xs
xsm
sm
md
lg

“บัณฑิต อึ้งรังษี” วาทยกรระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนไทยจำนวนไม่น้อยยังไม่รู้จักวาทยากร หรือ Conductor ยิ่งถ้าบอกว่า บัณฑิต อึ้งรังษี คนไทยส่วนใหญ่คงส่ายหัว ทั้งๆที่วันนี้ บัณฑิตคือ คนไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกในสาขาดนตรี

บัณฑิต อึ้งรังษี ผู้สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันวาทยกรระดับโลก “Maazel-Vilar Conductor’s Competition” ซึ่งจัดขึ้นที่ Carnegie Hall มหานครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 23-28 กันยายน 2545 โดยได้รับการตัดสินให้เป็นผู้ชนะเลิศร่วมกับวาทยกรสาวจากจีน

การแข่งขันวาทยกร Maazel-Vilar Conductor’s Competition ถือเป็นการแข่งขันของวาทยกรที่นับเป็นรายการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่และมีเกียรติสูงสุดในวงการอำนวยเพลงของโลก

สิ่งที่น่าภาคภูมิใจและมีคุณค่ามากว่าเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศที่สูงถึง 45,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2 ล้านบาท สัญญาจ้างงานกับวงออเคสตราชั้นนำที่บัณฑิตได้รับคือการได้ประกาศก้องให้ชาวโลกได้รับรู้และยอมรับซึ่งฝีมือคนไทยในวงการดนตรีคลาสสิกระดับโลก

...นี่คือความสำเร็จอันงดงามของ บัณฑิต อึ้งรังษี ศิลปินดาวรุ่งที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในฐานะแชมป์โลกทางการอำนวยเพลงหรือวาทยกร และทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักในฐานะวาทยกรหนุ่มผู้ทำหน้าที่อำนวยเพลงระดับแนวหน้าของโลก

วันที่บัณฑิตชนะการแข่งขัน หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ได้ลงรูปของบัณฑิตบนปก จากนั้นวงการดนตรีคลาสสิก ก็จารึกไว้ว่าบัณฑิตเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่สามารถผลักดันตัวเองมาจนถึงจุดสูงสุดนี้ได้

กว่าจะถึงวันนี้ของบัณฑิตที่คนไทยควรรู้จัก!!

บัณฑิต อึ้งรังษี วาทยากรไทยชื่อก้องโลกคนแรกของไทยคนนี้ เกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคา 2513 ปัจจุบันอายุ 34 ปี เป็นชาวอำเภอหาดใหญ่โดยกำเนิด บัณฑิตเริ่มก้าวเข้าสู่แวดวงดนตรีครั้งแรกเมื่อสมัยที่ยังเป็นนักเรียน ด้วยอายุเพียง 13 ปี โดยการเล่นกีตาร์คลาสสิก ระหว่างที่เรียนอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ, อัสสัมชัญพานิชย์ และตามด้วยการเรียนต่อที่เอแบค (มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ) จนอายุได้ 18 ปี บัณฑิตได้ไปชมการแสดงคอนเสิร์ต New York Philharmonic Orchestra (ปี พ.ศ.2531) โดยสุบิน เมห์ธา วาทยกรชาวอินเดียที่มาเปิดการแสดงในกรุงเทพฯ….นับตั้งแต่วินาทีนั้นที่วงออเคสตราเริ่มบรรเลงเพลง เปรียบเสมือนจุดประกายให้บัณฑิตก็ค้นพบตัวเองและตัดสินใจโดยทันทีว่าเขาต้องการที่จะเป็นวาทยกรผู้อำนวยเพลงระดับโลกให้ได้!!

ตอนนั้นบัณฑิตกำลังศึกษาอยู่คณะบริหารธุรกิจที่เอแบค ในชั้นปีที่ 2 อย่างไรก็ตามด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะเป็นวาทยกร ถึงแม้ว่าคนในครอบครัวจะทัดทานด้วยความเป็นห่วงว่า “คนที่ทำงานในสายอาชีพดนตรีมันไม่ค่อยมั่นคง ยิ่งจะไปเป็นคอนดักต๊กคอนดักเตอร์อะไรนี่ ไม่เคยเห็นคนไทยเขาอยากเป็นกันเลย แล้วจะทำได้หรือ?”

"ผมจึงหาวิธีโน้มน้าว ต่อรองสารพัดวิธี เพื่อให้ท่านยอม โดยการขอไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลียด้วยการเรียนแบบ 2 สาขาควบคู่กันไปเลยคือ สาขาการบริหารเพราะที่บ้านทำกิจการส่วนตัว ส่วนอีกด้านคือ สาขาดนตรี บัณฑิตยอมรับว่าเรียนสองอย่างพร้อมๆกันนั้นยากมาก เหนื่อยมาก เป็นการเรียนที่หนักมาก ถึงแม้จะโอนหน่วยกิตทั้งหมดจาดเอแบคมาแล้วก็ตามในที่สุดบัณฑิตก็สามารถเรียนจบได้รับปริญญาตรีในสาขาวิชาดนตรีรวมถึงสาขาการจัดการธุรกิจจาก University of Wollongong ประเทศออสเตรเลียจากนั้นได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาวาทยกรจาก University of Michigan ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งบัณฑิตเล่าว่า สาขาวาทยกรจะมีเฉพาะในระดับปริญญาโทเท่านั้น ดังนั้นตอนช่วงปริญญาตรีจะเรียนสาขาไหนก็ได้แต่ขอให้ได้พื้นฐานที่แน่นๆและเอื้อต่อการเรียนต่อด้านวาทกรก็ใช้ได้"

แต่ใช่ว่าใครก็สามารถเรียนปริญญาโทสาขาวาทกรได้ เพราะคุณต้องภาพเอาวิดีโอที่ใช้เป็นหลักฐานการคอนดักชั่นวงดนตรี (อำนวยเพลง) มาให้คณะกรรมการดูด้วย ซึ่งตอนนั้นบัณฑิตเพิ่งอายุ 23 ปีเท่านั้น แต่โชคดีที่เคยคอนดักชันมาหลายวงแล้วเมื่อตอนที่อยู่ออสเตรเลีย โดยเริ่มคอนดักชั่นครั้งแรกเมื่ออายุ 20 ปี

ประกอบกับวาทยกรเป็นสาขาที่มีคนอยากเรียนค่อนข้างเยอะ แต่คนที่ได้เข้าไปเรียนจริงๆจะน้อยมาก อย่างเช่น ตอนที่บัณฑิตสมัครนั้นมีทั้งสิ้น 300 คน รับแค่ 2 คนเท่านั้น “แค่จะเข้าเรียนนี่ก็เคี่ยวแล้ว และหลังจากได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนแล้ว ยังจะต้องแข่งกันด้วยว่าจะได้งานหรือเปล่า คือแต่ละงานก็มีคนสมัคร 300 คน ซึ่งเขาจะเลือกคนคอนดักชันแค่คนเดียวอยู่ดี เรียกได้ว่ามันเป็นสนามที่เหี้ยมมาก!!”

การเรียนในช่วงแรกก็เริ่มจากการใช้มือ ที่สำคัญแล้วเรายังต้องใช้สมองด้วย คือเมื่อเทคนิคการใช้มือลงตัวแล้ว เราต้องใช้สมองจินตนาการมองให้เห็นภาพว่าเสียงดนตรีนั้นๆมันควรออกมาแบบไหน ส่วนการใช้มือกับไม้นั้น ไม่ได้ต่างกันในแง่ของการสื่อความหมาย เพียงแต่การใช้ไม้จะช่วยให้นักดนตรีที่อยู่ในระยะไกลๆเห็นได้ชัดเจนกว่าการใช้มือ

และเมื่อฝึกฝนบ่อยๆ จะช่วยให้นักวาทยกรมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง ตามบุคลิกภาพของแต่ละคน เพราะเราเริ่มมีแนวความคิดเป็นของตัวเอง มันก็จะแสดงถึงความเป็นตัวของตัวเองนั่นแหละ ไม่ต้องไปพยายามค้นหาอะไรหรอก

บัณฑิต กล่าวย้ำว่า นักวาทยกรที่ดีต้องเป็นนักดนตรีที่ดี มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ความเป็นผู้นำ และมีระเบียบด้วย คือคุณต้องสามารถทำให้นักดนตรีจำนวนเป็นร้อยๆคนทำตามคุณได้ ที่สำคัญเราต้องรู้ว่านักดนตรีแต่ละประเทศเป็นอย่างไร เพื่อที่จะสามารถสื่อภาษาดนตรีกับพวกเขารู้เรื่อง เช่น อเมริกาเราต้องใช้รูปแบบหนึ่ง กับอีกประเทศหนึ่งเราต้องใช้คนละรูปแบบกัน

วาทะจากวาทยกรคนไทยหนึ่งเดียวในโลก

บางคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า “วาทยกร” เพราะบ้านเราอาชีพนี้ยังไม่ได้รับความนิยม และไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนเฉพาะทาง แต่ถ้าบอกว่าคือ คนที่ยืนอยู่หน้าวงดนตรีในมือข้างหนึ่งถือไม้แล้วออกลีลาฉวัดเฉวียนตวัดไม้ไปมา หลายคนก็คงพอจะนึกออกและร้องอ๋อออกมา

แต่ในระดับโลกแล้ว “วาทยกร” เป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับนับถือเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติ อีกทั้งรัฐบาลยังให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว ทว่าตรงข้ามกับบ้านเราก็เท่านั้นเอง และเมื่อเปรียบเทียบในเอเชียด้วยกันแล้ว ประเทศไทยเรายังตามหลังชาติอื่นอยู่เยอะเลย อย่างเกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น เขาไปไกลกว่าไทยเยอะแล้ว

บัณฑิต อธิบายว่า “วาทยกร” หรือ Conductor คือ คนที่ตีความหมายของบทเพลง ซึ่งจะเห็นภาพรวมทั้งหมดของวงดนตรี เพราะนักดนตรีนั้นจะเห็นเฉพาะตำแหน่งของตัวเอง ดังนั้นวาทยกรจึงมีหน้าที่ดึงความสัมพันธ์ของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นออกมาเพื่อสอดผสานรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน อาจกล่าวอีกนัยได้ว่า วาทยกร เป็นผู้ที่สื่อสารกับนักดนตรีด้วยภาษามือ เป็นเหมือนภาษาใบ้ที่ใช้กับดนตรี

พร้อมกันนี้วาทยกรต้องมีความเป็นผู้นำที่สามารถให้ความเชื่อมั่นแก่นักดนตรีได้ด้วย เสมือนผู้กำกับภาพยนตร์ หากผู้กำกับฯไม่เก่ง ผลงานที่ออกมาก็คงไม่ดี เช่นเดียวกันกับวาทยกร ถ้าไม่สามารถควบคุมวงดนตรีได้ งานนั้นก็ล่มเป็นแน่!!

อยากให้ประเทศไทยเป็นแบบนี้บ้าง

บัณฑิต กล่าวว่า เป็นที่น่าสนใจสำหรับวงการดนตรีคลาสสิกเป็นอย่างมากเนื่องจากผู้เข้ารอบ 4 คนสุดท้าย มาจากเอเชียถึง 3 คน ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น และจีน โดยระหว่างที่โลแรงค์ มาร์เซล ขึ้นประกาศชื่อผู้ชนะรางวัลเขาได้กล่าว ให้กับผู้ชมซึ่งเข้าฟังการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศว่า “ท่านทั้งหลาย กำลังได้เห็นความมหัศจรรย์ ความวิเศษสุดและนี่คือทิศทางที่จะเกิดขึ้นกับวงการดนตรีคลาสสิกในศตวรรษข้างหน้า”

ทั้งนี้บัณฑิตตระหนักดีว่า ดนตรีคลาสสิก ถือเป็นดนตรีชั้นสูง ที่ลึกซึ้งอมตะตลอดกาล เป็นที่ยอมรับในระดับสากลโลกด้วย แต่หาผู้ที่สามารถเข้าถึงแก่นของเพลงคลาสสิกได้ยากนัก ยิ่งในเมืองไทยด้วยแล้วการสนับสนุนทางด้านนี้แทบไม่มีเลย ไม่ได้เจาะจงเฉพาะดนตรีคลาสสิกเท่านั้น เพราะดนตรีแต่ละประเภทก็มีเสน่ห์ในตัวของมันเอง และยังช่วยกล่อมเกลาจิตใจของมนุษย์ได้อีกต่างหาก

บัณฑิตฝากในตอนท้ายว่า การเรียนดนตรี มีเคล็ดลับอยู่ง่ายๆแค่ 3 ข้อเท่านั้นคือ อาจารย์ดี หมั่นฝึกซ้อม และพรสวรรค์ และส่วนตัวเชื่อว่าคนไทยมีความสามารถมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติใดในโลกนี้เลย บางทีอาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำไป หากแต่ขาดการผลักดันที่เหมาะสมเท่านั้นเอง

ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และลงมือทำอย่างเต็มความสามารถ เหมือนที่เขาเคยเป็นมาก่อน กระทั่งทุกวันนี้ถ้าได้ทราบว่าเด็กคนไหนมีพรสวรรค์และสนใจในด้านดนตรีเช่นเดียวกับเขา จะให้การแนะนำและสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะอยากเห็นคนไทยก้าวไปยืนในระดับสากลเท่าเทียมต่างชาติได้

ขอยกตัวอย่าง เช่น “วาทยกร” ตอนนี้ที่ได้รับการยอมรับและเป็นคนไทย นอกจาก “บัณฑิต” แล้วยังไม่มีคนอื่นอีกเลย ถ้าอนาคตยังเป็นเช่นนี้เรื่อยไปคงน่าเสียดายแทนโอกาสดีๆที่ประเทศไทยจะได้รับยิ่งนัก

...ดูเหมือนว่าดนตรีคลาสสิกกับคนไทยยังคงห่างกันนัก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงยังห่างเหินกับวาทยกร ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายสนับสนุนหรือเห็นความสำคัญเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ ในที่สุดอาจไม่มีใครรู้จักวาทยกรที่เป็นคนไทยอีกเลยก็เป็นได้!!

************

คอนเสิร์ตการกุศลเทิดพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ
The Power of the Classic
Music of Destiny
บรรเลงโดย : The Orchestra Internazionale d’Italia
อำนวยการโดย : สุดยอดฝีมือวาทยกรชาวไทย บัณฑิต อึ้งรังษี
ครั้งแรกและครั้งเดียว ที่คุณจะได้สัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งท่วงทำนองอันสุนทรีย์ จากการร่วมบรรเลงฝีมือครั้งยิ่งใหญ่ของ 2 ชาติ 2 วัฒนธรรม ไทย-อิตาลี ที่สอดประสานกลมกลืนกันอย่างน่าอัศจรรย์
กับการแสดงสดฉลอง 72 พรรษา มหาราชินี ที่จะสร้างความประทับใจให้คุณมิรู้ลืม!

โดยสุดยอดวงออเคสตราชื่อดังก้องโลกจากอิตาลี “The Orchestra Internazionale d’Italia” เจ้าของผลรางวัล European Award for Culture 1997 สาขา Symphonic Orchestra ที่สร้างความประทับใจในรูปแบบคอนเสิร์ต และ Opera Performance มาแล้วกว่า 500 ครั้ง

และครั้งนี้จะมาบรรเลงบทเพลงคลาสสิก และบทเพลงไทยให้คุณได้เพลิดเพลิน ด้วยลีลาการอำนวยการเพลงของ สุดยอดฝีมือวาทยกรชาวไทย “บัณฑิต อึ้งรังษี” หนึ่งเดียวของไทย ที่ก้าวสู่เวทีดนตรีคลาสสิกระดับโลก ในฐานะผู้ชนะการแข่งขันอำนวยเพลง Maazel-Vilar ณ มหานครนิวยอร์ก

พร้อมศิลปินรับเชิญพิเศษ ได้แก่ Alexandra Gutu, Cello สุภัทรา โกราณฎร์ ร่วมขับขานบทเพลงอันแสนไพเราะ สิรเศรษฐ ปัณฑุรอัมพร ผู้ประพันธ์เพลง Thai Folkpiece

พลาดไม่ได้รอบเดียวเท่านั้น! อาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม 2547 เวลา20.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

บัตรราคา 2,000, 1,00 และ 800 บาท (นักศึกษารับส่วนลดพิเศษ 50 % สำหรับบัตรราคา 800 บาท) มีจำหน่ายที่ Thai Ticket Master โทร 0-2262-3456 หรือ www. Thaiticketmaster.com

รายได้ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงในพระบรมราชินูปถัมภ์






กำลังโหลดความคิดเห็น