เมื่อถามถึงรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของ “มัสยิด” ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของพี่น้องชาวมุสลิม ในภาพที่เคยผ่านตาหรือในความทรงจำของหลายๆ คน คงจะเป็นอาคารรูปโดมสีเขียว มีหอคอย มีสัญลักษณ์ดาวเดือน เด่นเป็นสง่า
แต่ที่ “คลองบางกอกใหญ่” หรือในอีกชื่อว่า “คลองบางหลวง” นั้น กลับมีมัสยิดแห่งหนึ่งที่ดูจะแปลกไปจากมัสยิดอื่นทั่วๆ ไป เพราะเป็น มัสยิดทรงไทย ที่ผสมกลมกลืนศิลปะของ ไทย จีน และฝรั่ง มาผสานเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างงดงามและลงตัว
ณ วันนี้ ก็ยังไม่มีมัสยิดที่ไหนสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบนี้ มัสยิดบางหลวงจึงนับเป็นมัสยิดทรงไทยหนึ่งเดียวในโลกที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้
มัสยิดบางหลวงได้ผ่านยุคสมัย ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านฝน มากว่า 200 ปี และได้ร้อยเชื่อมเรื่องราวของผู้คนและกาลเวลาเข้าด้วยกัน โดยไม่มีสิ่งใดจะมาขีดคั่น แม้ปัจจุบันก็ยังดำรงอยู่เป็นศูนย์รวมของจิตวิญญาณแห่งสัปปุรุษ สะท้อนศรัทธาตั้งมั่นแห่งพระผู้เป็นเจ้า
และหากพูดถึงมัสยิดบางหลวง ก็ไม่อาจที่จะไม่พูดถึงชุมชน คลองบางหลวง ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในชุมชนเก่าแก่ ที่ชาวไทยมุสลิมกลุ่มใหญ่มารวมตัวกันอยู่บริเวณปากคลองบางหลวง (ถนนอรุณอมรินทร์ตัดใหม่) โดยชุมชนมุสลิมที่นี่ได้ก่อร่างสร้างชุมชนมาพร้อมๆกับการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ มีบรรพบุรุษของชาวชุมชนเป็นแขกจาม (ชาวมุสลิมจากอาณาจักรจัมปาในเขมร ที่เข้ามาเป็นกองอาสาจาม) และแขกแพ (ปลูกแพอยู่) ที่อพยพมาจากอยุธยาเมื่อคราวกรุงแตก
ครั้นเมื่อตั้งถิ่นฐานฝังรกรากเป็นชุมชน ก็ย่อมต้องมีสถานที่ประชุมทำศาสนกิจ นั่นก็คือมัสยิด ชาวมุสลิมถือว่ามัสยิดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่รวมจิตวิญญาณของมุสลิมกับพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นก่อนเข้ามัสยิดจึงต้องชำระทั้งจิตใจและร่างกายให้สะอาดบริสุทธิ์
ด้านหน้าบันไดก่อนจะขึ้นไปยังมัสยิด จะสังเกตเห็นป้ายเล็ก ๆบอกข้อห้ามไม่ให้ ชาย-หญิงที่นุ่งกางเกงขาสั้น และหญิงที่มีประจำเดือนเข้าไปภายใน เพราะถือว่าเป็นเลือดที่ไม่สะอาด เมื่อหญิงนั้นพ้นการมีประจำเดือน 7 วันแล้วจึงเข้าไปได้ เพื่อให้สะอาดจริงๆ ซึ่งที่ต้องมีข้อกำหนดนี้ขึ้น คงไม่ใช่เพียงมัสยิดเท่านั้น แม้แต่วัด วิหาร พระธาตุ ที่ถือกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คนที่เข้าไปก็ต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกียรติกับสถานที่ แต่ก็น่าแปลกที่อยู่ๆเจ๊ระเบียบรัตน์ก็ออกมาโวยวายในจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมานับร้อยๆปี ก่อนที่จะโดนยำเละกลับไป
เอกลักษณ์ 3 ชาติ ผสานเป็นหนึ่งเดียว
มัสยิดบางหลวง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1(พ.ศ. 2328) โดยพ่อค้ามุสลิมชื่อโต๊ะหยี ได้รวบรวมสมัครพรรคพวก ทำการก่อสร้างมัสยิดขึ้นในหมู่บ้าน “เป็นทรงไทยก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง” มีหน้าบันหน้า-หลังประดับด้วยปูนปั้นลายศิลปะ 3 ชาติคือ ที่กรอบหน้าบัน เป็นเครื่องลำยอง ประดับห้ามลายไว้บนยอด เป็นศิลปะไทย ส่วนในหน้าบัน เป็นปูนปั้นลายก้านแย่งใบฝรั่งเทศ เป็นศิลปะฝรั่ง และที่ส่วนดอกไม้ เป็นดอกเมาตาล เป็นศิลปะจีน
ลายศิลปะ 3 ชาตินี้ ได้นำมาประดับที่กรอบประตูและหน้าต่างทุกบานของมัสยิด ในส่วนตัวอาคารที่เป็นปูน ทาสีขาวทั้งหมด ส่วนที่เป็นไม้จึงสีเขียว จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่าว่า "กุฎีขาว" (คำว่า กุฎี ถูกนำมาใช้เรียกศาสนสถานของมุสลิมมาแต่สมัยอยุธยา แต่เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.2490 ได้เปลี่ยนคำเรียกเป็นมัสยิด) ขณะเดียวกัน ท่านโต๊ะพิมเสน ได้ขอซื้อพระตำหนักวังหน้าเก่ามาทำเป็นศาลามัสยิดขึ้น 1 หลัง เป็นไม้ทั้งหลังและเป็นทรงไทยเช่นเดียวกัน
แม้ตัวอาคารจะเป็นทรงไทย ซึ่งนับว่าเป็น “มัสยิดก่ออิฐถือปูนแห่งเดียวในโลกที่เป็นทรงไทย” แต่ผู้สร้างก็ได้บรรจุหลักการสำคัญของศาสนาอิสลามไว้ คือ มี มิมบัร (แท่นแสดงธรรม คล้ายธรรมาศน์ของพระภิกษุ) มิหรอบ (ซุ้มที่ครอบมิมบัร) โครงสร้างภายในก็เป็น พื้นราบ สะอาด ปราศจากรูปเคารพ มีเสาค้ำยันพาไล จำนวน 30 ต้น เท่ากับบทบัญญัติในคัมภีร์อัลกุลอาร ที่มี 30 บท และห้องละหมาดมี 12 หน้าต่าง 1 ประตู รวม 13 ช่อง เท่ากับจำนวนรุกุ่น หรือกฎละหมาด 13 ข้อ
30 ปีถัดมา มิมบัรเก่าในมัสยิดชำรุดลง เจ้าสัวพุก พ่อค้าจีนมุสลิม (ต้นตระกูล พุกภิญโญ) ได้ทำการก่อสร้างมิมบัรและมิหรอบขึ้นใหม่ เป็นซุ้มทรงวิมาน ก่ออิฐถือปูนปิดทอง ผสมผสานด้วยลวดลายปูนปั้นของศิลปะ 3 ประกอบด้วย ฐานเสา เป็นปูนปั้นลวดลายไทย เกี่ยวกระหวัดด้วยกิ่งใบฝรั่งเทศและดอกเมาตาลของจีน ตลอดตัวเสาประดับกระจกสีลายไทย เป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายรักร้อย และลายแก้วชิงดวง
ส่วนด้านบนเป็นทรงวิมาน 3 ยอด สอดแทรกด้วยลวดลาย ก้านใบฝรั่งเทศและดอกเมาตาลของจีน เต็มทั้ง 3 ยอด ตลอดทั้งซุ้มประดับด้วยกระจกหลากสี พร้อมกับได้แกะสลักแผ่นไม้เป็นอักษรอาหรับนูนลอย เป็นชื่อ อัลเลาะห์ นบีมูฮำหมัด บุคคลสำคัญของศาสนา บทอัลกุรอานที่สำคัญ ติดตั้งไว้ภายในซุ้ม
แปลก...แต่ไม่แตกต่าง
ไม่ได้มีข้อบัญญัติใดว่ารูปลักษณ์ของมัสยิดจะต้องเป็นรูปโดม หรือเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สิ่งที่เป็นข้อกำหนดว่ามัสยิดทุกแห่งต้องมี คือ มิหรอบ มิมบัร และพื้นราบ สะอาด เพื่อเป็นสถานที่ให้มุสลิมได้ทำการละหมาด โดยหันหน้าไปทางเมืองเมกกะประเทศซาอุดิอาระเบีย
ดังนั้นการที่มัสยิดบางหลวงมีลักษณะสถาปัตยกรรมและศิลปะหลายชาติมาผสมผสานกัน จึงเป็นสิ่งสะท้อนบอกถึงความเป็นมาของมัสยิด บอกถึงภูมิปัญญาและความสามารถด้านช่างฝีมือ ของบรรพบุรุษของชาวชุมชน เพราะหากย้อนไปในอดีต จะเห็นว่ามีชาวต่างชาติจากหลากหลายประเทศเข้ามาทั้งรับใช้ในราชสำนักและทำการค้าขาย วัฒนธรรมประเพณีต่างๆจึงซึมซับและหลอมรวมกัน โดยไม่มีความเป็นเชื้อชาติหรือศาสนามาแบ่งกั้น
กาลเวลาผ่านล่วงมาถึงปัจจุบัน แต่กลิ่นอายแห่งอดีตก็ยังคงกรุ่นอยู่ในความรู้สึกของชาวชุมชน พวกเขายังคงเป็นมุสลิมผู้เคร่งครัดกับบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกับมัสยิดของชุมชน ที่ถึงแม้จะแปลกไปจากมัสยิดอื่น
แต่คงไม่แตกต่างในความเป็นมุสลิม
ทุกๆ วัน ชาวชุมชนยังต้องละหมาดวันละ 5 เวลา (ย่ำรุ่ง กลางวัน เย็น พลบค่ำ กลางคืน) เพราะถือเป็นการเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า โดยการสวดมนต์ต่อหน้าพระองค์ ทุกๆเย็น เมื่อกลับจากโรงเรียน เด็กๆ ก็จะพากันไปเรียนที่โรงเรียนสอนศาสนา เพื่อทราบในข้อบัญญัติและสิ่งที่ควรปฏิบัติในการเป็นมุสลิมที่ดี
และทุกวันศุกร์ อิหม่าม (ผู้นำศาสนาอิสลามประจำมัสยิด) ก็จะทำหน้าที่ในการสั่งสอนคนในชุมชน (คล้ายกับการขึ้นเทศน์แสดงธรรมของพระสงฆ์) ซึ่งเรื่องที่พูดหรือสั่งสอนก็จะนำมาจากพระคัมภีร์หรือเป็นเรื่องสถานการณ์ในขณะนั้น เช่น การพนัน ยาเสพติด แม้กระทั่งการทำหน้าที่ผู้คลายทุกข์ เป็นเหมือนที่พึ่งทางใจ สำหรับชาวชุมชน
สิ่งสะท้อนของมัสยิดบางหลวงจากงานศิลปกรรมที่ไม่จำกัดสัญชาติ กระทั่งถึงชุมชนชาวบางหลวงที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติและเผื่อแผ่ไปยังชุมชนอื่น จึงเป็นสิ่งยืนยันในความเป็นจริง “คนมุสลิมก็คือคนไทย มีจิตใจเป็นไทยเพียงแต่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้นเอง”
*****************
มัสยิดบางหลวง หรือกุฎีขาว นับเป็นศาสนสถานที่กองการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร จัดให้เป็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภท Unseen in Bangkok
สถานที่ตั้งของมัสยิด อยู่ซอยมัสยิดบางหลวง ถนนอรุณอมรินทร์ตัดใหม่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ มีรถโดยสารสาย 19, 56,57 ผ่าน โดยลงที่ป้าย สน. บุปผาราม แล้วเดินเข้าไปประมาณ 200 เมตร นอกจากนี้สามารถเดินทางไปได้ทางเรือ โดยขึ้นเรือหางยาวที่ท่าเรือราชินี ใกล้ปากคลองตลาด แล้วนั่งเรือข้ามฝั่งเข้าไปในคลองบางหลวง (คลองที่มีป้อมวิชัยประสิทธิ์ตั้งอยู่เป็นจุดสังเกต) มีท่าน้ำเล็กๆ อยู่ด้านซ้ายมือ ติดป้ายชื่อมัสยิดบางหลวง ชุมชนกุฎีขาว ติดต่อได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข 0-2466-6159 หรือกองการท่องเที่ยว กทม. 0-2225-7612-4
นอกเหนือจากนี้ยังสามารถเดินเท้าไปชมมัสยิดเก่าแก่และมีบทบาทสำคัญต่อราชสำนักและชุมชนในท้องถิ่นมาตั้งแต่ครั้งอดีต อีก 2 แห่ง คือ มัสยิดต้นสน หรือกุฎีใหญ่ สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในมีมิมบัรและมิหรอบเก่าแก่ อีกทั้งมีกูโบร์หรือสุสานที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิมในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี และอีกแห่งคือ กุฎีเจริญพาสน์ เป็นศาสนสถานกายชีอะห์ หรือแขกเจ้าเซ็นที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมคลองบางหลวง