“มีรุ่งเรืองก็ย่อมมีวันเสื่อมสลาย”
นี่คือสัจจะแห่งสรรพสิ่งในใต้หล้าที่เราๆท่านๆยากที่จะปฏิเสธได้
เช่นเดียวกันกับความรุ่งเรืองของเงาะพันธุ์สีชมพูที่จังหวัดจันทบุรี ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นความภาคภูมิใจชาวเมืองจันท์ เนื่องจากว่าเงาะพันธุ์นี้เป็นหนึ่งในผลผลิตที่กำเนิดในเมืองจันท์ โดยชาวสวนเมืองจันท์ พร้อมๆกับสร้างชื่อเสียงให้กับเมืองจันท์อย่างมากมาย
แต่ว่าในช่วง 10 ปี หลังมานี่ เงาะสีชมพูแทบไม่มีคนเหลียวแล ราคาตกจนไม่รู้ว่าจะตกอย่างไร บางปีขายกันกิโลกรัมละไม่ถึงบาท ส่งผลให้ชาวสวนหลายๆคนต้องโค่นต้นเงาะสีชมพูทิ้งกันระนาว เรียกได้ว่าสถานการณ์ของเงาะสีชมพูย่ำแย่ถึงขีดสุด?!?
เงาะสีชมพูตำนานเงาะแห่งเมืองจันท์กับลมหายใจที่รวยริน
หากย้อนอดีตเมืองจันท์กลับไปประมาณ 100 กว่าปีที่แล้ว เมืองจันท์ไม่ได้โด่งดังในเรื่องของความเป็นเมืองผลไม้อย่างเช่นทุกวันนี้ จ.จันทบุรีแทบจะไม่มีผลไม้พื้นถิ่นของตัวเองเลย แต่ว่าด้วยสภาพภูมิประเทศของเมืองจันท์ที่เหมาะแก่การทำสวน และอุปนิสัยคนจันท์ที่ขยัน ช่างสังเกต และชอบการเพาะปลูก เมื่อพบเห็นผลไม้แปลกๆก็มักจะนำเมล็ด กิ่งตอน กลับมาปลูกที่บ้าน
ซึ่งเมื่อประมาณกว่า 80 ปีที่ผ่านมา ชาวสวนจันทบุรีหลายๆคน นิยมนำกิ่งตอนและเมล็ดของเงาะบางยี่ขันจากกรุงเทพฯ กลับมาปลูกยังเมืองจันท์
เมื่อปลูกมาได้ไม่กี่ปี ที่ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง ก็บังเอิญมีชาวสวนไปพบเงาะต้นหนึ่งที่งอกออกมาจากเมล็ดเงาะบางยี่ขัน เมื่อสังเกตดูก็เห็นว่ามีลักษณะต่างออกไปจากเงาะบางยี่ขัน คือเป็นเงาะที่มีสีชมพูสด สวยงาม เนื้อมีรสหวานกรอบ และร่อนจากเมล็ดดีมาก
“สมัยนั้นชาวบ้านเขาเรียกเงาะพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์มาจากเงาะบางยี่ขันว่า เงาะพันธุ์หมาจู เนื่องจากว่าเงาะพันธุ์นี้มีขนยาวสวยงามคล้ายหมาจู ซึ่งเงาะพันธุ์หมาจูนี่มีลักษณะแตกต่างไปจากเงาะบางยี่ขันก็คือ เงาะบางยี่ขันเนื้อไม่ร่อน และผลมีสีส้ม ส่วนเงาะพันธุ์หมาจู เนื้อหวาน ร่อน กรอบ และมีผลเป็นสีชมพูเข้ม แลดูสวยงามโดยเฉพาะยามที่ขึ้นดกเต็มต้น”
ดร.ชัยวัฒน์ มครเพศ จากคณะวิชาพืชศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตจันทบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมโครงการอนุรักษ์เงาะสีชมพู ได้เล่าถึงความเป็นมาของชื่อเงาะพันธุ์หมาจู จากนั้นก็ได้อธิบายต่อว่า จากเดิมที่เงาะพันธุ์หมาจูปลูกกันที่อำเภอขลุง ก็ได้มีการปลูกเพิ่มมากขึ้นแพร่หลายไปทั่วจังหวัดจันทบุรี พร้อมกันนี้ชาวสวนก็ได้เรียกชื่อเงาะพันธุ์นี้เสียใหม่ตามลักษณะสีสันของผลเงาะว่า “เงาะพันธุ์สีชมพู” หรือ “เงาะสีชมพู” หรือ “เงาะสี” ในภาษาชาวบ้าน
“ถ้าพูดถึงเงาะพันธุ์สีชมพู คนจันท์ที่เกิดทันกินเงาะสีชมพูในยุครุ่งเรือง เขายกให้เงาะที่ปลูกในเขตกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏที่นำเข้ามาปลูกในปี 2495 มาเป็นที่หนึ่งทั้งในเรื่องของรสชาติและสีสัน ซึ่งก็อาจเป็นเพราะว่าสภาพดิน ฟ้า อากาศที่คิชฌกูฏ เหมาะแก่การปลูกเงาะพันธุ์นี้” ดร.ชัยวัฒน์ เล่าความหลังเพิ่มเติม
หลังจากนั้นเงาะสีชมพูก็ถือเป็นผลไม้อันดับต้นที่ชาวสวนจันท์นิยมปลูกจำหน่ายติดต่อกันเรื่อยมาร่วม 50 ปี และเงาะสีก็เป็นผลไม้ชั้นนำที่เชิดหน้าชูตาเมืองจันท์เป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นผลไม้พื้นถิ่นที่มีต้นกำเนิดในเมืองจันท์
แต่ก็อย่างว่าไม่มีใครปฏิเสธสัจจะแห่งความจริงที่เมื่อรุ่งเรืองก็ย่อมต้องมีวันโรยรา
ช่วงประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาชาวสวนจันท์ก็ได้นำเงาะโรงเรียนจากทางใต้มาปลูก ซึ่งจากองค์ประกอบหลายๆอย่าง ก็ทำให้เงาะสีชมพูถูกลดบทบาทลงเรื่อยมา พร้อมๆกับราคาเงาะสีชมพูที่ลดลงเรื่อยๆเช่นกัน
อนุรักษ์เงาะสีชมพูด้วยการท่องเที่ยว
“เมื่อก่อนใครมาเมืองจันท์ต่างก็อยากกินเงาะสีชมพู แต่เดี๋ยวนี้เด็กจันท์บางคนยังไม่รู้เลยว่าเงาะสีชมพูหน้าตาเป็นยังไง ส่วนมากจะรู้จักและเคยกินแต่เงาะโรงเรียน ซึ่งถึงแม้ว่าเงาะโรงเรียนจะมีราคาแพงกว่าเงาะสีชมพู แต่ว่า เงาะสีชมพูก็มีข้อด้อยกว่าเงาะโรงเรียนตรงที่ความหวานเป็นรอง และเปลือกบางทำให้เวลาขนส่งจะช้ำง่าย แถมผิวค่อนข้างที่จะดำเร็ว เวลาขนส่งต้องคอยให้น้ำตลอด ” ชนะ มีพืชน์ ชาวสวนเงาะชาวจันทบุรีพูดถึงเงาะสีชมพูที่มาในวันนี้แม้แต่เด็กชาวจันท์ยังเมิน
“แต่เงาะสีชมพูมันก็มีข้อดีของมันนะ คือไอ้เจ้าเงาะพันธุ์นี้ของแท้เนื้อมันจะหนา หวานล่อน กรอบ และเป็นเงาะที่ปลูกง่าย ทนต่อดินฟ้าอากาศ ปีไหนน้ำเยอะถ้าเป็นเงาะโรงเรียนนี่รับรองได้ว่า เงาะยิ้มไปแล้ว(เงาะยิ้มคือเงาะที่แตกเนื่องจากได้น้ำมากเกินไป) แต่ว่าไอ้เจ้าเงาะสีชมพูนี่ไม่ว่าน้ำมากน้ำน้อยมันก็อยู่ของมันได้ และถ้าเทียบกันต้นต่อต้นพื้นที่ต่อพื้นที่แล้วเงาะสีชมพูให้ผลผลิตมากกว่าเงาะโรงเรียน แต่ที่ผ่านๆมาในช่วง 10 ปีหลังมานี่ เงาะสีชมพูราคาตกอย่างมาก ซึ่งถ้าหากว่าเงาะสีชมพูขายได้ราคาขึ้นมาสักหน่อยอาจจะน้อยกว่าเงาะโรงเรียนประมาณ 4-5 บาท ชาวสวนที่ปลูกเงาะสีชมพูก็อยู่ได้ ไม่ต้องโค่นต้นเงาะทิ้งไปปลูกอย่างอื่น ที่สวนของผมตอนนี้เหลือเงาะสีชมพูอยู่ 250 ต้น” ชนะเล่า
ซึ่งกับปัญหาเงาะสีชมพูขายไม่ได้ราคา ทางสุระ หงษ์ศิริ ปลัดกิ่งอ.เขาคิชฌกูฏ และกลุ่มคนที่ต้องการจะอนุรักษ์เงาะสีชมพูได้มองว่าหากเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เงาะสีชมพูต้องสูญพันธุ์ไปจากเมืองจันท์แน่นอน
“ที่พวกเราจัดงานเทศกาลเงาะสีชมพูขึ้นมาก็เพื่อต้องการที่จะอนุรักษ์เงาะพันธุ์นี้ไว้ ให้อยู่คู่เมืองจันท์ ซึ่งปัจจุบันนี้ชาวสวนเมืองจันท์ปลูกเงาะสีชมพูกันอยู่ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 4-5 พันไร่ โดยในพื้นที่กิ่งอำเภอเขาคิชกูฏถือว่ายังมีการปลูกเงาะสีชมพูหลงเหลืออยู่มากที่สุดในจันทบุรี”
สุระ เผยสถานการณ์เงาะสีชมพูในจันทบุรี พร้อมๆกับเล่าเพิ่มเติมว่า ทางทีมงานที่จัดโครงการอนุรักษ์เงาะสีชมพูขึ้นมาก็เพื่อต้องการยกราคาเงาะสีชมพูขึ้นมา พร้อมๆกับให้ชาวสวนผู้ที่ปลูกเงาะสีชมพูประคองตัว และรักษาต้นเงาะสีชมพูไว้เพราะว่าเป็นเงาะพันพื้นเมืองดั้งเดิมของเมืองจันท์ ไม่ถึงขนาดว่าจะต้องปลูกเพิ่ม แต่ว่าแค่ไม่โค่นทิ้งก็พอ โดยการจัดงานก็จะจัดคู่ไปกับการท่องเที่ยวในกิ่งอ.เขาคิชฌกูฏ ซึ่งก็มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อย่างเช่น น้ำตกกระทิง น้ำตกคลองไพบูลย์ น้ำตกตะเคียน
เมื่อหลายฝ่ายต่างเห็นด้วยต่อการอนุรักษ์เงาะสีชมพูให้อยู่คู่เมืองจันท์ ก็จึงจัดงาน “เทศกาลทานเงาะสีชมพูเขาคิชฌกูฏ 2547” ระหว่างวันที่ 9-11 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่บริเวณ หน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ(น้ำตกกระทิง) เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ชาวจันททบุรีและนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างถิ่นรู้ว่า เงาะสีชมพูยังไม่ตายไปจากเมืองจันทน์
ลัดดาวัลย์ มารุกย์ จากสถาบันราชมงคลวิทยาเขตจันทบุรี เคยได้ยินชื่อเงาะสีชมพูมานานแล้ว ที่ผ่านมาเคยกินแต่เงาะโรงเรียน พอได้มากินเงาะสีชมพูก็รู้สึกว่าอร่อยดี ความหวานอาจจะสู้เงาะโรงเรียนไม่ได้แต่รู้สึกว่าจะกรอบกว่า
ส่วนเกศร์วนัส สะอาดใจ นักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯที่ไปเที่ยวน้ำตกกระทิงและแวะมาลองชิมเงาะสีชมพูได้เล่าว่า ตนไม่เคยรู้จักเงาะสีชมพูมาก่อน เมื่อกินแล้วมีเงาะสีชมพูบางลูกเนื้อไม่ร่อน ติดเม็ด ส่วนความหวานก็พอๆกับเงาะโรงเรียน
สำหรับกิจกรรมต่างๆที่นอกเหนือไปจากการให้ผู้มาร่วมงานได้ลองลิ้มชิมรสเงาะสีชมพูฟรีแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมต่างๆอย่างเช่น การแข่งขันกินเงาะ การแข่งขันจัดช่อเงาะ การประกวดคู่รักคู่เงาะ การแปรรูปเงาะเป็นอาหารต่างๆ รวมถึงการจัดทัวร์สวนเงาะ ซึ่งสุระก็ได้กล่าวว่า เนื่องจากเงาะสีชมพูมีจุดเด่นตรงที่มีสีสันสวยงาม โดยเฉพาะยามที่สุกเต็มต้น ทำให้เป็นที่ดึงดูดความสนใจต่อผู้ที่พบเห็น
“การจัดกิจกรรมทัวร์สวนเงาะในลักษณะทัวร์เกษตรนับเป็นส่วนหนึ่งของการชูจุดเด่นของเงาะสีชมพู โดยเป็นการนำนักท่องเที่ยวไปชมความงามของเงาะสีชมพูที่สุกให้สีสันสวยงามเต็มต้น แล้วก็เก็บเงาะสดๆกินจากต้น”
ด้านดร.ชัยวัฒน์ ได้กล่าวเสริมว่า ที่จันทบุรี เงาะสีชมพูจะสุกเต็มที่ช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค. ส่วนเงาะโรงเรียนจะออกในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. ซึ่งเมืองจันทน์นั้นมีชื่ออยู่แล้วในเรื่องทัวร์สวนผลไม้ เมื่อมีการจัดทัวร์สวนเงาะสีชมพูก็ช่วยให้ระยะเวลาท่องเที่ยวทัวร์สวนผลไม้ในเมืองจันท์นานขึ้นคือตั้งแต่ช่วงเม.ย.-ส.ค.
“นี่ถ้าไม่มีงานนี้ ผมก็คิดว่าอาจจะโค่นเงาะสีชมพูทิ้งเหมือนกัน เพราะเพื่อนชาวสวนหลายคนโค่นต้นเงาะสีชมพูทิ้งไปเยอะแล้ว แต่พอดีมีการจัดงาน ซึ่งก็ช่วยให้ปีนี้เงาะสีชมพูราคาดีขึ้นเยอะมาก จากปีที่แล้วขายกันโลละ 6 สลึง มาปีนี้ราคาเงาะสีพุ่งขึ้นมาถึง 10 บาท เมื่อเงาะสีชมพูขายได้ราคาดีอย่างนี้ชาวสวนอย่างพวกผมก็คงมีกำลังใจที่จะปลูกต่อไป ”
ชนะ ชาวสวนคนเดิม เล่าให้ฟัง ก่อนที่จะอธิบายถึงปัญหาที่ประสบในปัจจุบันว่า การจัดงานเทศกาลเงาะฯแม้จะช่วยให้ราคาเงาะดีขึ้น แต่ว่าปัจจุบันนี้ราคาเงาะที่เมืองจันท์ทั้งเงาะโรงเรียน เงาะสีชมพูตกอย่างน่าใจหาย ชาวสวนเพื่อให้อยู่รอดก็หันไปปลูกผลไม้อย่างอื่นที่ให้ราคาดีกว่าแทนไม่ว่าจะเป็น มังคุด ลองกอง ซึ่งการจัดเทศกาลวันเงาะสีชมพูแม้ว่าจะช่วยให้ราคาเงาะดีขึ้น และชาวสวนยังคงมีกำลังใจที่จะปลูกเงาะต่อไป แต่ถ้าหากว่าเงาะยังคงราคาตกโดยภาครัฐไม่มีการประกันราคาก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่า ชาวสวนที่เมืองจันท์จะทนปลูกเงาะต่อไปได้นานอีกเท่าไหร่