ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริที่ต้องการตั้งโรงเรียนสายอาชีพขึ้นมาสักแห่งหนึ่ง โดยเปิดสอน 3 สาขาคือ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ การจัดการธุรกิจค้าปลีกและช่างอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเป็นสาขาพื้นฐาน นักเรียนเมื่อเรียนจบไปแล้วสามารถหางานทำได้และตลาดยังมีความต้องการบุคลากรด้านนี้จำนวนมาก
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ต้องการให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนต้นแบบและทรงโปรดเกล้าฯให้ใช้ชุดนักเรียนเหมือนจิตรลดา เพื่อผลิตนักเรียนที่มีความสามารถด้านวิชาชีพ ชนิดที่ว่า นักเรียนที่ผ่านรั้วจิตรลดาสาขาวิชาชีพต้องมีความรู้และปฏิบัติงานจริงได้
นี่คือ จุดเริ่มต้นของ โรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) ที่เสมือนหนึ่งเป็นทฤษฎีทางการศึกษารูปแบบใหม่ที่น่าสนใจอย่างมาก
จุดเริ่มต้นจิตรลดาวิชาชีพ
ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) เล่าพร้อมกับรอยยิ้มว่า พระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องการมาระดมสมองพอสมควร เริ่มตั้งแต่เรื่องการหาสถานที่เพราะเหลือเวลาอีกไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องสถานที่ก็คลี่คลายไปเมื่อสมเด็จพระเทพฯ ทรงแนะนำให้ใช้พื้นที่บริเวณชั้น 2 และ 3 ของร้านสหกรณ์พัฒนา (ตรงข้ามวัดเบญจมบพิตรฯ ) ซึ่งขณะนั้นเป็นตึกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาปรับปรุงให้เป็นโรงเรียน
เมื่อได้สถานที่แน่นอนแล้ว ก็ให้วิศวกรออกแบบภายในเพื่อให้เหมาะสมเป็นห้องเรียน โดยต้องการให้เป็นห้องเรียนที่มีลักษณะโปร่งใส คนภายในห้องและนอกห้องเรียนสามารถเห็นได้หมดว่ากำลังทำอะไรอยู่ รวมถึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำ "ห้องสมุด" เพื่อให้เด็กๆ ได้เข้าไปศึกษาและค้นคว้าหาความรู้
ในระหว่างที่ปรับปรุงร้านสหกรณ์พัฒนานั้น ได้ขอความร่วมมือไปยังคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวมทั้งตระเวนดูวิธีการเรียนการสอนโรงเรียนเทคนิคปทุมธานีและอีกหลายโรง ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี และทำให้เห็นจุดเด่นจุดด้อยมากมาย
"ช่วง 5 เดือนทุกคนต้องทำงานค่อนข้างหนักเพราะมีเงื่อนเวลาโรงเรียนจิตรลดา สาขาวิชาชีพ ให้ทันปีการศึกษา 2547 ดังนั้น เราต้องเตรียมบุคลากร ซึ่งบุคลากรสายวิชาชีพส่วนหนึ่งคณะกรรมการการอาชีวศึกษาคัดเลือกบุคลากรระดับ "หัวกะทิ" ในแต่ละสาขามาให้ ส่วนวิชาสามัญได้ครูจากโรงเรียนจิตรลดามาสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม อังกฤษ ภาษาไทย"
...ถึงแม้ว่าจะมีเวลาเตรียมตัวในทุกด้านเพียง 5 เดือน ท้ายที่สุดโรงเรียนจิตรลดา สาขาวิชาชีพ ก็เปิดทันปีการศึกษา 2547 โดยปีแรกทางโรงเรียนประกาศรับสมัครเพียง 2 วัน มีนักเรียนจากทั่วประเทศมาสมัครเยอะพอสมควร แต่เมื่อผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วทางโรงเรียนคัดเลือกได้เพียงแค่ 53 คนเท่านั้น
ส่วนคุณสมบัติของผู้สมัครเรียนในโรงเรียนจิตรลดา(วิชาชีพ) จะต้องจบ ม. 3 หรือเทียบเท่า จากนั้นจะต้องผ่านการทดสอบวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และสัมภาษณ์
"จริงๆ แล้วมีเด็กผ่านการทดสอบทางวิชาการจำนวนมาก แต่เรามาคัดกรองเด็กด้วยสัมภาษณ์แล้วสังเกตพฤติกรรมของเด็กพร้อมกับสอบถามประวัตินักเรียนเป็นรายคนจากโรงเรียน เพื่อประกอบการตัดสินใจให้เข้ามาเรียนในจิตรลดา และเดิมทีตั้งใจรับสาขาละ 32 คน เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เครื่องมืออย่างเต็มที่ หากรับทั้ง 3 สาขาในหนึ่งปีก็ 96 คน รวม 3 ปี เกือบ 300 คน"
สำหรับแผนการส่งเด็กเข้าสู่ตลาดแรงงานนั้น ท่านผู้หญิงอังกาบ เล่าว่า ขณะนี้ทางโรงเรียนเปิดสอนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช.เท่านั้น ซึ่งความจริงแล้ว การศึกษาระดับนี้ก็มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ แต่คนไทยส่วนมากยังยึดติดใบปริญญา ทำให้เด็กฝันใฝ่เรียนในระดับที่สูงขึ้น
ดังนั้น ทางโรงเรียนจึงสานฝันของเด็กไว้ล่วงหน้าใน 2 แนวทางด้วยกันคือ 1. เปิดในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) และ 2. ถ้าหากจิตรลดาไม่เปิดสอนในระดับ ปวส. ก็มีโรงเรียนเทคนิคหลายแห่งยินดีรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากที่นี่เข้าศึกษาต่อ
"จริงๆ แล้ว เรามีแผนการเพิ่มสาขาในระดับ ปวช. จากเดิมที่มีแค่ 3 สาขา นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายการเรียนการสอนในระดับ ปวส. ด้วย ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อให้เกิดความเหมาะสม เนื่องจากสถานที่ค่อนข้างคับแคบ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากเด็กขึ้นปี 2 ปี 3 เด็กจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนออกไปฝึกงาน ในสถานประกอบการจริงๆ เสมือนหนึ่งว่าเป็นพนักงานของสถานประกอบการแห่งนั้นเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม หากจัดตารางสอนให้ดีก็สามารถเปิดสอนจนถึง ปวส.ได้ ซึ่งตรงกับพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่มีพระราชประสงค์ให้โรงเรียนแห่งนี้มีถึงระดับ ปวส."
เจาะลึก 3 สาขาอาชีพ
อาจารย์สุรเดช สบายเมือง หัวหน้ากลุ่มงานวิชาชีพ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลักสูตรการเรียนการสอนใช้หลักสูตรเดียวกันกับของกระทรวงศึกษาธิการ เพียงแต่มีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย โดยได้รับบริจาคจากบริษัทเอกชนหลายแห่งส่งผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน
นอกจากนี้ ก็มีอาจารย์ที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นมาให้สอน ประกอบกับจัดหลักสูตรเสริมเข้าไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตเด็กออกมาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
"เด็กเรียนจากจิตรลดามีความรู้จริง ทำงานได้ เนื่องจากหลักสูตรของเราได้จัดให้นักเรียนออกไปฝึกงานกับบริษัทแถวหน้าของประเทศ อย่างเด็กที่เรียนวิชาการจัดการธุรกิจค้าปลีก เราส่งไปฝึกงานที่ เทสโก้โลตัส ส่วนเด็กที่เรียนคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ส่งไปฝึกที่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ทั้งนี้ มีเงื่อนไขกับบริษัทที่รับเด็กของเราไปฝึกงานจะต้องให้เด็กทุกคนลงมือทำงานจริงๆ ไม่ใช่ให้เด็กของเราเดินเอกสาร"
ด้าน อาจารย์เดชา ชุมทัพ หัวหน้าสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และช่างอิเล็กทรอนิกส์ เสริมว่า จริงๆ แล้วนักเรียนเมื่อเรียนจบปวช. เด็กๆ จะมีความรู้ความสามารถทำงานด้านคอมพิวเตอร์ได้ในระดับหนึ่ง สามารถเขียนเว็บไซต์ สร้างสื่อการเรียนการสอน ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ สร้างเว็บเพจ ใช้โปรแกรมกราฟิก สร้างภาพเคลื่อนไหว ตกแต่งภาพได้อย่างมืออาชีพ แล้วรู้หลักการเขียนโปรแกรมเบื้องต้นจนถึงระดับ ADVANCE ฯลฯ และสามารถออกไปทำงานได้
อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีเท่าที่ควร เนื่องจากวุฒิภาวะและความรู้ยังน้อย ควรเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น
แต่กระนั้นก็ดี เด็กที่จบจากจิตรลดาจะมีข้อได้เปรียบและแตกต่างจากที่อื่นๆ ตรงที่มีโอกาสได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เด็กจะได้เรียนคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ล่าสุด เนื่องจากมีบริษัทเอกชนหลายแห่งให้การสนับสนุนแล้วให้เด็กเข้าไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างการฝึกงานในสถานที่จริง
อาจารย์เดชาบอกด้วยว่า ก่อนหน้าที่จะส่งเด็กไปฝึกงาน บริษัทเอกชนที่จะรับเด็กเข้าไปฝึกงาน จะต้องส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนั้นมาร่วมร่างหลักสูตรกับทางโรงเรียน เพื่อให้เป็นหลักสูตรเดียวกันหรือเนื้อหาของหลักสูตรมีทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกันระหว่างที่เด็กออกไปฝึกงานนั้น เด็กจะต้องกลับมาทำรายงานเชิงวิเคราะห์ด้วยว่าระหว่างฝึกงานได้อะไรบ้าง แล้วในอนาคตนำความรู้เหล่านี้ไปพัฒนาด้านใดได้บ้าง และช่วงที่เด็กออกไปฝึกงานนั้นจะมีครูคอยไปดูแลเด็กเผื่อว่าเด็กคนไหนมีปัญหาจะได้ปรึกษาคุณครูได้
"สิ่งที่เราสอน เป็นการปูพื้นฐานให้นักเรียนรู้จักอุปกรณ์ รู้จักการทำงาน ซ่อมอุปกรณ์เบื้องต้นฯลฯ ต้องบอกว่าเป็นสาขาวิชาที่กว้าง ยังไม่มีการแยกสาขาคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์สื่อสาร ส่งผลให้เด็กไม่รู้ลึก ถามว่าเด็กทำงานได้ไหม ผมคิดว่าทำได้แต่ยังไม่ได้ดีเท่าที่ควร แต่เด็กมีความรู้แน่นอนที่จะแก้ไขทางด้านการใช้เครื่องไม้เครื่องมือทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซ่อมแก้ปัญหาเบื้องต้นจนถึงประกอบคอมพิวเตอร์ได้"
"อย่างไรก็ดี กรณีที่เด็กที่ไม่ได้เรียนต่อในระดับสูงแล้วต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง ทางจิตรลดา จึงเสริมหลักสูตรระยะสั้น ซ่อมโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ไว้ด้วย เพราะปัจจุบันมีผู้ซ่อมอยู่ไม่มาก ขณะที่ลูกค้าต้องการซ่อมจำนวนมาก"
ส่วน อาจารย์อาภาภรณ์ เทียนขาว หัวหน้าสาขาธุรกิจค้าปลีก และหัวหน้างานปกครอง กล่าวว่า เด็กที่เรียนสาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก อันที่จริงสาขานี้ก็อยู่ในสาขาของการตลาด เพียงแต่แตกย่อยเพื่อจะเจาะลึกให้ตรงกับกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
อย่างไรก็ตาม นักเรียนที่เรียนสาขาค้าปลีกตลอด 3 ปีถือว่าเรียนหนักกว่าสาขาอื่นที่เราเปิดสอน และสิ่งที่ได้มากกว่าคนอื่น จะได้ ภาษาจีน โดยสมเด็จพระเทพฯ ทรงรับสั่งว่าภาษาจีนเป็นภาษาที่สำคัญในการติดต่อค้าขาย
ดังนั้น ทางจิตรลดาจึงจัดหลักสูตรให้เด็กเรียนภาษาจีน 4 ตัวซึ่งอาชีวะทั่วไปไม่สอนภาษาจีนเลย ส่วนภาษาอังกฤษได้มากเหมือนกับเด็กเรียนสาขาคอมพิวเตอร์และยังได้เรียนคอมพิวเตอร์อีก 5 ตัว
"ถ้าถามว่าสาขาไหนเรียนหนักที่สุด ถ้าเป็นด้านวิชาการก็ต้องค้าปลีก คือเด็กเรียนวิชา 1 ปีเต็ม พอเรียนปี 2 เด็กจะเริ่มออกไปฝึกงาน เรากำหนดให้เด็กออกฝึกงานทั้งหมด 3 เทอม อย่างไรก็ดี เด็กยังเรียนวิชาการควบคู่ไปด้วย การที่เด็กเข้าไปฝึกงานเด็กจะได้ความรู้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะฝึกงานทั้ง 5 วันเต็ม ในเทอม 3 เด็กฝึกงาน 2 วันเรียนที่โรงเรียน 3 วัน ส่วนเทอม 4 กับ 5 ฝึกงาน 3 วันเรียน 2 วัน"
" เมื่อเด็กฝึกงานครบแล้ว เทอมสุดท้ายเด็กจะกลับมาอยู่กับเรา แล้วจะให้เขียนโครงการว่าออกไปฝึกงานกลับมาแล้วได้อะไรบ้าง และสร้างโครงการเป็นร้านค้าเล็กๆ ที่น่าจะเป็นไปได้ เช่น ต้องดูทำเลและค่าใช้จ่ายโดยประมาณ พูดง่ายๆ ว่าเหมือนเด็กกำลังจะออกไปตั้งร้านของตัวเอง คาดการณ์ว่าจะมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละเท่าไหร่"
เด็กคือสมาชิกของครอบครัวจิตรลดา
อาจารย์อาภาภรณ์ กล่าวในฐานะฝ่ายปกครองว่า เนื่องจากในเบื้องต้นมีเด็กนักเรียนเพียง 53 คน การดูและติดตามความประพฤติของเด็กๆ จึงเป็นไปอย่างใกล้ชิด แต่ที่สำคัญก็คือ เด็กเหล่านี้ได้ผ่านการคัดเลือกมาเป็นอย่างดี เนื่องจากสมเด็จพระเทพฯ มีพระดำรัสว่า เด็กที่เรียนอ่อนๆ เรียนไม่เก่งเราสามารถทำให้เขาเรียนจบได้ แต่เด็กที่มีความประพฤติไม่ดี เด็กเกเร สอนยาก
ดังนั้น ระหว่างการสัมภาษณ์ทางจิตรลดาจะตรวจสอบความประพฤติของนักเรียนทุกคนจากโรงเรียนเดิมที่เด็กเรียนอยู่ ด้วยการโทรศัพท์สอบถามครูประจำชั้น รวมไปถึงผู้ปกครองด้วย ถ้าดูแล้วไม่ดี ก็ไม่รับแม้ว่าเด็กคนนั้นจะเรียนดีหรือเรียนเก่งสักเพียงใดก็ตาม
ครั้นเด็กมาอยู่ในความปกครองของจิตรลดา หน้าที่ของฝ่ายปกครองอันดับแรกต้องติดต่อผู้ปกครองแบบตามติด ยกตัวอย่าง เด็กมาสายอาจารย์จะโทรศัพท์ถามผู้ปกครองทันที หากพบว่าเด็กป่วยจะโทร.ถามอาการทันทีแล้ววันรุ่งขึ้นต้องส่งใบลา ใบรับรองแพทย์ ส่วนหลังเลิกเรียนอาจารย์จะมายืนส่งเด็กขึ้นรถโดยสารประจำทางจนเด็กคนสุดท้ายขึ้นรถ
"ตอนแรกทั้งผู้ปกครอง เด็ก รู้สึกอึดอัดว่าทำไมต้องติดตามพฤติกรรมกันขนาดนี้ พอเข้าใจว่าอาจารย์ทุกท่านรัก ห่วงใยเด็กเหมือนลูก เหมือนสมาชิกครอบครัว ระยะหลังผู้ปกครองกลับโทร.มารายงานว่าวันนี้ลูกกลับถึงบ้านกี่โมง อย่างไรก็ตาม ตลอด 1 เทอมยังไม่พบว่ามีเด็กเกเร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเครื่องแบบจิตรลดาที่พวกเขาใส่อยู่"
ความฝันของเด็กจิตรลดา
เมื่อได้รับทราบแนวความคิด จุดกำเนิด ระบบการเรียนการสอนเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ลองมาฟังความคิดของเด็กๆ กันบ้าง
เริ่มจาก สกนธ์อาจ วงศ์ช่างหล่อ หรือ นัณฑ์ นักเรียนสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ที่เล่าให้ฟังว่า อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ อยากเขียนโปรแกรมหรือไม่ก็คิดเกมขึ้นมาเองโดยไม่ลอกเลียนแบบของต่างชาติ หรือไม่ก็เปิดร้านเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อาจรับซ่อมแล้วเปิดเป็นร้านเกม
"ผมคิดว่าคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งจำเป็นของคนเมือง สังเกตได้ว่าบ้านหนึ่งอย่างน้อยมีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง แล้วส่วนใหญ่ใช้เป็นแต่พอมีปัญหาแก้ไม่เป็น ดังนั้น ธุรกิจซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วเสริมรายได้ด้วยการเปิดร้านอินเทอร์เน็ต เกม น่าจะอยู่ได้ โดยจะมีจุดขายที่เกมของผมจะไม่เหมือนที่อื่น จะคิดขึ้นมาเอง อย่างไรก็ตาม ฝันของผมคงต้องรออีกหลายปี เพราะตั้งใจเรียนจนจบปริญญาตรีก่อนจึงจะสร้างธุรกิจนี้ แต่ระหว่างเรียนผมจะหาเวลาคิดค้นเกมสไตล์ไทยไว้ด้วย"
ส่วน นันทพล สุขชาวนา หรือ ต๊อบ นักเรียนสาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก เล่าว่า คงนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาไปสานต่อกิจการของครอบครัว นั่นก็คือ กิจการค้าข้าว ขนาดเล็กที่คุณพ่อคุณแม่บริหารจัดการกันเองทุกอย่าง เพราะเป็นลูกคนเดียวซึ่งเป็นความหวังของครอบครัวและต้องเป็นผู้รับมรดกค้าข้าวจากครอบครัว
"ตอนนี้ ต๊อบ เข้าไปช่วยท่านทำบัญชีการซื้อขายข้าว ทำให้รู้ว่ารายได้ของครอบครัวไม่มากนักหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ต๊อบ มาคิดว่าควรมีการขยายตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยส่งข้าวไปขายยังต่างประเทศ จุดนี้เป็นความฝันที่ห่างไกลพอสมควร เนื่องเพราะต้องใช้ทุนสูง หากทำไม่ได้ผมอาจพลิกผันมาส่งขายตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าปลีกแทน ถ้าเจาะตลาดได้ครอบครัวของเราก็มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน"
ขณะที่ ภชคินทร์ วัสสนธิ์ นักเรียนสาขาช่างอิเล็กทรอนิกส์ บอกว่า ไม่เคยตั้งใจเรียนอิเล็กทรอนิกส์มาก่อน จนกระทั่งปีที่ผ่านมาช่วงปิดภาคเรียนได้ไปเรียนโรงเรียนแสงทอง ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนซ่อมวิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และอื่นๆ พอเรียนไปแล้วรู้สึกชอบแล้วคิดว่าน่าจะเป็นช่องทางหารายได้มาใช้จ่ายส่วนตัว โดยทางบ้านเกือบไม่ต้องจ่ายขนมในวันหยุดแถมยังมีเงินเก็บส่วนหนึ่ง ซึ่งจะเก็บสะสมไว้เป็นทุนสำหรับเปิดร้านอินเทอร์เน็ตหรือร้านซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
"ทุกวันนี้วันเสาร์วันอาทิตย์ผมรับจ้างซ่อมงานไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เดินสายไฟ ซึ่งมีรายได้เป็นค่าขนมและผมคิดว่าการลงมือทำงานจริงเป็นการสั่งสมประสบการณ์ เพราะยิ่งทำมากยิ่งมีความเชี่ยวชาญ" ภชคินทร์ บอก
...โรงเรียนจิตรลดา สาขาวิชาชีพ กำลังจุดประกายแนวคิดเยาวชนรุ่นใหม่เกิดความคิดริเริ่มก่อร่างสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง บ้างก็นำความรู้มาพัฒนาสิ่งแปลกใหม่โดยไม่ลอกเลียนแบบต่างชาติ
ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2548 ทางโรงเรียนมีกำหนดการเปิดรับสมัครนักเรียน รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-4 มีนาคม 2548