xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องของคนหาที่(ถ่าย)...

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มีชื่อเป็นถึง "ผู้จัดการ" แต่ด้วยหน้าที่การทำงานของพวกเขาแทบไม่ได้ต่างจาก "เบ๊" คนหนึ่งสักเท่าไหร่

เวลาออกกอง(ถ่าย)แต่ละครั้งเขาจะเป็นคนที่ต้องมาถึงที่นัดหมายก่อนใคร แต่กว่าจะได้กลับโน่นแหละ นางเอก - พระเอก กลับถึงบ้านนอนโก่งก้นสบายใจเฉิบไปแล้ว

เขามีหน้าที่ตั้งแต่เด็กรับรถ เรื่อยไปจนถึงการสวมบทบาทของนักการทูต

เขามีหน้าที่หาวิวสวยๆ ให้กับหนังเรื่องต่างๆ

เดาได้มั้ยเราเรียกเขาว่าอะไร?

*****

เป็นที่น่าสังเกตว่าระยะหลังๆ บรรดาคนที่มีอาชีพเบื้องหลังในการถ่ายทำภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่งไล่ไปตั้งแต่ตำแหน่งใหญ่ๆ อย่าง ผู้อำนวยการสร้าง โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ ผู้ช่วยฯ คนเขียนบท ตากล้อง เรื่อยไปจนถึงตำแหน่งเล็กๆ อย่าง แม่บ้านประจำกอง คนเสิร์ฟกาแฟ ทีมเอฟเฟ็กต์ ทีมไฟ ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่บรรดาสื่อต่างๆ เริ่มที่จะให้ความสนใจนำเรื่องราวการทำงานของเขามาเสนอให้ได้รับรู้กันมากยิ่งขึ้น

แต่ก็ยังมีหน้าที่ๆ หนึ่งที่ค่อนข้างจะเป็นที่ตกหล่นไปบ้างทั้งๆ ที่คนๆ นี้และหน้าที่ของพวกเขาถือได้ว่ามีส่วนสำคัญมากทีเดียวในการผลิตภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่งตั้งแต่ช่วงพรีโปรดักชั่นเรื่อยไปจนกว่าที่การถ่ายทำจะเสร็จ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไม่มีใครอยากจะรู้? หรือเป็นเพราะตำแหน่งนี้ยังไม่เป็นที่คุ้นชื่อมากนักสำหรับคนทั่วไป
เรื่องของคนหาที่ถ่าย

"ผมเรียกว่าโลเกชั่น แมเนจเม้นท์นะ ซึ่งจริงๆ มันก็คือโลเกชั่นสเก้าท์ (Location Scouting) นั่นแหละ ก็มีหน้าที่ค้นหาที่ แต่ว่าไม่รู้สิถ้าอย่างที่ผมทำนี่มันน่าจะเรียกว่าเป็นโลเกชั่น เมเนจเม้นท์อย่างที่บอกมากกว่านะ.." ต้น เสรี ตันศรีสวัสดิ์ คนค้นหาที่(อิสระ)บอกถึงตำแหน่งของตนเอง

"ทำตรงนี้มาประมาณ 3 ปีแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นก็คือเป็นแบบว่าสเก้าท์ที่หาโลเกชั่นไปเรื่อยๆ ผมเป็นคนที่ชอบเที่ยวแล้วก็ถ่ายรูปแล้วก็มาได้ยินเพื่อนที่ทำอยู่ในวการหนังมันบอกว่าในเมืองไทยจริงๆ เนี่ยมันยังขาดคนที่ทำงานด้านนี้โดยตรง ซึ่งโดยพื้นฐานการหาโลเกชั่นนั้นในเมืองไทยมันไม่มีนะ สำหรับหนังไม่มีเลย ส่วนใหญ่นั้นตรงนี้จะเป็นฝ่ายศิลป์ที่เขาทำ เพราะว่าการทำงานของโลเกชั่นมันจะต้องอิงฝ่ายศิลป์ ต้องอ่านบทก่อน ดูบทก่อนว่ามันเป็นอย่างไร เนื้อหาของหนังไปทางไหน หนังพีเรียด ปัจจุบัน หรืออนาคต แล้วฝ่ายศิลป์ก็จะจัดการ"

"ที่เราทำตรงนี้หลักๆ ก็คือต้องเข้าไปเสริมเขา ฝ่ายศิลป์ปัจจุบันเขาจะเรียกว่าโปรดักชั่นดีไซน์นะแต่ถ้าแต่ก่อนเขาจะเรียก อาร์ตไดเรกเตอร์ ที่เขาจะคุมโทนทั้งหมด โลเกชั่นจะเป็นแบบไหน อย่างเป็นตกเก่า ตึกแบบจีน หรือว่าตึกสมัยเซเว่นตี้สไตล์รังผึ้ง แล้วเราก็จะเป็นคนช่วยตีโจทย์"

ต้นเล่าให้ฟังว่าหน้าที่การงานที่เขาเองทำนั้นหากจะนับบทบาทกันจริงๆ แล้ว เขาเป็นตั้งแต่นักท่องเที่ยวผจญภัย นักถ่ายภาพ นักการทูต เรื่อยไปจนถึงตำแหน่งเด็กรับรถและเด็กล้างจานเลยทีเดียว

"ตอนแรกๆ ที่ทำงานตรงนี้ก็คือส่วนมากจะไปหา แล้วก็เจรจา แล้วก็จัดการนิดหน่อย เอ้าป้าครับ บ้านนี้ถ่ายได้มั้ย จะมีกองถ่ายมา โอเค ป้าบอกว่าได้ แต่เรื่องเงินเราไม่แตะ ก็โยนให้ทางกองเขาสานต่อ แต่ตอนนี้ที่ผมมาทำก็ต้องดูแลทั้งหมด เรื่องของความรู้สึกคนด้วย ของผมนี่ทำคนเดียว เพราะว่ามันเป็นตำแหน่งใหม่นะ เพราะที่ผ่านมาตรงนี้มันจะไปรวมอยู่ในส่วนของผู้จัดการกองถ่ายที่เขาจะมีผู้ช่วยคน 2 คน หรืออะไรก็ว่ากันไป ซึ่งมันจะประหยัดในส่วนของการจ้างด้วย

"หน้าที่โลเกชั่นฯ จริงๆ ก็เหมือนกับฝ่ายศิลป์ คือมาก่อนกลับทีหลัง มาเปิดทางก่อน มาทำกับข้าว คนทำงานเขามากินเสร็จเขากลับ เอ้าเราก็ต้องมาล้างชาม แต่ก่อนหน้านั้นก่อนที่กองถ่ายจะมาเราก็ต้องมาลงพื้นที่เพื่อมาเคลียร์กับเจ้าของพื้นที่นะ แต่พอถ่ายเสร็จเราก็ต้องนั่งเก็บขยะไปล่ำราบ้านนั้นบ้านนี้"

"อย่างเวลาออกกองตอนเช้านะเราก็ต้องมารับรถ เหมือนเด็กฝากรถเลย เอ้าพี่รถไฟจอดตรงนี้นะ รถส้วมจอดตรงโน้น รถตู้มานี่ รถกล้องไปโน่น คือรถกองถ่ายมันมาไม่ใช่ 10 คนนะ 20 คนอัพนะ แล้วไม่ได้ทยอยกันมา มันมากันทีแบบว่าเยอะเลย เราก็ต้องจัดการ นัดกอง 6 โมง ตี 5 ก็มาแล้ว แล้วถ้าเราเมเนจไม่ดี ไม่คิดไว้ก่อนว่ารถอะไรจะจอดตรงไหน มันวุ่นแน่ มันจะต้องหาที่ให้พวกช่างแต่งหน้า ทำผม กินข้าวกันตรงไหน เขาส้วมตรงไหน บางทีพื้นที่ที่จองไว้ไม่พอ เอ้าเราก็ต้องไปเช่าพื้นที่เพิ่มอีกต่างหาก"

คุยมาตั้งนานเดี๋ยวจะสงสัยว่าเขาเคยผ่านงานอะไรมาบ้างแล้ว ถ้าเอากันอย่างที่ดังๆ และคงจะจำกันได้ดี ก็วิวสวยๆ ในหนังไทยสุดฮิตอย่างเรื่อง "แฟนฉัน" นั่นแหละที่เกิดจากฝีมือของผู้ชายคนนี้

"หนังเรื่องหนึ่งถ้าจะสังเกตมันจะใช้โลเกชั่นประมาณ 15 โลเกชั่น องค์บากนี่หาไม่หมด ทำไปครึ่งหนึ่ง, แล้วก็มี 15 ค่ำ เดือน 11, ความรักผัดไทย แล้วก็บ้านนอกทีวีอันนี้ยังไม่ได้ฉายเช่นเดียวกับเรื่องฟอร์มาลีนแมน"

"หนังแฟนฉันนี่โลเกชั่นโคตรยากเลย ผมหาทั้งเรื่องเลยครับ ใช้เวลานานมาก คือบ้านของเจี๊ยบแล้วก็น้อยหน่าตามโจทย์ คือมันต้องหาบ้านที่เป็นร้านตัดผมสองหลังแล้วตรงกลางเป็นร้านขายของชำ ถามว่าในประเทศไทยมันจะมีร้านอย่างนี้สักกี่ที่ อันนั้นของจริงครับไม่ได้สร้างขึ้น...แล้วบ้านต้องอยู่ตรงหัวมุมแยก แล้วมันเป็นบ้านเก่าอายุ 20 ปี แล้วเป็นสไตล์คนจีน คือมีดีไซน์ มีบ้านเฟี้ยม เป็นไม้ คือเป็นสิ่งที่ฝ่ายศิลป์ชอบเลยนะ"

"หลังนั้นก็ไปเจอที่เพชรบุรีมันเป็นซอยเล็กๆ มันแว๊บเดียว ขับรถผ่านแล้ว ก็อึ๊ยบ้านสวยดี มันก็เข้าไปลึกนะ เราก็ไปเจอแบบร้างๆ เพราะเขาปิดอยู่ แล้วก็ถามชาวบ้านแถวนั้นจนไปหาเจ้าของเจอ..."

ประสบการณ์หลากหลาย

"อย่างบางเดือนนี่เราต้องขับรถ 7,000 กว่ากิโลฯ เลยนะ หรืออย่างบางที่ก็ไปเจอแบบฟลุ้คๆ นะ อย่างฉากในเรื่องบ้านนอกทีวีที่ยังไม่ได้ฉายนี่ต้องบอกว่าโชคมากๆ เพราะตอนนั้นผมขับรถลุยๆ ไปที่เชียงรายก็ไม่เจอ คือทาทีมงานเขาอยากได้แบบว่าที่เป็นหมู่บ้านที่ยังเป็นหลังคาแบบมุงแฝกมุงหญ้าคาแบบนี้ เราก็ไปหาจนทั่วเลยที่เชียงราย ก็ยังไม่เจอ จนแบบว่าไปพักที่ๆ หนึ่งก็ได้คุยกับเจ้าของ เขาก็เลยไปพาเรา"

"ก็ไปได้หมู่บ้านของพวกอาข่าที่ดอยอ่างขาง ซึ่งมันยังเป็นอะไรที่เป็นธรรมชาติและก็สดมากๆ ไม่มีน้ำมีไฟเลย แล้วเข้าไปยากมาก"

เพราะการทำงานที่ต้องเป็นฝ่ายค้นหาและเจรจานั่นส่งผลให้การทำงานในตำแหน่งนี้ต้องไปเจอกับเรื่องต่างๆ มากมาย ซึ่งในบางครั้งต้นก็พบว่าเรื่องของการไม่ให้เกียรติกับเจ้าของที่ก็กลายเป็นปัญหาที่บานปลายจนชีวิตเกือบจะหาไม่เช่นกัน

"มีหนังเรื่องหนึ่งที่มันมีปัญหาเกิดขึ้น โจทย์ก็คือหาบ้านไม้หลังหนึ่งที่มีหน้าต่าง แล้วบ้านอีกหลังมีหน้าต่างชนกันเพราะมันจะต้องมีการพุ่งไม้กวาดข้ามหน้าต่างไปเข้าอีกหน้าต่างนึง ซึ่งบ้านแบบนี้มันก็มีหลายหลังเหมือนกัน แต่ว่ามันไม่สวย ไม่ถูกใจ"

"ก็ไปได้บ้านหลังหนึ่งแล้วก็สร้างบ้านอีกหลังหนึ่ง แต่ว่าไอ้บ้านหลังที่มันไม่ได้สร้างน่ะ เป็นบ้านเก่าอายุประมาณ 100 กว่าปีแล้วเป็นลูกกรงเหล็ก เหมือนเหล็กดัด แล้วมันใช้วิธีการเสียบลิ่มแบบโบราณ ไม่มีการใช้ตะปูนะ ก็ไม่รู้ว่ามันเสียบลงไปได้อย่างไรเหมือนกัน คือถ้าจะถอดเหล็กออกมันต้องทุบผนังเลยนะ แล้วมันจำเป็นต้องเอาออกจริงๆ"

"ก็ใช้เวลาเจรจากันนานเลยกว่าเขาจะยอมเพราะตอนแรกเราไม่รู้ว่าต้องเอาออกแต่มารู้ทีหลัง หลังจากที่เราสร้างบ้านอีกหลังหนึ่งเสร็จแล้ว ก็ต้องแบบว่าไหนจะไก่ ไหนจะเหล้า ไหนจะเบียร์ หมดกันเยอะ แล้วก่อนหน้านั้นทีมงานก็ดันไปทำทำยันต์เขาแตกอีก ตอนนั้นเขายังไม่ให้ถ่าย ยังไม่ให้ลื้อเหล็กเลยนะ แบบว่าสถานการณ์กำลังคุกรุ่น มีรถขายลูกชิ้นปิ้งมา เจ้าของบ้านเขาบอกไม่เอาไม่เอาจะเอาลูกปืนอย่างเดียว เด็กที่ทำงานอยู่แบบกระเจิงเลย ผมอยู่ที่กรุงเทพๆ ต้องรีบขึ้นไปเคลียร์ คือเราก็เป็นฝ่ายกันชนให้เขาน่ะ คือมันจะมีเรื่องแบบนี้เยอะ"

"ธรรมชาติน่ะมีเยอะแต่ว่าสถาปัตยกรรมมันได้เป็นบางมุม ตอนนี้เริ่มจะปรุแล้วนะ บางทเราคิดว่าเราไปเจอบ้านลังหนึ่งสวยมากบานไม้โบราณ ปรากฏว่าถ่ายแบ้วอย่างวิวทะเล มีต้นไม้ต้นหนึ่งรายละเอียดสวยมาก เป้นต้นเดียวโดดๆ เอ้าปรากฏว่าละครถ่ายไปแล้วทั้งๆ ที่มันไม่น่าจะข้ามาเจอได้ คือผมว่าโลเกชั่น เมเนเจอร์นอกจากดูเรื่องสถานที่แล้วยังต้องดูแลเจ้าของบ้านด้วย เพราะโลเกชั่นมันมีไม่กี่ที่หรอกนะที่จะใช้ได้ ถ้าเราไปทำไว้ไม่ดีเนี่ยมันเหมือนกับการโยนขี้ไว้เลยนะ คุณกลับไปไม่ได้ไม่พอ ทีมต่อไปที่เขาจะเข้าไปมันจะลำบาก"

อนาคต

ด้วยคำบอกเล่าดังกล่าวทำให้เราอดถามถึงความยุติธรรมในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับเจ้าของสถานที่ เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการทำงานอะไรที่ชาวบ้านต้องไปเกี่ยวข้องผลตอบแทนที่ได้รับมักจะดูน้อยจนน่าใจหาย

"ตอนนี้ผมว่าพอเหมาะนะ เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนที่ผ่านๆ มานะ บางบ้านเนี่ยรู้เรตด้วยว่าจะต้องคิดเท่าไหร่ยื่นมาเลย เอ้า บ้านนี้ฝรั่งเคยไปถ่ายทำไมมันแพงจังวะ มีแบบนี้ก็มีที่ท่าม่วงคิดเป็นเรตฝรั่ง คุยกันตั้งนานสุดท้ายก็ได้เรตฝรั่งไม่มีอะไรดีขึ้น คือผมว่ามันก็กำลังดีนะ นอกจากที่มันไกลจริงๆ อันนั้นเราก็อาจจะต้องให้น้อย เพราะว่ามันก็เหมือนเสียเปรียบนะ แต่ว่างบหนังมันก็ไม่มีเงินเยอะนักในส่วนนี้"

"หนังเรื่องนึงบางทีอาจจะได้เงินเยอะ แต่ว่าค่าโลเกชั่นอาจจะไม่เกินสามแสน สี่แสน ทั้งเรื่องเลย แล้วก็ต้องไปซอยกับมัน คือบางทีต่อวันมันเหลือเป็นหลักหมื่น แล้วหลักหมื่นมันไม่ได้ให้บ้านหลังนี้หลังเดียว ไหนจะค่าตำรวจมาดูแลการจราจร หรือว่าค่าบำรุงอบต.คือมันไม่ใช่มั่วไปถ่าย เขาจะยิงเอานะ ต้องทำจดหมายขอ บางทีมันก็ต้องมีหลายซับหลายซ้อน"

หากเป็นหนังฝรั่งนั้นกับงบประมาณที่ลงทุนไปกับการหาโลเกชั่นต่างๆ นั้นต้องบอกว่าคุ้มแต่สำหรับที่เมืองไทยในหลายๆ ครั้งแม้จะได้ที่ๆ สวยงามมากๆ แต่พอออกมาในหนังแทบจะต้องบอกว่าไม่น่าเหนื่อยแรงแพงตังค์ไปจ่ายถึงขนาดนั้นเลย

"จริงๆ แล้วที่เขาเอาโลเกชั่นเราก็มันจะเป็นการหระหยัดงบประมาณนะ คือบางฉากมันถ่ายในสตู มันก็ถ่ายได้ ยกโต๊ะ ยกเตียงอะไรเข้ามา แต่ว่าการใช้สตูมันจะเปลืองเงิน การใช้โลเกชั่นมันจะประหยัดเงินกว่า บางทีเราไม่ต้องเตรียมอะไรมากมาย เราได้ทุกอย่างเขาก็มีทุกอย่างเพียงแค่เรายกเข้ายกออกแค่นั้นเอง"

"ส่วนเรื่องภาพที่ออกมามันเป็นเรื่องของช่างภาพการใช้มุมนะ บางทีถ่ายแล้วมันเอ้าท์ บ้างทีมันก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย อย่างหนังฝรั่งคนคุยกันเขาก็จะมีแบล็คกราวนด์หลังเห็นชัดเจนเลย แต่ว่าของเราเนี่ยหลายๆ เรื่องมันจะเป็นวุ้นเลย เอาท์หมด แต่ว่านั่นก็ไม่เท่าไหร่นะ บางเรื่องโทนของสีโลเกชั่นมันต่างกันไปเลย ซึ่งอันนี้ถือว่าแย่มาก"

ถามถึงอนาคตและหนทางของคนที่อยากจะทำมาหากินในตำแหน่งนี้บ้างต้นบอกว่าน่าจะไปได้ดี เพราะคนที่เข้ามาทำตรงนี้ยังถือว่าน้อยอยู่และเป็นส่วนที่ใครๆ ก็เริ่มที่จะมองเห็นความสำคัญมากยิ่งขึ้น

"ก็เริ่มมีเรื่อยๆ เราคิดว่าการจัดหามันเริ่มมีแล้วเพราะว่ามันประหยัดเวลา คือไม่รู้นะ บางทีเราทำงานถามว่าเกิดปัญหาขึ้นมาคุณเป็นผู้กำกับ คุณเป็นผู้ช่วยฝ่ายศิลป์แล้วคุณต้องมานั่งชนกับชาวบ้านอีกหรือ เสียเวลานะ ชนกับตำรวจอย่างนี้ เอ้า นี่จอดรถไม่ได้ ทำไงวะ หูทีมงานมา 50 คนกีดกันการจราจรเขา หรือว่าจะจัดการเรื่องขี้เรื่องเยี่ยวอย่างไร ทุกอย่างเราจัดหาให้"

"เรื่องเงินตอบแทนมันก็พอสมควรนะ แต่ว่าคนที่จะเข้ามาทำตรงนี้ที่สำคัญก็คือคุณต้องมีความรับผิดชอบ อย่างผมๆ จะซีเรียสเรื่งชาวบ้านมาก เราไม่อยากให้เขารู้สึกไม่ดีกับกองถ่าย มาโกงเงินแล้วก็ยังมาปู้ยี้ปู้ยำของเขาอีก เพราะเราก็อยากจะทำงานที่แบบ เออ เสร็จงานแล้วก็กลับไปกินข้าวบ้านเขาได้อีก"

คำแนะนำ

หนึ่งในหนังไทยที่ถูกยกว่าหาโลเกชั่นได้เก่งมากก็คือภาพยนตร์เรื่อง "Fake โกหกทั้งเพ" เพราะมุมแลกตาต่างๆ ในหนังนั้นล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ๆ เราคุ้นเคยกันอยู่แล้วเพียงแต่ไม่ได้สนใจเท่านั้นเอง

"เรื่องนี้ใช้ประมาณ 50 ที่ได้มั้ง ก็ใช้เวลา 3 - 4 เดือน คือหลายๆ ที่มันก็เป็นที่ทั่วๆ ไปนั่นแหละเพียงแต่พวกเราอาจจะนึกไม่ถึง ซึ่งพอถ่ายออกมาแล้วมันสวย ก็แทบจะทุกมุมในกรุงเทพนั่นแหละ" "อั๋น ธนกร พงษ์สุวรรณ" ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวและร่วมในการหาโลเกชั่นด้วยโดยเขาบอกว่าสำหรับคนที่ทำหน้าที่นี้ในหนังไทยนั้นต้องถือว่ามีบทบาทที่สำคัญเนื่องจากงบประมาณในการถ่ายทำของหนังแต่ละเรื่องนั้นไม่ค่อยจะสูงซึ่งการลงไปในพื้นที่จริงๆ จะช่วยประหยัดงบได้มากยิ่งขึ้น

"ผมว่าสำคัญนะ เพราะว่าหนังไทยต้นทุนเราไม่สูงมาก ประกอบกับแนวหนังมันน่าจะเหมาะกับสถานที่จริงก็เลยคิดว่ามันน่าจะมาจากอะไรที่จริงๆ มากกว่า แล้วเพราะว่าเป็นสถานที่เป็นที่ๆ ทำให้เกิดเรื่องนะครับ ยิ่งจริงมากเท่าไหร่สถานการณ์ก็ยิ่งจริงมากเท่านั้น"

"คนที่จะทำตรงนี้ได้ อย่างแรกเลยผมว่าต้องเข้าใจบทนะครับ เข้าใจ production โดยรวม แล้วก็พยายามเสาะแสวงหาบ่อยๆ เดินทางบ่อยๆ คอยสังเกตอะไรอย่างนี้ บางที่ก็เหมาะ บางที่ก็สวยแต่ว่าไม่เหมาะกับการทำงานก็มี เพราะฉะนั้นก็ต้องตีโจทย์ให้แตกก่อนอันดับแรก"

*******

"สระบุรี" ฮอลลีวูดเมืองไทย

ถ้าจะถามบรรดาคนทำหนังทั้งหลายว่าหากเขาจะยกให้จังหวัดใดในประเทศไทยที่พอจะยกเป็นฮอลลีวูดของเมืองไทยได้ เชื่อแน่ว่าส่วนหนึ่งจะต้องบอกเหมือนๆ กันว่า จังหวัด "สระบุรี" น่าจะเหมาะสมที่สุด

"เป็นฮอลลีวูดได้เลยนะ คือมันมีตั้งแต่สมัยผมเป็นเด็กแล้ว..." พี่ย้อย ชูศักดิ์ นะมาโรจน์ ฝ่ายหาโลเกชั่นบริษัทไทเกอร์ ทีม" ของผู้กำกับชื่อดัง "ปื๊ด ธนิตย์" เผย ซึ่งนอกจากประสบการณ์การทำงานกว่า 30 ปีแล้วด้วยความที่เป็นคนในพื้นที่นั่นเองที่ทำให้พี่ย้อยค่อนข้างจะมั่นใจในคำพูดของตนเอง

"ส่วนหนึ่งผมว่าเป็นเพราะที่นี่ค่อนข้างจะมีครบทุกอย่าง ก็จะมีป่า มีถ้ำ มีเนิน แม่น้ำ ทุ่งกว้างๆ ก็ไล่ไปตั้งแต่ หลังค่ายทหารอดิศร กระเถิบไปตั้งแต่หกเหล็กแล้วก็อาจจะเรื่อยๆ ไปจนถึงปากช่องซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนังพวกหนังสงคราม ไอ้ที่ฟันกันซะส่วนมาก ขุนแผน บางระจัน หรือหนังเก่าพวกระเบิดภูเขา เผากระท่อมก็ที่นี่ทั้งนั้น จะเป็นที่นี่กันซะเยอะเลย เพราะมันจะมีหมดทั้งม้า รถถัง เฮลิคอปเตอร์ทุกอย่างได้หมด"

"แล้วอีกอย่างการเดินทางไปมามันก็ค่อนข้างจะสะดวก จากกรุงเทพฯ มาแป๊บเดียวก็ถึงแล้ว อย่างที่ผ่านมาเราถ่ายขุนศึกก็ปรากฏว่ามีกองมาถ่ายที่นี่อีก 2 กอง ก็เป็นเรื่องเกิดมาลุยของสหมงคลเขามาเซ็ตฉากกันอยู่ ส่วนอีกเรื่องผมจำไม่ได้แล้วว่าเรื่องอะไร"

แม้จะผ่านการใช้งานมาอย่างโชกโชนและบริการทุกระดับ แม้กระทั่งหนังฟอร์มยักษ์ "อเล็กซานเดอร์มหาราช" ของผู้กำกับรุ่นเก๋า โอลิเวอร์ สโตน ก็ยังเลือกใช้สถานที่นี้เป็นที่ถ่ายทำฉากสำคัญ ทว่าเมื่อถามถึงระบบการคิดเงินต่างๆ พี่ย้อยบอกว่าค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ชาวบ้านมากๆ

"อย่างค่ายทหารนี่แล้วแต่เราจะให้เค้านะ แต่บางทีเค้าก็มีเรียกร้องนะ อยากได้ทีวี ก็ซื้อทีวีให้เค้า เอากระเช้าใหญ่ๆ ให้เค้า หรืออย่างไปน้ำตกสามหลั่นนะครับ เขาอยากได้ปั๊มน้ำผมก็ซื้อปั้มน้ำไปให้ จะเป็นพวกลูกเสือเข้ามาพัก บางทีเราก็ให้เค้าไป 10,000 - 20,000 บาทถ้าระยะเรานาน อย่างเรื่องขุนศึกเราก็เหมาไปเดือน เดือนละ 20,000 บาทค่าเช่าที่"

"ที่สำคัญของการทำตรงนี้ก็คือเราต้องเข้าไปหาเจ้าของโดยตรง ไปขอเจ้าของเค้าเลย เราชนไปที่เจ้าของเค้าเลย จ่ายตังส์ทำหนังสือ คือผมว่ามันก็มาตรฐานแล้วนะ ถ้ามีการคุยและตกลงกันชัดเจน เราจะถ่ายกำหนดกี่วัน สมมุติ 7 วันเท่าไหร่ เดือนนึงเท่าไหร่ ถ้าทำสัญญาเดือนนึงเกินมา 3 วันก็แยกเป็นรายวันก็ว่ากันไป แต่ที่สำคัญคือผมว่าต้องเข้าไปให้ถึงเจ้าของ ถ้ายังไม่ถึงเจ้าของเนี่ย มันมีปัญหาแน่"

*********

"โลเกชั่นไทย" ความงามระดับโลก

ว่ากันว่าการลงทำธุรกิจที่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างหนึ่งก็คือการหากินกับธรรมชาติที่มีอยู่เพราะไม่ต้องไปเสียเวลาหรือต้องไปลงทุนทำอะไรกับมัน

ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเข้ามาใช้โลเกชั่น ทิวทัศน์ที่สวยงามจากกองถ่ายทำของประเทศต่างๆ ทั้งรายการทีวี โฆษณา สารคดี มิวสิควิดีโอ รวมถึงภาพยนตร์เป็นจำนวนเเรื่องกว่า 388 เรื่อง คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,224 ล้านบาท และในปีนี้ขณะที่ผ่านมาแล้วครึ่งปีเราก็เก็บเงินเข้ากระเป๋าไปอีกกว่า 538.92 ล้านบาท

"ระบบการจัดการต่างๆ มันเริ่มที่ดีขึ้นนะ เพราะมันมีหนังมามากขึ้น แต่ผมว่ามันก็ยังไม่ดีพอ..." สันต์ เปสตันยี" จาก "Santa International Film Productions" ที่ทำงานให้กับภาพยนตร์ต่างชาติมาแล้วหลายต่อเรื่องแสดงความคิดเห็นซึ่งแม้ในบ้านเราจะมี "ฟิล์มบอร์ด" รวมทั้งได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมกรรมการภาพยนตร์นานาชาติ (Association of Film Commissioners International - AFCI) ที่จะทำให้โลเกชั่นในบ้านเรามีโอกาสอวดสู่ผู้สร้างหนังจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้นทว่าการประสานงานต่างๆ นั้นก็ยังถือว่าไม่ดีที่สุด

"ที่ไม่ดีพอมันมีหลายๆ ส่วนเราจะไปโทษหน่วยราชการฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ปัจจัยหลัก เนี่ยเราจะต้องประสานงานกับหน่วยราชการ ผมคิดว่าถ้าเผื่อทางรัฐบาลมีจิตใจที่จะให้ภาพยนตร์ต่างประเทศมาจริง ควรจะให้มีระบบ ให้ระบบที่มันดีขึ้น ให้อำนวยให้มันดีขึ้น มันมีหลายจุดที่มันยังต้องใช้เวลา ถ้าเผื่อเอื้ออำนวยจริงๆมันจะช่วยทำให้เร็วขึ้น"

"อีกอย่างหนึ่งตอนนี้มันมีบริษัทที่ทำอย่างเราเนี่ยเกินร้อยบริษัทเลยนะ ตั้งแต่บริษัทที่มั่นคง จนถึงบริษัทที่ไม่ค่อยรู้อิโหน่อิเหน่อะไรเลย ซึ่งอันนี้ค่อนข้างที่จะไม่ค่อยดีกับบ้านเรา เพราะถ้าไปให้ความอะไรที่ไม่กระจ่าง หรือไปฉวยโอกาสกับเค้าเนี่ย มันก็จะทำให้เสียชื่อเสียงประเทศชาติได้ แล้วพวกนี้มันเป็นครอบครัวใหญ่ใครทำไม่ดีมันก็รู้กันเร็ว"

ถามถึงความคุ้มค่ากับการเข้ามาใช้ของสวยๆ งามๆ ในบ้านเรากับจำนวนเงินที่ได้มา สันต์บอกว่าเงินนั้นจริงๆ เป็นแค่ส่วนหนึ่งแต่ส่วนที่สำคัญมากกว่าก็คือการได้โฆษณาของดีที่เรามีอยู่ออกไป

"ในอดีตที่ผมทำมาหลายสิบปีที่ผมทำมาแล้ว ผมจะสังเกตว่าภาพยนตร์นี่เป็นหลักใหญ่ที่เปิดตลาดการท่องเที่ยวให้แก่จุดที่เราไปถ่ายทำ อย่างแม้กระทั่งย้อนไปเมื่อสมัย 50 ปีที่แล้วถ้าบอกฝรั่งว่ารู้จักเมืองกาญจน์มั้ยคนจะงงๆ ว่าเป็นที่ไหน แต่ถ้าบอกว่าThe bridge on the river kwai เนี่ยคนจะรู้จัก เหมือนอย่างหัวหินเนี่ยก็ถ่าย Killing field อย่างภูเก็ตนี่ก็ Man with the golden gun, James bond ก็ด้วย แล้วก็อีกเยอะที่เราอาจจะไม่รู้"

"ถามว่ามันจะปรุมั้ย คือผมยังแปลกใจเลยนะว่าอย่างผมถ่ายภาพยนตร์ สมมุติว่าเรื่องนึงเค้าต้องการถ่ายที่ กระบี่ ผมก็ไปอะไรๆ ไปให้เค้า เค้าก็โอเคเหมาะสมแล้ว พอต่อมาอีก 3 - 4 เดือนหรืออีกปีนึงต่อมามีอีกเรื่องจะต้องไปถ่ายที่กระบี่ ผมก็ต้องไปเจาะใหม่ให้เค้า มันก็เจออีก คือการที่จะให้มันปรุเนี่ยผมคิดว่ามันยาก"

"ก็มีคนพูดว่าเค้าถ่ายภาพสวยๆ ของเราไปหมดเนี่ยมันจะทำให้เราหมดความสวยไปรึเปล่า มันคงไม่เป็นอย่างนั้น เพราะสิ่งที่รัฐหรือเจ้าของพื้นที่ควรจะต้องระวังมากๆ คือเมื่อสถานที่ของตัวเองมีแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ทำอย่างไรควรจะปกป้องและเก็บความสวยงามของตัวเองไว้ให้ได้ ไม่ใช่ว่า พออย่าง The beach ออกไป เกาะเล็กๆ ที่นั่นก็มีเรือเป็นร้อย หลายๆ ร้อยเข้าไปจอด นักท่องเที่ยวเป็นพันเข้าไปเหยียบย่ำ อย่างนี้มันก็รับไม่ไหวเหมือนกันเจ้าของสถานที่ก็ควรจะที่มีการปกป้องท้องที่อันสวยงามของตัวเองด้วย"
กำลังโหลดความคิดเห็น