01.00 น.
ณ ร้านเหล้าแห่งหนึ่ง ย่านหว่องฉิ่ว ในมาเก๊า
“สงสัยข้ามันโง่มั้ง อยู่เมืองไทยเลยไม่มีงานทำ”
“ถ้าจะทำได้ ก็คงมีอย่างเดียวคือเลี้ยงควาย”
สุริยัน ศรีกัน เอ่ยขึ้นกลางวงสนทนา พร้อมๆกับค่อยๆยกขวดเบียร์สีเขียวพรายฟองฟูฟ่องกระดกเข้าปากอย่างช้าๆ หลังจากที่ถูกเพื่อนรุ่นน้องร่วมโต๊ะ 2 คน พร้อมใจกันยิงคำถามเข้าใส่ว่า “ทำไมถึงได้ข้ามน้ำข้ามทะเลจากเมืองไทย มาเป็นบอดี้การ์ดอยู่ในมาเก๊า” โดยมีบุรุษนิรนามนั่งร่วมโต๊ะฟังอยู่เงียบๆ
จากนั้นสุริยันก็เริ่มเล่าเรื่องราวของตัวเอง ถึงอาชีพบอดี้การ์ดหน้าสยามที่ตัวเอ็งทำมาเกือบ 10 ปี ว่าผ่านร้อนหนาวอะไรมาบ้าง โดยมี 2 เพื่อนรุ่นน้องคอยป้อนคำถาม พร้อมๆกับเล่าถึงวิถีชีวิตการเป็นบอดี้การ์ดของตัวเอ็ง สลับกับเรื่องราวของสุริยัน
จริงอยู่เรื่องราวของบอดี้การ์ดหน้าสยาม อาจจะดูไม่โลดโผนปนฮา เหมือนหนังเรื่อง “บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม” ที่นำแสดงโดย “หม่ำ จ๊กมก” หรือดูไม่โรแมนติกเหมือน หนังเรื่อง “บอดี้การ์ด” ที่มี “เควิน คอสเนอร์” และ “วิทนีย์ ฮุสตัน” เป็นคู่พระ คู่นาง แต่ว่านี่คือเรื่องราวจากชีวิตจริงที่ไม่อิงหนังหรือละครใดๆ...
ชีวิตหลังแขวนนวม “ไร้งาน ผลาญเงิน”
“หลังจากที่แขวนนวมได้สักพัก พี่ทีปเพื่อนนักมวยรุ่นพี่ที่เป็นการ์ดในมาเก๊ามาก่อนก็ชวนให้มาลองเป็นการ์ดที่นี่ เพราะเห็นว่าอยู่เมืองไทยชีวิตหลังชกมวยนั้นหางานทำยาก และค่าแรงที่ได้ก็น้อยต่างจากค่าตัวตอนชกมวยลิบลับ” สุริยัน ฟื้นความหลังเมื่อครั้งแขวนนวมใหม่ๆ
หากเอ่ยชื่อของ สุริยัน ศรีกัน คนที่ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้มวยไทย อาจจะงงว่า หมอนี่คือใคร ทำไมในทำเนียบนักมวยไม่เคยได้ยินชื่อนี้ แต่หากเอ่ยถึงอดีตยอดมวยไทยนาม “เชอรี่ ส.วานิช” เจ้าของฉายา “ฉลามดำ” เชื่อแน่ว่าแฟนมวยไทยสมัย 10 กว่าปีที่แล้วไม่มีใครไม่รู้จัก
สุริยัน ศรีกัน ก็คือตัวจริงเสียงจริงของ “เชอรี่ ส.วานิช” อดีตยอดมวยไทยเงินแสนรุ่นกลาง ที่มีดีกรีเป็นแชมป์มวยไทยเวทีลุมพินีหลายรุ่น แชมป์มวยโลกพลังเสือ รวมไปถึงแชมป์โลกมวยไทยคนแรก ที่ส่งผลให้เชอรี่โด่งดังไปไกลในระดับอินเตอร์
“พี่เชอรี่ชกมวยไทยมากี่ปีแล้ว สมัยฮอตๆนี่เคยได้ค่าตัวสูงสุดเท่าไหร่” ภักดี วิเชียร หรือชื่อมวยไทย “เกษมเล็ก ควอลิตี้ยิม” ฉายา “นักมวยวิชามาร” อดีตยอดมวยไทยดีกรีแชมป์มวยไทยเวทีราชดำเนินรุ่น 115 ปอนด์ 1 ในผู้ร่วมวงสนทนา ตั้งคำถามต่อเชอรี่
“ข้าน่ะชกมวยมา 28 ปีแล้ว ชกตั้งแต่อายุ 12 ตอนนั้นได้ค่าตัวไม่กี่ร้อย แต่ก็ชกเรื่อยมาจนมาได้ค่าตัวสูงสุดที่ 250,000 บาท ในศึกวันทรงชัย สมัยข้ารุ่งๆนะ ค่าตัวต่อไฟต์เมื่อหักกับเจ้าของค่ายแล้วก็ตกประมาณ ไฟต์ละแสนบาท”เชอรี่ตอบเกษมเล็ก หรือ “ไอ้เษม” ในคำเรียกขานของพี่ๆเพื่อนๆ
“เอ้า!?! อย่างนี้พี่ก็รวยนะสิ ชกมวยได้ไฟต์เป็นแสน น่าจะมีเงินเก็บเพียบ ไม่เห็นที่จะต้องถ่อสังขารมาเป็นบอดี้การ์ดที่มาเก๊าเลย” ไอ้เษมถาม
“รวยกะผีนะสิ ขนาดตอนนั้นฮอตๆนะ ชกมวยเดือนนึงประมาณ 2 ไฟต์ ได้ค่าตัวเดือนละประมาณ 200,000 บาท”เชอรี่เล่า
สมัยฮอตๆนะ ชกมวยเดือนนึงประมาณ 2 ไฟต์ ได้ค่าตัวเดือนละประมาณ 200,000 บาทอยู่เมืองไทยยังกินเหล้าไม่เป็นนะ ชกมวยได้ตังค์มาเท่าไหร่ เพื่อนๆมาขอตังค์ มายืมตังค์ บางทีเราก็พาเพื่อนไปเลี้ยงกันจนตังค์ไม่มีเหลือ สมัยฮอตๆนะ ชกมวยเดือนนึงประมาณ 2 ไฟต์ ได้ค่าตัวเดือนละประมาณ 200,000 บาท” เชอรี่เล่า
“แต่ก็หมด ใช่เปล่า” อ่อน ศรีโคกลาภ อดีตนักมวยไทยเจ้าของฉายา “ไผ่สีทอง ก.สวัสดิ์” อีกหนึ่งในผู้ร่วมวงสนทนาพูดแจมขึ้นมา หลังจากที่นั่งเงียบมานาน
“เออ!!! ก็หมดนะสิ เพราะเรามันคนเพื่อนเยอะ พอชกมวยได้ตังค์มาเท่าไหร่ เดี๋ยวเพื่อนๆมาขอตังค์ มายืมตังค์ หรือไม่บางทีเราก็พาเพื่อนไปเลี้ยงกันจนตังค์ไม่มีเหลือ แต่ตอนชกมวยนี่มันดี ตังค์มันหาได้ง่าย ขึ้นต่อยไฟต์นึงขี้หมูขี้หมาก็ได้ตังค์มาหลายหมื่น แต่พอแขวนนวมแล้ว มันไม่รู้จะไปเอาตังค์มาจากไหน และยิ่งตอนหลังจากที่ข้าแขวนนวมวงการมวยไทยมันก็ค่อยๆซบเซาลงเรื่อยๆ ไอ้ครั้นจะไปเป็นครูมวย หรือเป็นพี่เลี้ยงมันก็ลำบากอยู่ ส่วนจะไปหางานอื่นทำไอ้คนโง่ๆ จบ ป.6 อย่างเรามันก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ทำได้ก็อย่างที่บอกคือเลี้ยงควาย”เชอรี่ตอบคำถามนักมวยรุ่นน้อง
“พอมาอยู่ที่มาเก๊าช่วงใหม่ๆก็ได้เงินเดือนประมาณ 30,000 บาท ตอนนี้ได้ประมาณ 50,000 บาทเมื่อเทียบกับสมัยชกมวยรุ่งๆ เงินเดือนที่นี่ก็น้อยกว่านะ แต่ว่าเรามาอยู่นี่ไม่ค่อยได้ใช้เงินอะไรมาก ค่าข้าว ค่าเหล้าก็ลงขันช่วยกันกินช่วยกันจ่าย บางทีก็เซ็นไว้แล้วจ่ายเป็นรายเดือนที่ร้านของคนไทย”
“เรียกว่ามาอยู่ที่มาเก๊ามีเงินเหลือเก็บ ข้าส่งให้พ่อเดือนละหมื่น ลูกก็เดือนละหมื่น แล้วก็เก็บสะสมไว้ในบัญชีของตัวเองอีกเดือนละหมื่น” เชอรี่เผยถึงรายรับ รายจ่าย และเงินเก็บ
“ถามข้ามาเยอะแล้ว แล้วเอ็งล่ะก่อนที่จะมาเจอกันในมาเก๊า เอ็งมาที่นี่มาทำอะไร ”หลังจากที่ถูกถามมาเยอะ เชอรี่ยิงคำถามใส่เกษมเล็กบ้าง
“ก่อนที่จะมาทำงานที่มาเก๊า มีคนจีนมาทาบทามให้ผมมาเป็นครูมวยที่นี่นานแล้ว แต่ว่าตอนนั้นยังสองจิตสองใจ พอดีเหมือนกับจังหวะชีวิตตอนนั้นมันได้หมด คือไฟต์สุดท้ายที่ผมชกมวย ปี 2544 ตอนนั้นสภาพร่างกายมันชกมวยไม่ไหวแล้ว พอขึ้นชกโดนรุ่นน้องเตะก้านคอ แพ้น็อก!!! อีก 2 วันตอบตกลงข้อเสนอแล้วก็บินมาเป็นครูมวยที่มาเก๊าทันที”
“ก่อนมาก็คิดเหมือนพี่เชอรี่นั่นแหละ คืออยู่เมืองไทยไม่มีงานทำ เพราะความรู้น้อย เป็นแต่เตะ ต่อย จะไปเลี้ยงควาย แถวบ้านก็มีแต่ควายเหล็ก เงินที่เหลือเก็บจากชกมวยแสนกว่าบาท ก็ถูกผลาญไปเรื่อยๆ เพราะเรามันคนเพื่อนเยอะ และเป็นคนชอบเที่ยว ชอบกินเหล้า ” ไอ้เษมเล่าอดีตบ้าง
“แล้วมาเป็นการ์ดคุมร้านเหล้าของพี่ใหญ่ได้ยังไง” ไผ่สีทองถามเกษมเล็ก
“ก็เป็นครูมวยไทยที่มาเก๊ามันมีข้อจำกัดหลายอย่าง เจ้านายเขาห้ามเรากินเหล้า สูบบุหรี่ ห้ามเรื่องผู้หญิง ไอ้เรามันคนชอบเที่ยวกินเหล้าสูบบุหรี่อยู่แล้ว เมื่อโดนข้อจำกัดก็รู้สึกอึดอัดทนทำอยู่ 2 ปี พอดีมาเจอพี่เชอรี่ที่มาเก๊า ถูกคอกันเพราะชอบเที่ยว ชอบกินเหล้าด้วยกัน เล่าเรื่องความอึดอัดให้พี่เขาฟัง พี่เขาก็ชวนให้มาเป็น การ์ดคุมร้านเหล้าให้พี่ใหญ่” ไอ้เษมตอบคำถามเพื่อน ถึงเส้นทางชีวิตที่หักเหจากครูมวยไทยมาเป็นบอดี้การ์ดคุมร้านเหล้าให้พี่ใหญ่
สำหรับพี่ใหญ่คนนี้คือใคร???
เชอรี่ได้เล่าเรื่องราวคร่าวๆของพี่ใหญ่ให้นักมวยรุ่นน้องฟังว่า พี่ใหญ่แกเป็นคนจีนที่นับมาว่ามีอิทธิพลคนหนึ่งในมาเก๊า เคยอยู่เมืองไทยมาหลายปี จนพูดไทยได้คล่อง ตอนที่เชอรี่และนักมวยรุ่นพี่อีกหลายๆคนมาอยู่ที่มาเก๊าใหม่ๆก็ได้พี่ใหญ่ช่วยดูแล และคอยช่วยเหลือยามมีปัญหา
ปัจจุบันพี่ใหญ่เปิดร้านเหล้าอยู่ที่ย่านหว่องฉิ่ว(Wong Chiu) และเป็นหนึ่งในคนจีนที่เหล่านักมวยไทยให้ความเคารพนับถือและคุ้นเคยกับนักมวยไทยเป็นอย่างดี
“แล้วไอ้อ่อนเอ็งไปอีท่าไหนถึงมาเป็นลูกน้องพี่เชอรี่ที่มาเก๊าได้ “ ไอ้เษมถามเพื่อนกลับ
“หลังชกมวยไทยข้าก็ไปเป็นนักวูซูทีมชาติ ได้เหรียญเงินเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 แล้วก็ลาออกมาเป็นเทรนเนอร์ แต่ว่าเงินเดือนมันน้อยได้ไม่กี่พัน พอดีพี่เชอรี่ชวนมาเป็นการ์ด ทำงานร่วมกับแก ข้าเห็นว่าเงินมันดีกว่ากันเยอะก็ตอบตกลงทันที” ไอ้อ่อนเล่าพร้อมกับยกเบียร์ที่เหลือติดก้นขวดกระดกเข้าปาก
“เอ้า เบียร์หมดกันแล้ว เดี๋ยวข้าเข้าร้านไปเอาเบียร์มาให้ก่อน เรื่องค่าเบียร์ไม่มีปัญหา ลงบัญชีหนังหมากับพี่ใหญ่ไว้ก่อน” เกษมเล็กบอกสมาชิกร่วมโต๊ะเบียร์พร้อมๆกับเดินหายเข้าไปในร้าน
เปิดตำนานบอดี้การ์ดหน้าสยามในมาเก๊า
02.20 น.
วิกาลในมาเก๊าดึกสงัด
แต่ผู้คนที่นี่กับแตกต่างออกไป บางคนเสียพนันในบ่อนหมดตัวกลับมากลัดกลุ้มใจก็เลือกหาร้านเหล้าสักแห่งนั่งดื่มย้อมใจ ซึ่งก็ต่างจากบางคนที่คืนนี้ได้กำไรจากบ่อนก็หาร้านดื่มฉลองเช่นกัน
ส่วนเด็กวัยรุ่นหลายๆคนเลือกใช้ช่วงเวลานี้เข้าไปยักย้ายส่ายสะโพกในเธคทั้งเล็กใหญ่ เนื่องจากเริ่มเมาได้ที่แล้ว
ด้านโสเภณีทั้งจากแผ่นดินใหญ่ และรัสเซียเวลานี้นับเป็นช่วงเวลาทองที่พวกหล่อนจะต้องตะครุบเหยื่อให้ได้
เรียกได้ว่าราตรีในมาเก๊ายิ่งดึกก็ยิ่งคึกคัก...
...ไอ้เษมเดินกลับมาพร้อมเบียร์ขวดเขียวอีก 3 ขวด เมื่อถึงยังโต๊ะก็ไม่รีรอ ถามนักมวยรุ่นพี่ถึงยุคบุกเบิกของนักมวยไทยที่มาเป็นการ์ดในมาเก๊า
“สมัยที่ข้ามาอยู่กับพี่ทีปใหม่ๆ ตอนนั้นประมาณปี 2537 เห็นจะได้ มีนักมวยไทยมาเป็นบอดี้การ์ดที่นี่ไม่กี่คน พี่ทีปมาคนแรก แล้วก็พี่เด็ดดวง(เด็ดดวง ป.พงษ์สว่าง อดีตนักชกเงินแสน ยอดมวยไทยรุ่นเล็ก)ข้ามาคนที่สาม เดี๋ยวนี้นักมวยไทยที่มาเป็นการ์ดนี่ มีประมาณ 40 คนได้แล้วมั้ง พวกเรานักมวยไทยดังๆก็มากันเยอะหนิ มีดอกไม้ป่า ป.พงษ์สว่าง(น้องเด็ดดวง) ราชศักดิ์ ส.วรพิน, เรนโบว์ ส.พรานทะเล,นำขบวน ราชพฤกษ์คาเฟ่ และก็ยังมีอีกหลายคน”
“และพวกมีอิทธิพลในมาเก๊านี่นิยมจ้างนักมวยไทยไปเป็นการ์ด เพราะคนที่นี่เขายอมรับกันว่าใครที่มีการ์ดเป็นนักมวยไทยนี่ถือเป็นพวกเกรดเอ จะทำอะไรต้องเกรงใจ” เชอรี่ฟื้นความหลัง ก่อนที่จะเล่าให้นักมวยรุ่นน้องฟังว่า ตอนที่มาอยู่ใหม่ๆนักมวยไทยที่มาเก๊ามีน้อย ตอนนั้นอยากกลับเมืองไทยนะ มันเหงา มันคิดถึงบ้าน คุยกับใครก็ไม่รู้เรื่อง แต่พออยู่มาอยู่ไปชิน และคนไทยที่นี่ก็รักกันมาก ไปไหนมาไหนเจอคนไทยจะอบอุ่นมาก
“ผมก็เหมือนพี่นะตอนมาอยู่ใหม่ๆคิดถึงบ้านมาก พูดกะใครไม่รู้เรื่อง อาหารการกินไม่ถูกปาก แต่ตอนนี้ไม่แล้ว” เกษมเล็กเล่าบ้าง
“แต่ของข้านะต่างกันออกไป เพราะข้าเพิ่งมาอยู่ที่นี่ได้ไม่กี่เดือน ตอนที่ข้ามาเอ็งก็มาแล้ว เพื่อนๆพี่ๆนักมวยมาอยู่กันเยอะแล้ว พอมาอยู่ที่นี่ได้ประมาณ 10 วัน ก็รู้สึก เรียกว่าให้เอาช้างมาฉุดก็ไม่กลับ แต่ถ้าเอาเมียมาฉุดนี่ก็คงต้องกลับแหละ”อ่อนเล่า
“ก็แหม ที่ยี้มาโหล่ที่เป็นย่านคนไทยในมาเก๊า มันมีครบที่เอ็งต้องการนี่ เพราะพอเลิกงานตอนดึก(พวกการ์ดนักมวยไทยจะเลิกงานอยู่ระหว่างตี2 ถึงตี 4 ) เอ็งก็ไปหาเหล้า หาไพ่ หาไฮโล หรือไปนั่งคุยเรื่องข่าวสารบ้านเมืองไทยได้ที่นั่น” ไอ้เษมแซวไอ้อ่อน
“อ้าว ก็ใครจะยอมเสียตังค์ไปเล่นในบ่อนมาเก๊าล่ะ หมดตัวสถานเดียว ที่พวกเราเล่นกันนี่ก็หนุกๆ มีหยิบยืมกัน สิ้นเดือนจ่าย เงินที่ได้ก็เอามากินเหล้ากัน หรือเอ็งว่าไม่ใช่”
อ่อนสวนคำพูดกลับต่อเกษมเล็ก ก่อนที่จะพูดต่อว่าที่ย่านยี้มาโหล่ไม่เพียงแค่มีเหล้ามีให้เล่น แต่เรื่องของอาหารไทยก็มีให้กินครบทุกภาคโดยเฉพาะร้านของลุงน้อยที่เป็นศูนย์รวมของเหล่านักมวยไทย มีแม้กระทั่งของกินหายากอย่างตำขนุน ผัดสะตก ไข่มดแดง
ต่อย ตี เรื่องปกติของคนเป็นการ์ด
“พี่เชอรี่ สมัยพี่มาเป็นการ์ดที่นี่ มันต่างกับยุคที่พวกผมมาเป็นยังไง ได้ข่าวว่าตอนนั้นมาเก๊าเถื่อนมากนี่”เกษมเล็กถาม
“เออ เถื่อนมาก สมัยก่อนมาเก๊ามันฆ่ากันบ่อยมาก(ช่วงก่อนที่มาเก๊าจะถูกยกกลับไปให้จีนปกครอง) ตอนนั้นมาเฟียเพียบ ลูกพี่ผมก็เลยต้องจ้างผมมาคอยคุ้มกันแก กับเพื่อนการ์ดคนจีนอีกคน มีแก๊งใหญ่ ชื่อแก๊ง 14 เค ส่วนแก๊งที่ข้าสังกัดอยู่เป็นแก๊งที่เพิ่งเริ่มสร้างชื่อ แต่ถึงวันนี้แก๊งที่เราอยู่ดังกว่า แก๊ง 14 เค แล้ว”
“เวลายกพวกตีกัน ก็จะปิดถนนตะลุมบอนกันเลย แต่พวกเราจะไม่ใช้ปืนยิงกัน ถ้าใช้ปืนยิงกันมันไม่ใช่ที่มาเก๊า แต่มันเป็นในหนังเรื่องโหด เลว ดี แต่ที่นี่จะใช้มีดไล่ฟันกันเหมือนในหนังฮ่องกง” เชอรี่เล่าต่อ
“แล้วพี่เคยโดนอะไรหนักๆบ้างเปล่า” เกษมเล็กสงสัย
“เคยโดนฟันที่ขาครั้งนึง ตอนนั้นเพื่อนคนจีนโดนฟันที่หลัง ข้าเข้าไปช่วย ไอ้พวกแก๊งตรงข้ามมันก็ใช้มีดฟันมา กะเอาตายเลยนะ แต่ว่าเราอาศัยเชิงมวยถอยฉากแล้วเตะสวน แต่ชิบหาย มันดันฟันกลับมาอีก ตอนนั้นโดนฟันที่หน้าแข้ง แต่เอ็งเชื่อมั๊ยข้าไม่เป็นไรเลย ไม่ใช่หนังเหนียวหรอกนะ แต่กางเกงที่ใส่มันหนา แค่ช้ำๆแต่กางเกงขาด”
“นั่นแหละเป็นครั้งที่โดนหนักที่สุด ยุคที่พวกเอ็งมานี่ไม่มีการยกพวกตีกันแบบสมัยก่อนแล้ว เพราะหลังจากที่จีนมาปกครองมาเก๊า ทางรัฐบาลจีนก็มีนโยบายปราบมาเฟีย เรื่องการฆ่ากันก็เลยมีน้อยลง แต่เรื่องชกต่อยกับศัตรูตีกับแก๊งอื่น หรือคนที่ลูกพี่ไม่ชอบนี่ก็ยังมีเรื่อยๆ” เชอรี่เล่า
“แต่มันก็ยังมีกันยกพวกตีกันอยู่นะ เมื่อไม่กี่วันมานี่ไอ้บัติ(ชื่อเล่นของนักมวยไทยที่อีกคนหนึ่ง)มันเล่าให้ฟังว่า แก๊งของมันเพิ่งไปยกพวกตีกับแก๊ง 14 เคมา ทั้ง 2 แก๊งเนี่ยมีนักมวยไทยอยู่หลายคน พี่รู้มั้ยเวลามันตีกันมันจะดูหน้าก่อน มันจะเลือกตีแต่คนจีนหรือชาติอื่น ก็นักมวยไทยเรารู้จักกันทั้งนั้น ตอนเย็นวิ่งไล่ตีกัน ตกกลางคืนก็มาก๊งเหล้ากัน” ไอ้อ่อนเล่าเสริมเชอรี่
“เอ้า!?! ไอ้เษมเล่าชีวิตการ์ดร้านเหล้าให้ฟังบ้างซิ” เชอรี่บอกรุ่นน้อง
“ผมว่าชีวิตผมมันสบายนะ ทำงานประมาณวันละ 7 ชั่วโมง เริ่มงานประมาณ 3 ทุ่ม เลิกงานตี 4 แต่ว่าต้องทำทุกวันเพราะร้านเปิดทุกวัน แต่ถ้าวันไหนไม่สบายหรือเมาหนักก็ขอลาพี่ใหญ่ได้ เวลาทำนี่ก็จะกินเหล้า เบียร์ และดูดบุหรี่แทบทุกวัน แต่ว่าต้องไม่เมานะเอาพอกรึ่มๆ เพราะเวลาร้านมีเรื่องลูกค้ามาเมาอาละวาด บางทีต้องต่อยลูกค้าถ้าเมาเกินไปก็โดนเขาอัดกลับมา แต่ถ้าไม่เมาเลยใจมันก็ไม่กล้า”
“ส่วนมากลูกค้าที่มามีเรื่องก็จะเป็นพวกฝรั่ง เพราะพวกนี้ถือว่าตัวใหญ่ บางทีเมามาจะขึ้นไปร้องเพลงบนเวที หรือไม่ก็จะมาลวนลามนักร้อง ผมห้ามไม่ฟัง แถมจะมาทำร้ายเราอีก เราก็ใส่ก่อนเลย ต่อยเอาให้เข้าจุดโฟกัสใครโดนส่วนมากเป็นร่วง เรื่องพวกนี้มีประจำ แต่ที่มาเก๊าดีอยู่อย่าง คือเวลามีเรื่องแล้ววันรุ่งขึ้นก็แล้วกันไป ไม่มีการมาอาฆาต หรือไม่มีมาประมาณว่า มึงรู้มั้ยที่นี่ใครใหญ่ หรือมึงรู้มั้ยกูลูกใคร พอเราทำหน้าที่การ์ดด้วยการต่อยแขก เสร็จแล้วก็รีบกลับบ้านทันที เดี๋ยวทางลูกพี่เข้าจะไปเคลียร์ให้” เกษมเล่าชีวิตของการ์ดร้านเหล้า
“แล้วครั้งไหนเอ็งเจ็บตัวมากที่สุด” อ่อนถาม
“ก็มีอยู่ครั้งนึงเจอกับฝรั่งตัวใหญ่มาก มันดูเหมือนเมา ข้าก็ว่าไอ้นี่ไม่เท่าไหร่ พอต่อยมันไปเท่านั้นแหละ มันไม่ร่วงแต่มันดันสร่างเมา โอ้โหตัวมันใหญ่เบ้อเริ่มเลย ข้าเลยต้องใช่เชิงมวยไทยที่ร่ำเรียนมา คือคว้าของที่หาได้ใกล้มือ ตอนนั้นรู้สึกจะได้ขวด แล้วฟาดเลย พอไอ้ฝรั่งนั่นเลือดออก มันก็หยุดแล้ว” เกษมเล็กเล่า
“เออ เอ็งนี่มันสมฉายานักมวยวิชาการ เอ้ย!!! นักมวยวิชามารเลยนะ พอเอ็งฟาดเสร็จไอ้ฝรั่งนั่นมันก็เริ่มกลัวเอ็งแล้วหละ” อ่อนพูดขึ้นบ้าง
“เปล่าหรอก ตอนนั้นเด็กในร้านมาอีกเพียบ ไอ้ฝรั่งนั่นมันเลยไม่กล้า มาที่เรื่องของพี่เชอรี่บ้างดีกว่า ไอ้เชิงมวยไทยเนี่ยมันช่วยพี่ได้มั๊ยตอนมีเรื่อง” เกษมเล็กถามเชอรี่บ้าง
“มันช่วยได้เยอะนะ โดยเฉพาะลูกติ๊ดชึ่ง หรือลูกถอยวนดูเชิง ยิ่งถ้ามันมีมีดมีไม้ เราก็ต้องถอยดูทิศทางอาวุธมันให้ดี และก็ต้องคอยดูลูกพี่ด้วย ถ้าลูกพี่ปลอดภัยเราก็ถอยได้ ยังไงๆสิ่งสำคัญก็คือต้องให้ลูกพี่ปลอดภัย ส่วนตัวเรานั้นเป็นเรื่องรอง เพราะเมื่อเราเลือกจะเป็นการ์ดแล้วก็ต้องทำให้เต็มที่ แล้วลูกพี่เขาก็จะรักและไว้ใจเรามากขึ้น” เชอรี่ตอบพร้อมกับแนะนำรุ่นน้องไปในตัว
“และเวลาลูกพี่สั่งให้ไปต่อยใคร ไปอัดใคร ก็ต้องต่อย ต้องอัดเอาให้ร่วงไว้ก่อน แล้วค่อยไปรู้สึกผิดกันทีหลัง อย่างเมื่อไม่กี่วันมานี่ ลูกพี่สั่งให้ไปอัดคนที่แก๊งตรงข้าม ข้าไปกับไอ้อ่อน พอเจอข้าใส่เลย ไอ้นั่นร่วงผล็อยทันที แต่สงสารมันมากเลยนะเพราะเขาแก่กว่าเยอะ เวลาต่อยก็เล็งใส่จุดโฟกัส เพราะมันจะได้เจ็บตัวน้อยที่สุด ข้ารู้สึกว่าตัวเองเริ่มแก่แล้วมั้ง เวลาที่ไปอัดคนนี่ หลายๆครั้งที่กลับมานอน นอนไม่หลับนะ เพราะสงสาร แต่ว่าก็ต้องฝืนใจทำ เพราะเราเลือกอาชีพมาเป็นบอดี้การ์ดแล้ว ก็ต้องทำให้เต็มที่”เชอรี่เล่าเพิ่ม
“แล้วพี่กะว่าจะวางมือเมื่อไหร่” อ่อนถามเชอรี่บ้าง
“ก็คงประมาณ 40 กว่าๆ ตอนนั้นร่างกายมันก็คงไม่ไหวแล้ว มันก็เหมือนชกมวยไทยที่ช่วงปลดระวางอยู่ที่ 30 ส่วนการ์ดนี่ก็อยู่ช่วงประมาณ 40 แต่จากประสบการณ์การเป็นการ์ดนี่มันก็สอนให้เราไม่ประมาททั้งเรื่องของชีวิตและเรื่องของเงินทอง เพราะตอนต่อยมวยไทยรู้ซึ้งเลยกับคำว่า ผลาญเงิน”
“ถ้าข้ากลับเมืองไทย ก็คงจะไปแต่งเมียคนใหม่ เพราะคนเก่าเลิกกันนานแล้ว แล้วก็อาจจะไปเปิดบ่อนไก่ชน เพราะว่านอกจากมวยไทยแล้ว ไก่ชนก็เป็นกีฬาอีกอย่างหนึ่งที่ชอบมาก แล้วเอ็งไอ้เษม ไอ้อ่อนเลิกเป็นการ์ดจะไปทำอะไร” เชอรี่ถามกลับบ้าง
“ผมก็ว่าจะกลับไปทำไร่ทำสวน พวกเราความรู้มันน้อย มันทำได้ดีก็เท่านี้แหละ” ไอ้เษมตอบ
“ส่วนผมตอนนี้ยังไม่ได้คิดเลย เพราะเพิ่งมาอยู่ที่มาเก๊าได้ไม่กี่เดือน แต่ว่าก็เก็บเงินและส่งเงินให้ทางบ้านทุกเดือน ยังไงชีวิตก็คงกลับไปตายที่เมืองไทยแหละ เพราะเกิดเป็นคนไทยนี่”อ่อนตอบคำถามนักมวยรุ่นพี่
“เออ ยังไงคิดไว้บ้างก็ดีนะ เพราะถ้าตอนชกมวยไทยพวกเราคิดกันได้แบบนี้ ก็คงไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาใช้ชีวิตที่โลดโผนแบบนี้ แต่ก็อย่างว่าใครเล่าจะรู้อนาคตของตัวเอง เอ้า เบียร์หมดอีกขวดแล้ว ไอ้เษมเอ็งกลับไปทำงานต่อเถอะ เดี๋ยวข้ากับไอ้อ่อนจะไปนั่งเล่นกันที่ร้านลุงน้อย ที่ยี้มาโหล่” เชอรี่พูดเพื่อจบวงสนทนา เพราะเห็นว่าเกษมเล็กปลีกตัวมาคุยนานแล้ว
“ได้พี่ พอเลิกงานแล้วผมจะตามไปสมทบ” ไอ้เษมตอบ
03.30 น.
ราตรีเดินทางมาถึงโค้งสุดท้าย
...วงสนทนาของอดีตนักมวยไทยแยกย้าย ทิ้งเรื่องราวของบอดี้การ์ดหน้าสยาม ไว้ให้บุรุษนิรนามนำไปบอกเล่ากับคนทั่วไปว่า นี่คืออีกหนึ่งอาชีพของคนไทยในต่างแดน เป็นอาชีพของคนที่เลือกเกิดไม่ได้ แต่บางทีเมื่อพวกเขาเลิกอาชีพพวกนี้ ชีวิตพวกเขาอาจจะสามารถเลือกเดินทางตามเส้นทางที่ตนปรารถนาก็ได้...
********
บทความเรื่องนี้ เป็นชีวิตจริงที่เรียบเรียงจากวงสนทนาของอดีตนักมวยไทย ที่เดินทางไปประกอบอาชีพเป็นบอดี้การ์ดอยู่ ณ เมืองมาเก๊า ซึ่งก็มีทั้งการ์ดคุ้มครองเศรษฐี มาเฟีย การ์ดคุมร้านเหล้า การ์ดคุมเธค การ์ดคุมบ่อน โดยใน5-6 ปีหลังมานี่ ทางผู้มีฐานะในมาเก๊านิยมจ้างนักมวยไทยที่แขวนนวมไปทำงานอาชีพนี้ เพราะเห็นว่าเป็นคนมีฝีมือและมีความสามารถ ซึ่ง ณ วันนี้ก็มีนักมวยไทยที่แขวนนวมอีกหลายคนกำลังจะเดินทางไปเป็นบอดี้การ์ดที่มาเก๊า