกาลที่ 5 ถึงพระราชชายาฯ ขณะที่อยู่ไกลกัน อัฐิส่วนนิ้วก้อยของพระราชบิดาคือพระเจ้าอินทวิชยานนท์ อัฐิพระนิ้วก้อยของพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิมลนาคพีสีพระราชธิดาซึ่งมีพระชนมายุเพียง 3 พรรษา และสุดท้ายคือจดหมายจากเจ้าอินทวิชยานนท์พระราชบิดาของพระองค์นั่นเอง

ปัจจุบัน เรื่องราวของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้รับการแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ซึ่งเป็นที่ประทับในบั้นปลายชีวิตของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งที่นี่ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดูแล โดยมีสิ่งของสำคัญต่างๆ จัดแสดงอยู่ 7 ห้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชตระกูล พระราชกรณียกิจ สิ่งของที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันของพระราชชายา ห้องแสดงชุดทรงโดยทางผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ได้แนะนำสิ่งที่ไม่ควรพลาดคือ

"จุดสำคัญของที่นี่คือมีผ้าชุดเชิงซิ่น มีลักษณะเป็นซิ่นตีนจก ของพระราชชายาที่ทำด้วยเงินด้วยทองเป็นชุดที่ใช้ทรงมีอยู่ประมาณ 4-5 ผืน และก็มีผ้าซิ่นยกทองคำแท้ที่พระราชชายาฯ ทรงสั่งให้ทอในสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงเสด็จเลียบมณฑลพายัพเมื่อปี 2469 เพื่อให้เจ้านายฝ่ายเหนือใส่ฟ้อนรำรับเสด็จ นอกจากนี้ท่านเป็นคนคิดลายทอผ้าเอง เช่น ลายดอกพิกุล ผีเสื้อ ดอกชมนาท ลายกำแพงสูง เป็นต้น" คุณอุษากล่าว

เรียกได้ว่าวิสัยทัศน์ของพระองค์มีความคล้ายคลึงกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบันมากทีเดียวที่ทรงสนพระทัยในการสืบสานมรดกประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้าน

นี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งของพระราชชายาดารารัศมี พระราชชายา "องค์แรกและองค์เดียว" ของกรุงสยาม

**********
พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ ภายในค่ายดารารัศมี ตั้งอยู่อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลดีเด่นทางด้านอาคารอนุรักษ์เมื่อปี 2543 เคยเป็นที่ประทับของพระราชชายาในช่วงสุดท้ายของชีวิต โดยขณะที่ป่วยพระองค์ได้ย้ายจากที่นี่ไปประทับยังคุ้มของเจ้าแก้วนวรัตน์จนสิ้นพระชนม์ที่นั่น

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงสิ่งของและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับพระราชชายาดารารัศมีครอบคลุมเกือบทุกด้าน เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมในวันอังคาร-วันเสาร์ ตั้งแต่ 9.00-17.00 น.หยุดวันอาทิตย์ วันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ราคาค่าเข้าชม 20 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-5329-9175

เอกสารประกอบการเขียน
"ดารารัศมี" โดย นงเยาว์ กาญจนจารี, "พระราชชายาเจ้าดารารัศมี" โดย หนาน อินแปง




กำลังโหลดความคิดเห็น