xs
xsm
sm
md
lg

ออริจินอล คาร์เมน บนเส้นทางของคำว่า "เชื่อหรือไม่?"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แวดวงศิลปะของไทยในห้วงเวลานี้ คงไม่มีประเด็นถกเถียงเรื่องใดคึกโครมเท่ากับภาพวาดหญิงงามคลุมผ้าดำบางเบา ในชื่อ "ออริจินอล คาร์เมน" หรือ Original Carmen กับคำตัดสินว่า "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" ฝีมือของ "ปิกัสโซ" ศิลปินเอกของโลก

...ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สังคมเริ่มรับรู้ว่ามีภาพวาดอายุกว่า 100 ปีชิ้นนี้ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ศิลปิน นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ หรือแทบจะเรียกได้ว่าคนในทุกวงการไม่มีใครกล้าออกมารับรองยืนยันว่า "ใช่"

...ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บนเส้นทางของการพิสูจน์ สร้างความยากลำบากและเจ็บปวดไม่น้อยให้เจ้าของกับความพยายามที่จะยืนว่า "ใช่" เป็นภาพจริงของปิกัสโซ

ทว่า วันนี้เรื่องราวของ ออริจินอล คาร์เมน ที่เกือบเงียบหายไปได้หวนคืนเข้าสู่กระแสอีกครั้ง เมื่อมีผู้ติดต่อขอซื้อภาพจากเจ้าของด้วยมูลค่าสูงลิบถึง 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีนักวิชาการด้านศิลปะออกมายืนยันว่า น่าจะเป็นของจริง พร้อมทั้งเรียกร้องให้สังคมไทยช่วยกันพิทักษ์เอาไว้

มั่นใจของแท้ฝีมือปิกัสโซ

หลังมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า สิทธา เธียรอุกฤษฏ์ ผู้เจ้าของได้ขายภาพให้กับชาวสวิตเซอร์แลนด์เป็นเงิน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเบื้องแรกสังคมไทยไม่มีใครตั้งคำถามว่า เป็นภาพแท้ฝีมือของปิกัสโซอีกต่อไป หากประเด็นเรื่องการปั่นราคาภาพถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งคำถามใหม่แทน ส่งผลทำให้ผู้เป็นเจ้าของภาพต้องรับโทรศัพท์มากมายว่า "ขายเมื่อไหร่? ให้ใคร? ที่ไหน? เท่าไหร่?" แต่เขาก็ปฏิเสธที่จะตอบ

อย่างไรก็ตาม จากนั้นไม่นานนัก เมื่อผศ.วินัย ผู้นำพล นักประวัติศาสตร์ศิลป์ แห่งคณะอักษรศาสตร์ และ ศ.ธนะ เลาหะทับกุล ซึ่งปัจจุบันเป็นคณะบดีคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เพิ่งกลับมาเมืองไทยหลังจากทำงานศิลปะและสอนอยู่ต่างประเทศมานาน ได้ยินข่าวว่ามีภาพปิกัสโซในไทย จึงชวนกันขอติดต่อดูภาพจากสิทธา

หลังจากตกตะลึงมองภาพดูลีลาลายเส้น โดยยังไม่ทันเห็นลายเซ็นปิกัสโซ ผศ.วินัย ก็ปักใจเชื่อแล้วว่า เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากเป็นภาพของปิกัสโซ

ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาผศ.วินัย เฝ้าค้นคว้าเพิ่มเติมโดยมีอาจารย์จากสาขาวิชาต่างๆ ในศิลปากร แนวร่วมทางข้อมูลจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอื่น และห้องสมุด เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเอกสาร เมื่อนำมารวมกับหลักฐานข้อมูลเดิมที่สิทธามี เขามั่นใจว่า จะทำให้สังคมเชื่อได้ว่า ออริจินอล คาร์เมน คือ ผลงานของปิกัสโซจริง

วันศุกร์ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา งาน "ปริศนาข้อเท็จจริง ภาพวาดปิกัสโซในประเทศไทย" ที่จัดในนามหมวดวิชาทัศนศิลป์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงเกิดขึ้นเพื่อโต้ตอบความเห็นก่อนเก่าว่าไม่ใช่ และลบล้างความไม่แน่ใจให้กับสังคม

ผศ.วินัย คือนักวิชาการคนแรกที่ลุกขึ้นมานำเสนอข้อมูล 10 ประการพิสูจน์ยืนยันว่า ออริจินอล คาร์เมน คือ ภาพวาดของปิกัสโซ ไม่ใช่เรื่องหลอกลวง โดยมี ศ.ธนะ นั่งอยู่เคียงข้าง

นอกจากนั้น ยังเรียกร้องให้คนไทยและรัฐบาลซื้อภาพนี้ไว้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อเตรียมนำมาจัดแสดงถาวรในอาคารกระทรวงกลาโหม ซึ่งรัฐบาลมีแผนการใช้พื้นที่อาคารทั้งหมดเป็นศูนย์พิพิธภัณฑ์ระดับโลก

ผศ.วินัยให้เหตุผลว่า หากภาพวาดนี้เข้าสู่กระบวนการประมูลงานศิลปะในระดับโลก ย่อมมีมูลค่าสูงมากกว่าภาพ The Boy with a Pipe ของปิกัสโซที่เพิ่งถูกประมูลที่นครนิวยอร์กในราคาสูงถึง 104.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,164 ล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลควรถือ ออริจินอล คาร์เมน เป็นวาระของชาติ เพื่อปกป้องการสูญเสียโอกาสของประเทศ

"ผมเพิ่งรับทราบว่ามีภาพนี้อยู่ในประเทศได้ไม่นานนัก และทราบในเวลาต่อมาว่า เจ้าของกำลังจะขายให้กับชาวสวิตเซอร์แลนด์ในราคา 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้ติดต่อขอดูภาพวาดจากเจ้าของ และตอบได้ในทันทีว่า ออริจินอล คาร์เมน เป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากเป็นภาพวาดของปิกัสโซ จิตรกรเอกชื่อก้องโลก"

"ผมขอให้เจ้าของภาพชะลอการขายภาพ เพื่อรวบรวมข้อมูลมาพิสูจน์อีกครั้ง เพราะเชื่อว่า ตอนนี้ยังไม่มีคนรู้ว่าภาพนี้เป็นของจริง ก่อนจะขาย ขอเวลาพิสูจน์ให้สังคมได้รับรู้ก่อนว่า ออริจินอล คาร์เมน เป็นภาพของปิกัสโซที่อยู่ในเมืองไทย เพราะโอกาสที่คนไทยจะได้เป็นเจ้าของภาพปิกัสโซมีน้อยมาก และหากหลุดออกนอกประเทศไปแล้ว จะซื้อหากลับมาคงต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล สังคมควรจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าภาพนี้ควรจะอยู่ในประเทศหรือเปล่า และหากสังคมจะเชื่อหรือไม่เชื่อคำพูดและข้อมูลที่ผมนำมายืนยัน ผมจะถือว่า ในฐานะของคนในแวดวงศิลปะ ผมได้ทำดีที่สุดแล้ว ก่อนจะปล่อยให้ภาพหลุดออกนอกประเทศ"

ขณะที่ ศ.ธนะ บอกความรู้สึกหลังจากเห็นภาพวาดว่า ภาพเขียนหญิงสาวภาพนี้ ปิกัสโซเขียนขึ้นจากความรู้สึกหลงใหล คลั่งไคล้อย่างลึกซึ้ง เป็นมุมที่สวยที่สุดแล้วที่ปิกัสโซเลือกมา พอเห็นของจริง ก็รู้สึกเหมือนมีจิตวิญญาณของศิลปินอยู่ในนั้น

ทางด้านของ สิทธา บอกว่า "ตอนนี้ได้หยุดการซื้อขายไว้ก่อน" พร้อมทั้งเปิดใจพูดเพียงว่า "ตั้งแต่เริ่มบอกให้ทุกคนรู้ว่าเป็นภาพของปิกัสโซ มาถึงวันนี้มันเจ็บปวดอย่างร้องเรียนใครไม่ได้ เมื่อนักวิชาการที่ไม่ได้ดูภาพจริง ออกมาพูดว่ามันไม่ใช่ ...ผมเป็นนักธุรกิจ ไม่อยากให้ใครมองว่าผมสร้างเรื่องขึ้นมาปั่นราคา มันมีความเจ็บช้ำมาหลายเรื่อง สิ่งที่เราได้มาคุ้มค่าไหม หรือสิ่งที่เราเสียไปคุ้มค่ากว่า ตอนนี้ผมปล่อยให้อาจารย์วินัย ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์ได้ออกมาพิสูจน์ ข้อมูลทั้งหมดที่ผมมี ผมมอบให้อาจารย์วินัยไปแล้ว ที่ผมอยากจะให้คนรู้ตอนนี้คือ ภาพนี้มีจริง ใช่หรือไม่ เราได้มาอย่างไร ถ้าหลังจากนี้เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น มีใครมาซื้อ ขายราคาเท่าไหร่ ผมจะบอกให้รู้เองอีกครั้ง"

เมื่อแรกที่เปิดตัวต่อสังคม

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้....

ออริจินอล คาร์เมน ถูกเปิดเผยเป็นครั้งแรกเมื่อตุลาคม 2546 ในงานแถลงข่าวการจัดงาน "แสดงภาพเขียนศิลปินโลก "ปิกัสโซ" ที่ค้นพบในประเทศไทย และภาพคนเหมือนโดยกลุ่มศิลปินไทย" ณ ห้องโสตทัศนศึกษา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง

วันนั้น สิทธา เปิดเผยตัวในฐานะเจ้าของออกมาเล่าว่า ได้พบกับภาพหญิงสาวนี้ครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อนจากเจ้าของรายหนึ่ง เขาสงสัยว่าเป็นภาพของปิกัสโซ กระทั่งมีการเปลี่ยนมือมาอีก 2 เจ้าของก่อนถึงมาตกอยู่ในความครอบครองของสิทธาพร้อมกับผู้ร่วมถือกรรมสิทธิ์อีกหลายคนในหลากหลายอาชีพ

กลุ่มเจ้าของใช้เงินจำนวนมากในการศึกษาเป็นเวลานานนับ 10 ปี สิทธาต้องวิจัยค้นคว้าเอกสารหลักฐานต่างๆ และต้องเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง เพื่อเสาะหาข้อมูลมายืนยันความเชื่อของว่า ภาพวาดนี้เป็นของปิกัสโซ

ความเป็นมาของภาพวาดที่สิทธาค้นคว้ามาได้ในตอนนั้นคือ มีข้อมูลทางเอกสารที่ระบุได้ว่า ภาพวาดหญิงสาวชิ้นนี้ เป็นของที่ระลึกพระราชทานจาก พระนางเจ้ามาเรียกริสตินา พระราชินีผู้สำเร็จราชการแทนกษัตริย์ อัลฟองโซ ที่ 13 แห่งประเทศสเปน ที่มอบแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในสมัยรัชกาลที่ 5 (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาต่อมา) เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2440 (ค.ศ.1897) โดยเสด็จฯ ถึงประเทศสเปนในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน

เวลาเดียวกันนั้นปิกัสโซอายุ 16 ปี ได้เดินทางมาถึงกรุงมาดริด ก่อนหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือน และได้ร่วมงานกับ อะคาเดมี ออฟ ซาน เฟอร์นานโด ปิกัสโซ วาดภาพภาพหนึ่งเสร็จสมบูรณ์ เพื่อมอบให้ รอยัล อะคาเดมี ออฟ ซาน เฟอร์นานโด ภายใน 1 วัน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ พระนางเจ้ามาเรียกริสตินา ทรงเตรียมภาพวาดและสิ่งของอื่นๆ สำหรับพระราชทานแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงข้าราชบริพารที่ตามเสด็จฯ

จากหลักฐานต่างๆ ทำให้เชื่อได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับพระราชทานภาพวาดเป็นภาพวาดรูปสตรีสาวสวย มีผ้าคลุมผมเบาบางหันหน้าด้านข้าง เขียนขึ้นจากสีถ่านและสีชอล์ก บนการ์ดบอร์ดขนาด 49.8 คูณ 39 เซนติเมตร พร้อมลายเซ็นของศิลปินผู้วาดนามว่า "ปิกัสโซ" หลังจากนั้น พระองค์ท่านทรงนำภาพมาใส่กรอบที่สั่งทำเป็นพิเศษ และประทับตรารูปสลักช้างเอราวัณไว้ด้านล่างของกรอบ

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เถลิงถวัลยราชสมบัติในปี 2453 ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อซื้อเรือรบหลวง (พระร่วง) และมีการเรี่ยไรทรัพย์ระหว่างปี 2457 - 2463 ได้เงินกว่าสามล้านห้าแสนบาท ซึ่งได้จากการจัดงานประกวดภาพวาดและประมูลขายภาพวาดเป็นการภายใน ในปี 2460 และ 2463

งานประมูลขายภาพวาด เสวกโท พระยาภูบาลบรรเทิงราช เสวกกระทรวงวัง ประมูลได้ภาพวาดสตรีมีผ้าดำคลุมผมเบาบางหันหน้าด้านข้างภาพนี้ไว้ โดยนำภาพถ่ายการประชุมเทศาภิบาล กระทรวงมหาดไทยในปี 2448 ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับภาพ ปิดรองรับไว้ด้านหลังภาพ เพื่อป้องกันมิให้ภาพวาดชำรุดเสียหาย และยังเซ็นชื่อกำกับด้วยดินสอสีปูนแห้งแสดงความเป็นเจ้าของไว้ข้างหลังภาพ

ภายหลังพระยาภูบาลบรรเทิงราชถึงแก่อนิจกรรม ภาพวาดรูปนี้จึงตกทอดสืบมาถึงรุ่นหลานคือ นายณรงค์ อมาตยกุล ซึ่งในที่สุดก็ขายต่อเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา

ส่วนที่มาของชื่อ "ออริจินอล คาร์เมน" สิทธาระบุไว้ว่า ในการศึกษาประวัติปิกัสโซพบว่า เมื่อปิกัสโซเข้าเรียนที่รอยัล อะคาเดมี่ ออฟ ซาน เฟอร์นานโด เขาได้วาดภาพหญิงสาวไม่ปรากฏนามไว้อย่างสวยงาม และไม่มีใครรู้ว่าเป็นภาพใด จนผ่านมา 1 ปี ปิกัสโซ่ยังได้วาดภาพสเกตผู้หญิงหันข้างขึ้นจากความทรงจำ และให้ชื่อภาพวาดว่า "คาร์เมน" ซึ่งลักษณะเหมือนถ่ายทอดโครงสร้างมาจากภาพวาดภาพแรก ทั้งยังมีความใกล้เคียงกันอย่างน่าอัศจรรย์กับ "ออริจินอล คาร์เมน" ปิกัสโซได้เก็บรักษาภาพ "คาร์เมน" นี้ไว้นานถึง 72 ปี จนวาระสุดท้ายได้มอบ "คาร์เมน" ให้แก่พิพิธภัณฑ์ปิกัสโซ ที่บาร์เซโลนาในปี 1970

นอกจากนั้น ยังส่งภาพให้สถาบันนิติเวชตรวจสอบ ซึ่งระบุว่าเป็นของเก่า สิทธาจึงมั่นใจว่าเป็นของจริง โดยมิได้ให้ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติตรวจสอบเพราะค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้ง ภาพนี้ได้ถูกย้ายออกจากสเปนสู่สยามทันทีที่ปิกัสโซวาดเสร็จ ในวงการศิลปะนานาชาติจึงไม่มีใครเคยเห็นภาพนี้มาก่อน

การพิสูจน์ที่มีแต่ความเจ็บช้ำ

เวลา 2 ชั่วโมง สำหรับงานแถลงข่าวที่ ออริจินอล คาร์เมน เผยโฉม ในขณะเดียวกันกับที่สิทธานักธุรกิจในฐานะผู้ค้นคว้าวิจัยถูกซักถาม เพื่อให้อธิบายว่า "ใช่" ภาพของปิกัสโซได้อย่างไร ท้ายสุด เรื่องราวลงเอยที่ ความงดงามของภาพ หลักฐาน และคำตอบของสิทธา มิอาจขจัดข้อข้องใจที่ทำให้ทุกคนเชื่อว่าเป็นภาพจริงได้

หลังจากนั้น หนังสือพิมพ์หลายฉบับหยิบประเด็นภาพวาดของปีกัสโซไปสอบถามเพิ่มเติมจากผู้คนในวงการ

ปรีชา เถาทอง คณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องเห็นรูปภาพของจริงจึงจะบอกได้ แต่เท่าที่เห็นจากหนังสือพิมพ์ไม่น่าจะใช่การเขียนในสไตล์ปิกัสโซ เป็นสไตล์ของโมเน่หรือศิลปินฝรั่งเศสร่วมยุคมากกว่า เพราะข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ ปิกัสโซตอนอายุ 16 ปี ไม่เขียนแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ (ภาพเหมือนจริง)

ส่วน เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ แสดงความคิดเห็นว่า น่าจะส่งภาพให้กับสถาบันคริสตี้หรือสถาบันโซเทบีส์ตรวจสอบ แต่ก็ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเรื่องหลอกลวงมากกว่า

เช่นเดียวกับ ศาสตราจารย์ กำจร สุนทรศรี อดีตอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวว่า ไม่เคยเห็นภาพนี้มาก่อน และไม่อาจจะระบุได้ว่าเป็นของจริงหรือเปล่า ควรส่งรูปให้สถาบันที่มีความเชี่ยวชาญตรวจสอบ

กระแสข่าวในตอนนั้น ไม่มีใครออกมายืนยันได้เลยว่า ออริจินอล คาร์เมน เป็นภาพวาดจริงของปิกัสโซ ประเด็นของสิทธาที่จะบอกให้สังคมรู้ว่า เรามีภาพของปิกัสโซอยู่ ถูกเบี่ยงเบนไปเป็นนักธุรกิจที่ลุกขึ้นมาปั่นราคาภาพมากกว่า

...เรื่อง ออริจินอล คาร์เมน จึงจางหายจากสังคมไปในที่สุด กระทั่งกลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง เมื่อผศ.วินัยและศ.ธนะได้เห็นภาพ พร้อมทั้งมั่นใจว่า น่าจะเป็นของจริง

...เรื่องราวของ "ออริจินอล คาร์เมน" จึงคล้ายกับเกิดขึ้นเพื่อพิสูจน์คนไทยว่า "ศิลปะมีค่าเพียงใดในสายตา" และหากเป็นภาพของปิกัสโซ่จริงตามที่หลักฐานยืนยัน โดยไม่สามารถดึงรั้งภาพไว้ให้อยู่ในประเทศได้ ประชาชนคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการศิลปะก็คงได้แต่ต้องบันทึกเอาไว้ว่า ภาพวาดหญิงสาวผู้งดงามนี้ ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในเมืองไทย และมีคนไทยเคยเป็นเจ้าของมานานนับร้อยปี

*******

ข้อพิสูจน์ 10 ประการ ออริจินอล คาร์เมนของจริง

วันนี้สำหรับ "ออริจินอล คาร์เมน" วลีที่ว่า "ภาพแทนคำพูดได้พันคำ" นั้นยังไม่เพียงพอ ดังนั้น ข้อพิสูจน์ 10 ประการนี้ จึงอาจเป็นบทสุดท้ายที่จะออกมายืนยันให้ทุกคน "เชื่อ" ว่า ออริจินอล คาร์เมนเป็นภาพของปิกัสโซ

ประการที่ 1 เหตุผลทางประวัติศาสตร์ศิลป์ ภาพดังกล่าวแสดงรูปแบบการวาดภาพเหมือน (Portrait) และการแต่งกายของสตรีที่ใช้ผ้าบางสีดำคลุมร่างเป็นรูปแบบที่สืบทอดมาจากแนวการวาดของโกย่า (Francisco de Goya) ศิลปินสเปนที่มีชื่อเสียงโด่งดังต่อเนื่องในช่วงที่ปิกัสโซ่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม และเป็นช่วงที่ปิกัสโซ่ยังวาดภาพแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ที่สืบทอดมาจากการวาดภาพเหมือนจริง รวมทั้ง ปิกัสโซยังได้รับแรงบันดาลใจจากการวาดภาพเหมือนของโมเน่ (Monet) ศิลปินยุคอิมเพรสชั่นนิสชาวฝรั่งเศสที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยทันกันด้วย โดยเฉพาะภาพวาดสตรีที่มีชื่อว่า "กามิลล์ (Camille)

ขณะเดียวกัน ปิกัสโซยังได้ซึมซับแนวการวาดภาพของ เวลาสเควซ (Velazquez) ศิลปินชาวสเปนรุ่นก่อนที่นิยมวาดภาพแสดงรูปภาพภาพสะท้อนจากกระจกเงาให้ปรากฏร่วมอยู่กับโครงภาพทั้งหมดเพื่อแสดงมิติที่ซ้อนกัน อันส่งผลต่อปิกัสโซในการนำมาสังเคราะห์ร่วมกับวิธีการวาดของเซซาน (Ce'zanne) ศิลปินร่วมสมัยชาวฝรั่งเศสในเรื่องของสี ระนาบ และรูปผลึก จากการผสมผสานและสังเคราะห์กับรูปแบบของผลงานศิลปินดังกล่าวจนบังเกิดเป็นรูปแบบคิวบิสซึ่มได้ในอีกทางหนึ่ง

ประการที่ 2 เหตุผลการแสดงออกทางศิลปะ (Artistic) ถึงแม้ว่าสังคมทั่วไปมักจะรู้จักภาพวาดของปิกัสโซในช่วงต้น คือ ยุคบลู (Blue period) เสียเป็นส่วนมาก ซึ่งเป็นภาพวาดที่แสดงความเหมือนบุคคลในบรรยากาศสีคราม ได้มุ่งเน้นการแสดงความรู้สึกได้อย่างลึกซึ้งสะเทือนอารมณ์ยิ่ง แต่ผู้ที่มีสำนึกในวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ควรตระหนักได้ว่าการที่ใครก็ตามจะสามารถวาดภาพตามลักษณะของยุคบลูได้ ศิลปินผู้วาดนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านกระบวนการฝึกฝนตามหลักวิชาการวาดภาพแบบเหมือนจริง (Academic) มาก่อน จึงจะเกิดความต่อเนื่องที่สามารถพัฒนามาเป็นรูปแบบในยุคบูลได้สำเร็จ ดังเช่น ผลงานการวาดภาพเขียนบุคคลในครอบครัว ทั้งมารดา บิดา ผู้ใกล้ชิด ตลอดจนตัวปิกัสโซเองเป็นภาพลักษณะเหมือนจริง รวมทั้งภาพวาดรูปเหมือนที่อยู่ในประเทศไทย จึงล้วนเป็นตัวอย่างผลงานของปิกัสโซในช่วงวัยหนุ่มที่แสดงถึงความคล้ายคลึงกันในสไตล์การแสดงออก ตลอดจนสามารถแสดงออกด้านสุนทรียศาสตร์ได้อย่างสูงยิ่ง

ประการที่ 3 จากการศึกษาประวัติช่วงวัยเยาว์ของปิกัสโซ ปิกัสโซมีบิดาซึ่งมีอาชีพเป็นครูสอนศิลปะ และเป็นผู้สอนศิลปะให้กับเขาตั้งแต่กำเนิด ปิกัสโซ่สามารถวาดภาพทิวทัศน์และภาพเหมือนบุคคลได้อย่างสามารถเกินวัยตั้งแต่อายุได้ 13 ปี โดยเฉพาะการวาดภาพเหมือนบุคคล หรือ Portrait เป็นสิ่งที่ปิกัสโซมุ่งมั่นฝึกฝน เพราะสำหรับเขาในวัยเยาว์การวาดภาพเหมือนบุคคลเป็นสิ่งท้าทายความสามารถเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคม ทั้งวิถีทางนี้ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ปิกัสโซอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ตั้งแต่อายุ 13 ปี ปิกัสโซยังสร้างชื่อเสียงด้วยความสามารถในการวาดภาพเหมือนสีน้ำมันชื่อ "Frist communication" และสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศระดับชาติมาด้วยอายุเพียง 16 ปี

ในช่วงเวลาที่ปิกัสโซศึกษาอยู่ที่สถาบันศิลปะซานเฟอร์มานโดในกรุงมาดริด เป็นปีเดียวกับกษัตริย์แห่งสเปนรับเสด็จคณะของพระมหากษัตริย์สยาม ในปี ค.ศ.1897 ทั้งนี้ มีการกล่าวระบุไว้ในประวัติของเขาว่า ขณะปิกัสโซมีอายุ 16 ปี เป็นช่วงเวลาที่เขาได้วาดภาพเหมือนสตรีที่งดงามยิ่งเอาไว้ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นภาพใด ซึ่งคล้องจองกับข้อความในหนังสือของ Rubin William ที่ว่า ในเดือนตุลาคม ปีค.ศ.1897 ปิกัสโซได้เขียนภาพเสร็จสมบูรณ์เพื่อให้แก่ Royal Academy of San fernando ภายใน 1 วัน ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ปิกัสโซได้เขียนภาพสตรีไว้ให้กับซานเฟอร์นันโดแห่งนี้ ตรงกับระยะเวลาที่พระนางเจ้ามาเรียคริสติน่าผู้สำเร็จราชการได้ตระเตรียมภาพเขียน และสิ่งของอื่นๆ เพื่อพระราชทางแด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระเจ้าลูกยาเธอ, พระเจ้าน้องยาเธอ, และข้าราชบริพารทั้งหลายที่ตามเสด็จ ภาพเขียนสตรีนี้หรืออีกนัยหนึ่งคือ "Original Carmen" วาดโดยปิกัสโซ จึงเป็นของสิ่งหนึ่งที่ถูกหามาตระเตรียมไว้เพื่อพระราชทานให้แด่พระเจ้าลูกยาเธอสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฬ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร และถูกเก็บรักษาอยู่ในประเทศไทยมากว่า 100 ปี

ประการที่ 4 มีหลักฐานพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอบขอบพระทัยพระราชินีผู้สำเร็จราชการแทนกษัตริย์แห่งสเปนที่ทรงพระราชทานภาพวาดรูปเหมือนบุคคลนี้แก่พระบรมโอรสาธิราชฯ โดยพระราชหัตถเลขาดังกล่าว ยังคงเก็บรักษาอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติของสเปนจนทุกวันนี้ อีกทั้ง กรอบภาพชุบทองของภาพวาดยังมีตราช้างเอราวัณซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการเป็นสมบัติส่วนพระองค์ของพระบรมมหากษัตริย์หรือในระดับพระบรมโอรสาธิราชติดประดับอยู่จนถึงทุกวันนี้
ประการที่ 5 ด้านหลังภาพวาดยังมีหลักฐานภาพถ่ายการประชุมเทศาภิบาล โดยมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามราชกุมารประทับเป็นประธานอยู่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปี 2448 ที่ถูกปิดผนึกไว้อยู่จนทุกวันนี้ พร้อมทั้งมีลายเซ็นกำกับของพระยาภูบาลบรรเทิง ราชเสวกกระทรวงวัง ต้นตระกูลอมาตยกุล ผู้ประมูลภาพวาดชิ้นนี้ได้ในช่วงที่มีการนำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออกจำหน่าย เพื่อรวบรวมเงินซื้อเรือรบหลวงพระร่วงไว้ใช้ในการป้องกันประเทศ

ประการที่ 6 มีหลักฐานยืนยันแสดงสิทธิ์การครอบครองภาพวาดดังกล่าว ซึ่งตกทอดอยู่ในตระกูลอมาตยกุลตลอดเวลา 65 ปี นับจากพระยาภูบาลบรรเทิง พระยาปฏิภาณพิเศษ (อเล็กแซนเดอร์) จนถึงนายณรงค์ อมาตยกุล ก่อนจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตระกูลพูนทรัพย์

ประการที่ 7 ลายเซ็นของปิกัสโซที่เซ็นกำกับภาพนี้ไว้ ผู้เชี่ยวชาญการพิสูจน์ลายมือสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นลายเซ็นของปิกัสโซในยุคต้น เช่นเดียวกับลายเซ็นที่ปรากฏอยู่ในการวาดรูปเหมือนมารดาของปิกัสโซ ในช่วงที่ปิกัสโซยังอยู่ในวัยหนุ่มและคล้ายกับลายเซ็นที่ปรากฏอยู่ในภาพ "อาหารคนตาบอด" (Blind Man's Meal) ยุคบลูที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิแทน มิวเซียม อ๊อฟ อาร์ท นครนิวยอร์ค นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญการพิสูจน์ลายมือยังสามารถแสดงพัฒนาการลายเซ็นของปิกัสโซได้อย่างหลากหลายรูปแบบ และชัดเจนในทุกยุคทุกสมัยของการสร้างสรรค์งานศิลปะอีกด้วย เช่น ตัว P นำหน้าแสดงอยู่ร่วมกับตัว I และอยู่ร่วมกับตัว C ในช่วงแรกทำให้ดูเหมือนตัว S บ้าง G บ้างและ D บ้างหรือตัว SSO ตรงท้ายที่เขียนกลับไปมาเหมือนตัว ZZO บ้างเป็นต้น สิ่งเหล่านี้ตรงกับการที่ปิกัสโซกล่าวว่า เขาไม่ยึดติดกับรูปแบบของความเป็นตัวเอง หากแต่มุ่งแสดงออกทางพุทธิปัญญามากกว่า เหตุดังกล่าวจึงทำให้ลายเซ็นของปิกัสโซมีความหลากหลาย และดูสนุกกับการแสดงออกทางอารมณ์ในลายเซ็น ซึ่งชั่วขณะของอารมณ์ ความรู้สึกที่วาดภาพ ย่อมสัมพันธ์กับลายเซ็นในแต่ละภาพนั้นๆ หรือจะกล่าวอีกทางหนึ่ง คือ ลายเซ็นของปิกัสโซ มิใช่ลายเซ็นตรายางแบบการเซ็นของนักธุรกิจ

ประการที่ 8 มีการพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ จากสถาบันนิติเวช สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองพิสูจน์หลักฐาน ในด้านเนื้อกระดาษ สี และเนื้อไม้ล้วนแสดงความเก่าของภาพเกิน 100 ปี นอกจากนี้กองพิสูจน์หลักฐานสามารถวิเคราะห์ได้อย่างชัดเจนว่า ลักษณะการเซ็นชื่อของปิกัสโซ เป็นการเซ็นแบบลายมือ (Writing) หรือลายหวัดตัวอักษรที่มีลักษณะเฉพาะตน มิใช่ลายเซ็นแบบการวาดเส้น (Drawing) ที่ซ้ำๆ อยู่เช่นเดิม ลักษณะการเซ็นแบบลายมือนี้ ทำให้ลายเซ็นชื่อของปิกัสโซมีรูปแบบที่หลากหลายมาก หรือไม่สามารถกำหนดให้อยู่ในพิมพ์เดียวกันได้เลย

นอกจากนั้น จากการศึกษาผิวเนื้อกระดาษภาพวาดของปิกัสโซที่อยู่ในประเทศอย่างละเอียดถี่ถ้วน พบว่า เป็นกระดาษที่มีรอยขีดเขียนอยู่ก่อนที่จะมีการวาดภาพทับลงไป และได้พบตัวอักษร P อยู่ใกล้มุมภาพร่วมกับรอยขีดเขียนอื่นๆ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับตัว P ที่เป็นลายเซ็นของปิกัสโซที่ซ่อนอยู่ใต้ชั้นสี เป็นยุครูปแบบของตัว P ในยุคต้นของการเซ็นชื่อปิกัสโซในชื่อเต็ม คือ P. Ruiz Piccasso ส่วนการนำกระดาษที่ใช้แล้วมาวาดเขียนทับลงไปใหม่ พบได้มากในภาพเขียนของปิกัสโซช่วงเยาว์วัยถึงวัยหนุ่ม เช่น ภาพเหมือนมารดาของเขาที่บาร์เซโลน่า ก็พบร่องรอยเช่นเดียวกัน ซึ่งยุคนั้นเป็นยุคที่ปิกัสโซยังขัดสนเงินทอง ตลอดจน ในภาพเขียนที่ชื่อว่า เทรจิตี้ (Tragedy) ที่นักวิทยาศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติ กรุงวอชิงตัน ได้ทำการพิสูจน์แล้ว พบว่า ภาพเขียนชื่อเทรจิตี้นี้ เป็นภาพวาดที่ปิกัสโซเขียนทับลงบนภาพเขียนเดิม แสดงภาพกลุ่มคนกำลังจูงม้าเช่นเดียวกัน

ประการที่ 9 ภาพสเก็ตลายเส้นที่มีชื่อว่า คาร์เมน (Carmen) ภาพที่ปิกัสโซเก็บรักษาไว้กับตัวเกือบตลอดช่วงชีวิต นานถึง 72 ปี ก่อนที่จะมอบให้แก่พิพิธภัณฑ์ปิกัสโซ เมืองบาเซโลน่าในช่วงบั้นปลายชีวิต เมื่อนำเอามาเปรียบเทียบกับภาพวาดใบหน้าสตรีที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งลักษณะของน้ำหนัก จังหวะ และทิศทางของลายเส้น รวมทั้งท่วงท่าลักษณะของสตรีที่หันด้านข้างผู้นี้ บ่งชัดว่าเป็นภาพวาดที่ผู้วาดเป็นคนๆ เดียวกัน และหากนำภาพทั้งสองมาทาบซ้อนกัน ก็จะเห็นโครงสร้างใบหน้าเป็นคนเดียวกัน รูปสตรีผู้นี้ คือ อองเรียต นิแกรง (Henriette Nigrin, 1877 - 1965) ชาวฝรั่งเศส สามีของเธอนั้นเป็นทั้งครูสอนศิลปะของปิกัสโซ และเป็นทายาทต้นตระกูลของสถาบันศิลปะที่ปิกัสโซเคยเรียน

ประการที่ 10 มีหลักฐานแสดงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญการพิสูจน์งานศิลปะของปิกัสโซ และนักประมูลงานศิลปะระดับโลกจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ตลอดจนหนังสือแสดงความเห็นจากหอศิลป์แห่งชาติ นครวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ต่างแสดงความเชื่อมั่นว่า ภาพวาดชิ้นที่อยู่ในประเทศไทยนี้เป็นฝีมือวาดของปิกัสโซยุคต้นจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น