xs
xsm
sm
md
lg

เผาพลอย มหัศจรรย์ในแดนลับแล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่แปลกที่คนไทยต่างรู้ว่าเราเป็นชาติที่มีฝีมือเป็นหนึ่งในการเจียรไนพลอย แต่กรรมวิธีที่มีมาคู่กันคือ “การเผาพลอย” กลับเป็นเรื่องลึกลับที่ไม่รู้จักกันแพร่หลาย จนคล้ายกับเป็น “พิธีกรรมที่บังเกิดในแดนลับแล” ทว่า สำหรับชาวต่างบ้านต่างเมืองแล้ว การเผาพลอยของคนไทย คือ สุดยอดแห่งฝีมือ เป็นที่ชมชอบยอมรับในตลาดค้าเพชรพลอยทั่วโลกมาช้านาน

กระทั่งถูกกล่าวขวัญว่า คนไทยเป็นต้นตำราแห่งการเผาพลอย

เผาพลอย วิชาที่อยู่ใน “แดนลับแล”

เมื่อถามว่าใครเคยได้เข้าไปเยี่ยมชมการเผาพลอยอย่างใกล้ชิดเกาะติดอยู่ข้างเตาบ้าง หลายคนแม้จะเป็นคนในแวดวงอัญมณียังบอกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่เคย” และยังบอกว่า พวกเขาจะถ่ายทอดความรู้ให้แต่ลูกชายคนโตเท่านั้น เรียกได้ว่าบ้านไหนรู้ก็หวงแหน ไม่บอกต่อกันง่ายๆ แม้แต่เป็นเพื่อนกันก็ยังเข้าไปในบริเวณเตาเผาพลอยไม่ได้เลย ...การเผาพลอย จึงเป็นวิชาที่เหมือนอยู่ในแดนลับแล

และถึงแม้ว่าการเผาพลอยจะเป็นความรู้ที่สั่งสมกันมาแต่โบราณ แต่มาจนถึงในวันนี้ก็เป็นความลึกลับที่คนภายนอกไม่มีทางจะเข้าไปรับทอดเรียนรู้มาได้อย่างลึกซึ้งจากคนเผาพลอย

...หลังจากที่เสาะหาอยู่หลายที่หลายคน ว่าจะมีคนเผาพลอยคนไหนออกมาให้ความรู้จำนรรจา เปิดโลกแห่งความลี้ลับออกสู่สายตาคนทั่วไป กว่าจะโชคดีเริ่มได้ซักถามเรื่องการเผาพลอยกับคนเผาพลอยตัวจริง ก็เจอคำตอบแรกว่า “เรื่องอย่างนี้ไม่มีใครเค้าบอกกันหรอก ใครเค้าก็พยายามหาสูตรกัน มันเป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่ง บางคนเอาบ้าน เอารถเบนซ์มายกให้กันเพราะให้สอนสูตรให้ เค้าขายสูตรกันทีเป็นหลายๆ ล้าน” นี่คือคำยืนยันจากคนเผาพลอย เกรียงศักดิ์ ธนะจินดาวงศ์ หรือ ที่ในวงการรู้จักกันดีในชื่อ “เฮียเกียง”

เฮียเกียง เล่าว่า คนเผาพลอยจะไม่ยอมให้ใครเข้าไปบริเวณหน้าเตา เพราะอุณภูมิในการเผาพลอยจะเป็นความลับที่คนเผาพลอยหวง รวมถึงสารเคมีชนิดต่างๆ ที่จะใส่ในพลอยแต่ละสีแต่ละชนิด ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องที่ต้องปกปิดต้องห้ามไม่ให้ใครอื่นรู้ เพราะมันเป็นอาชีพ เป็นหนทางทำมาหากิน อีกทั้งสูตรเผาพลอยแต่ละแหล่งพลอย แต่ละประเทศก็ไม่มีใครเหมือนกัน ดังนั้น เถ้าแก่เผาพลอยจะเป็นคนๆ เดียวที่ลงมือเผาพลอย ไม่มีลูกจ้าง ไม่มีลูกมือ

“อย่างผมก็ไปหาซื้อพลอยมาลองเผาเอง คิดค้นขึ้นมาเอง ยังดีที่มีเหมืองอยู่แอฟริกา มีพลอยให้ลองเผามาก แต่ก็เผาเสียไปเป็นสิบๆ ล้านแล้ว ...ส่วนใหญ่คนเผาพลอยเค้าจะไปซื้อพลอยถูกๆ มาทดสอบเผา ค่อยๆ ปรับอุณหภูมิไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ ว่าเผาอุณภูมิเท่าไหร่ได้สีแบบไหน หรือไปศึกษาตามร้านขายสารเคมีที่จันท์ ถามว่าร้านนี้เค้าเผาพลอยสวยเค้าใส่อะไรบ้าง ทางร้านเค้าอยากขายของเค้าก็จะบอกให้ แต่อย่าไปถามคนเผาเองนะ ตัวเดียวเค้าคิดเงินกันเป็นล้าน” เฮียเกียงบอกว่า “เรียกได้ว่า พลอย คือ อาจารย์ของเราดีกว่า”

เผาพลอย ต้นกำเนิดที่เริ่มจากความบังเอิญ

ย้อนไป 100 ปีที่แล้ว ไล่เรียงดูความลี้ลับแห่งการเผาพลอยที่เคยบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ที่แต่เดิมเรียก การเผาพลอย ว่า การหุงพลอย

งานวิจัยของ รัก หรรษจเวก ฝ่ายแร่รัตนชาติ กองเศรษฐธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ได้เปิดเผยความเป็นมาของการเผาพลอยไว้ว่า ไม่ต่ำกว่า 100 ปีมาแล้วที่คนไทยรู้จัก การหุงพลอย หรือ การเผาพลอยเพทายที่นำมาจาก บ่อข่า จังหวัดรัตนคีรี ประเทศเขมร เพทายที่นำมาเผาจะได้สีน้ำทะเลเข้มลึก

ส่วนต้นกำเนิดของการเผาพลอยตระกูลทับทิมและแซปไฟร์ในไทยนั้น แทบจะไม่มีผู้กล่าวถึงไว้เลย จนกริ่งเกรงว่ามินานคนรุ่นหลังอาจหลงลืมและสูญหาย แต่หลังจากการเสาะแสวงหา ก็พบข้อมูลจาก อานุภาพ ชินอุดมพงษ์ ประธานชมรมอัญมณีและเครื่องประดับ จ.จันทบุรี ที่กล่าวไว้ถึงบุรุษผู้เผาพลอยคนแรก ซึ่งหลังจากนำมาปะติดปะต่อภาพจากงานวิจัยของ รัก หรรษจเวก ก็พอจะเห็นเรื่องราวได้กระจ่างชัดขึ้นว่า ที่มาของการเผาพลอยในวงการอัญมณีของไทย เกิดขึ้นหลังจากการค้นพบโดยบังเอิญของ สามเมือง แก้วแหวน ชาวเมืองจันท์ในปี 2517 (ข้อมูลปีพ.ศ. จาก อานุภาพ ชินอุดมพงษ์)

มาถึงวันนี้ ยี่สิบกว่าปีที่ผ่านไป เลยอยากจะนำมาเล่าใหม่โดยใช้ถ้อยคำเริ่มต้นว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ...มีนายสามเมือง ผู้มีอาชีพหาซื้อพลอยที่บางกะจะ จังหวัดจันทบุรี มาทำพลอยปะขาย (Assembled stone) เดิมจะใช้พลอยแซปไฟร์ธรรมชาติซึ่งเป็นแผ่นบางมาประกบวางไว้ด้านบนของไพลินสังเคราะห์หรือทับทิมสังเคราะห์ซึ่งมีเนื้อเป็นส่วนใหญ่ข้างใต้ เมื่อเจียรไนแล้วแนวประกบซึ่งเป็นหน้าเรียบขัดเงาจะอยู่ตรงขอบพลอย (Girdle) พอดี จากนั้นจะใช้น้ำประสานทอง (Borax) เป็นตัวเชื่อมโดยไล่ฟองอากาศและทำให้พลอยประกบเชื่อมติดกันด้วยความร้อน พลอยที่ได้มีเนื้อติดกันแน่นสนิทเหมือนพลอยเม็ดเดียวกัน แต่พลอยที่สามเมืองนำมาขาย ก็มิได้หลอกลวงว่าเป็นพลอยแท้ เขายังคงขายพลอยในราคาของพลอยปะโดยสุจริตต่อลูกค้า

ผ่านเวลาไป 3 ปีถึงปี 2520 พลอยที่บางกะจะเริ่มหายาก สามเมืองจึงหันไปซื้อหน้าพลอยปะที่ บ่อตกพรม แทน แต่ธรรมชาติของพลอยตกพรม จะเป็นพลอยหม่าที่มีสีขุ่นขาวไม่มีราคา เมื่อสามเมืองนำมาเฉือนเป็นแผ่นบางเพื่อทำหน้าพลอยปะ แล้วเชื่อมประกบด้วยความร้อน กลับเกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าอัศจรรย์ขึ้น เพราะพลอยหม่าสีขาวขุ่นที่นำมาปะเชื่อมนั้น พอเผากลับเกิดความสุกใสกลายเป็นสีน้ำเงินอันงดงาม ...การเผาพลอยในครั้งนั้นนับเป็นก้าวสำคัญที่สุดของวงการอัญมณี และนับเป็นครั้งแรกในเมืองไทยสำหรับการค้นพบการเพิ่มคุณภาพพลอยแซปไฟร์ด้วยความร้อน ...แรงบันดาลใจจากการค้บพบทำให้สามเมืองสร้างเตาเผาถ่านหิน และต่อมาได้เผาแซปไฟร์สีน้ำเงินจากออสเตรเลียสำเร็จเป็นครั้งแรกในเมืองไทยในปีต่อมา

พัฒนาการเผาพลอย ที่ทำให้โลกตื่นตะลึง

สามเมือง ยังมิได้หยุดพัฒนาไว้ที่การค้นพบในครั้งแรก ในปี 2523 สามเมืองได้พัฒนาเตาเผาเพื่อทำการค้าอย่างจริงจังเป็น เตาแก๊ส ซึ่งนับเป็นเตาแม่แบบของประเทศที่สามารถเผาพลอยสีน้ำเงิน พลอยสีแดง และพลอยบุษราคัม ในขณะนั้นเอง Dr.Henry A.Hanny ได้เข้ามาเมืองไทย พอเห็นพลอยเปลี่ยนสีจากความร้อน ก็ไม่ปักใจเชื่อ จึงนำเอาพลอยสีเหลืองที่สามเมืองเผาได้ ไปตรวจสอบที่แล็บ SSEF ในสวิตเซอร์แลนด์ ว่าสีที่เผาได้จะอยู่คงที่หรือไม่ด้วยความร้อน 1,000 องศาเซลเซียส และวิธีอื่นๆ ผลปรากฎว่า สีของพลอยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป จึงได้เขียนจดหมายลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2525 ยอมรับการไม่เปลี่ยนแปลงของสีในการเผาพลอยเหลืองที่สามเมืองได้ทำสำเร็จขึ้นเป็นกลุ่มแรก

ตามข้อมูลที่ปรากฎพบว่า ในช่วงแรกความลับของการเผาพลอยกระจายอยู่แคบๆ ในวงญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูง แต่ต่อมาเคล็ดลับที่เป็นความลับก็แผ่สู่เฉพาะคนในวงการกว้างขวางขึ้น ดังที่เฮียเกียงบอกเล่าว่า สูตรการเผาพลอยขายได้ในราคาหลักล้าน ทำให้มีคนขายสูตรให้กับคนมีเงิน แต่ก็ไม่ใช่ขายให้เพียงแต่กับคนไทยเท่านั้น มีการขายให้กับชาวศรีลังกา และต่อมายังมีการขายสูตรให้กับชาวจีนด้วย ซึ่งถ้ามองจากปัจจุบันศรีลังกากลายเป็นคู่แข่งของไทยในการเผาพลอยที่วงการอัญมณีให้การยอมรับ ดังนั้น อีกไม่นานหากจีนสามารถพัฒนาฝีมือขึ้นทัดเทียม รวมทั้งแรงงานที่ถูกกว่า จีนจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของไทยเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามในวันนี้ หากผนวกฝีมือในการเผาพลอยที่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงขึ้นจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งความลับในดินแดนลี้ลับหน้าเตาเผาที่ไม่ค่อยให้ใครเข้าไปถึง ประกอบกับสถิติ 80% ของทับทิมและแซปไฟร์ที่ขุดได้จากเหมืองพลอยทั่วโลก ถูกส่งเข้ามายังไทยเพื่อเพิ่มคุณค่าด้วยการเผาและเจียรไนก่อนส่งออกต่อไปยังผู้ผลิตเครื่องประดับในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา คงจะพอเป็นบทสรุปได้ว่า ไทยเราก็ยังเป็นมือหนึ่งที่ประเทศไหนก็มิอาจเขี่ยให้หลุดออกจากความเป็นสุดยอดไปได้ อีกทั้ง วงการธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลกยังให้การยอมรับว่า พลอยที่เผาขึ้นจากไทยควบคุมให้สีที่ต้องการได้ มีความคงทนของสี ซึ่งนับเป็นการการันตีว่า นอกจากไทยจะเป็น “ศูนย์กลางทางอัญมณีและเครื่องประดับโลก” แล้ว ยังเป็น "ผู้นำพลอยสีของตลาดโลก" อีกด้วย

แง้มประตูหน้าเตาเผา ดูความลี้ลับของการเผาพลอย

เฮียเกียงเชิญเข้าสู่ประตูความลับแห่งการเผาพลอย ด้วยประโยคที่เห็นภาพถึงความยากและละเอียดซับซ้อนว่า “การเผาพลอยก็เหมือนกับการเลีบนแบบความร้อนของภูเขาไฟ ...ลองคิดดูว่าพลอยอายุขนาดไหน ธรรมชาติให้ความร้อนแค่ไหนถึงทำให้เกิดเป็นพลอยขึ้นมาได้ ฉะนั้น การเผาพลอย ต้องทำใจ ไม่ใช่เรื่องง่าย”

เฮียเกียงอธิบายว่า “พลอย ไม่ใช่ว่าจะเผาให้สวยงามได้ทุกเม็ด คนเผาพลอยต้องศึกษาเรียนรู้ว่า พลอยเม็ดไหนนำมาเผาได้ผล เผาด้วยกรรมวิธีใดให้พลอยสีไหน พลอยจากที่มาแต่ละแห่งก็มีกรรมวิธี อุณหภูมิสูงหรือต่ำ หรือเทคนิคการเผาพลอยก็แตกต่างกันไป”

หลังจากฟังจากเฮียเกียงทั้งหมดก็พอจะรวบรวมปัจจัยสำคัญๆ ที่ส่งผลให้การเผาพลอยสำเร็จหรือไม่ คงต้องเริ่มตั้งแต่ สภาวะบรรยากาศของการเผา อุณหภูมิสูงสุดในการเผา ระยะเวลาที่ใช้อุณหภูมิสูงสุด อัตราการให้ความร้อนในแต่ละช่วงอุณหภูมิ อัตราการเย็นตัวในแต่ละช่วงอุณหภูมิ และการคงระดับความร้อน สารเคมีที่สัมผัสกับเม็ดพลอย ความดันบรรยากาศ นี่คือหัวใจหลักๆ ที่คนเผาพลอยอาจต้องใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาชั่วอายุคน กว่าจะเผาพลอยชนิดหนึ่งใดให้ออกมาได้ตามความประสงค์

ขั้นตอนแรกอุปกรณ์สำคัญที่เฮียเกียงใช้ในการเผาพลอย คือ เตาไฟฟ้า เฮียเกียง บอกว่า ดีที่สุดเพราะสามารถควบคุมระดับความร้อนให้สม่ำเสมอตามเวลาที่ต้องการได้ ส่วนกรรมวิธีในการเผาพลอย เฮียเกียง เริ่มที่นำพลอยที่จะเผาไปแช่น้ำกรดเพื่อล้างพลอยให้สะอาด ถ้าพลอยเนื้ออ่อนจะละลายไปตั้งแต่ตอนนี้ ดังนั้นพลอยที่จะนำมาเผาจะนิยมใช้พลอยเนื้อแข็ง

ขั้นตอนต่อมา คือสาร Borax ที่คนเผาทองทุกคนต้องใช้ สำหรับเกลี่ยสมานแผลพลอยให้สวยงามขึ้น ส่วนสารเพิ่มสีอื่นๆ บอกไม่ได้แล้วแต่ปัจจัยของพลอยหลายประการและเป็นความลับ พอนำเข้าเตาเผาก็ต้องกำหนดอุณภูมิแล้วแต่ชนิดพลอยอีก บอกไม่ได้ และ ท้ายสุดเฮียเกียงก็จบกระบวนการเผาพลอยลงเหมือนกันอีก ด้วยคำว่า “เป็นความลับ”

กรรมวิธีในการเผาพลอยที่ละเอียดขึ้นจึงต้องหันไปพึ่งพา งานวิจัยของ รัก หรรษจเวก อีกครั้ง โดยเริ่มจาก พอล้างพลอยสะอาดก็นำพลอยที่ต้องการเผาใส่ลงในเบ้า เบ้าจะเป็นวัสดุทนไฟ มีรูปร่างคล้ายถ้วย มีฝาปิดได้สนิทแล้วใช้น้ำยาเคลือบทาทับบริเวณฝาปิดเพื่อป้องกันความร้อนรั่วออกมา หลังจากนั้นก็นำเบ้าพลอยใส่ลงในเตาเผา การให้ความร้อนของพลอยแต่ละชนิดจะใช้ความร้อนแตกต่างกัน ซึ่งการใช้ความร้อนจะสูงหรือต่ำนั้นขึ้นอยู่กับ ขนาด ชนิด สีที่ต้องการและแหล่งที่มาของพลอยเหล่านั้น อย่างเช่น ต้องการให้พลอยมีสีเข้มหรืออ่อนลง ระดับความร้อนที่ใช้กันอยู่มีตั้งแต่ระดับไม่ถึง 1,000 องศาเซลเซียสไปจนถึง 1,900 องศาเซลเซียส หรืออาจเกิน 2,000 องศาเซลเซียส ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และเทคนิคของผู้เผา เพราะหากระดับความร้อนสูงเกินไปอาจทำให้พลอยที่เผาแตกหักหรือละลายได้

ระยะเวลาในการเผาพลอยบางชนิด อาจใช้ระยะเวลาเพียง 6 ถึง 10 ชั่วโมง แต่บางชนิดอาจใช้เวลาเผา 4 ถึง 5 วัน ภายในเตาเผาพลอยจะต้องได้รับความร้อนอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะการเผา ดังนั้นจึงต้องหาทางป้องกันไฟฟ้าดับระหว่างการเผาไว้ด้วย หรือป้องกันระดับความร้อนให้คงที่ ในกรณีที่ใช้เตาเผาแบบอื่นที่ไม่ใช่เตาไฟฟ้า พอเผาเสร็จก็ต้องปล่อยให้เตาเผาและเบ้าเย็นสนิท จึงจะสามารถเปิดเบ้าออกได้ เพราะอุณหภูมิที่ต่างกันมากระหว่างภายในเตาเผากับอากาศภายนอกอาจมีผลกระทบกับพลอยที่เพียรเผามาได้ สุดท้ายผลลัพท์ที่ได้ คือ สีและคุณสมบัติ ความสวยงามของพลอยที่ผ่านการเผาด้วยความร้อนจะคงอยู่ตลอดไป สามารถนำไปเจียระไนเพื่อทำเป็นเครื่องประดับได้ทันที

“การเผาพลอยก็เหมือนเสี่ยงโชค ถ้าเผาได้สวยก็เหมือนถูกลอตเตอรี่ พลอยบางอย่างซื้อมาร้อยสองพอเผาแล้วขายได้เป็นแสน พลอยบางเม็ดซื้อมาเป็นหมื่น เผาแล้วขายได้เป็นสิบล้านก็มี” เฮียเกียงสรุปง่ายๆ ถึงความลี้ลับในการเผาพลอย และเล่าต่อว่า ปัจจุบันมีคนเผาพลอยอยู่เกินกว่าพันคน ทุกคนล้วนมีความฝันว่าอยากจะเจอเคล็ดลับใหม่ๆ ในการเผาพลอย เพราะอยากรวย เคล็ดลับทุกอย่างจึงต้องปิดไว้เป็นความลับเพราะเกรงคนอื่นจะมาแย่งอาชีพ

อย่างไรก็ตาม เฮียเกียงทิ้งท้ายไว้ว่า พลอย เป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมา สร้างกับมือกับเครื่องจักรอุตสาหกรรมไม่ได้ ไม่ว่าจะมีคนเผาพลอยเป็นเพิ่มอีกกี่คน ถ้าพลอยหมดไป ก็ไม่มีวัสดุใดๆ ที่จะนำมาทำได้เหมือนกัน

การประเมินคุณค่าจากสายตาของนักวิทยาศาสตร์

บนโต๊ะประชุมภายในสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติของไทย (GIT) ทนง ลีลาวัฒนสุข หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิเคราะห์และตรวจสอบอัญมณี และ สุทัศน์ สิงห์บำรุง รองหัวหน้า ในฐานะนักอัญมณีศาสตร์ พร้อมด้วย เมล์ ปัญจางคกกุล ประชาสัมพันธ์ของสถาบันฯ นั่งล้อมวงกันพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการเผาพลอย ประเด็นเรื่องพลอยธรรมชาติ การเผาพลอย หรือ ที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า การเพิ่มมูลค่าให้อัญมณีด้วยการใช้ความร้อน ถูกหยิบยกขึ้นมาอธิบายโดยนักอัญมณีศาสตร์

นักอัญมณีศาสตร์ทั้งสอง เริ่มอธิบายภาพรวมของอัญมณีในโลกปัจจุบันว่า 80% ของพลอยที่ขุดได้ทั้งหมด จะมีเพียง 10% เท่านั้นที่เป็นพลอยเนื้อดี มีสีสวยงาม สามารถนำมาเจียรไนได้เลย ส่วนที่เหลือต้องนำมาผ่านกระบวนการเพิ่มคุณภาพก่อน วิธีการเผาพลอยโดยใช้ความร้อนเป็นหลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีภายในตัวพลอยโดยไม่มีการใส่สารแปลกปลอมเข้าไป เป็นวิธีการหนึ่งที่วงการอัญมณีให้การยอมรับมานานหลายสิบปีแล้ว

กรรมวิธีเพิ่มมูลค่าให้อัญมณีด้วยการใช้ความร้อน จะนิยมใช้กับพลอยตระกูลคอรันดัม ได้แก่ ทับทิม ไพลิน บุษราคัม และพลอยเนื้ออ่อนชนิดต่างๆ ช่วยทำให้ได้พลอยที่มีสีตรงกับคุณสมบัติของพลอยที่ดี ซึ่งอาจมีสีเข้มขึ้นหรือจางลงจากสีเดิมหรืออาจช่วยกระจายสีให้ดูกลมกลืนสม่ำเสมอทั่วทั้งเม็ดพลอย อีกทั้งยังชะล้างมลทินทำให้พลอยสะอาดสดใส

ทางด้านการประเมินคุณค่าและราคาของอัญมณีขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือ สี ความใสสะอาด การเจียระไน และน้ำหนักกะรัต การเผาพลอยนั้นสามารถเพิ่มคุณค่าตามหลักที่ใช้ประเมินราคาที่สำคัญ คือ การเผาพลอยจะช่วยทำให้ได้พลอยที่สีเข้มขึ้นหรืออ่อนลงจากสีเดิม การใช้ความร้อนในช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสม ธาตุต่างๆ ในเนื้อพลอยจะมีการจัดเรียงตัวใหม่ จึงทำให้เนื้อพลอยเปลี่ยนสีไปอย่างถาวร ส่วนประการที่ 2 คือ ความใสสะอาด การเผาพลอยจะช่วยให้เนื้อพลอยมีความใสสะอาดเพิ่มขึ้น โดยปกติการเผาพลอยไม่จำเป็นต้องใส่สารเคมีใดๆ ลงไป เนื่องจากความร้อนจะเป็นตัวทำให้ธาตุที่อยู่ในเนื้อพลอยเรียงตัวใหม่อย่างเป็นระเบียบ พลอยที่ได้จึงใสสะอาดขึ้น

พลอยส้ม ความลี้ลับที่ลุกลามเป็นความขัดแย้งในวงการอัญมณี

แต่หนทางของการเผาพลอยก็ไม่ได้สวยหรูราบรื่นแต่เพียงด้านเดียว ในปี 2543 เกิดวิกฤตการณ์ล่าสุดของการเผาพลอย เมื่อคนเมืองจันท์คิดค้นการเผาพลอยใหม่ออกมาสั่นสะเทือนวงการ คือการเผาให้แซปไฟร์สีชมพู กลายเป็นแซปไฟร์สีส้มที่สวยงามคล้ายสีพลอยแพดพาแรดชาของศรีลังกา แต่พลอยส้มที่ได้ กลับไม่ได้รับการยอมรับจากสมาคมผู้ค้าอัญมณีของสหรัฐอเมริกา โดยครหาว่าใช้สารเคมีเจือปนในการเผาซึ่งทำให้เกิดความไม่บริสุทธิ์ในเนื้อพลอย

ช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดความผันผวนอย่างมาก และส่งผลกระทบไปถึงทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในตลาดอัญมณีไทย ตั้งแต่ คนเผาพลอย นักอัญมณีศาสตร์ พ่อค้า คนซื้อพลอย ...การเจาะจงจะพูดเกี่ยวกับ พลอยส้ม ในวันนี้จึงยังเป็นเรื่องที่มีความเปราะบางอ่อนไหวที่ทุกฝ่ายต่างรอดูท่าที

อย่างไรก็ตาม สุทัศน์ ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ศาสตร์ด้านอัญมณี แหล่งข้อมูล แหล่งพลอย เทคนิค การเจียรไน การสังเคราะห์อัญมณีใหม่ มีเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ...การเผาพลอยเป็นภูมิปัญญาที่มีรากและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง นักอัญมณีศาสตร์ใช้วิทยาศาสตร์มาสนับสนุนและเชิดชูภูมิปัญญา นักเผาพลอยรุ่นใหม่ก็นำวิทยาศาสตร์เข้าไปประยุกต์ใช้กับอาชีพ ...พูดได้เต็มปากว่า นักเผาพลอย คือ นักวิทยาศาสตร์ ความเชี่ยวชาญที่เกิด ต่างประเทศต้องให้การยอมรับ สิ่งที่สำคัญคือ คนขายต้องให้ข้อมูลตามความเป็นจริงเสมอ และท้ายสุดคนที่จะตัดสินใจ คือ ผู้บริโภคกับพ่อค้า

ในฐานะคนนอกวง หากจะมองอย่างปลอดอคติ การเผาพลอยไม่ว่าแบบใดด้วยฝีมือของคนไทย ก็โยกคลอนให้วงการอัญมณีโลกสะเทือน หรือ เรื่องราวของการเผาพลอยโดยฝีมือชาวไทยในวันนี้ แม้ยังเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่หากจะมองอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นธรรมชาติของเรื่องที่มีความลี้ลับในแดนลับแล และสุดท้ายที่มองด้วยความเป็นไทย ก็ยังอยากให้ภูมิปัญญาในการเผาพลอยของคนในชาติ ยังคงอยู่ในอับดับสูงสุดของโลกไปตราบนานเท่านาน
กำลังโหลดความคิดเห็น