"…….คืนที่มี ดาวหล่นหาย อยากชวนน้องมาแต้มแต่งดาว
ระบายสีใส ให้ดาววับวาว พราวไสว ปลายละออง…
…เก็บดวงดาว ที่ร่วงลงมา คืนให้ฟ้า มีดาวลอยล่อง
แต้มละออง ของดวงดารา We are star dust เราคือละอองดาว"
…….
"…….ม่วงคราม… น้ำเงินชวนมอง… เขียวเหลืองเรืองรอง… แสดแดง… ทอดโค้งโยงฟากฟ้าทอง… อ้อมโอบประคองโลกไว้ภายใน… ให้สายรุ้งนั้น….คือ สะพาน ข้ามลำธาร ผ่านภูผา ผ่านเมืองแมนแดนศิวิไลซ์ ผ่านดงพงไพรพนา ข้ามมหาสมุทรไกลสุดตา ทอดต่อโยงทั่วทุกแดน เชื่อมทุกแคว้นให้ถึงกัน ให้ก้าวเดินไปบน สะพาน มือประสานกระชับมั่น ไม่กีดกัน แบ่งผิว…พันธุ์……"
เสียงเพลงใสๆ จากเด็กตัวน้อยๆ ที่คลอไปกับเสียงจากดนตรีวงใหญ่ ในชื่อเพลง "ละอองดาว" รวมไปถึง "สะพานสายรุ้ง" ยังคงดังอยู่ในหัวใจของใครหลายๆ คนที่ได้เข้าร่วมหรือเห็นภาพพิธีเปิดการประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 15 ที่ผ่านพ้นไปสดๆร้อนๆ เมื่อคืนวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา รวมไปถึงลีลาการเต้นระบำพื้นเมืองของเด็กชาวเคนยาในชุด “SHANGILIA” ที่ต้องการสื่อให้ทุกคนออกมาสนุกกับท่วงทำนองจากกลองและเสียงร้องบอกจังหวะของพวกเขา
ภาพเด็กๆ เคนย่าร้องเพลงไทยได้ชัดถ้อยชัดคำ ยืนสลับกับเด็กไทย เป็นภาพที่หลายคนประทับใจและแปลกใจไปในคราวเดียวกัน บ้างก็ว่าร้องได้เพราะใช้ภาษาคาราโอเกะ คงไม่เข้าใจเนื้อเพลง ...แต่ใครจะเชื่อว่าทุกถ้อยคำที่พวกเขาเปล่งเสียงร้องออกมานั้น พวกเขาเข้าใจถึงความหมายเป็นอย่างดี และอยากให้อีกหลายคนที่ได้ยินได้เข้าใจอย่างพวกเขาด้วย
กำเนิดบทเพลงแห่งความรัก
เมื่อพิจารณาจากเนื้อเพลงและท่วงทำนองของทั้งสองเพลง จะพบว่า ละอองดาวและสะพานสายรุ้งเป็นเพลงแบบใสๆ เหมาะกับเด็ก เป็นบทเพลงเกี่ยวกับธรรมชาติ เนื้อเพลงพูดถึงสิ่งน่ารักๆ เหมาะสมกับวัยของเด็ก ที่สำคัญคือบอกเล่าอย่าง ง่ายๆ ด้วยคำที่งดงาม ซึ่งฟังได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
...และเมื่อสืบเสาะลงลึกดูก็พบว่า กิตติพงษ์ ขันธกาญจน์ หรือน้าต้อมวงสองวัย เป็นผู้รังสรรค์บทเพลงที่งดงามและเปี่ยมความหมายทั้งสองเพลงขึ้นมา
น้าต้อมเล่าให้ฟังว่า ด้วยความที่ได้มีโอกาสไปคลุกคลีและสัมผัสกับชีวิตน้อยๆ ที่มีเอชไอวีในสายเลือดผ่านเสียงเพลงหลายต่อหลายครั้ง จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากที่จะทำเพลงสักเพลงให้เด็กๆ
“ความคิดของผมคือ มองเห็นความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน เหมือนกัน เด็กหลายๆคน เราได้เห็นพวกเขาก่อนมีการประชุมครั้งนี้เสียอีก เด็กหลายคนที่มาไม่ได้ตั้งใจมาทำงานสร้างภาพให้งานนี้ดูดี แต่มาเพื่อพยายามให้คนอื่นหันมามองพวกเขาหรือเพื่อนของเขาว่าเป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่ได้ผิดแปลกไปจากชีวิของคนอื่น จะมีด้อยกว่าก็คงเป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เพราะถูกสังคมตั้งแง่รังเกียจ ความแบ่งแยกจึงก่อตัวขึ้น”
หากยังจำกันได้จะทราบว่า เพลงสะพานสายรุ้ง คือเพลงเก่าเมื่อประมาณเมื่อ 25 ปีที่แล้ว เป็นเพลงที่อยู่ในชุดที่ 2 ของวงสองวัย
น้าต้อมบอกว่าเห็นเนื้อเพลงแล้ว สามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้ตลอดเวลา มีความหมายที่ลงตัวและถูกจังหวะโอกาสพอดีจึงเลือกมาใช้
ส่วนอีกเพลงคือ ละอองดาว เป็นเพลงที่ถูกแต่งขึ้นมาใหม่ จากแรงบันดาลใจที่น้าต้อมบอกเอาไว้ “เราตั้งใจที่จะแต่งเพลงนี้ให้กับเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีเลย เพราะพวกเขาก็เหมือนกับเศษฝุ่น แต่ไม่ใช่เศษฝุ่นอย่างที่ตาเราเห็น มันคือเศษฝุ่นดาว มันไม่ใช่ไม่มีค่า เมื่อนำมาเปรียบกับชีวิตแล้วพวกเขาก็มีความเป็นมนุษย์เช่นกัน มีสิทธิเท่าเทียม แม้วันนี้จะเป็นเด็กแต่ต่อไปข้างหน้ายังต้องเติบโต”
“การที่มีเอชไอวีอยู่ในร่างกาย ไม่จำเป็นต้องตายวันตายพรุ่ง หรือถึงแม้จะต้องไปจากโลกนี้ ไปก็เป็นเรื่องที่กำหนดไม่ได้ การที่ได้รับเชื้อนี้มาอยู่ในตัวของพวกเขา ไม่ได้มาจากการเลือก แต่เป็นการไม่ได้เลือกมาตั้งแต่แรก ก็ต้องทำใจยอมรับและปรับตัวอยู่ร่วมกัน”
“นี่เป็นความคิดที่เราต้องการสื่อออกมา แต่ก็ไม่อยากสื่อออกมาตรงๆว่า เห็นใจผู้ติดเชื้อเถอะ เข้าใจนะ...แต่อยากให้เห็นในอีกมุมหนึ่งว่าพวกเขางดงามมากขนาดไหน ไม่ใช่เป็นคนที่น่ารังเกียจเลย ดูสิเด็กๆทุกคนมีความสดใสดั่งละอองดาวเลย เหมือนเพลงท่อนที่ว่า คืนที่มีดาวหล่นหาย... เราก็อยากให้ทุกคนมาช่วยกันเก็บดาวดวงที่หล่นขึ้นมาแต้มฟ้าอีกครั้ง อย่าได้โปรดอย่าละเลย มองให้เห็นความงดงามที่พวกเขามีอยู่ในตัว ซึ่งเป็นความงามที่สามารถแต่งแต้มโลกนี้ให้งดงามได้”
น้าต้อมบอกว่า แม้ภาพของโรคเอดส์ดูจะสื่อเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แต่การส่งต่อโรคไปยังอีกคนก็ไม่ได้เป็นเหมือนดังโรคระบายแต่อย่างใด แต่สิ่งที่คนในสังคมส่งต่อให้กันอย่างรวดเร็วก็คือ ความรู้สึกที่แบ่งแยก และความกลัวต่างหาก ซึ่งก็มาจากความไม่รู้และเข้าไม่ถึงของข้อมูลที่เป็นจริง
ที่มาของเสียงน้อยๆ จากเคนยา
....เด็กๆ กว่า 60 ชีวิต ที่ยืนเรียงรายหน้าเวที มีที่มาที่ต่างกันแต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ต้องการสื่อให้เห็นว่าคนทั่วไปสามารถร่วมกิจกรรมกับคนที่มีเชื้อเอชไอวีได้ ในอีกขณะก็จะบอกว่า ไม่ว่าคุณจะชาติไหน ใช้ภาษาอะไร เพลงจะเป็นตัวสื่อให้เข้าใจกันได้ง่าย
ด้วยเหตุดังกล่าว เราจึงได้มีโอกาสเห็นเด็กเคนยาร้องเพลงไทยได้ชัดถ้อยชัดคำ
“พวกพี่ ๆได้ไปซ้อมให้ในช่วงแรก ใช้เวลาแค่เพียง 7 วันเท่านั้น ก็สามารถออกเสียงภาษาไทยได้ชัดแจ๋ว ยิ่งพอได้รู้ความหมายของเนื้อเพลง ยิ่งทำให้การซ้อมดีขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจตอนแรกที่ไปใหม่ๆ เขาก็มีบ้างที่เบื่อๆ แต่พอรู้ความหมายของเพลงที่ร้อง เขาก็เริ่มสนุกขึ้น พอเป็นแล้วเราก็กลับมา ทางโน้นก็ซ้อมกันต่อโดยมี Suzanne Njeri Kuria เป็นคนดูแล” ชัยบลูส์ให้ข้อมูล พร้อมกับแนะนำให้ได้รู้จักกับ Suzanne Njeri Kuria ที่เป็นคนพาเด็กๆมา
Suzann เล่าว่า เด็กๆมาจากศูนย์ SHANGILIA MTOTO WA AFRICA โดยมีเธอเป็นผู้ดูแล ซึ่งศูนย์แห่งนี้ไม่ต่างไปจากศูนย์ที่ให้การช่วยเหลือเด็กที่พลาดพลั้ง ให้พ้นไปจากยาเสพติดและสิ่งอันตรายทั้งหลาย ด้วยการนำมาฝึกด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ
“ในเริ่มแรกของการก่อตั้งศูนย์ เรามีเด็กแค่ 13 คนก็นำมาฝึกมาดูแลและได้มีการทำสารคดีจากเรื่องจริงของเด็กทั้ง 13 คนนี้และให้พวกเขาได้เล่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับคำกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ชื่อว่า Don’t cry child of Africa จากจุดนั้นทำให้เริ่มมีคนเข้าใจและเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น จนขนาดใหญ่แต่เป็นการขยายในเรื่องจำนวนเด็กที่เข้ามาอยู่ ส่วนสถานที่เท่าเดิม”
“เรามีที่ๆ เล็กมากขนาดไม่ถึงไร่ แต่เด็กอยู่ที่นี้ตั้ง 223 คน เรียกว่าแออัดเอามากๆ แต่ บอกได้เลยว่าความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้นได้ทุกคน เราทำให้เขาเห็นทางเลือกที่ดีในชีวิตว่าทุกคนสามารถเลือกได้ ถ้าพวกเขาเลือก ก็จะได้รับสิ่งดีๆ อย่างได้เรียน ได้มีงานทำ ไม่ต้องนอนข้างทาง มีอาหารให้กิน ไม่ต้องไปวิ่งขโมยของใคร”
Suzann บอกด้วยว่า มีบางคนมาจากข้างถนนเคยติดยา ลักทรัพย์ หรือมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม แต่ทุกวันนี้ ไม่มีอย่างนั้นในชีวิตเขาอีกแล้ว และจากจุดนั้นทำให้เด็กหลายคนได้รับเชื้อเอชไอวีมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งก็ต้องมาดูแลต่อให้พวกเขามีชีวิตต่อไปและรู้วิธีป้องกันด้วย
นอกจากนั้น ภายในศูนย์แห่งนี้ยังมีการสอนอีกหลายอย่างนอกเหนือไปจากการเล่นละคร ยังมีการสอนอ่านบทกวี สอนเต้น และจัดให้ได้เรียนหนังสือโดยมีครู ที่เป็นอาสาสมัครเข้ามาช่วย
Suzanne กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ก่อนหน้านี้เธอมีชีวิตที่สุขสบาย มีงานที่ได้เงินตอบแทนมากๆทำ แต่เมื่อมองเห็นคนร่วมประเทศอยู่อย่างยากจนและลำเข็ญ มันเป็นภาพที่เจ็บปวดเกินกว่าจะทนดูได้ จึงตัดสินใจมาร่วมทำงานกับศูนย์ และต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ที่สำคัญคือ Suzannพบว่าการได้ช่วยชีวิตเล็กๆ วิเศษมาก เพราะการที่ได้เห็นเด็กๆ ได้ไปโรงเรียนหรือทำอะไรที่วัยอย่างพวกเขาสมควรจะได้ทำ และเธอก็เข้าใจว่านคงเป็นเรื่องยากที่จะให้ทุกคนหันมาทำเหมือนเธอ แต่สิ่งที่ทุกคนทำได้ คือการเปิดใจให้กว้างและให้โอกาส
เสียงแห่งความรักจากเด็กไทย
ด้านซิสเตอร์ริต้า อนุตตรานนท์ จากศูนย์คามิเลียนโซเซียล เซ็นเตอร์ จังหวัดระยอง หรือที่เด็กๆ เรียกว่า คุณแม่ซิสเตอร์ ซึ่งเป็นผู้นำเด็กๆ มาร่วมร้องเพลงในครั้งนี้บอกว่า เด็กที่พามามีทั้งที่ติดเอชไอวี และไม่ติด บ้างก็เป็นเพื่อนบ้านของทางศูนย์ ส่วนมากเป็นเด็กในชุมชนมากกว่าเด็กในศูนย์ แต่ที่เห็นสนิทสนมกันเพราะเล่นด้วยกันมานาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมที่นั้นได้เปิดกว้างให้เด็กได้เข้าหากัน
“ที่ผ่านมาปัญหาที่เด็กเข้าสู่สังคมไม่ได้ เพราะความเข้าใจของชุมชนเอง บางคนยังเข้าใจว่าเอดส์ยังเป็นโรคร้ายติดต่อกันได้ง่าย แต่ความจริงแล้ว เราสามารถที่จะแบ่งปัน เรียนรู้ ทำกิจกรรมต่างๆ รวมกันได้ โดยเฉพาะเด็กๆ ยิ่งเด็กเล็กยิ่งต้องการการเรียนรู้จากสังคมโดยเฉพาะ และที่ที่จะให้การเรียนรู้กับเด็กๆได้ดีที่สุดก็คือ โรงเรียน หน้าที่ของโรงเรียนไม่ได้สอนแค่เรื่องให้อ่านออก เขียนได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังสอนในเรื่องของการอยู่ร่วมกัน การมีสังคม และสอนเรื่องชีวิตไปใน ถ้าโรงเรียนทุกแห่งสามารถเปิดรับเด็กๆที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวีได้ ก็จะไม่มีปัญหาเพิ่มขึ้น เด็กที่ต่อคิวจะเข้ามาอยู่ที่นี้ก็จะลดลงด้วย”
“เด็กที่อยู่ที่ศูนย์คามิลเลียนฯ ใช่ว่าจะเป็นเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีทุกคน บางคนนั้นเป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี แต่ไม่ติดเชื้อ ซึ่งก็มีอยู่มาก เช่นบางคนพ่อกับแม่ จากไปโลกไปก่อน แล้วทิ้งพวกเขาไว้ เมื่อไม่เหลือใครก็จำเป็นต้องมาอยู่ที่นี่ คือถ้าสังคมเปิดกว้างและทำความเข้าใจเด็กๆ จะได้รับความเสมอภาค สิทธิที่เท่ากันกับเด็กอื่นๆที่พึ่งจะมี”
คุณแม่ซิสเตอร์บอกด้วยว่า ในการทำกิจกรรมที่ต้องร่วมกับชุมชน สิ่งหนึ่งที่ต้องขอร้องคือความเข้าใจและเห็นใจในตัวเด็ก ไม่ต้องการเอาเรื่องของสิทธิมาเรียกร้องให้เด็กๆ เพราะดูจะเป็นเรื่องที่แข็งกระด้างเกินไป
“อันที่จริงแล้วในศูนย์ก็มีการจัดการเรียนการสอนให้ แต่เราอยากให้เขาได้ไปจอยร่วมกับคนอื่นด้วย จะได้ปรับอารมณ์แลพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น โตขึ้นมาอย่างไม่โดดเดี่ยว เด็กหลายคนที่ได้ออกไปเรียนข้างนอก กลับมาพร้อมคำถามที่ว่า เพื่อนสงสัยว่าหนูเป็นเอดส์หรือเปล่า...แล้วหนูเป็นไหม...แล้วต้องทำยังไงบ้าง...ก็ไม่ได้เป็น ทำไมต้องรังเกียจ...ทำไมเราบอกความจริงเขาไม่ได้คะ หรือ ไม่ไปโรงเรียนแล้วได้ไหม ไม่อยากไปเจอใครเลย ...”
“จากประสบการณ์ที่อยู่กับเด็กในศูนย์ฯมา พบว่าสติปัญญาความสามารถของเขาได้ไม่ได้ด้อยไปกว่าเด็กทั่วไปเลย ถ้าไม่มีการปิดกั้น ก็จะสามารถที่จะมีดาวดวงใหม่ได้เพิ่มอีกหลายดวง”
ฟังเสียงของละอองดาวตัวจริงเสียงจริง
พี่ๆ รู้หรือเปล่าว่าพ่อกับแม่หนูไม่อยู่แล้วนะ...
คนฟังได้ยินแล้วงงไม่น้อย แล้วเด็กหญิงตาแป๋ววัย 6 ขวบก็พูดต่อไปว่า พ่อแม่ไปแล้ว ตายไปแล้วพี่ ไม่สบาย
นี่เป็นคำพูดของน้องจอย (นามสมมุติ) หนึ่งนักร้องที่ดุจดั่งละอองดาว
คุณแม่ซิสเตอร์เล่าให้ฟังว่า น้องจอยได้รับเชื้อมาตั้งแต่แรกเกิด ส่วนพ่อกับแม่ก็ทยอยลาโลกไปตั้งแต่จอยยังแบเบาะ ชีวิตจึงต้องโตมากับที่นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“พี่เขาชวนมาร้องเพลงบอกว่าเป็นงานของพวกเราเอง แต่ก็เข้าใจอยู่ดีว่างานของเรายังไง หนูร้องได้หมดเลยนะ จำได้หมดเลย แต่พี่เขากลัวเหนื่อยให้ร้องแค่นิดเดียวไม่ชอบเลย แต่ช่วงที่ซ้อมได้มาเจอเพื่อนใหม่ก็สนุกดีแต่อดไปโรงเรียนหลายวัน”
ในขณะที่น้องเป้ (สมมุติ) เด็กชายวัย 13 ปี จากศูนย์คามิเลียนฯ บอกว่าเป็นช่วงเวลาที่สนุกมากเขาได้รู้จักกับเพื่อนใหม่มากขึ้น แม้จะคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่ก็ยินดีมาร้องเพลงให้กับพิธีเปิด
“อะไรที่ช่วยได้ ก็อยากจะช่วย เพื่อว่าสักวัน มันจะทำให้เราดีขึ้น ไม่หวังให้โรคนี้รักษาหาย คงจะยากแล้วก็คงจะอยู่รอจนถึงวันนั้นไม่ไหว แต่ขอแค่ให้เข้าใจและไม่รังเกียจกันก็พอ ที่ผ่านมาตั้งแต่เล็กจนโต เจอมาหลายอย่างแล้ว แต่ไม่โกรธหรอกคนที่เขากลัวเรา เพราะเขาไม่รู้ คุณแม่ซิสเตอร์ก็บอกว่าอย่าไปเรียกร้องอะไรจากสังคมมาก แต่เราต้องทำตัวให้เขายอมรับให้ได้จะดีกว่า ก็จะทำไปเรื่อยๆ ส่วนจะเห็นผลหรือไม่เห็นก็อีกเรื่องหนึ่ง”
น้องทราย ประภาพร เกษกุล เป็นเด็กที่มีบ้านใกล้เรือนเคียงกับศูนย์คามิเลียนฯ เดินเข้าเดินออก และมาเล่นกับเพื่อนๆ ที่อยู่ในศูนย์ทุกวัน จึงได้รับคำชวนจากพี่ที่ไปซ้อมร้องเพลงให้มาร่วมวงเฉพาะกิจครั้งนี้ดู
“มาเล่นกับเพื่อนๆประจำเลย ไม่เห็นเป็นไรเลย เชื้อมันไม่ได้กระโดดมาหาได้ง่ายๆ พ่อกับแม่ก็ไม่ว่าแถมยังสนับสนุนด้วย พอบอกว่าจะมาร้องเพลงกับเพื่อนที่ศูนย์ในงานนี้ ”
ทรายบอกว่า ตอนที่เธอยังเด็กกว่านี้ได้มีโอกาสเห็นภาพในทีวีว่าคนที่เป็นเอดส์จะตัวเละๆ ดูน่ากลัว ก็เกิดความกลัวขึ้นมาเองโดยฉับพลัน แต่พอเริ่มโตขึ้นและได้เข้ามาร่วมกิจกรรมที่ทางศูนย์จัด ความกลัวนั้นก็หายไป และเข้าใจเพื่อนมากขึ้น จนรู้สึกว่าถ้าช่วยกันทำช่วงเวลาที่เพื่อนได้มีชีวิตอยู่ให้มีความสุขมากที่สุด น่าจะเป็นเลือกที่ดี
เช่นเดียวกับ น้องปลา ผุสดี ศรีสง่า ที่บอกว่าอยากให้คนที่กลัวหรือตั้งแง่รังเกียจให้เข้ามาสัมผัสด้วยตัวเองแล้วจะรู้ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะในตอนแรกก็ไม่ต่างไปจากทราย แต่เพราะมีเพื่อนร่วมชั้นเป็น อีกทั้งยังเป็นเพื่อนที่สนิท จึงพยายามปรับตัวและทำความเข้าใจเพื่อนมากขึ้น เพราะในบางเวลาเพื่อนอารมณ์แปรปรวน ก็ต้องเข้าใจว่าอาจจะเป็นเพราะยาที่ต้องกินเข้าไป หรือเกิดความเครียด
หรือน้องดิว ศศิธร กระจ่างแจ่ม เป็นคนที่ได้รับเลือกให้ร้องนำในครั้งนี้ ที่เปิดเผยความรู้สึกว่า ด้วยความที่มีญาติสนิทได้รับเชื้อเอชไอวี ครอบครัวของเธอจึงคุ้นเคยกับการปฏิบัติต่อกันเป็นอย่างดี
“ไม่ต้องทำอะไรพิเศษมาก แค่ทำต่อกันเหมือนเดิมก็พอแล้ว ถ้ายิ่งทำอะไรที่จงใจหรือแสดงออกถึงความเห็นใจมากเกินไป ความไม่ปกติก็จะเกิดขึ้น แล้วน้าเขาจะรู้สึกได้เลยว่า เขาไม่เหมือนคนอื่น ที่บ้านเลยทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จะดูแลเป็นพิเศษก็เรื่องสุขภาพ เพราะเท่าที่รูมา ถ้าร่างกายอ่อนแอจะเป็นโรคอื่นเพิ่มขึ้นอีก แล้วอีกอย่างคืออย่างให้คนทำเหมือนเนื้อเพลงที่ได้ร้องคือ ไม่แบ่งแยก ไม่เหยียบย่ำ เข้าใจกันให้มากๆก็คิดว่าน่าจะพอ”
ฟังเสียงจากเด็กๆ ไทยกันแล้ว ลองไปฟังน้องๆ จากเคนยากันบ้าง
Sharon Atsango เด็กหญิงวัย 14 ปีจากเคนยา บอกว่าตื่นเต้นและดีใจมากที่ได้มาร่วมร้องเพลงในครั้งนี้ เพลงที่ร้องมีความยากพอสมควร แต่ก็ซ้อมจนทำได้ และดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมเอดส์โลก และอยากให้คนเข้าใจผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีด้วย เพราะไม่มีใครปรารถนาจะติดมัน
ในขณะที่ John Iliarie วัย 15 ปี เสริมว่า ด้วยความที่มีคนใกล้ชิดได้รับเชื้อเอชไอวี จึงได้รู้ได้เห็นมาตลอดว่า มีความทุกข์ทรมานมากแค่ไหน ยิ่งถ้าใครมีอาการหนักมาก แล้วก็ไม่อยากให้ใครคิดรังเกียจเลย เพราะไม่สามารถติดกันได้ง่ายๆ อย่างที่คิด ตัวเขาเองอยู่ใกล้กับคนที่มีเชื้อมาเป็นเวลานานยังไม่เป็นอะไรเลย
John ยังบอกอีกด้วยว่า ที่มาในครั้งนี้มีบางคนที่ติดเชื้อเอชไอวี และเห็นว่าการได้ทำประโยชน์ให้สังคมในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เผื่อบางทีคนที่ได้เห็นจะเปลี่ยนทัศนคติและเข้าใจมากขึ้น
“ผมไม่อยากให้เพื่อนๆ นอนรอความตายอย่างหดหู่ ลุกขึ้นมาร้องเพลง เต้นระบำให้ชีวิตสดใส มีสีสันดีกว่า”
-------------
ถึงตรงนี้ หากใครที่ยังติดใจในเสียงร้องของเด็กๆ จากเคนยาและต้องการชมศิลปะการแสดงพื้นเมืองของพวกเขา สามารถตามไปชมต่อได้ที่งานคอนเสิร์ตเฉพาะกิจที่จัดเวทีให้พวกเขาได้แสดงความสามารถ ที่ลุมพินี ฮอลล์ ตั้งแต่เวลา 19.00 น. วันที่ 14 กรกฎาคนนี้เป็นต้นไป ซึ่งงานนี้เปิดให้เข้าฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
**********
เพลงสะพานสายรุ้ง
เช้าวันหนึ่ง ผีเสื้อร่อนบินมา ถามฉันว่าที่ขอบฟ้าแสนไกล
มีเส้นโค้ง วาดโยงสวยใส ตอบได้ไหมเป็นเส้นโค้งอะไร
ขอบฟ้าทิ้งโค้งไกล ไกล สีสวยสดใส ทาบทา
เจ็ดสีไล่เรียงเคียงไป เส้นโค้ง เส้นใหญ่ ทาบมา
เมื่อยามตะวันรอนรอน แสงแดดซอกซอนเมฆบน
ถูกฝนละอองปลิวว่อน โอนอ่อนสวยนวลชวนยล
ม่วงครามน้ำเงินชวนมอง เขียวเหลืองเรืองรองแสดแดง
ทอดโค้งโยกฟากฟ้าทอง อ้อมโอบประคองไว้ภายใน
ให้สายรุ้งนั้นคือสะพาน ข้ามลำธารผ่านภูผา
ผ่านเมืองแมนแดนศิวิไล ผ่านป่าดงพงไพนพนา
ข้ามมหาสมุทร...ไกลสุดตา
ทอดต่อโยงทั่วทุกแดน เชื่อมทุกแคว้นให้ถึงกัน
ก้าวเดินไปบนสะพาน มือประสานกระชับมั่น
ไม่กีดกันแบ่งผิวพันธุ์
เพลงละอองดาว(We are star dust)
ดาวดวงหนึ่งร่วงจากฟ้า เจ้าดาราลับลาไปไกล
ฟ้าเจ้าเอย คงเหงาเศร้าใจ ดาวอยู่ไหนในค่ำคืน
ใครพบเจ้า ดวงดารา เก็บเอามาแล้วคานฟ้าไป
ฟ้าจะมี ดวงดาวกระพริบใส พราวไสวปลายละออง
คืนที่มี ดาวหล่นหาย อยากชวนน้องมาแต้มแต่งดาว
ระบายสีใส ให้ดาววับวาว พราวไสว ปลายละออง
วาดดวงดาว ระบายท้องฟ้า เขียนเมฆา น้อยลอยฟู่ฟ่อง
เติมพระจันทร์ อัมพันสีผ่อง แต้มสีทอง ของตะวัน
เก็บดวงดาว ที่ร่วงลงมา คืนให้ฟ้า มีดาวลอยล่อง
แต้มละออง ของดวงดารา We are star dust (เราคือละอองดาว)