xs
xsm
sm
md
lg

โลกตกสำรวจของนักโบราณคดีใต้น้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ข่าวการค้นพบเครื่องสังคโลกและภาชนะดินเผาอื่นๆ จากเรือโบราณ ซึ่งจมอยู่บริเวณอ่าวไทย ใกล้กับเกาะคราม เมื่อปี 2517 หรือ 30 ปีก่อนกระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ทั่วโลกรู้ว่าประเทศไทยก็มีทรัพย์สินใต้ทะเล และช่วงนั้นเองมีผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลเพื่อเข้ามาขุดหาสมบัติอันล้ำค่าไปขายแก่พวกนิยมของเก่า

ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการการทำงานที่เรียกว่า โบราณคดีใต้น้ำในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่สำรวจสมบัติที่จมอยู่ใต้ท้องทะเล ซึ่งเป็นหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การติดต่อค้าขายทางทะเล ตลอดจนสินค้านานาชนิดที่อยู่ในเรือ แหล่งผลิตสินค้า เทคโนโลยีการต่อเรือ การเดินเรือ การทำสงคราม และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเรือ และเมืองท่าต่างๆ ในประวัติศาสตร์ทั้งของประเทศและของภูมิภาค นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ปกป้องไม่ให้นักล่าสมบัติมานำสมบัติเหล่านี้ไปขายด้วยการปักเครื่องหมายห้ามเข้า

โลกการทำงานของเขา เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ท้าทาย และต้องอาศัยความกล้าหาญเป็นที่ตั้ง แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน งานโบราณคดีใต้น้ำไม่ได้รับความสนใจจากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมากนัก


สัมผัสชีวิตนักสืบค้นสมบัติใต้ผืนน้ำ

ทันทีที่นักสำรวจลงไปแช่อยู่ในน้ำ นั่นหมายความว่า กำลังเริ่มต้นก้าวเข้าสู่ภาวะเสี่ยงภัยอันตรายซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกเสี้ยววินาที แต่พวกเขาไม่อาจปฏิเสธได้เพราะมันคือหน้าที่ที่รับผิดชอบ ที่สำคัญทุกคนมีใจรักการผจญภัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้วและตั้งใจสืบค้นสมบัติใต้พิภพที่จมอยู่นานแสนนานนำขึ้นมาจากท้องทะเลให้จงได้

เอิบเปรม วัชรางกูร หัวหน้ากลุ่มวิชาการโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม หัวหอกของโบราณคดีใต้น้ำ บอกถึงความตั้งใจของทีมงานและเล่าด้วยแววตาเศร้าว่า ครั้งแรกที่มีชาวประมงมาแจ้งว่าพบเรือโบราณจมอยู่บริเวณเกาะคราม กรมศิลปากรได้ขอความร่วมมือจากกองทัพเรือ จัดส่งเรืออุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการใต้น้ำมาช่วยดำเนินงานกู้โบราณวัตถุเครื่องถ้วยชาม แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับทหารเรือคนหนึ่งที่มาช่วยค้นหาสมบัติทำให้ทุกวันนี้เขาต้องกลายเป็นอัมพาตตลอดชีวิต

เหตุการณ์ครั้งนั้นนับว่าเป็นบทเรียนให้กับทุกคนต้องระมัดระวังตัวระหว่างปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอุปกรณ์ที่ต้องตรวจสอบความพร้อมว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์สามารถหยิบฉวยลงทำงานได้ทันที คือต้องเร่งสำรวจให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน

“ต้องบอกว่าเราขาดทุกอย่าง ทั้งคน ทั้งอุปกรณ์ ขณะที่สำนักโบราณคดีเจียดงบประมาณมาให้น้อยเต็มที ทำให้ทุกคนเป็นทั้ง “นักประดิษฐ์” และ “ช่างซ่อม” ชนิดหาตัวจับยาก อุปกรณ์การทำงานใต้น้ำหลายอย่างประดิษฐ์เอง รถบรรทุกคู่ชีพ อุปกรณ์ดำน้ำ เรือยาง ฯลฯ”

เอิบเปรม เล่าให้ฟังว่า การดำน้ำลึกระดับ 100 เมตรขึ้นไปมีอัตราเสี่ยงสูง ยิ่งดำลึกมากเท่าไหร่ สมองจะสั่งการช้าลง เกิดจากตัวแปรหลายอย่าง จากความกดอากาศของน้ำ ร่างกายของนักสำรวจ อุปกรณ์ดำน้ำ นอกจากนี้ยังมีภัยอันตรายจากสัตว์น้ำอีกด้วย

“ก่อนออกไปปฏิบัติการสำรวจทุกครั้งจะเช็กสภาพภูมิอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาหรือกองทัพเรือ หากท้องฟ้าแจ่มใสก็จะแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนโดยให้ชุดหนึ่งอยู่บนเรือประมาณ 4 คน ส่วนที่เหลือจะไปเป็นคู่แล้วแยกย้ายกันลงไปสำรวจ แล้วระหว่างสำรวจถ้ามีเหตุการณ์ผิดปกติใต้น้ำจะกระตุกเชือกแรงเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ที่อยู่บนเรือลงไปช่วยได้ทันท่วงที โชคดีที่อ่าวไทยของเราไม่มีสัตว์น้ำดุร้าย อย่างฉลามกินคนเหมือนต่างประเทศ”

การค้นหาสมบัติทางทะเลต่างจากการสำรวจหลักฐานบนดิน อย่างระหว่างขุดดินหากได้ยินเสียงผิดปกติ(สัตว์หรือคน) ก็จะวิ่งหนีหรือใช้อาวุธป้องกันตัวเองได้ ตรงกันข้ามอยู่ใต้น้ำ ทุกคนเหมือนเป็นเป้านิ่ง

สมมติว่าบริเวณที่สำรวจมีลักษณะน้ำขุ่น การมองเห็นภัยก็ต่อเมื่อภัยนั้นมาถึงตัวแล้ว ซึ่งหมายความว่า อาจหนีไม่ทัน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าน้ำจะขุ่นหรือใส ทุกคนก็ต้องทำงานและทำงานในลักษณะของทีมโดยลงสำรวจครั้งละ 2 คน เผื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นจะได้ช่วยเหลือกันได้ทันท่วงที พร้อมกันนี้จะดำน้ำครั้งหนึ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพราะแค่นี้ร่างกายก็ล้าจนต้องการพักผ่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม นับว่าโชคดี ที่ในปี 47 งานโบราณคดีใต้น้ำได้รับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนจึงได้นำไปซื้อเทคโนโลยีดำน้ำทันสมัยกว่าในอดีตมีอุปกรณ์การดำน้ำแบบวงจรเปิดด้วยแก๊สผสมออกซิเจนสูง (Enrich Air Nitrox) ที่สามารถดำน้ำลึกได้ถึง 150 ฟุต สามารถดำน้ำด้วยเครื่องผสมแก๊สอัตโนมัติ (Closed Circuit Trimix Gas Rebreather) ซึ่งจะทำให้ดำน้ำลึกมากกว่า 150 ฟุต จนถึง 300 ฟุต ขึ้นไปดำติดต่อกันได้เป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังได้วิทยากรจากต่างประเทศซึ่งความเชี่ยวชาญในการดำน้ำและการใช้อุปกรณ์มาสอนให้

“แม้เราจะมีอุปกรณ์ดำน้ำจะทันสมัย ดำน้ำได้ลึกและดำได้นานจะปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนลงดำน้ำสำรวจขุมทรัพย์พวกเราทุกคนจะต้องเตรียมพร้อมโดยเฉพาะสุขภาพร่างกาย ต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ต้องบอกว่าไม่อึด สุขภาพไม่แข็งแรงจริงๆ จะมาเป็นนักโบราณคดีใต้น้ำไม่ได้ ลองเปรียบเทียบกับการวิ่ง 100 เมตรยังรู้สึกเหนื่อยเหงื่อซึมออกมาทางผิวหนัง ขณะที่การดำน้ำยิ่งลึกมากเท่าไหร่จะรู้สึกว่ามีแรงต้านเพิ่มขึ้น ต้องใช้กำลังแขนขาแหวกว่ายไปข้างหน้ามากขึ้น” หัวหน้านักวิชาการโบราณคดีใต้น้ำ บอกว่า เทคโนโลยีมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ใช่ว่านักสำรวจจะปลอดภัย 100 % เพียงแต่เซฟชีวิตได้มากขึ้นเท่านั้น”

อาจารย์เอิบเปรม เล่าว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีคณะทำงานเพิ่งสำรวจได้เพียง 46 แห่งและยังไม่มีแห่งไหนเลยที่สำรวจเต็มร้อย อย่างเกาะครามซึ่งเป็นสถานที่แรกที่เริ่มงานสำรวจ ก็ เพิ่งสำรวจไว้เพียง 30% แล้ววางผังสี่เหลี่ยม ในขณะที่การแจ้งความประสงค์ให้ทีมงานเข้าไปสำรวจมีมากกว่า 100 แห่ง

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้การทำงานก้าวหน้าไปอย่างเชื่องช้าเนื่องด้วยข้อจำกัดของอุปกรณ์และทีมหนึ่งสามารถลงไปสำรวจไม่เกิน 2 ชั่วโมง ถ้าเข้าฤดูฝนก็มีอุปสรรคทางธรรมชาติ โดยจะมีคลื่นลมแรงมาก เพราะอันตรายเกินไปที่จะลงสำรวจท่ามกลางพายุคลื่นสูงเท่ากับตึก 3 ชั้น มันไม่คุ้มกับชีวิต ดังนั้นระหว่างที่หยุดสำรวจยาวนานถึง 3 เดือน

“ผมคิดว่าสำรวจได้เท่านี้ถือว่าสุดยอดแล้ว ลองเปรียบเทียบคนทำงานมีแค่ 12 คน แต่ช่วงเวลาที่หยุดพัก พวกเราไม่ได้นั่งนอนอยู่เฉยๆ เราใช้เวลาดังกล่าวมาประดิษฐ์อุปกรณ์และซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ ที่ชำรุดให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเมื่อหมดฤดูฝน”

ขาดแคลนนักโบราณคดีใต้น้ำ

ปัญหาขาดแคลนนักโบราณคดีใต้น้ำไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น ต้องพูดว่าปัญหานี้เริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นเลยทีเดียว คงไม่มีประเทศไหนเมืองไหนที่มีเพียงนักโบราณคดีใต้น้ำ 2 ชีวิตที่จะต้องสำรวจไปทั่วประเทศ แต่ก็ยังดีที่ได้กำลังพลจากกองทัพเรือมาเสริม 10 คน

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้...

ครั้งแรกกรมศิลปากรจัดตั้งหน่วยงานโบราณคดีใต้น้ำขึ้น แถวสัตหีบ ต่อมาได้ย้ายไปปักหลักมั่นคงที่ค่ายเนินวง จังหวัดจันทบุรี มีชื่อเป็นทางการว่า กลุ่มวิชาการโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยมีเอิบเปรมเป็นหัวหน้างาน

การสำรวจ “เรือคราม” ในยุคตั้งไข่นั้นมีข้อจำกัดมากมาย ทั้งแง่การทำทะเบียนโบราณวัตถุ การวิเคราะห์-ตีความข้อมูลหลักฐาน ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการดำน้ำ และสำคัญที่สุดคือ ขาดนักโบราณคดีใต้น้ำ

อย่างไรก็ตาม หลังรอคอยมาเกือบ 30 ปีโบราณคดีใต้น้ำเพิ่งได้รับการอุดหนุนจากภาคเอกชนจำนวน 5 แสนบาท เพื่อนำมาใช้ปฏิบัติการขุดค้นแหล่งเรือคราม ซึ่งนับจากนี้ไป การสำรวจเรือครามคงฟื้นคืนชีพขึ้นอีกครั้งหลังจากสำรวจไว้เพียง 30 %

“ตอนนี้เรามี เครื่องถ้วยสุโขทัยทั้งแบบเคลือบเขียว และแบบเขียนลายดำใต้เคลือบ เครื่องถ้วยเวียดนามประเภทเคลือบสีเขียวจำนวนมาก งาช้าง ฯลฯ และเชื่อว่ามีสมบัติอันล้ำค่าอยู่ในเรือลำนี้อีกจำนวนมาก และนี่คือสิ่งที่พวกราใฝ่ฝันเหลือเกินที่จะกลับไปขุดค้นเรือครามให้แล้วเสร็จ เพราะข้อมูลจากแหล่งเรือครามจะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการยืนยันประวัติศาสตร์การติดต่อค้าขายทางสำเภาในสมัยอยุธยาอย่างดี”

แม้ความฝันของเหล่านักโบราณคดีใต้น้ำกำลังสดใส แต่สภาพความเป็นจริงที่เห็นและเป็นอยู่ก็ต้องบอกว่า ยังมีปัญหามากมาย

หน่วยงานแห่งนี้มีนักดำน้ำเพียง 12 คนเท่านั้น แยกเป็นนักโบราณคดี 2 คน ที่เหลือเป็นช่างสำรวจระดับเก๋า ส่วนใหญ่โอนย้ายมาจากกองทัพเรือ คนเหล่านี้รับผิดชอบแหล่งโบราณคดีใต้น้ำทั่วประเทศ ทั้งทะเล แม่น้ำลำคลอง เขื่อน สรุปง่ายๆ ที่ไหนมีน้ำ หน่วยนี้รับผิดชอบทั้งหมด

เอิบเปรม อธิบายคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นนักโบราณคดีใต้น้ำว่า ไม่ใช่เลือกคนว่ายน้ำเป็น ดำน้ำเก่งอย่างเดียวจะสามารถมาทำหน้าที่นี้ได้ ต้องมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ด้วย ไม่อย่างนั้นเวลาพบสิ่งของมีค่าชิ้นหนึ่งก็ระบุไม่ได้ว่าของชิ้นนั้นสร้างขึ้นในยุคใด ถ้าหากมีความรู้เกี่ยวกับการถ่ายรูปใต้น้ำได้ยิ่งดีใหญ่ เพราะทุกครั้งที่พบจะต้องทำการบันทึกภาพทุกอย่างว่าอยู่บริเวณไหนของเรือ นอกจากนี้ภาพเหล่านี้ยังช่วยให้รู้ว่าสร้างขึ้นสมัยใดอีกด้วย

“วันนี้เรามีอุปกรณ์ดำน้ำไฮเทค ทว่า ยังขาดคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยสานงานต่อ ผมไม่อยากให้เหลือเพียงชื่อ จึงได้ประสานงานกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยจัดหลักสูตรโบราณคดีใต้น้ำเสริมแก่นักศึกษามาหลายปีแล้ว กระทั่งช่วงปิดเทอมมีนักศึกษาหลายคนสนใจร่วมลงไปสำรวจกับคณะของเราด้วย ตรงนี้เป็นงานท้าทายความสามารถของเด็กรุ่นใหม่ หลายคนอยากทำงานกับเราติดขัดอยู่ที่สำนักงบประมาณบอกว่าไม่มีงบจ้างให้ชะลอไว้ก่อน ผมฟังคำนี้มากว่า 10 ปีแล้ว หรือว่าจะรอจนกว่าคณะของเราเกษียณราชการ”

“งานโบราณคดีใต้น้ำมีความสำคัญระดับชาติกลับบอกว่าไม่มีงบให้ อยากให้ผู้มีอำนาจไตร่ตรองมากกว่านี้ หรือหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม การเพิ่มอัตรากำลังในส่วนที่ขาดแคลนแล้วไปลดบุคลากรที่นั่งโต๊ะบางจุดที่มองว่าไม่มีผลกระทบต่อการทำงาน ทุกวันนี้ ผู้ใหญ่เสนอทางออกให้ด้วยการรับเด็กเหล่านี้ในตำแหน่งอัตราจ้าง สัญญาจ้างปีต่อปี กินเงินเดือนไม่สูงนัก ลองนึกดูพวกเขาต้องเสี่ยงภัยแต่ไร้สวัสดิการ พ่อแม่ที่ไหนจะยอมให้ลูกลำบาก ทั้งๆ ที่ควรบรรจุในตำแหน่งข้าราชการประจำ”

...ที่น่าเศร้าใจก็คือ ขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไทยไม่ให้ความสำคัญกับงานโบราณคดีใต้น้ำ ตรงกันข้ามกลับเป็นที่สนใจและมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ขนาดที่ ศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA) ขอให้เป็นครูฝึกอบรมโบราณคดีใต้น้ำให้กับนักโบราณคดีและช่างเทคนิคจากประเทศสมาชิกองค์กรรัฐมนตรีศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึง 7 ครั้ง มากกว่า 100 คน

นอกจากนี้ยังได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมองค์กรระหว่างประเทศ เรื่อง “ความร่วมมือในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ” ณ สำนักงานใหญ่ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีข้อตกลงและข้อพึงปฏิบัติร่วมกันระหว่างประเทศภาคีสมาชิกในการคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ โดยไม่แสวงหาผลประโยชน์ด้วย

********

พิพิธภัณฑ์บางกะไชย ความฝันของโบราณคดีใต้น้ำ

ถ้าติดตามข่าวของโบราณคดีใต้น้ำอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 30 ปี พบขุมทรัพย์ใต้ทะเลมากมายนับไม่ถ้วน แต่ยังไม่เคยนำสมบัติเหล่านั้นขึ้นมาจัดแสดงในลักษณะพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาลจนไม่สามารถคำนวณได้อย่างชัดเจน

อาจารย์เอิบเปรม อธิบายให้ฟังว่าเหตุใดต้องใช้เงินจำนวนมากว่า สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่อยู่ในน้ำนั้นเราจะเห็นว่าสมบูรณ์ 100% เพราะความเค็มของน้ำรักษาสิ่งของเหล่านั้นเอาไว้ แล้วถ้าหากต้องการนำสิ่งของขึ้นมาจัดแสดงจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ หลายขั้นตอน

ยกตัวอย่างถ้วยชามสังคโลก เมื่อนำขึ้นมาจะต้องแช่น้ำเค็มไว้ระยะหนึ่งแล้วค่อยๆ เปลี่ยนน้ำให้มีความเค็มน้อยลงเรื่อยๆ จนกว่าความเค็มในภาชนะเหล่านี้ลดลงจนปกติ ถึงจะนำมาตั้งโชว์ได้โดยไม่แตกหักเสียหาย “ถ้านำถ้วยชามสังคโลกขึ้นมาจากน้ำและไม่ผ่านกระบวนการลดความเค็มความชื้นในภาชนะ ไม่นานภาชนะนั้นก็จะแตก ซึ่งเป็นการทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์”

จากนั้น อาจารย์เอิบเปรม เล่าให้ฟังว่า เมื่อปีที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนตำบลบางกะไชย ซึ่งเป็นแหล่งที่เราค้นพบซากเรือโบราณล่าสุด เข้ามาประสานงานอย่างสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นโดยนำสิ่งของที่สำรวจเจอมาจัดแสดง

“ผมบอกตัวเลขคร่าวๆว่าจะต้องมีเงินทุนอย่างน้อย 20 ล้านบาท เพื่อสร้างสถานที่รวมไปถึงกระบวนการนำสิ่งของต่างๆ มาผ่านกระบวนการปรับสภาพ ก่อนนำมาจัดแสดง”

“พอฟังตัวเลขเขาตกใจว่าทำไมจึงมากมายขนาดนั้น พอชี้แจงไปว่าไม่ใช่จ่ายครั้งเดียวแต่เป็นการทยอยจ่าย จากนั้นก็อธิบายถึงขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียด เริ่มจากสร้างอาคารเพื่อจัดแสดง ทำโมเดลเพื่อให้ผู้ที่เข้ามาชมรู้ว่าสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ นั้นอยู่บริเวณไหนของเรือ จากนั้นค่อยๆ ทยอยนำสมบัติใต้ทะเลขึ้นมาแล้วมาผ่านกระบวนการปรับสภาพความชื้นความเค็ม ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญยุ่งยากที่สุด”

อาจารย์เอิบเปรม เล่าพร้อมรอยยิ้มว่า อบต.ตอบตกลงจะพยายามหาเงินก้อนนั้นมาสร้างพิพิธภัณฑ์ คาดว่านับจากนั้นไปไม่เกิน 3 ปีจะเห็นพิพิธภัณฑ์ใต้น้ำบางกะไชยเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเป็นแห่งแรก อย่างไรก็ตาม ผมอยากเห็นแห่งที่ 2 ที่ 3 และต่อไป เชื่อว่าตรงนี้น่าจะเป็นจุดขายแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติที่สนใจประวัติศาสตร์ได้อย่างแน่นอน

“พวกเราทุกคนตั้งใจทำ museum บางกะไชย ให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางทะเล การดำเนินชีวิตของบรรพบุรุษที่มีการติดต่อค้าขาย ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ตั้งสิ่งของเครื่องใช้ที่งมจากทะเลแล้วมีป้ายชื่อให้อ่านเพียงอย่างเดียว” อาจารย์เอิบเปรม กล่าวถึงความฝันของคณะทำงานโบราณคดีใต้น้ำ







กำลังโหลดความคิดเห็น