xs
xsm
sm
md
lg

นักอ่านจารึก อัจฉริยะภาษาไทยที่ใกล้สูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง

....ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า...”

แล้วนกแก้ว นกขุนทองก็ถึงคราวอายม้วน เมื่อต้องเผชิญหน้ากับนักเรียนมัธยมยกชั้นหลายสิบคนสามัคคีชุมนุมท่องข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ สุโขทัยอย่างเอาเป็นเอาตายหน้าห้องสอบวิชาภาษาไทย แม้กลุ่มนักเรียนที่ส่งเสียงเซ็งแซ่ ฟังไม่ได้ศัพท์นี้ อาจจะน่ารำคาญในสายตาผู้ใหญ่บางคน แต่หลายคน เสียงเหล่านั้นกลับฉุดพวกเขาดำดิ่งสู่ห้วงอดีตครั้งยังนุ่งกางเกงขาสั้น กระโปรงจีบ ยิ่งวันนี้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ความรู้สึกก็ยิ่งดื่มด่ำมากขึ้น

จะว่าไปแล้ว การพากเพียรท่องบ่นในวันนั้นใช่ว่าจะสูญเปล่าเสียทีเดียว เมื่อ “...ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว...” ยังแวบขึ้นมาบ่อยๆ คล้ายกับจะเรียกร้องพื้นที่ในความทรงจำของคนไทยทุกคน ทั้งๆที่หลายสิบปีที่ก้าวพ้นรั้วมัธยมมานั้นหลายคนไม่เคยได้ยินชื่อศิลาจารึกอีกเลย และที่ร้ายกว่านั้นช่วงที่เรียนอยู่ก็ทนท่องๆไป เพียงให้สอบผ่านเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้นจะมีนักเรียนสักกี่คนที่รู้ว่ากว่าจะมาเป็นข้อความที่ต้องท่องเป็นนกแก้ว นกขุนทองนั้น “นักอ่านจารึก” นอกจากจะต้องทุ่มเทพลังสติปัญญา ความมุ่งมั่น อดทน และความละเอียดรอบคอบในการปริวรรตอักษรโบราณมาเป็นอักษรไทยแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแล้ว ความรอบรู้ในประวัติศาสตร์ทั้งระดับท้องถิ่นและสากลยังต้องผสานเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกับหัวใจของนักวิชาการที่พร้อมเปิดกว้างและตั้งคำถามกับหลักฐานที่ค้นพบอีกด้วย เพื่อให้ผลงานที่ออกมาถูกต้องมากที่สุด

ทำไมคนหนึ่งคนถึงทุ่มเทชีวิตหลายสิบปีให้กับงานที่หลายคนไม่เห็นคุณค่า แถมเย้ยว่ารู้หรือไม่รู้ ชีวิตก็ไม่เห็นต่างกันตรงไหน

หลักที่ ๑ ด้านที่ ๑: แรงบันดาลใจ

แรงบันดาลใจมักอยู่เบื้องหลังการรังสรรค์ผลงานยิ่งใหญ่ต่างๆของโลกมากมาย และไม่จำกัดอยู่แค่แวดวงศิลปินอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน แต่ นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ นักกีฬาอาชีพ หรือ “นักอ่านจารึก” ต่างต้องการแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนผลงานด้วยกันทั้งนั้น แม้วันนี้ดูเสมือนว่าแรงบันดาลใจของนักอ่านจารึกคนไทยพร้อมจะดับอย่างง่ายดาย เพียงแค่ลมกระโชกผ่านวูบเดียว

ขาดเงินทุนสนับสนุน ความร่วงโรยที่รุมเร้า และการขาดช่วงของการผลิใบใหม่ ส่งผลให้นักอ่านจารึกคนไทยในปัจจุบันเหลือน้อยเต็มทน ยิ่งคนที่อ่านได้อย่างแตกฉานนั้น นับแล้วคงไม่เกินจำนวนนิ้วมืออย่างแน่นอน

“ศ.ดร. ประเสริฐ ณ นคร” นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี ๒๕๓๑ กลุ่มสาขาปรัชญา ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ก็เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึกที่ยังมีไฟเหลือเฟือ และพร้อมที่จะจุดต่อให้คนรุ่นใหม่ๆ อย่างไม่ปิดบัง

ศ.ดร.ประเสริฐย้อนเหตุการณ์ประทับใจ ก่อนหน้าที่จะเริ่มศึกษาจารึกอย่างจริงจังว่า ช่วงเวลานั้นยังไม่มีชื่อเสียง แต่ได้อ่านผลงานศิลาจารึกของยอช เซเดส์บ้างแล้ว และด้วยการที่เป็นคนไทยเจ้าของภาษา ก็พบว่างานของเซเดส์น่าจะมีข้อผิดพลาด จึงตั้งใจอ่านศิลาจารึกทั้ง๑๕ หลักที่เซเดส์ศึกษา ก็พบว่าเขาอ่านผิดหลายแห่ง จึงเขียนจดหมายไปท้วงติง ซึ่งเขาก็รับพิจารณา และแก้ไข ทั้งๆที่ตอนนั้นเขาเป็นปราชญ์ใหญ่ จะโยนจดหมายทิ้งเสียก็ได้

ส่วนแรงบันดาลใจที่กระตุ้นให้หันมาสนใจงานด้านประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการอ่านจารึก ทั้งที่จบปริญญาเอกมาด้านสถิติและผสมพันธุ์พืชจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลนั้น มีด้วยกัน ๓ ประการ คือ ความปรารถนาที่จะรู้ว่าคนไทยมาจากไหน ซึ่งภาษาศาสตร์สามารถไขข้อสงสัยนี้ได้ แม้ในที่สุดแล้วจะบอกได้ไม่ชัดเจนว่าคนไทยมาจากไหนก็ตาม

ประการที่สองคือ ความทึ่งในเสน่ห์ของภาษาศาสตร์ เนื่องจากตอนเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล อเมริกา เคยช่วยสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติ แล้วค้นพบว่าภาษาศาสตร์มีความพิเศษมาก สามารถคาดเดาได้ เช่น มีบางคำที่ไม่รู้ว่ามี แต่ถ้ามี คำนั้นจะต้องออกเสียงแบบนี้ จึงจะถูกต้อง ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของภาษาศาสตร์ที่สาขาวิชาอื่นไม่มี

ประการสุดท้าย ต้องการลบคำปรามาส และพิสูจน์ตัวเองว่ามีความสามารถในการอ่านศิลาจารึกได้ถูกต้อง เนื่องจากในการสัมมนาโบราณคดีครั้งแรกนั้น ได้รับเชิญไปเป็นฝ่ายค้านในหัวข้อกษัตริย์สุโขทัยมีทั้งสิ้น ๑๐ องค์ หรือ ๖ องค์ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยเสนอไว้ ซึ่งในวันนั้นก็ค้านว่ากรมพระยาดำรงฯท่านนับจำนวนกษัตริย์เฉพาะตอนที่สุโขทัยเป็นเอกราชเท่านั้น จึงมีแค่ ๖ องค์ ทั้งนี้มีอยู่ช่วงหนึ่งถูกฝ่ายเสนอในเวลานั้นปรามาสว่าอ่านศิลาจารึกผิด เลยตัดสินใจเด็ดขาดว่าต้องอ่านศิลาจารึกด้วยตัวเองให้ได้

อย่างไรก็ตาม แรงบันดาลใจเพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถแปรเป็นผลงานคุณภาพอย่างต่อเนื่องได้ ถ้าขาดซึ่งความรักและเชื่อมั่นในงานที่ทำ ซึ่งกว่า ๓๐ ปีกับการนำเสนอผลงานวิชาการสำคัญๆอย่างต่อเนื่อง ความคิดริเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัยด้วยการอ่านจารึก และการรักษาแรงบันดาลใจไม่ให้มอดดับนั้น ย่อมพิสูจน์ได้อย่างดีว่า ศ.ดร.ประเสริฐคือของแท้คนหนึ่งของวงการ

หลักที่ ๑ ด้านที่ ๒: ทองแท้ไม่กลัวไฟ

จารึกแม้จะมีค่ายิ่งต่อคนในชาติ เพราะไม่เพียงแสดงสายธารวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของชาติเท่านั้น ยังเป็นขุมทรัพย์ทางภูมิปัญญาที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีด้วยอักษรโบราณหลากหลายรูปแบบ มอญ ขอม ล้านนา ที่รอการถอดรหัสจากคนรุ่นต่อไป แต่ทว่าวันนี้ท่าทีเมินเฉยยังคงเกาะกินหัวใจคนไทยส่วนใหญ่อย่างเหนียวแน่น นักอ่านจารึกทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่จึงต้องผจญกับกำแพงความเมินเฉยที่น่าอึดอัด จากความไม่เห็นค่า

“มหาฉ่ำ อ่านจนตาจะบอด ไม่เห็นมีใครดูดำดูดีเลย” เสียงสะท้อนความเสียสละของนักอ่านจารึกรุ่นเก่าจากห้วงคำนึงของศ.ดร.ประเสริฐ ที่แม้เวลาจะผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว ความจริงนี้ก็ยังคงต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในมิติทางเศรษฐกิจ ดังที่มหาฉ่ำ ทองคำวรรณ (ศ.ฉ่ำ ทองคำวรรณ ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (โบราณคดี) กิตติมศักดิ์) ต้องเผชิญเมื่อรับหน้าที่อ่านศิลาจารึกแทนเซเดส์ที่ต้องไปอ่านศิลาจารึกเขมรที่ไซ่ง่อนตามคำสั่งของฝรั่งเศส

“ความดีความชอบซึ่งมหาฉ่ำได้รับจากการทำงานแบบเดียวกับเซเดย์ คือการเลื่อนขั้น ๒ ขั้น เงินเดือนเพิ่มเป็น ๒๔ บาท ในขณะที่เซเดส์ได้รับเงินเดือนเป็นหมื่น ชีวิตของมหาฉ่ำจึงลำบากมาก อดมื้อ กินมื้อ เงินเดือนต้องเอาไปเลี้ยงครอบครัวจนหมด ยิ่งกว่านั้นไม่มีใครรู้เลยว่ามหาฉ่ำลำบากมาก แม้แต่ลูกศิษย์ที่ท่านสอนก็ไม่รู้ แต่ทำไมเรายังลืมท่านไปได้ ทั้งๆที่ท่านสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติมาก”

ศ.ดร.ประเสริฐเล่าต่อว่าลูกหลานอยากเรียนการอ่านศิลาจารึก ก็ไม่ให้เรียน แต่ให้เรียนวิชาชีพก่อน พอมีอาชีพรองรับแล้ว ค่อยมาเรียนการอ่านจารึกทีหลัง เนื่องจากการอ่านจารึกไม่สามารถประกอบเป็นอาชีพได้ ไม่มีใครจ้างทำงาน ต้องมีอาชีพเลี้ยงตัวเองเสียก่อน และต้องพร้อมที่จะเสียสละจึงจะเป็นนักอ่านจารึกที่ดีได้

“ทุกวันนี้ผมไม่เรียนคอมพิวเตอร์เลย เพราะรู้ตัวเองว่าถ้าเรียนเมื่อไร ใจจะไปทางนั้นทันที และจะไม่มายุ่งเรื่องภาษาหรือจารึกอีกเลย เพราะผมชอบตัวเลข ชอบคำนวณ ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นผมก็มีความสุข แต่ที่เลือกทางเดินนี้ นอกจากต้องการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือต้องการตอบแทนบุญคุณเงินภาษีอากรของประชาชน ที่ส่งผมเรียนตั้งแต่ประถมยันปริญญาเอก ซึ่งผมได้รับทุนเรียนมาตลอด เสียเงินเรียนทั้งหมดเพียง ๖๓ บาทเท่านั้น”

นักอ่านจารึกจึงต้องพร้อมเสียสละ และไม่คาดหวังว่าใครหรือหน่วยงานใดจะเห็นใจยื่นมือมาช่วย เนื่องจากพวกเขามักถูกจับให้ยืนในที่มืดที่ทั้งเปลี่ยวเหงาและล่อแหลมต่อความยากลำบาก แต่สิ่งเหล่านี้จะเป็นบททดสอบนักอ่านจารึกทั้งหน้าใหม่และเก่าทุกคนว่าใครจะหยัดยืนเป็น “ทองแท้ไม่กลัวไฟ” ได้มากกว่ากัน

หลักที่ ๑ ด้านที่ ๓: ปริศนาอักษรไขว้

ในฐานะชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์ ที่จะช่วยเติมเต็มความเป็นชาติไทย ความเป็นคนไทยของเราได้ดียิ่งขึ้น จารึกจึงควรเป็นหลักฐานชั้นต้นที่นักประวัติศาสตร์ไทยต้องให้ความสำคัญและศึกษามากขึ้น นักอ่านจารึกจึงไม่ต่างอะไรกับจิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย ที่จะนำความรู้ที่ได้จากการอ่านจารึกมาผสานกับความรู้เดิมให้การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมบูรณ์มากขึ้น

ศ.ดร.ประเสริฐเล่าว่าอ่านศิลาจารึกตั้งแต่ปี ๒๕๐๓ โดยเริ่มจากการอ่านตัวอักษรไทย ที่เขาเขียนมาแล้ว หลังจากนั้นก็อ่านจากภาพถ่ายจารึก ที่เป็นตัวอักษรโบราณเองเลย โดยส่วนใหญ่จะอ่านภาษาไทย ทั้งนี้นักอ่านจารึกต้องสามารถคำนวณ และรู้เรื่องตรรกวิทยาด้วย เพราะจะต้องคำนวณวันเวลาที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เนื่องจากโบราณจะใช้ไม่เหมือนกับปัจจุบัน

เสน่ห์ของการอ่านจารึกคล้ายกับการเล่นปริศนาอักษรไขว้ เพราะจะรู้สึกสนุกทุกครั้ง บางครั้งตีหนึ่งแล้วยังไม่รู้สึกง่วงเลย ความต่างจะอยู่ที่ปริศนาอักษรไขว้จะมีความหมายของคำที่ต้องการหาบังคับไว้ ส่วนการอ่านศิลาจารึกนั้นต้องดูที่ใจความ ดูบริบทเป็นสำคัญ ไม่สามารถแปลเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้นวิจารณญาณ และความซื่อสัตย์ต่ออาชีพจึงเป็นสิ่งที่นักอ่านจารึกทุกคนต้องมี

“ส่วนความยากในการอ่านศิลาจารึกนั้น ตัวอักษรส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุด ลบเลือน แตกหัก ไม่สมบูรณ์ ทำให้การถ่ายทอดเป็นไปด้วยความยากลำบากและต้องการคนที่มีความละเอียดสูง ซึ่งบางครั้งการอ่านจารึกต้องอาศัยการเดาด้วยในบางครั้ง แต่ต้องเป็นการเดาจากการอ้างอิงบริบทเป็นสำคัญ ยิ่งกว่านั้นการที่เราเป็นคนไทยก็ต้องอ่านภาษาไทยได้ดีกว่าชาวต่างชาติ จึงไม่จำเป็นต้องจ้างนักวิชาการต่างประเทศมาช่วยอ่านจารึกของไทยแต่อย่างใด เพราะคนไทยที่อ่านจารึกเก่งๆยังมีอีกมาก เพียงแต่ยังขาดแรงสนับสนุนที่ดีพอ” ศ.ดร.ประเสริฐชี้

หลักที่ ๑ ด้านที่ ๔: วับไหวบนปลายเทียน

หลังกองหนังสือภาษาไทย อังกฤษ หลายร้อยเล่มบนโต๊ะทำงาน บนชั้น ๓ ของคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร (วังท่าพระ) ซ่อนชายไทยรูปร่างเล็กวัยกว่า ๘๐ ที่กำลังขะมักเขม้นไขข้อข้องใจเกี่ยวกับศิลาจารึกให้กับลูกศิษย์อย่างไม่ปิดบัง มือเหี่ยวย่นแต่แม่นยำค่อยๆชี้ไปตามตัวอักษรทีละตัวๆ พร้อมคำอธิบายเนิบช้า แต่เต็มเปี่ยมด้วยพลังความรู้

นายโกศล ตี่นาสวน นักศึกษาที่เพิ่งจบจากคณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร เอกภาษาไทย โทประวัติศาสตร์ เผยว่าการเข้าพบ อ.ประเสริฐครั้งนี้ เนื่องจากมีปัญหาสงสัยบางประการเกี่ยวกับศิลาจารึก ซึ่งเมื่อฟังอาจารย์อธิบายแล้วก็เข้าใจดีขึ้น

โกศลมองว่าเมื่อก่อนจะเรียนประวัติศาสตร์แบบไม่ตั้งคำถาม ทำให้การเรียนประวัติศาสตร์ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เช่น การศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านจารึกนั้น ส่วนใหญ่จะอ่านจากที่เขาสังเคราะห์ ตีความมาแล้ว ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับข้อมูลที่ผู้สร้างศิลาจารึกต้องการจริงๆ ก็ได้ เพราะเป็นการตีความจากคนที่แปลออกมาอีกทีหนึ่ง ซึ่งความจริงแล้วควรศึกษาจากจารึกจริงมากกว่า

อย่างไรก็ตามถ้าการเรียนประวัติศาสตร์ในระดับปริญญาตรีต้องศึกษาจากเอกสารชั้นหนึ่งทั้งหมด ก็นับเป็นเรื่องหนักทีเดียว ส่วนศิลาจารึกที่เรียนนั้นจะใช้หลักที่ ๑ สุโขทัยเป็นหลัก เพราะหลักนี้จะบอกเกี่ยวกับนิติศาสตร์ การเมืองการปกครอง ในกลุ่มเพื่อนๆที่เรียนด้วยกันก็มีทั้งชอบ ไม่ชอบอ่านจารึก ถ้าคนที่ชอบประวัติศาสตร์ ก็จะชอบอ่านศิลาจารึกไปด้วย

“เรื่องราวในประวัติศาสตร์ เราไม่สามารถรู้ได้เอง ต้องศึกษาผ่านหลักฐานที่มีอยู่ และไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าสิ่งนั้นเป็นจริง เพราะอาจมีหลักฐานใหม่ที่มาหักล้างความเชื่อเดิมได้ การอ่านจารึกนั้นสนุกเหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์ เพราะต้องเชื่อมโยงส่วนต่างๆเข้าด้วยกัน และก็คล้ายกับการอ่านนิยายสืบสวนด้วย เพราะจะเกิดความสงสัย ซึ่งมันจะค่อยๆเปิดเหตุผลว่าทำไม อะไร”

โกศลมองว่าการอ่านจารึกในปัจจุบันนั้น คนรุ่นใหม่ๆไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากความรู้จะกำจัดอยู่ในวงแคบๆ เพียงนักวิชาการเท่านั้น พร้อมทั้งฝากข้อคิดที่น่าสนใจไว้ว่า สิ่งใดที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย คนไทยควรเรียนรู้ให้มากที่สุด เพราะการรู้จักตัวเองนั้นดีที่สุด

แล้วเวลาที่อ.ประเสริฐรอมานานกว่า ๖๐ ปีในการหาตัวตายตัวแทน ก็เป็นจริงเมื่อนายยุทธพร นาคสุข วัย ๒๖ ปี นักศึกษาปริญญาโท คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) ที่จบปริญญาตรีจากภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นว่าที่ อ.ภาษาไทยที่ม.มหิดล ตัดสินใจเดินตามรอยเท้าอ.ประเสริฐที่เดินล่วงหน้าไปแล้วกว่า ๓๐ ปี

อ.ประเสริฐพูดถึงยุทธพรว่า เขามีความรักในภาษาไทย ขณะเดียวกันก็มีความรู้เรื่องคำนวณเป็นอย่างดี เพราะหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้แต่เฝ้ามองว่าใครจะก้าวมาเป็นนักอ่านจารึกตัวตายตัวแทน เนื่องจากนักศึกษาที่เรียนคณะโบราณคดีส่วนมากเมื่อเจอเลข เจอคำนวณก็หนีหายหมด ซึ่งการอ่านจารึกต้องใช้คณิตศาสตร์ในการคำนวณเกี่ยวกับวันเวลาที่ปรากฏในจารึกด้วย เนื่องจากสมัยก่อนไม่ได้ใช้ระบบวัน เดือน ปีแบบสมัยนี้ จึงต้องการนักจารึกที่สามารถคำนวณวันเวลาที่แน่นอนของเหตุการณ์ต่างๆที่จดบันทึกไว้ได้

ด้านยุทธพรเผยว่า สามารถอ่านอักษรล้านนาได้ก่อนที่จะเริ่มเรียนอ่านจารึกในมหาวิทยาลัยเสียอีก เนื่องจากเป็นคนจังหวัดน่าน ยิ่งกว่านั้นที่หันมาสนใจศึกษาจารึกก็เพราะมองว่าจารึกเป็นเสมือนขุมทรัพย์ที่รอให้มีผู้ไปค้นพบ ยิ่งปัจจุบันคนที่สามารถอ่านจารึกได้นั้นน้อยลงทุกที ถ้าสามารถอ่านจารึกได้ก็จะเป็นหนทางหนึ่งในการนำภูมิปัญญาที่เกือบหายไปกลับคืนมาได้ เพราะยังมีขุมทรัพย์อีกมากมายที่เป็นภูมิปัญญา แต่แฝงอยู่ในจารึก ซึ่งภูมิปัญญาโบราณบางอย่างสามารถนำมาปรับใช้กับปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

“การศึกษาภาษาศาสตร์ก็เหมือนกับเรามีกุญแจอยู่พวงหนึ่ง ซึ่งมีหลายดอก แล้วเราก็เลือกมาดอกหนึ่ง คือ ความรู้ในภาษาใดภาษาหนึ่งที่เรามี แล้วก็ไขเข้าไป ก็จะพบสิ่งที่คนจารึกต้องการบอก ในขณะดอกที่เหลือก็ใช้ไขเข้าไปอ่านในอีกภาษาหนึ่ง เพราะฉะนั้นการที่เราอ่านได้หลายภาษา ก็เท่ากับเรามีกุญแจหลายดอก ที่พร้อมจะไขเข้าไปหาความลับได้มากมาย”

ยุทธพรเปิดใจว่าความยากในการอ่านจารึกอยู่ที่ ต้องมาจำแต่ละตัวใหม่ เนื่องจากลักษณะตัวอักษร และหลักไวยากรณ์ไม่เหมือนกัน การอ่านจากตัวจริง ไม่ใช่อ่านจากที่เขาคิดขึ้นมา จึงยากมาก พร้อมทั้งแนะว่าอยากให้ศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อชี้ทางในอนาคต เพื่อลดความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน

“ในฐานะผู้อ่านต้องทำความเข้าใจ ในบริบทของคำ การเดาศัพท์นั้นจะอิงกับบริบทเป็นหลัก คำไหนที่ไม่เคยปรากฏ ก็จะต้องใช้คำว่า น่าจะ อาจจะ ไม่สามารถฟันธงลงไปได้ ซึ่งทางคณะฯจะสอนให้อ่านตัวอักษรทั้งหมดที่พบในประเทศไทย มอญ อีสาน ซึ่งศิลาจารึกแต่เดิมมีความสำคัญมากในการศึกษาประวัติศาสตร์ และโบราณคดี เพราะทั่วโลกต่างยอมรับว่าเป็นหลักฐานชั้นต้น ที่น่าเชื่อถือและสามารถนำมาอ้างอิงได้”

หลักสุดท้าย : ลบด้าน เหลี่ยมมุม

อ.ประเสริฐมองสถานการณ์เกี่ยวกับการศึกษาจารึกในประเทศไทยว่าจะดีขึ้น เนื่องจากนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้นเกี่ยวกับการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ รู้ว่าต้องเรียนต้องสอนอย่างไร และมีการนำหลักฐานชั้นต้น มาใช้เรียนมากขึ้นด้วย

“การศึกษาประวัติศาสตร์นั้นไม่ควรยึดถือแบบเดิมๆ ซึ่งผู้มีอำนาจวาสนาบอกอะไรก็เชื่อไปหมด โดยไม่พิจารณาว่าเป็นจริงอย่างที่เขากล่าวอ้างหรือไม่ เป็นการเชื่อโดยไม่ลืมหูลืมตาเพราะฉะนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์โดยใช้จารึกเป็นหลักฐานชั้นต้นนั้นต้องปรับความเข้าใจให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักวิชาการ ที่มักจะมีความขัดแย้งทางวิชาการเกิดขึ้นเสมอๆ จนบางครั้งกลายเป็นความบาดหมางไป ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ภาพรวมทั้งหมดได้”

ส่วนความเห็นเกี่ยวกับภาษาที่วัยรุ่นนิยมใช้กันในปัจจุบันนั้น อ.ประเสริฐและโกศลมองคล้ายกัน คือ เมื่อเทียบกับอดีต จะพบว่ามีหลายคำที่เปลี่ยนไป ภาษาจะมีการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องยอมรับกับมัน ทั้งนี้ในฐานะอนุรักษ์ ก็ไม่ควรตระหนกจนเกินไป เนื่องจากภาษาที่วัยรุ่นใช้อยู่ในปัจจุบัน และผู้ใหญ่หลายคนมองว่าทำภาษาวิบัตินั้น มันจะมีอายุของมัน ไม่นานวัยรุ่นก็จะเลิกใช้ไปเอง อย่างไรก็ตามควรจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่รักษาภาษาไทยไว้ เพื่อใช้ในการอ้างอิงได้ โดยนำเป็นภาษาทางราชการด้วย ส่วนสำหรับคนทั่วไปก็ไม่ต้องไปตระหนกมากนัก เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับภาษาที่ยังไม่ตาย

ภาพจารึกในวันนี้จึงพร่าเลือน และมีพื้นที่ยืนแคบๆในแวดวงนักวิชาการเท่านั้น ในสายตาคนทั่วไป จารึกจึงไม่ต่างอะไรกับโบราณวัตถุชิ้นหนึ่ง ที่มีสนนราคาซื้อขายในฐานะของเก่าเท่านั้น ตราบใดที่ความหมายแฝงแท้จริงที่อยู่ในจารึกยังไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณชน นักอ่านจารึกในนัยหนึ่งจึงเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของจารึกต่างๆ ว่าจะอยู่ในพิพิธภัณฑ์ หรือตลาดค้าของเก่า
กำลังโหลดความคิดเห็น