xs
xsm
sm
md
lg

มอแกน เปลี่ยนไป หรือคือชนเผ่าที่ถูกลืม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สมัยก่อนท้องทะเลแถวนี้อุดมสมบูรณ์มาก พอถึงช่วงฤดูแล้งที่ไร พ่อจะพาซาลามะออกทะเลไปหาปลาด้วยเรือก่าบางเป็นเวลานานตามเกาะต่างๆ ค่ำไหนก็นอนฝั่งแถวนั้น หรือไม่ก็นอนที่ในเรือ แต่พอถึงฤดูฝนพวกเราก็จะหาที่พักพิงชั่วคราว พร้อมๆกับหาอาหารกินบริเวณใกล้ๆกับที่พัก”

ซาลามะ หรือลุงซาลามะ ชายวัยเลยกลางคนชาวมอแกนผู้ที่มีนามสกุลว่ากล้าทะเล (มอแกนตั้งนามสกุลของตัวเอง แต่ในทางราชการถือว่ามอแกนไม่มีนามสกุล เพราะไม่มีบัตรประชาชน) ซึ่งใช้ชีวิตอย่างกร้านทะเลเล่าย้อนอดีตสมัยวัยเด็กให้ฟัง พร้อมๆกับสายตาที่มองออกไปในท้องทะเลแห่งหมู่เกาะสุรินทร์ยามดวงอาทิตย์เคลื่อนคล้อยต่ำ ก่อนที่จะพูดด้วยสำเนียงคล้ายกับตัดพ้อว่า

“เดี๋ยวนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ปลา กุ้ง ก็น้อยลง จับยาก ยิ่งพอกลายมาเป็นอุทยานฯที่ทำกินพวกเราก็น้อยลง มอแกนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้บางคนมันไม่ออกทะเลกันแล้ว แต่ว่าพวกมันมาหากินกับนักท่องเที่ยวได้เงินง่ายและสบายกว่าเยอะ”

จากคำบอกเล่าของซาลามะ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชาวมอแกน ชนเผ่าที่เคยถูกขนานนามว่า “ยิปซีแห่งท้องทะเล” เนื่องจากว่าในอดีตชีวิตชนเผ่านี้ ส่วนมากใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่กับทะเลมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

แต่ก็อย่างว่า เมื่อฟ้าเปลี่ยน คนเปลี่ยน วิถีเปลี่ยน นสพ.ผู้จัดการเปลี่ยน แล้วใยชีวิตของชาวมอแกน ที่หมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งนับเป็นมอแกนเผ่าสุดท้ายจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยมแห่งสังคมบริโภคในยุคโลกาภิวัตน์ ที่ระบบทุนนิยมรุกคืบเข้าไปในทุกๆพื้นที่

วิถีมอแกน วิถียิปซี : จากเรือสู่ฝั่ง

มอแกนคือชาวเล 1 ใน 3 กลุ่มของประเทศไทย (นอกเหนือจากกลุ่มมอเก็น และ อุรักลาโว้ย) คาดกันว่ามอแกนคงจะสืบเชื้อสายมาจากพวกโปรโตมาเลย์ (Proto Malay) ซึ่งเป็นคนพวกแรกๆ ที่อพยพลงมาอยู่แถบคาบสมุทรมลายู นักมานุษยวิทยา Jacques Ivanoff สันนิษฐานว่าชื่อมอแกนเป็นคำที่ย่อมาจากคำว่า “ละมอ” (ภาษามอแกน แปลว่า จม) และ “แกน” ซึ่งเป็นชื่อของน้องสาวของราชินีในตำนานเก่าแก่ของมอแกน ซึ่งน้องสาวคนนี้ไปแย่งคนรักของพี่สาว จึงถูกสาปแช่งให้ตนเองและพรรคพวกต้องมีชีวิตเร่ร่อนอยู่ในทะเล (จากหนังสือประมวลตำนานมอแกน ชื่อ Rings of Coral)

วิถีชีวิตโดยรวมของชาวมอแกนแบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วงฤดูแล้ง จะอาศัยอยู่บนเรือและเดินทางเร่ร่อนไปยังที่ต่างๆระหว่างเขตน่านน้ำไทยและพม่า ส่วนในช่วงฤดูฝน พวกเขาจะหลบมรสุมด้วยการสร้างบ้านเรือนบนเกาะหรือริมทะเล โดยส่วนใหญ่จะมาหากินและพักพิงที่หมู่เกาะสุรินทร์

ซึ่งเรือถือเป็นหัวใจสำคัญของชาวมอแกน เพราะว่าเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและพาหนะที่พาชาวมอแกนไปตามสถานที่ต่างๆ บางทีก็เป็นทั้งที่เกิดและที่ตายด้วย

โดยในอดีตมอแกนจะใช้เรือที่เรียกว่า “ก่าบาง” ซึ่งเป็นเรือขุดริมกราบ สร้างโดยใช้ขวานและสิ่วเป็นเครื่องมือ ตัวเรือทำด้วยไม้ขนุนปาน ซึ่งมีน้ำหนักเบา ใช้ไม้เต่าร้างทำกาบเรือยึดด้วยไม้ระกำหรือไม้ไผ่แล้วใช้หวายผูกอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจึงใช้เปลือกของต้นเสม็ดอัดตามซอกระหว่างไม้ที่ใช้ทำตัวเรือเพื่อป้องกันน้ำเข้า ส่วนหลังคาและใบเรือทำด้วยใช้ใบเตยทะเล การต่อเรือในลักษณะนี้ถือว่าเป็นแบบเก่าแก่ซึ่งพัฒนามาจากการสร้างแพของมนุษย์ในยุคแรกๆ แต่ว่าในยุคนี้มอแกนสละเรือก่าบางหันมาใช้เรือหางยาวที่เร็วกว่า แรงกว่าแทนแล้ว

และด้วยชีวิตที่ผูกพันกับท้องทะเล มอแกนจึงมีความสามารถอย่างมากในการดำน้ำหาปลา โดยพวกเขาจะใช้ฉมวกเดี่ยวแทงปลาในน้ำลึก ส่วนปลาในน้ำตื้นจะใช้ฉมวกสามง่าม นอกจากนั้นยังหาเพรียงทรายตามชายหาด หาเม่นทะเลตามแนวปะการัง หาหอยนางรมตามโขดหิน หาหัวมัน หัวกลอย ผลไม้ และสมุนไพรในป่า สำหรับเพื่อเป็นอาหาร และนำบางส่วนไปขายหรือแลกเปลี่ยนกับคนบนฝั่งกับข้าวสารและของจำเป็นอื่นๆ เช่น พริก น้ำปลา น้ำตาล เครื่องนุ่งห่ม

ในปี 2524 ทางราชการมีการการประกาศให้หมู่เกาะสุรินทร์เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทางอุทยานฯก็ได้อนุญาตให้ชาวมอแกนสามารถอยู่อาศัยบนเกาะได้ต่อไป แต่ว่าสถานะในการดำรงอยู่ของชาวมอแกนนั้นก็เปลี่ยนไป โดยจากคนในได้กลายมาเป็นคนนอกที่เปรียบเสมือนดังผู้มาอาศัยเกาะแห่งนี้อยู่เท่านั้น

แต่ถึงอย่างไรก็ตามชาวมอแกนก็ได้เริ่มปลูกบ้านและตั้งถิ่นฐานที่มั่นคงในพื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์อ.คุระบุรี จ.พังงา นับเป็นมอแกนกลุ่มสุดท้ายที่ยังดำรงชีวิตอยู่อย่างดั้งเดิม

ปัจจุบันมีมอแกนอาศัยอยู่ที่อุทยานฯประมาณ 170 คน โดยปลูกบ้านเรือนอยู่บริเวณอ่าวบอนของเกาะสุรินทร์ใต้และอ่าวไทรเอนของเกาะสุรินทร์เหนือ รวมแล้วประมาณ 40 ครอบครัว หาสัตว์ทะเลและของในเกาะไปขายให้กับคนบนฝั่ง ในช่วงเดือน พฤศจิกายน- พฤษภาคม ซึ่งอุทยานฯ เปิดให้เป็นฤดูท่องเที่ยว มีมอแกนประมาณ 30 คนไปรับจ้างทำงานให้กับอุทยานฯ เช่นขับเรือ ล้างจาน ช่วยงานในครัว เก็บกวาดขยะ มีรายได้วันละ 100 บาท และมีบางครอบครัวที่ทำของที่ระลึก เช่น กระปุก เสื่อ กำไล ที่ทำจากใบเตยทะเล ขายให้แก่นักท่องเที่ยว นับเป็น 6 เดือนที่มอแกนจะมีรายได้หลัก ถ้าหลังจากช่วงนี้เขาก็ไม่มีอาชีพ แต่ก็จะซื้อข้าวและเสบียงเก็บไว้ในหน้ามรสุม หรืออาจจะอพยพย้ายไปหากินบริเวณเขตฝั่งประเทศพม่าแทน

มอแกนชนเผ่าที่ถูกลืม

เมื่อมอแกนตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งอยู่ในเขตประเทศไทย จึงถ้าจะนับให้พวกเขาทั้ง 170 คน เป็นเสมือนคนไทยกลุ่มหนึ่งด้วย ก็คงไม่ผิด แต่ที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้ ศักดิ์และสิทธิของพวกเขาเป็นได้แค่ผู้อาศัย เพราะมอแกนยังไม่มีสัญชาติ ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลไหนเลย คงมีแต่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ และเจ้าหน้าที่กรมประมงที่ประจำการอยู่เท่านั้นที่ดูแลมอแกนกลุ่มนี้ สิ่งที่เขาน่าจะได้รับเหมือนกับคนอื่นทั่วไปจึงเป็นสิ่งที่แตกต่างกันมาก

แม้ว่าจะมีการจัดให้เด็กๆ มอแกนได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนสุรัสวดี (อยู่บนเกาะสุรินทร์ เด็กๆต้องนั่งเรือไปเรียน ตอนนี้กำลังรับครูอาสาสมัครไปสอน) เพื่อให้เด็กมอแกนมีความรู้เบื้องต้นที่จะสามารถติดต่อสื่อสารกับสังคมใหญ่ได้ แต่เด็กๆ จะได้เรียนถึงแค่ชั้น ป.4 เท่านั้น ถ้าคนไหนสนใจจะเรียนต่อก็ต้องไปเรียนที่โรงเรียนบนฝั่ง ส่วนการรักษาพยาบาลเมื่อมอแกนเจ็บป่วย ส่วนหนึ่งก็ยังมีการรักษาแบบเดิมคือการใช้สมุนไพร และหมอพื้นบ้านที่รักษาโดยการเข้าทรง ส่วนที่ทำการอุทยานฯ จะมีการรักษาพยาบาลเบื้องต้นให้ แต่สมัยนี้มอแกนหันมาใช้ยาและการรักษาสมัยใหม่มากขึ้น แต่ก็มีความลำบากไม่น้อย เพราะต้องนั่งเรือหลายชั่วโมงกว่าจะไปถึงโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งก็เป็นจำนวนเงินที่สูงมากสำหรับพวกเขา

ลุงซาลามะ คนเดิมซึ่งปัจจุบันเป็นเหมือนผู้นำของมอแกน ที่เคยเร่ร่อนใช้ชีวิตอยู่บนเรือนานหลายปีในแถบหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา น้ำเค็ม จ.ระนอง และในเขตพม่า ได้เล่าเพิ่มเติมว่า หลังจากที่พ่อแม่ได้เสียชีวิตลงที่เกาะสุรินทร์ ลุงก็ได้สร้างบ้านอยู่เป็นหลักแหล่งที่อ่าวบอน เกาะสุรินทร์ใต้ ตอนนี้ลุงซาลามะ ก็เหมือนกับมอแกนอีกหลายๆคนที่มารับจ้างทำงานทั่วไปให้กับอุทยานฯ ในขณะที่เหลือเพียง 2-3 ครอบครัวที่ยังยึดกับวิถีชีวิตบนเรือแบบเดิม

“ตอนนี้เราไม่ได้ทำประมงแล้ว เราไม่มีไม้ทำเรือ เพราะไม้หายาก อุทยานฯเขาจำกัด แต่ปีหน้าเราอาจจะทำเรือ เราอยากได้บัตรประชาชน จะได้มีสิทธิ์เหมือนคนทั่วไป อย่างบัตร 30 บาท ตอนนี้ลูกชายเราไม่สบายต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล เรามีรายได้ไม่พอ แต่ก็ต้องเอาไปเป็นค่ายา”

มอแกนที่เห็นและเป็นอยู่

ท่ามกลางความเพิกเฉยของภาครัฐ มีเพียงการดูแลที่สามารถจะให้ได้จากไม่กี่หน่วยงาน จนดูเหมือนว่ามอแกนคือชนเผ่าที่ถูกลืม กลับมีกระแสไหลบ่าของวัฒนธรรมสังคมเมืองถาโถมเข้าสู่พวกเขา ทำให้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่เคยเรียบง่าย กลับกลายให้มอแกนต้องทำงานแลกกับเงินเพื่อซื้อวัตถุเฉกเช่นคนเมืองมากขึ้น

ในสมัยก่อน อาหารหลักของมอแกนได้จากทะเลและจากป่าเป็นหลัก กับข้าวของมอแกนมักจะเป็น ต้ม ย่าง ทอด หรือผัด ถ้ามีเครื่องปรุงเช่น พริก หอม กระเทียม ตะไคร้ น้ำปลา น้ำตาล ก็จะใส่ลงไปให้รสชาติเข้มข้น ข้าวจึงถือเป็นอาหารพิเศษที่หาได้ยาก แต่ต่อมาเมื่อมอแกนถูกดึงเข้ามาในระบบค้าขายแลกเปลี่ยน ข้าวได้กลายเป็นอาหารหลักที่เป็นสิ่งจำเป็นและต้องการมากขึ้น แต่ก็เป็นราคาสูงที่มอแกนจะต้องใช้เงินซื้อข้าวสารกระสอบละ 450 บาท ซึ่งแต่ละเดือนครอบครัวหนึ่งต้องซื้อข้าวสารประมาณ 1-2 กระสอบ

พร้อมๆ กันนั้นก็มีผู้คนหลากหลายและนักท่องเที่ยวมากมายเข้ามาเที่ยวในอุทยานฯ มอแกนได้เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่เพิ่มขึ้นจากคนแปลกหน้า ชีวิตความเรียบง่ายของมอแกนก็เปลี่ยนไปจากที่แค่ยังชีพไปเรื่อยๆ ก็เป็นว่าจะต้องทำงานและหาของขายเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินมากขึ้น และต้องการสิ่งบริโภคใหม่ๆ ทั้งยาเส้น หมากพลู อาหารการกิน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม สิ่งของเครื่องประดับ และสิ่งที่สร้างความบันเทิง ซึ่งก่อนนี้มอแกนไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ สวนทางกับการสืบทอดวัฒนธรรมที่นับวันจะลดน้อยลง

ซึ่งหากวิถีชีวิตของชนเผ่ามอแกนจะเปลี่ยนไปจนไม่เหลือรูปแบบเดิมเอาไว้ เหล่านักวิชาการและผู้ที่ใกล้ชิดกับพวกเขาก็มองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก และถือเป็นสิทธิที่ชาวมอแกนจะเลือก และกำหนดวิถีชีวิตของพวกเขาเอง เพราะดูเหมือนว่าพวกเขาก็ยินดีจะน้อมรับสิ่งเหล่านี้ด้วย

วิสูตร ศรีสงวน ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ กล่าวว่า มอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์เป็นกลุ่มสุดท้ายที่ยังมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม แต่บางสิ่งบางอย่างของมอแกนได้เปลี่ยนไป อุทยานฯไม่ได้ตั้งกฎเกณฑ์อะไรมากมายกับชาวมอแกน พยายามปล่อยเขาให้เป็นไปตามวิถีชีวิตที่ต้องการจะเป็น แม้ว่าอุทยานฯ จะมีรายได้ให้และมีอาหารให้ แต่มอแกนก็ยังต้องการซื้ออาหารและซื้อความสุข เช่นซื้อเหล้า ซื้อหมากพลู บางคนเก็บเงินเพื่อซื้อวิทยุ เครื่องประดับ ซึ่งค่อนข้างจะเป็นพัฒนาการที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีคนและวิถีเมืองต่างๆ แทรกเข้ามาและเป็นผู้นำสิ่งต่างๆมาสู่ มอแกน ซึ่งเมื่อเขาเห็นแล้วก็ชอบในความสะดวกสบาย และสิ่งรื่นรมย์ต่างๆ “คงต้องปล่อยให้เขาเป็นไปตามวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ เขาก็คงค่อยๆเปลี่ยนไป และทางเขาก็พึงพอใจในความศิวิไลซ์และความเจริญ ต่อไปเขาอาจจะมีเครื่องปั่นไฟ วิทยุเทป มีทีวี นั่นก็เป็นสิ่งที่เขาเลือกแล้ว”

กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง

สังคมมอแกนก็เหมือนหลายๆ สังคมที่เลือกซึมซับเอาความเจริญด้านวัตถุ ด้านบันเทิงได้ไวกว่าด้านอื่นๆ ผลก็คือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ขาดสมดุล และทำให้มอแกนกลายเป็นสังคมที่ละเลยวิถีเดิมๆ ได้ค่อนข้างเร็ว ถามมอแกนดู เขาก็อยากใช้ชีวิตแบบใหม่ มีไฟฟ้า มีสิ่งบันเทิง และสิ่งอำนวยความสะดวก ในขณะที่ยังอยากทำมาหากินแบบเดิมๆ คือจับปลา หาปลิงหาหอยแบบที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด

ลุงบุหรง กล้าทะเล ผู้นำมอแกนที่อ่าวไทรเอน ซึ่งไม่รู้อายุของตัวเอง เพราะมอแกนไม่เคยนับอายุ ไม่รู้ว่าเกิด พ.ศ.ไหน พ่อแม่ของลุงไม่ได้บอกไว้ ลุงเล่าว่า อยู่ฝั่งมาได้ 7 ปีแล้วและทำงานทั่วไปให้อุทยานฯ ทั้งแบกของ ช่วยงานในครัว หรือ แล้วแต่อุทยานฯจะให้ทำ โดยเริ่มทำงานตี 7 (7โมงเช้า) ถึงตี 4 (4 โมงเย็น) “มอแกนออกเรือหาปลา หาหอย มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายแล้ว ตอนนี้มาทำงานให้อุทยานฯ เราชอบ เพราะสบาย” ลุงบุหรงตอบสั้นๆ

หญิงมอแกนคนหนึ่ง ที่แทบดูไม่ออกว่าเธอก็คือมอแกน เพราะบุคลิก หน้าตา การแต่งกาย และสำเนียงภาษาไทยชัดแจ๋วที่เธอพูด ถามไถ่ได้ความว่าเป็นลูกสาวของลุงสะละมะนั่นเอง เธอชื่อ ยุพา อายุ 35 ปี ที่พูดไทยชัดเพราะเมื่อตอนเด็ก ๆ เคยไปเรียนหนังสือที่น้ำเค็ม จ.ระนอง ยุพาอยู่บนเรือตั้งแต่ยังเล็ก ขึ้นมาอยู่ฝั่งได้ 6-7 ปีแล้ว ยุพาเล่าว่า ช่วงที่ไม่ได้ทำงานให้กับอุทยานฯ มอแกนก็จะออกหาปลา พอมีรายได้ซื้อข้าวสาร ดีปลี เคย เกลือ กระเทียม
ยุพาก็เหมือนมอแกนคนอื่นที่อยากได้บัตรประชาชน จะได้ไปทำงาน มีรายได้เหมือนคนอื่นทั่วไป และอยากทำงานไปตลอด ไม่ใช่เฉพาะ 6 เดือน “ตอนที่ไม่ได้ทำงานเราก็สะสมข้าวสาร ว่างๆ ก็สานเสื่อ ทำกระปุกขาย ตั้งแต่ที่ย้ายมาอยู่ฝั่ง ก็ชอบ” ยุพาตอบสั้นๆ อีกคนไม่มีการขยายความใดๆเพิ่มเติม ว่าจริงๆ แล้วพวกเขาคิดอย่างไร

วันนี้ภาพเก่าๆ กำลังจะหมดไปในชีวิตมอแกน นอกจากที่มอแกนอยากให้อุทยานฯ จ้างงานแล้วใน ช่วงปิดเกาะ 6 เดือนที่ย่างเข้าหน้ามรสุม อยากให้อุทยานฯ ช่วยส่งเสริมอาชีพอื่น เช่นการเลี้ยงปลาในกระชัง แทนการดำหอยดำปลาอย่างเก่าๆ และจะได้เป็นหูเป็นตาในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อยู่เพื่อการดำรงชีพต่อไปในอนาคต

สิ่งที่เกิดขึ้นกับมอแกน ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองชาวเลกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ กำลังถูกเบียดขับจากกระกระแสการเปลี่ยนแปลง ทั้งการจำกัดของทรัพยากรที่เคยพึ่งพาอาศัย วัฒนธรรมและวิถีดั้งเดิมที่เริ่มหดหาย และถูกแทนที่ด้วยวิถีเมืองใหม่ๆ การถูกละเลยเรื่องสัญชาติเพราะวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เดินทางอพยพโยกย้ายไปมาระหว่างรัฐ แต่ปัจจุบันกลับถูกจำกัดการเดินทางด้วยเส้นแบ่งพรมแดน รวมถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบในด้านต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่สังคมน่าจะหันไปมองพวกเขาบ้าง

เราคงไม่อาจยื้อให้สิ่งเก่าๆ กลับคงเดิม หากวันนี้ของมอแกนจะเปลี่ยนแปลงไป แต่การอนุรักษ์กับการพัฒนาควรจะดำเนินควบคู่ไปด้วยกัน เพื่อให้มอแกนยังคงหลงเหลือและดำรงเผ่าพันธุ์ นั่นคือมอแกนควรได้รับการศึกษาและมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ”โลกภายนอก” และโลกภายนอกก็ควรจะเรียนรู้และเข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของมอแกนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น