xs
xsm
sm
md
lg

ร้านหนังสือต่างประเทศมือสอง ธุรกิจบนกองหนังสือเก่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ว่ากันว่าธุรกิจร้านหนังสือนั้นเป็นความฝันของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ แต่ความฝันนี้เริ่มต้นด้วยราคาเรือนแสน และยังต้องมีสายป่านที่ยาวพอควร กิจการร้านหนังสือจึงจะพอไปรอดได้ หลายคนจึงอาจเจ็บตัวมานักต่อนักจากความฝันนี้มาแล้ว

อย่างไรก็ตามธุรกิจร้านหนังสือประเภทหนึ่งกลับเติบโตมาขึ้นเรื่อยๆ และสร้างผลกำไรพอหล่อเลี้ยงกายใจของเจ้าของได้ นั่นก็คือธุรกิจ “ร้านหนังสือต่างประเทศมือสอง”

‘จตุจักร’ คลังหนังสือมือสองของคนไทย

“จริงๆ ผมทำหนังสือมาตลอดชีวิต ผมทำธุรกิจหนังสือมือสองมานานตั้งแต่สมัยอยู่ที่สนามหลวง นับเวลารวมที่สวนจตุจักรนี่ด้วยก็ประมาณ 20 ปี เริ่มจากเคยรับจ้างเป็นพนักงานของบริษัทขายหนังสือใหญ่ๆ แห่งหนึ่งมาก่อนเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ทั้งชีวิตจึงคลุกคลีกับหนังสือมาโดยตลอด...” ดิลก ซึ้งสุนทร เจ้าของร้านหนังสือมือสองขนาด 9 คูหา ในโครงการ 1 ตลาดสวนจตุจักร กล่าว

“สาเหตุที่ออกมาทำธุรกิจหนังสือเป็นของตัวเองเพราะ ผมรักหนังสือ หนังสือคือชีวิต มันเป็นความสุขที่สุด เงินลงทุนเริ่มแรกก็หลายหมื่น (เมื่อสมัยกว่า 20 ปีที่แล้ว) ร้านหนังสือแบบผมถ้าลงทุนมากอยู่ไม่ได้หรอกเพราะคนไทยยังอ่านหนังสือน้อย จริงๆ แล้วการค้าหนังสือ 3 ปีแรกจะไม่มีกำไร เป็นหลักการการค้าหนังสือเก่า กำไรเป็นสินค้าค้างสต็อก หมายความว่าในช่วง 3 ปีแรก เราขายได้เพียงแค่พอเอาทุนคืน หนังสือที่เหลือค้างสต็อกก็จะเป็นกำไร” นี่คือกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนของธุรกิจหนังสือมือสอง ซึ่งดิลกบอกว่าแตกต่างจากธุรกิจร้านอาหารที่ได้กำไรวันต่อวัน

“หนังสือต่างประเทศมือสอง ส่วนหนึ่งพรรคพวกที่ต่างประเทศส่งมาให้ ส่วนหนึ่งก็ในประเทศ ซื้อจากตามบ้านฝรั่ง พวก “โฮม รีดเดอร์” ฝรั่งที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยที่พอเขาอ่านหนังสือเสร็จแล้วเขาก็จะเอามาขายต่อ บางครั้งเขาเอามาขายทีละ 10 กล่องก็มี จริงๆ แล้วจะมีบริษัทนำเข้าหนังสือภาษาต่างประเทศมือสองโดยเฉพาะ เขาก็จะแบ่งมาให้ร้านขายหนังสือมือสอง เป็นเหมือนสายส่งหนังสือในเมืองไทย ประเทศที่ไทยนำเข้าหนังสือมือสองมามากที่สุดก็คือ สหรัฐอเมริกา , แคนาดา และอังกฤษ”

“หนังสือที่ผมขายจริงๆ ผมเน้นหนักไปในทางตำราวิชาการระดับมหาวิทยาลัย และก็สารคดีทั่วไป นิยาย ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา ผมมีหนังสือครบทุกแขนง ผมมีหนังสือ 8 ภาษา อังกฤษ, ฝรั่งเศส , เยอรมัน ,อิตาเลียน , สเปน , ญี่ปุ่น , เกาหลี และภาษาไทย ราคาขายก็จากราคาจริงครึ่งราคา บางเล่มก็ลดไปถึง 70 เปอร์เซ็นต์ บางอย่างก็ลดไป 80 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับสภาพหนังสือและความต้องการของลูกค้าในขณะนั้น”

ร้านหนังสือมือสองของดิลกที่สวนจตุจักรแห่งนี้ มีลูกค้าวันละนับพันคน ถ้าเป็นวันเสาร์อาทิตย์ ส่วนในวันธรรมดาก็มีจำนวนหลักร้อยขึ้นไป เป็นลูกค้าประจำก็มาก ขาจรก็มาก มีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งแบ่งเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยส่วนหนึ่ง และนักท่องเที่ยวอีกส่วนหนึ่ง

เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว มีเหตุการณ์ที่คนญี่ปุ่นเข้ามากว้านซื้อหนังสือภาษาไทยจำนวนมากกลับไปประเทศญี่ปุ่น ดิลกบอกเล่าให้ฟังในฐานะผู้ที่ร่วมรับรู้เหตุการณ์ในช่วงนั้นว่า

“คนญี่ปุ่นเป็นคนฉลาด รู้เขารู้เรา คนญี่ปุ่นจะค้าขายกับประเทศไหนเขาต้องรู้จักประเทศนั้นมากขึ้น แล้วเขาก็ไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดีของประเทศนั้น ไม่เหมือนคนไทยที่รู้เฉพาะตัวเอง แต่ไม่ค่อยรู้คนอื่น คนญี่ปุ่นพวกนี้พูดภาษาไทยเหมือนกับคนไทยเลย เขาจะมาซื้อหนังสือโบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยพระนารายณ์ เขาเรียกว่า “แร บุ๊คส์” (rare books) เป็นหนังสือเก่า หนังสือหายาก แต่ร้านผมไม่มี มีเฉพาะแร บุ๊คส์ที่เป็นภาษาอังกฤษ แต่ญี่ปุ่นเขาจะซื้อเฉพาะภาษาไทย เอาไปไว้ที่ห้องสมุดโตเกียว”

ร้านหนังสือในต่างจังหวัดก็มารับหนังสือจากร้านแห่งนี้ไปขายต่อ ทั้งที่เชียงใหม่ เชียงราย เกาะสมุย พังงา กระบี่ ภูเก็ต แม้กระทั่งเวียดนาม หรือกัมพูชา เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ ดิลกบอกว่าส่วนมากเจ้าของร้านก็มักจะเป็นชาวต่างชาติที่มีภรรยาเป็นคนไทย ส่วนคนไทยยังทำธุรกิจนี้น้อยเนื่องจากมักมีอุปสรรคด้านภาษา

“คนที่สนใจจะทำธุรกิจค้าหนังสือมือสองจะต้องมีใจรัก และต้องใช้เวลาในการศึกษาธุรกิจนี้พอสมควร อย่างผมเองใช้เวลาศึกษาธุรกิจหนังสือนี้นานถึง 13 ปี กว่าจะกล้าออกมาทำธุรกิจของตัวเอง โดยศึกษาจากต่าง ประเทศ ทั้งคนยุโรปและอเมริกา ผมศึกษาเขาทั้งนั้น เพราะวงหนังสือต่างประเทศมันกว้างและหลากหลายกว่า

ตอนนี้ในสต็อกของผมก็มีหนังสือกว่า 300,000 เล่ม และหนังสือส่วนใหญ่จะมีเพียงอย่างละเล่มเท่านั้น ไม่ซ้ำ สิ่งที่จำเป็นต้องรู้ก็คืออุปสงค์-อุปทาน ว่าลูกค้าต้องการหนังสืออะไร ทุกวันนี้ที่ร้านผมก็ซื้อหนังสือจากลูกค้าเข้าร้านเพิ่มทุกวัน ตกวันละ 1,000 เล่ม ส่วนจากต่างประเทศก็ซื้อปีหนึ่งประมาณ 2 ครั้ง”

ถนนข้าวสาร’ บ้านใหม่ของหนังสือต่างด้าว

วรรณกรรมสมัยใหม่ (Modern Fiction) ที่บางเล่มยังไม่ถูกสั่งเข้ามาขายในเมืองไทย หรือแม้แต่หนังสือภาษาแปลกๆ อย่างภาษาฮิบรู เอสปานอล ฯลฯ กลับมีวางจำหน่ายอยู่บนชั้นในร้านหนังสือมือสองย่านถนนข้าวสาร ศูนย์รวมนักเดินทางแห่งนี้ ร้านหนังสือมือสองจำนวนมากจึงผุดขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มักจะมีหนังสือเป็นเพื่อนยามเดินทาง

หนังสือบางเล่มเดินทางพร้อมเจ้าของมาจากซีกโลกฝั่งยุโรป จากนั้นถูกนำไปแลกกับหนังสือเล่มอื่นที่อินเดีย ก่อนจะถูกเปลี่ยนมือนำขึ้นเครื่องบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาในเป้ของเหล่าแบ็กแพ็คเกอร์ เพื่อจะแวะพักในร้านหนังสือที่ถนนข้าวสาร แต่นั่นคงไม่ใช่จุดหมายสุดท้ายของหนังสือเหล่านี้

พนักงานร้าน “Shaman” ร้านหนังสือต่างประเทศมือสองบนถนนข้าวสาร บอกเล่าว่าหนังสือมือสองในร้านย่านถนนข้าวสารนั้นจะมีทั้งนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหนังสือที่นักท่องเที่ยวนำมา “เทรด” หรือแลกซื้อกับหนังสือเล่มใหม่ เมื่ออ่านเล่มนั้นจบแล้ว หรือบางครั้งก็ขายขาดไปเลย เพราะไม่ต้องการแบกน้ำหนักขึ้นเครื่องบินโดยไม่จำเป็น

“หนังสือที่ฝรั่งนิยมอ่านส่วนมากก็จะเป็นพวกหนังสือนำเที่ยว และหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยเช่นเรื่องของฝรั่งที่มาติดคุกในเมืองไทย ส่วนหนังสือที่หนักๆ เล่มใหญ่ๆ จะขายยาก ฝรั่งจะไม่ค่อยชอบ”

ไม่เพียงแต่เป็นสวรรค์ของหนอนหนังสือต่างชาติเท่านั้น แต่ร้านหนังสือมือสองเหล่านี้ยังเป็นสวรรค์ของหนอนชาวไทย โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาที่จำเป็นต้องอ่านวรรณกรรมต่างประเทศ เพราะมีหนังสือหลากหลายประเภทให้เลือกซื้อได้ในราคาถูก ยิ่งเป็นวรรณกรรมคลาสสิคด้วยแล้ว บางเล่มราคาถูกกว่าเบียร์ขวดหนึ่งในผับที่ข้าวสารด้วยซ้ำ

หนังสือเก่าในร้านหรูที่ย่านถนนสุขุมวิท

แม้จะเป็นหนังสือเก่า หรือหนังสือมือสอง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องวางจำหน่ายตามตลาดนัด หรือ อยู่ในร้านหนังสือเก่าเสมอไป ย่านสีลม เอกมัย ทองหล่อ หรือจะกล่าวว่าแถบถนนสุขุมวิทแทบทั้งสาย จึงปรากฏร้านหนังสือภาษาต่างประเทศที่ตกแต่งสวยงาม หรูหรายิ่งกว่าร้านขายหนังสือใหม่ๆ บางแห่งด้วยซ้ำ

นั่นก็เพราะว่าแถบนี้เป็นย่านธุรกิจที่มีนักธุรกิจต่างประเทศ หรือชาวต่างชาติที่ทำงานในเมืองไทยอาศัยอยู่จำนวนมาก และแน่นอนว่าชาวต่างชาติเหล่านี้มักจะไม่มีปัญหาการใช้จ่าย ต่างจากนักท่องเที่ยวแบบแบ็กแพ็คเกอร์ที่ต้องการประหยัดเพื่อท่องโลกให้นานที่สุด ดังนั้นลูกค้าร้านหนังสือเหล่านี้จึงยอมจ่ายในราคาที่มากขึ้นเพื่อแลกกับบรรยากาศดีๆ และความสะดวกสบาย

ร้าน “dasa” ถนนสุขุมวิท ก็เป็นร้านหนังสือต่างประเทศมือสองอีกแห่งหนึ่ง ที่ตกแต่งร้านให้มีบรรยากาศอบอุ่นสบาย ด้วยมุมนั่งอ่านหนังสือพร้อมมีบริการกาแฟและเบเกอรี่ ให้ลูกค้าดื่มกินเคล้าเสียงเพลงที่เปิดคลอเบาๆ

โดนัลด์ กิลลิแลนด์ หรือดอน ชาวอเมริกันที่มีประสบการณ์การทำธุรกิจหนังสือที่อเมริกาและยังมีร้านหนังสือมือสองที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชามาก่อนแล้ว จึงเริ่มต้นกิจการร้านนี้อย่างไม่ยากลำบากนัก แต่ก็มีอุปสรรคในแง่ข้อกฎหมายที่ชาวต่างชาติไม่อาจเป็นเจ้าของร้านหนังสือได้ 100 % ดอนจึงชักชวนกวีวุฒิ วุฒิวิภูเพื่อนสนิทที่รักการอ่านเขียนเป็นทุนอยู่แล้วร่วมหุ้นกันเปิดร้านแห่งนี้

“มันเป็นประสบการณ์ใหม่ของผม เพราะจะต้องมาเริ่มต้นเรียนรู้ข้อบังคับทางกฎหมายต่างๆ ของไทย ทั้งเรื่องภาษี วีซ่า เรื่องการร่วมหุ้นเปิดร้านกับเพื่อนคนไทย ซึ่งสำหรับผมมันค่อนข้างจุกจิก แต่ผมชอบเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองที่หลากหลายมีหลายชนชาติ ลูกค้ากลุ่มหลักๆ ก็อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่เหมือนเสียมเรียบที่น่าสนใจในแง่การทำธุรกิจร้านหนังสือ แต่ว่ามันเป็นเมืองที่น่าเบื่อ เพราะ 95% ของลูกค้าที่นั่นจะเป็นนักท่องเที่ยว ไม่ค่อยมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ที่นั่น ลูกค้าที่มาซื้อหนังสือก็จะเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ และก็อาจจะไม่ได้พบกันอีก ต่างจากที่นี่ที่จะได้เจอลูกค้าคนเดิมแทบทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทำให้ผมรู้สึกกับลูกค้าว่าเป็นเหมือนเพื่อนบ้านจริงๆ ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยว” ดอนกล่าว

กวีวุฒิสนับสนุนว่าการที่ร้านเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชุมชนนี้กลับกลายเป็นข้อได้เปรียบร้านหนังสือต่างประเทศที่มีเครือข่ายใหญ่ๆ เพราะความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างเจ้าของร้านกับลูกค้าในร้านหนังสือเล็กๆ นั้นจะต่างจากร้านใหญ่ๆ ที่เป็นธุรกิจชัดเจนกว่า

สาเหตุที่เลือกเปิดร้านหนังสือต่างประเทศมือสอง เพราะดอนเห็นว่าร้านหนังสือในเมืองไทยยังมีไม่ค่อยเยอะ จะมีก็ตามแหล่งท่องเที่ยวอย่างถนนข้าวสาร ส่วนในย่านนี้ก็มีไม่มากนัก ทั้งสองจึงตัดสินใจเปิดร้านในทำเลบนถนนสุขุมวิทแห่งนี้ ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มลูกค้าของร้านก็ย่อมแตกต่างจากร้านหนังสือย่านถนนข้าวสาร

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของร้าน dasa จะเน้นฝรั่งที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ รองลงมาคือนักท่องเที่ยว และกลุ่มคนไทยที่เป็นนักศึกษาและนักธุรกิจที่ต้องการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่ราคาไม่แพงมาก แต่สภาพหนังสือยังสมบูรณ์ดีอยู่ คือมีราคาประมาณครึ่งหนึ่งของราคาหนังสือใหม่

หนังสือกว่า 10,000 เล่มในร้าน dasa จะมีดีลเลอร์ในกรุงเทพฯ เป็นผู้คอยจัดส่งหนังสือให้ บางทีก็เป็นดีลเลอร์นำเข้าหนังสือจากลาว กัมพูชา หรือแม้กระทั่งดีลเลอร์จากนิวยอร์กก็ยังเคยติดต่อมาที่ร้านว่าสนใจจะใช้บริการหรือไม่

“ดีลเลอร์บางแห่งก็จะสั่งหนังสือเข้ามาทางเรือ นำใส่มาเป็นตู้คอนเทนเนอร์ ผมเคยคุยกับผู้ชายคนหนึ่งที่ข้าวสาร หนังสือในสต็อกของเขานำเข้ามาจากทั้งแคนาดา อเมริกา ออสเตรเลีย ซื้อมาทีละหลายพันเล่ม แต่ที่ร้านคงจะทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะ คือมันอาจจะไม่แพงในการขนหนังสือโดยทางเรือจากอเมริกามาเมืองไทย แต่ว่าการจะนำหนังสือออกมาจากท่าเรือคลองเตยมาจัดเก็บไว้ในโกดังสินค้านั้นต้องใช้เงินลงทุนสูง อีกทั้งยังมีเรื่องของภาษีด้วย แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตถ้าธุรกิจเราขยายตัว เราก็อาจจะนำเข้าเองก็ได้” ดอนกล่าว

...............

ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเก่าสภาพยับเยินขนาดไหน แต่สาระสำคัญของหนังสือนั้นอยู่ที่เนื้อหาข้างใน ไม่ใช่เพียงแค่หน้าปก ร้านหนังสือมือสองจึงจะยังคงเป็นทางเลือกของหนอนหนังสือกระเป๋าแห้งต่อไป ตราบเท่าที่ประเทศไทยยังไม่ไร้ซึ่งลมหายใจแห่งการอ่าน
กำลังโหลดความคิดเห็น