xs
xsm
sm
md
lg

ต้อนรับอบอุ่นทหารไทยคืนถิ่น สู่อ้อมกอดแห่งมาตุภูมิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับแต่เดือนมีนาคม ถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน ที่เหล่าทหารกองกำลังเฉพาะกิจปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม 976 ไทย/อิรัก ผลัดที่ 2 จำนวน 130 นาย เข้าประจำการ ณ เมืองคาร์บารา ประเทศอิรัก

ภารกิจท่ามกลางภยันตรายจากการซุ่มโจมตี ฝ่ากระสุน คอยหลบระเบิดลูกแล้วลูกเล่า เพื่อทำการบูรณะประเทศให้กลับคืนสู่ปกติ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือชาวอิรักให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ด้านการช่าง พวกเขาเข้าไปทำการฟื้นฟูซ่อมแซมสร้างถนนหนทาง อาคาร โรงพยาบาล โรงเรียน ที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม ด้านการแพทย์เปิดโมบาย คลินิก (Mobile clinic) ให้การรักษาพยาบาล ด้านกิจการพลเรือนออกปฏิบัติงานชุมชนสัมพันธ์รอบค่ายลิม่า จัดชุดแพทย์เคลี่อนที่บริการ นำสิ่งของอุปโภค บริโภค ข้าวสาร ผ้าห่ม ปลากระป๋อง นมกระป๋องสำหรับทารก ของเด็กเล่นฯลฯ มอบให้ประชาชนชาวอิรัก และด้านการเกษตร ผลัด2 เข้าไปแนะนำการเกษตรแนวใหม่ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงและพึ่งพาตัวเองได้

และเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา จนถึงวันนี้(10 กันยายน) พวกเขาได้ทยอยกันเดินทางผ่านน่านน้ำน่านฟ้าของประเทศต่างๆเคลื่อนเข้าสู่ม่านเมฆผืนแผ่นดินไทย พร้อมกับการต้อนรับอันแสนอบอุ่นสมกับห้วงเวลาที่จากกันไปนาน อิ่มเอมทั้งผู้ที่จากไปและผู้ที่เฝ้ารอคอยการกลับคืนมา

หลายคำถามที่รอคอยให้ผู้มาเยือนบอกเล่าสารทุกข์สุขดิบ ชีวิตความเป็นอยู่ที่เคยได้ยินแต่เสียง คราวนี้ความปรารถนาต่างๆ รสชาติอาหารแซบๆแบบไทยๆที่พวกเขารอคอยมานานถูกถ่ายทอดออกมาให้ได้ยินทั้งภาพและเสียงจับต้องได้

น้ำตาแห่งความปลื้มปิติ

ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง ธงไตรรงค์เล็กๆหลายร้อยอันโบกพลิ้วไปมาตามการสะบัดของข้อมือเด็กหนุ่มสาว หญิงวัยกลางคน จนถึงวัยชรา มีให้เห็นแทบทุกวัย ท่ามกลางเม็ดฝนเม็ดเล็กๆที่จู่ๆก็โปรยลงมา และหายไปจนหลายคนไม่ทันสังเกต สายตาของทุกคนจับจ้องไปที่ลานคอนกรีตข้างหน้าอย่างใจจดใจจ่อ และดูจะตื่นเต้นมากยิ่งขึ้นเมื่อวินาทีแห่งการรอคอยมาถึง

เครื่องบินลำมหึมาแล่นลงจอดอย่างช้าๆ พร้อมกับการปรากฏตัวของผู้ที่ทุกคนรอคอย ชายหนุ่มห้าคนแรกพร้อมธงชาติไทย และพระบรมฉายาลักษณ์ขององค์พระประมุขเดินออกจากตัวเครื่องเหยียบผืนแผ่นดิน ตามด้วยเพื่อนๆที่ร่วมทุกข์ร่วมสุข

ฝีเท้าที่ดูห่างไกลจากฝูงชนที่มารอคอย ค่อยๆเคลื่อนเข้ามา ต่างฝ่ายต่างมองทะลุไปยังกลุ่มคนทั้งสองฝ่าย สอดส่ายสายตามองหาผู้ที่เฝ้ารอคอยจะพบหน้ามาตลอด และก่อนที่แถวของทหารผู้กล้าจะผ่านประตูเข้าสู่พิธีการต้อนรับ หลายคนโผเข้าสวมกอดพ่อ แม่ บุตรชาย บุตรสาว และภรรยาด้วยน้ำตานองหน้า นาทีนี้คำพูดใดๆก็ไม่อาจสื่อความหมายได้ลึกซึ้งเท่าอากัปกิริยาการสื่อสารทางกาย

“แม่ๆ พ่อได้ถือธงเดินนำหน้าด้วย” เสียงของเด็กน้อยร้องเรียกชายร่างโย่ง ผิวสีผู้เป็นพ่อ พร้อมกับวิ่งตามทุกฝีก้าวที่เท้าของผู้เป็นพ่อย่างก้าวไปข้างหน้า ฝ่ายผู้เป็นแม่วิ่งตามรั้งท้ายด้วยน้ำตา สีหน้าบอกความปลาบปลื้มที่ได้เจอหน้าชายอันเป็นที่รักอีกครั้ง

จอมขวัญ ชัยสิงห์ แม่ของเด็กหนุ่มและภรรยาของนักรบผู้กล้า เธอลงทุนเหมารถตู้มาเองด้วยความใจร้อนอยากเห็นหน้าพ่อของลูกที่จากกันไปนานหลายเดือน เล่าว่าสามีโทร.บอกก่อนล่วงหน้าจะมา 1 วัน พร้อมคำหวานที่เอ่ยออกมาให้ชื่นใจ ก่อนได้เจอตัวจริงเสียงจริง ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียงเสียงจากปลายสายเล็ดลอดออกมาให้ใจชื้นว่าอีกฝ่ายสุขกายสบายดีเท่านั้น

“พี่เค้าว่าจะขึ้นเครื่องตีสอง คิดถึงแม่กับลูกมาก นอนไม่หลับ คิดถึงก็อดทน ก่อนนี้โทร.คุยแทบทุกวัน เราโทร.ไปและเค้าโทร.มา นาทีละ 40 บาท หมดไปหมื่นกว่าภายหลังเปลี่ยนเป็นนาทีละ 20 บาท ส่วนใหญ่จะเล่าว่าสบายทุกอย่าง แรกๆกลัว สามีบอกข่าวระเบิดไม่มีอะไร ไม่ต้องเป็นห่วงอะไร ทางอิรักดีมากบอกให้ระวังตัวกราบไหว้คุณพ่อคุณแม่ หากเป็นวันพระจะไปทำบุญทุกวัน”

จากวันแรกที่รู้ว่าสามีจะต้องห่างบ้านอีกนาน เธอแพกข้าวเหนียวไก่ย่างใส่กระเป๋าเป้ทะเลให้ติดตัว “...ขาไปไปส่งที่สนามบินทั้งครอบครัว แกบอกว่าไม่ต้องร้อง อยู่ไหนก็ตาย ไปตายในสมรภูมิรบมีศักดิ์ศรีมากกว่า”

และเมื่อรู้ว่าสามีจะกลับ เธอได้เตรียมที่จะพาสามีไปทำพิธีสู่ขวัญตามประเพณีอีสาน

เมื่อคืนที่ผ่านมา จอมขวัญนอนไม่หลับทั้งคืน และทันทีที่ต่างฝ่ายต่างพบหน้ากัน เธอบอกว่าตัวสั่นดีใจ ลงเครื่องมาจำได้เลย เพราะเป็นคนถือธงนำมาคนแรก ตอนแรกคิดว่าสามีจะผิวเข้มขึ้น แต่พอเจอรู้สึกว่าอ้วนขาวขึ้น ซึ่งก็ภูมิใจอย่างมากที่เห็นแฟนเราถือธงนำ

หลังจากพิธีการกล่าวต้อนรับอย่างเป็นทางการ โดยจุฬาราชมนตรี และรมว.กลาโหม เสร็จสิ้นลง จ.ส.อ.ชัยรัตน์ วัย 40 ปี ผู้ทำหน้าที่เดินนำขบวนถือธง เริ่มเปิดฉากเล่าถึงหน้าที่งานช่าง ซ่อมแซมโรงเรียน มัสยิดที่ได้รับการร้องขอจากชนพื้นเมือง ทำถนน และความประทับใจที่ได้ไปทำให้ชาวอิรักภูมิใจและรักคนไทย

“การปฏิบัติการเฉพาะกิจที่ผมเข้าไปเป็นงานเพื่อมนุษยธรรม ช่วยเหลือฟื้นฟูสิ่งที่เค้าขาดไป เช่นถนนไม่ดีซ่อมให้ โรงเรียนหักล้าง เก่าก็ไปซ่อมให้ หรือทำตามที่ประชาชนร้องขอมาก็ไปทำให้ จากวันแรกที่ไปจนถึงวันที่เพิ่งจากมา รู้สึกว่าสิ่งต่างๆในอิรักดีขึ้น ตอนที่ผ่านโรงเรียนที่ไปบูรณะมาก็รู้สึกผิดหูผิดตา”

“ประเทศเค้ามีเด็กเยอะ บางครั้งไปซ่อมสร้างโรงเรียน เด็กก็จะมารุมเรา เข้ามาคลุกคลีช่วยเราทำงาน เรามีอะไรก็แบ่งให้เค้ากิน เหมือนที่ทำตอนอยู่บ้านเมืองเรา สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ใช้อวัจนภาษาสื่อสารกันก็เข้าใจ”

“เวลาเดินทางออกไปทำงาน มีชุดระวังป้องกัน ออกไปข้างนอกไม่อันตราย แต่ก็ต้องป้องกันตัวเองก่อนที่มันจะอันตราย ไม่มีสัญญาณเตือนภัย เว้นแต่ได้ยินเสียงหวีดแหวกอากาศมาก่อน หรือไม่ก็ระเบิดตูมลงมาแล้วจึงรู้ตัว แต่ไม่เคยเห็นคนตายต่อหน้าต่อตา ช่วงที่เสี่ยงภัย นึกถึงพ่อแม่พระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและราชินี เครื่องรางของขลังนำติดตัวไปเยอะ แต่ที่นับถือที่สุดคือผ้าถุงแม่”

ประสบการณ์ที่ได้เกี่ยวกับการทำงาน เน้นใช้อิเล็กทรอนิกส์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาก เป็นการพัฒนาความรู้ไปในตัว ต่างชาติพัฒนาเยอะ เราก็ต้องใช้ให้เป็นตามเค้าให้ทัน

“อยู่ที่โน่นบางครั้งคิดถึงบ้าน ได้แต่ภาวนาให้เสร็จภารกิจจะได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย พอรู้จะได้กลับนอนไม่หลับ คิดว่ากลับไปจะทำอย่างไร จะเจอใคร”

ทันทีที่เครื่องบินบินเหนือน่านฟ้าประเทศไทย เขาเล่าถึงความรู้สึกตอนนั้นว่ารู้สึกเหมือนกับได้เข้ามาสู่ร่มโพธิ์ร่มไทรของประเทศไทย เย็นตัว แล้วก็ขนหัวลุก อย่างบอกไม่ถูก ไปอยู่ที่โน่นในสภาพอากาศแห้งแล้ง ห่างไกลญาติพี่น้อง มาถึงตรงนี้รู้สึกตื้นตันสิ่งแรกที่เหยียบแผ่นดินเกิด อยากจะก้มกราบแทบเท้าแม่

เด็กน้อยวัยไม่ถึงขวบหลับตาพริ้มรอรับไออุ่นจากอ้อมแขนอันแน่นหนาของผู้เป็นพ่อ อีกฟากน้องพัชรี เด็กหญิงวัยขวบกว่า กลับร้องไห้จ้าด้วยความกลัวเมื่อสัมผัสผู้เป็นพ่ออีกครั้งหลังจากไม่ได้เห็นหน้าไปนาน ขณะที่ศรีภรรยากำลังปลอบประโลมลูกน้อย จ่าสนั่น เพชรรัตน์ อายุ 46 ปี ทหารสังกัดกรมพัฒนาที่ 4 อ.คอหอยโข่ง จ.สงขลา แม้ร่างกายจะดูอิดโรย แต่เล่าถึงภาระในกองช่างด้วยแววตาดีใจที่ได้กลับบ้าน

“ตัดสินใจไปเพื่อหาประสบการณ์ เพื่อชาติ ระยะเหตุการณ์ 6 เดือนได้รู้จักเพื่อนต่างชาติ อยู่ในสังคมของเพื่อนร่วมโลก ดีใจที่ได้กลับมาเมืองไทย อยู่ที่โน่นสบายดี เรามีพันธะครอบครัว ไปรบในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนไปภรรยาบอกให้โชคดีปลอดภัยกลับมาจะตั้งหน้าตั้งตารอ พอลงเครื่องมาเจอดีใจที่ได้กลับ”

“อยู่ที่โน่นทำหน้าที่ช่างไม้ ช่วยเหลือหมวดงานดิน พร้อมกับไปเป็นหมวดป้องกันให้กับก่อสร้าง จะว่าเสี่ยงก็เสี่ยง แต่ก็ไม่ถึงกับอันตรายมากมายนัก เป็นธรรมดาของชีวิตทหาร ซึ่งบางครั้งเสี่ยงก็ต้องทำใจ”

“พวกผมที่ไปเป็นผลัดสอง ส่วนใหญ่มีความพร้อมพอสมควร วันแรกที่ไปถึงเข้าที่นอน จัดเป็นตู้คอนเทรนเนอร์ ตู้ละสี่คน นอนสบาย ภาพรวมแล้วดีมาก อาหารการกินค่อนข้างดี สมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นอาหารยุโรป แรกไม่ถูกคอ อยู่ไปๆก็เคยชิน”

ที่ค่ายลิม่า เมืองคาบาร่า สถานการณ์ไม่ค่อยรุนแรง มีเพียงบางคืนที่จู่ๆลูก ค. 60 และอาร์พีจีจะหล่นใกล้ๆค่าย เขาบอกว่าอาจจะเป็นวาสนาดีของทหารไทยที่ลูกระเบิดตกใกล้ๆค่ายเสียมากกว่า ภาพรวมไม่โดนระเบิดลงเลย ความกลัวแม้จะมีบ้าง แต่สำหรับชีวิตทหารถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในยามออกปฏิบัติงาน

เครื่องรางของขลังเป็นความเชื่อเป็นชาวพุทธ ภรรยาให้พระ ส่วนตัวเขาพกหลวงปู่ทวด พระผงสุพรรณ และรูปของแม่ซึ่งเสียไปแล้ว

“สิ่งแรกที่อยากทำมากที่สุดอยากให้ความสุขกับครอบครัวให้มากสมกับที่หายไปในช่วงเวลาหกเดือน”

2.

“คิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ คิดถึงพระ คิดถึงบังเกอร์” เสี้ยวหนึ่งที่แวบขึ้นมา เมื่อจ่าสิบเอกธงชัย ตรีชัยยุทธ อายุ 33 ปีเจอเข้ากับเหตุการณ์ระทึก

29 มีนาคมเป็นวันแรกที่เข้าค่ายลิม่า ทำหน้าที่ส่งกำลัง จัดซื้อจัดหา รายงานสถานการณ์ เปรียบเหมือนแม่บ้านในกองทัพ

วันแรกเริ่มด้วยการแจกจ่ายข้าวของ สิ่งของประจำตัว ส่วนนอกเหนือจากนี้ทุกคนต้องมาเข้าเวร แรกๆเสี่ยง แต่ถ้าอยู่ในค่ายไม่รุนแรงมากนัก

“การโจมตีก่อความวุ่นวายความไม่สงบ โยนลูก ค. 60 ค. 82 อาร์พีจี เกือบทุกวัน วันละ 5 นัด ทหารไทยเราก็จะหลบเข้าบังเกอร์ อาวุธยุทโธปกรณ์ เสื้อเกราะ หมวกเหล็ก ปืน ทุกคนต้องมีเพื่อการป้องกันและระวังตัวในพื้นที่อันตรายทุกคนกลัวหมด แต่ว่าจะกลัวอย่างมีสติหรือเปล่า”

ไม่เคยออกสนามจริง ไปครั้งนี้ได้ประสบการณ์จากการทำงานของจริง “ปกติทำด้านส่งกำลังอยู่แล้ว แต่พอไปเจอของจริง ความรู้สึกคนละอย่างกัน อยู่ที่นี่ทำตามขั้นตอน อยู่ที่โน้นยกเว้นบางขั้นตอน เนื่องจากข้อจำกัดของเวลาเร่งด่วน”

เรื่องเครื่องรางของขลังเป็นของธรรมดา “ทหารไทยไป 451 คน อย่างน้อยพระต้องมีสัก 1,005 องค์ คงไม่มีพกไปคนละองค์ ส่วนผมปกติห้อยองค์เดียวที่ในหลวงพระราชทานเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพล”

วันแรกที่เครื่องลงในอิรัก ความแปลกใหม่ทำให้ตื่นเต้น ครั้นสัมผัสไป 15 วัน-เดือนหนึ่ง รู้สึกว่าเวลามันผ่านไปช้า ค่าใช้จ่ายที่สูงทำได้เพียงส่งอีเมล แทนการโทรศัพท์

“แค่บินเข้าน่านฟ้าเมืองไทย เห็นบรรยากาศไทยๆอากาศเมืองไทย อาหารไทยรู้สึกดีแล้ว เพราะอยู่โน่นอากาศไม่เหมือนบ้านเรา หนาวก็หนาวจัด ช่วงที่ไปกำลังหนาว พอเข้าไปได้สักเดือน-2เดือน อากาศร้อนถึงร้อนที่สุด บ้านเราร้อนชื้นที่โน่นร้อนแห้งไม่มีเหงื่อ” ทหารหนุ่มวัยยี่สิบต้นๆเล่าความรู้สึกก่อนก้าวเท้าลงสู่พื้นแผ่นดิน

พ.ท.เอนก ตรีชัยยุทธ ผู้เป็นพ่อยืนมองลูกชาย พร้อมกล่าวด้วยสีหน้าปลาบปลื้มว่า ดีใจที่ลูกได้มีโอกาสไปทำงานเพื่อประเทศชาติ ส่วนหนึ่งก็เป็นห่วง ได้ให้แนวทางข้อคิดไปว่าควรทำอย่างไร เป็นสิ่งที่ดีที่ได้มีโอกาสไป วันนี้ได้กลับมาด้วยความปลอดภัยก็รู้สึกเป็นที่ภาคภูมิใจที่ไปปฏิบัติหน้าที่แล้วปลอดภัยกลับมานำเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ เห็นภาพวันนี้ผู้คนให้ความสนใจ ให้ความรู้สึกที่ดี

ย้อนไปวันที่ลูกชายจะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจ ท่านได้ให้ข้อคิดลูกชายไปว่าในการทำงานขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีมีระเบียบวินัย ทำตามผู้บังคับบัญชา ทางบ้านคอยติดตามข่าวคราวทางวิทยุข้อมูลทหาร เป็นไปในทางที่ดีก็ไม่มีอะไร

“พอรู้ว่าเค้าจะกลับมาเตรียมวางแผนไปทางอาหาร หลังจากวันนี้ไปแล้วให้เค้าไปไหว้พระแก้วมรกต ศาลหลักเมืองสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชา ก่อนไปไปไหว้เมื่อกลับมาก็ควรจะไปไหว้”

น้ำตาแห่งความคิดถึงของถาวร อาทิตย์ อายุ 51 ปี แม่ซึ่งมาพร้อมกับใจยืนรอต้อนรับลูกชายกลับบ้าน ยืน “เอาใจมาหาลูก ปลอดภัยกลับมา ไม่มีอะไรสูญเสียก็ดีใจ”

“แรกๆที่ลูกไปเบลอ เครียด ความเป็นแม่เลี้ยงลูกมา ห้ามแล้วห้ามอีก แต่ไม่ได้ผล ได้ยินสถานการณ์รุนแรงยิ่งนอนไม่หลับ พยายามออกงานสังคม เจอเพื่อนฝูง หลังๆติดต่อได้ ถูกปลอบไม่ต้องห่วงเป็นแม่ทหารต้องอดทน”

ร.อ.วรชัย ทหารหน่วยกองร้อยปฏิบัติการพิเศษ กรมรบพิเศษที่ 3 ลพบุรี ยืนในวงล้อมแห่งรักของพ่อ แม่และพี่ชาย ปลีกตัวออกมาเล่าถึงประสบการณ์สดๆร้อนๆในหน่วยกิจการพลเรือนให้ฟังว่า

“ตัดสินใจไป เพราะเห็นว่าเป็นอนาคตของตัวเอง ได้ทำงานร่วมกับมิตรประเทศ รับผิดชอบเรื่อง
การรักษาความปลอดภัยให้กับกำลังพลทั้งหมด โชคดีที่ไม่ต้องต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม เนื่องจากกิจการด้านพลเรือนของเราที่เข้าไปดี ส่วนใหญ่เรื่องเด็กๆอิรักจะขาดโอกาส เราเข้าไปช่วยเหลือ สร้างถนน มอบทุนการศึกษา คนไทยเป็นที่รักของชาวอิรักมากที่สุด”

เรื่องของอาหารการกินแบบยุโรปซึ่งรสชาติไม่ถูกปาก ถูกลิ้นของเหล่าทหารไทย “อาหารการกินค่อนข้างต่างกัน อาหารการกินดีมาก แต่ไม่ถูกปาก ก่อนไปก็เตรียมน้ำพริก เครื่องแกง ใบกะเพราไปผัดกินเอง”

“ความเป็นอยู่อย่างอื่นก็สบายๆไปเจอสภาพอย่างที่คิดไว้ อากาศค่อนข้างร้อน ตอนไปหนาวสุดประมาณ 5 องศา ร้อนสุดประมาณ 60 องศา ส่วนใหญ่ออกกำลังกายหนัก ถ้าสังเกตทหารในส่วนของระวังป้องกันจะผอมซูบ เพราะวิ่งทุกวัน ข่าวสารติดตามตลอด มีอินเทอร์เน็ต วัฒนธรรมของเค้ายังไม่ดี ตั้งแต่สงครามการโจมตีอิรักเมื่อ 10 ปีก่อน ทำให้เด็กที่กำลังโตในช่วงนั้น ชีวิตการเรียนรู้ขาดช่วงไป 10 ปี เราก็เข้าไปช่วยด้วยความจริงใจ สอนเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ การช่างทำบ้านทั่วไป เค้าก็ตอบแทนเราในสิ่งที่ดีมีของมาให้”

3.

ในจำนวนทุกหน่วยที่ร่วมเดินทางไปปฏิบัติงาน หน่วยที่รับบทผู้พิทักษ์เรียกว่าหน่วยระวังป้องกัน “เน้นเครื่องป้องกันเซฟตัวเอง ใส่เสื้อเกราะ สวมหมวกเหล็ก อาวุธครบมือพร้อมกระสุน” เสียงของ สิบเอกสมพงศ์ แตงลี ทหารหนุ่ม วัย 42 ปีประจำกรมรบพิเศษที่ 3 กองพันรบพิเศษที่ 1 ในสงครามเขารับหน้าที่อยู่ในหน่วยระวังป้องกัน

สมัครใจเป็นเกียรติของประเทศ และตัวเอง ทำหน้าที่ระวังป้องกันทหารช่าง แพทย์ ส่วนใหญ่ไปกับช่างทำถนนนอกแคมป์ เวลาออกไซต์งานไปทำถนน สร้างโรงเรียนระหว่างที่กำลังทำงาน ชุดปฏิบัติงานมี 8 คน ใช้รถฮัมฟี่ ลักษณะคล้ายรถจี๊บมีขนาดใหญ่สองคัน แบ่งนั่งคันละสี่คน คุ้มกันทั้งด้านนอกด้านในตัวอาคาร รอบนอก และรอบนอกตั้งจุดเป็นรัศมีวงกลม วางตัวตามจุดต่างๆ

ใหม่ๆตื่นเต้นแต่ไม่ถึงกลับกลัว ช่วงออกไปรักษาความปลอดภัย บางครั้งมีข่าวซุ่มโจมตีแบบไออีดี วางดักไว้ข้างทาง กดรีโมต ในเส้นทางผ่าน กลุ่มโดนทหารพันธมิตร ระวังตัว อยู่ๆไปเกิดความเคยชิน

ประชาชนชาวอิรักบางคนมีญาติเป็นกลุ่มต่อต้านแจ้งข่าวสาร ในพื้นที่ทำงานให้ความช่วยเหลือหากพบเหตุการณ์ผิดปกติชาวอิรักที่เป็นล่ามจะแจ้งเตือนภัย อีกอย่างเป้าหมายฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่ทหารไทย เน้นทหารสหรัฐฯ กับโปแลนด์ซึ่งทำหน้าที่ปราบปราม ต่างจากทหารไทยไปช่วยฟื้นฟูจึงเป็นที่รักใคร่ของชาวอิรัก

กินอาหารในโรงอาหารใหญ่ติดแอร์เรียกกันติดปากว่าบีแฟค สหรัฐฯเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายจ้างคนอินเดียทำอาหาร รสชาติไม่ถูกปากเหมือนบ้านเรา ประทังชีวิต เบื่อมากเข้าถึงกับกินมาม่า

ที่นู่นอากาศร้อนมากถึง 50 องศาเซลเซียส ก่อนกลับแวะพักที่คูเวต 10 วัน พักในเต็นท์ติดแอร์เย็นสบาย ต่างจากอากาศภายนอก ออกข้างนอกลมพัดเปลวไฟเข้ามาหา ร้อนมากมีแต่ทะเลทราย

กดดันเป็นบางครั้งเรื่องอุณหภูมิร้อนจัด การทำงานบางครั้งเร่งรีบ ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมการ ได้รับคำสั่งด่วนไปรับผู้บัญชาการอีกที่เหนื่อยจากการปฏิบัติงานวันนี้ ไม่ได้พักต้องไปต่อ พอทนได้ไม่ลำบากมากมาย

เครื่องราง พ่อให้พระไปหนึ่งองค์ไม่ได้แขวนนำพระมาไว้ในใจ จะกลับมาเป็นปัญหาใหญ่ของกองกำลังคุ้มกันจากประเทศอิรักมาคูเวตระยะห้าร้อยกว่ากิโล ระยะทางลำบาก เป็นไปได้ขอร้องให้อยู่อย่างเต็มใจ ทางครอบครัวพี่น้องมีความพร้อมจัดการได้ ทางโน้นไหว้พระสวดมนต์

ได้ประสบการณ์การทำงานที่ต่างรูปแบบออกไปจากปกติในเมืองไทย ประทับใจทำงานกับมิตรประเทศหลายชาติหลายภาษาใช้ภาษาต่าง สื่อกันด้วยภาษาสากล และภาษาใบ้

เบี้ยเลี้ยงค่าตอบแทนสองพันหนึ่งร้อยบาท ก่อนกลับมีซื้อของฝากชาวพื้นเมืองอิรัก ทางค่ายลิม่าที่ไปอยู่จัดสถานที่ให้ประชาชนมาค้าขายแผงด้านหน้าของที่ขายเป็นเครื่องเล่นไฟฟ้าซีดี และกล้อง สินค้าที่ทหารไทยนิยมซื้อติดมือกันมามาก

สิ่งแรกที่อยากทำ อยากกินอาหารไทย เบื่อ อาหารที่นู้น มีคุณภาพแต่ไม่ถูกปาก อยากกินอาหารรสชาติไทยๆอย่างต้มยำกุ้ง ชวนเพื่อนบ้านไปกินด้วยกัน

งานนี้แม้ว่าสมบูรณ์ แตงลี จะไม่ได้รับข่าวสารจากสามีว่าจะกลับมา ทว่าเธอพร้อมลูกชายก็มานั่งรอยืนรอตั้งแต่ 5 โมงเช้า ขณะยืนอยู่เคียงข้างสามีจึงเสริมว่าตั้งแต่สามีจากไปได้ 2 อาทิตย์ รู้สึกเป็นห่วง ฝากน้ำพริกกับทหารไปให้ โทร.คุยนาทีละ 25 บาท ตลอดเวลาที่ไปได้ยินแต่เสียงอย่างเดียว คุยครั้งใดมักได้ประโยคเดิมว่าสบายดีทุกครั้ง เธอบอกว่าสงสัยคงไม่อยากให้กังวล พอย้ายจากอิรักมาคูเวตทั้งคู่ไม่ได้โทร.ติดต่อกันอีกเลย

ระหว่างที่รอสามีอยู่ทางนี้ สามีเตรียมความพร้อมต่างๆก่อนจะไป ความเป็นอยู่เหมือนปกติ รายได้เท่าเดิม ทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่ ดูแลสวน ซึ่งปกติเค้าจะดูแล เธอพูดถึงลูกชายข้างกายว่ามีอยู่วันหนึ่งลูกยืมหนังสือห้องสมุดเรื่องซูเปอร์แมนมาอ่าน “ไม่รู้ว่าเค้าจะคิดว่าพ่อเค้าเป็นซูเปอร์แมนหรือเปล่า”หากสามีต้องกลับไปเสี่ยงอันตราย คอยภาวนาตลอดให้แคล้วคลาดปลอดภัยทำให้เธอแทบไม่อยากให้สามีกลับไปสมรภูมิการสู้รบอีกเลย

เสียงจอแจ ร่ำไห้และการกรีดร้องด้วยความดีใจเมื่อสักครู่เงียบหายไป พร้อมกับความมืดที่เริ่มคืบคลานเข้ามา ทหารหาญต่างแยกย้ายกลับบ้านของแต่ละคน ชั่วเวลาไม่กี่ชั่วโมงแห่งความปีติยินดี และความสุขที่เอ้อล้นทั่วทุกอณู

ขณะที่ทหารผู้ร้างบ้านไปนานลงเครื่องพร้อมอ้อมกอดอันอบอุ่น ส.อ.บรรทม โสธรบุญ หนุ่มใหญ่วัย 42 ปี สังกัดหน่วยระวังป้องกัน เดินไปมา การรอคอยของชายหนุ่มยังไม่สิ้นสุด ข้างกายมีเป้ทหารใบใหญ่ 2-3 ใบกองกัน ในนั้นนอกเหนือจากสัมภาระ ยังมีของฝากซึ่งเขาตั้งใจนำมาฝากครอบครัวที่กำลังเดินทางมาจากลพบุรี

“ประทับใจในหน้าที่เกิดมาเป็นลูกผู้ชาย ทำหน้าที่ให้กับประเทศชาติอย่างสมบูรณ์แบบ” เขากล่าวถึงภารกิจที่เพิ่งไปทำมา

“อาจจะมีฝ่ายตรงข้ามมาซุ่มโจมตี ดูแลให้เค้าหลบในที่ปลอดภัย รถฮัมบี้คุ้มกันขบวนปิดท้าย ไม่เคยปะทะ เสี่ยงอันตรายที่สุดคือลูก ค.ตกข้างๆค่ายแคมป์ ถือเป็นเรื่องปกติ เวลานั้นกำลังพลส่วนใหญ่อยู่ในแคมป์ ก็จะหลบเข้าที่พัก”

รู้สึกอบอุ่นใจที่เห็นคนไทยต้อนรับด้วยความภูมิใจ ดีใจที่ได้กลับมาสู่ประเทศไทย เมืองไทยดีที่สุดแล้ว
สำหรับผมของที่ถูกใจที่สุดคือได้กลับบ้าน “เป็นห่วงเลี้ยงลูกคนเดียว นี่ก็ไม่รู้จะเข้ามาถูกหรือไม่ อ่า....มาแล้ว”

เสียงของหนุ่มใหญ่ขาดหายไป เหลือเพียงภาพทิ้งท้ายของครอบครัวโสธรบุญ ลูกชายตัวน้อยถามถึงของเล่นจากผู้เป็นพ่อ

“งานทั้งหลายเหล่านี้ทุกท่านต่างทำด้วยความมานะอุตสาหะอดทนยินดีพลีชีพท่ามกลางสถานการณ์ที่รุนแรงเพื่อให้การปฏิบัติกิจบรรลุเป้าหมายจนได้รับการยอมรับจากชาวอิรักและการชมเชยจากคนในโลกได้ปฏิบัติหน้าที่เปี่ยมล้นมีความเมตตากรุณาอย่างยิ่ง นำเกียรติยศมาสู่ชาติ จารึกประวัติศาสตร์ไว้ว่าทำหน้าที่ที่ดีที่สุด มีชื่อเสียงท่ามกลางประชาชาติทั้งหลายในโลก” สุนทรพจน์ของ “สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์” จุฬาราชมนตรี







กำลังโหลดความคิดเห็น