xs
xsm
sm
md
lg

3 งานแห่งพลังศรัทธา โด่งดัง แม้ว่ายังสร้างไม่เสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่ามกลางคลื่นโลกาภิวัตน์ที่เชี่ยวกรากในยุคนี้ งานสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ในเมืองไทยถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้โลกของทุนนิยม โดยมีเงินและผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นตัวตั้ง ไม่เว้นแม้แต่วัดวาอาราม หรือศาสนสถานหลายๆแห่ง ที่ถูกสร้างหรือดัดแปลงให้เป็นพุทธพาณิชย์มากขึ้น

ถึงกระนั้นในเมืองไทยก็ยังมีสิ่งก่อสร้างและงานสถาปัตยกรรมหลายๆงานที่ผู้สร้าง สร้างขึ้นมาจากพลังแห่งศรัทธา ด้วยจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์

หลายๆผลงานเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์รวมจิตใจ รวมถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดนั้นๆ

แต่ก็ใช่ว่าจะมีเฉพาะสิ่งก่อสร้างหรืองานสถาปัตยกรรมที่สร้างเสร็จสมบูรณ์เท่านั้นที่ถูกผู้คนกล่าวขานถึง แต่กับงานที่ยังสร้างไม่เสร็จ งานที่กำลังสร้างอยู่ ก็ถูกกล่าวขานถึงได้เหมือนกัน แถมงานบางงานนั้นถูกพูดถึงเสียจนโด่งดังทั้งๆที่ยังสร้างไม่เสร็จ ทั้งนี้ก็เนื่องจากผลงานเหล่านั้น ล้วนแต่งดงามวิจิตร ยิ่งใหญ่อลังการ และแฝงไปด้วยพลังแห่งศรัทธาเต็มเปี่ยม

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ยิ่งใหญ่คู่เมืองร้อยเอ็ด

หากใครผ่านไปแถวเขาเขียว ต.ผาน้ำย้อย อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด ก็จะเห็นบนยอดเขาที่มีม่านเมฆขาวลอยล่องตั้งตระหง่านไปด้วย เจดีย์สีขาวทอง นามว่า พระมหาเจดีย์ชัยมงคล แห่งวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม (หรือวัดผาน้ำย้อย)

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล นับเป็นพระเจดีย์ใหญ่อีกองค์หนึ่งในประเทศไทยที่เกิดขึ้นจากดำริของ หลวงปู่ศรี มหาวีโร หรือ พระเทพวิสุทธิมงคล เจ้าอาวาสวัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตจึงมีดำริจะสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ ในบริเวณพื้นที่เขาเขียวที่เป็นสถานที่ ที่สวยงาม มีป่าไม้นานาพันธุ์ รอบๆภูเขาเป็นหน้าผาสูงชัน นับเป็นสถานที่เงียบสงบและร่มเย็นเหมาะสำหรับการพักผ่อน ปฏิบัติธรรม

หลังจากนั้นทางศิษยานุศิษย์โดยการนำของ ชัช ธาระวนิช เจ้าของบริษัท สุโขทัยปิโตรเลียม จำกัด ซึ่งเคยบวชกับหลวงปู่ศรี และเกิดความเลื่อมใสในหลวงปู่ พร้อมด้วยคุณยายจินตนา ไชยกูล และวาสนา ธาระวนิช ก็ได้ระดมทุน แล้วทำการก่อสร้างวัดผาน้ำทิพย์ฯ ขึ้นในวันที่ 30 มกราคม 2531 ในบริเวณพื้นที่เขาเขียวโดยมีพระมหาเจดีย์ฯเป็นสิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัด

สำหรับพระมหาเจดีย์ฯ นั้นถือเป็นเจดีย์ที่งดงามด้วยศิลปะที่ผสมผสานกัน อย่างกลมกลืนระหว่าง ความยิ่งใหญ่ของพระปฐมเจดีย์ กับความโอฬารของพระธาตุพนม

ทั้งนี้ทางผู้ออกแบบได้ผสมผสานศิลปะระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ได้อย่างลงตัวในพื้นที่ 101 ไร่ มีความกว้าง 101 เมตร ความยาว 101 เมตร แทนสัญลักษณ์ของความเป็นจังหวัดร้อยเอ็ด ส่วนความสูงจากฐานถึงยอดเจดีย์ 109 เมตร นั้นแทนการสร้างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

ในส่วนของจุดประสงค์ของการก่อสร้างพระมหาเจดีย์ฯ ก็เพื่อให้เป็นถาวรวัตถุที่เป็นจุดศูนย์กลางของพุทธศาสนาในภาคอีสาน และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ซึ่งในระหว่างก่อสร้างพระมหาเจดีย์ฯ ก็ได้มีผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในหลวงปู่ รวมถึงศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศอยู่เป็นจำนวนมากก็ได้ทำการบริจาคเงินร่วมกันสร้างเป็นจำนวนมาก ทำให้พระมหาเจดีย์มีการขยายแบบและโครงสร้างจนเกิดเป็นความยิ่งใหญ่ตระการตาอย่างที่เห็นในทุกวันนี้

เมื่อพุทธศาสนิกชนหรือนักท่องเที่ยว เดินทางไปสักการบูชาก็จะพบความน่าตื่นตาตื่นใจตั้งแต่ซุ้มประตูทางเข้าที่สีเหลืองทองอร่าม ต่อจากนั้นก็เป็นทางเดินยาวมุ่งสู่พระมหาเจดีย์ ที่บริเวณรอบๆ ถูกจัดเป็นสวนหย่อมเล็กๆ ตรงกลางทางเดินเป็นสระน้ำพุ ซึ่งมีผู้นิยมเสี่ยงโยนเหรียญลงสระนี้จำนวนมาก โดยมีความเชื่อว่าถ้าโยนเหรียญลงที่ฐานของน้ำพุ สิ่งที่อธิษฐานไว้ก็จะสมปรารถนา

และหากเดินเข้าสู่ภายในของพระมหาเจดีย์ชัยมงคล ก้จะเห็นได้ว่าทุกๆพื้นที่ ทุกๆรายละเอียด ล้วนแต่ประดับตกแต่งอย่างสวยงามวิจิตรบรรจงด้วยลวดลายแบบไทยๆ โดยเน้นสีทองเป็นหลัก เสาแต่ละต้นประดับด้วยปูนปั้นรูปเทวดาที่สวยงามอ่อนช้อย ส่วนด้านบนเพดานก็ประดับด้วยกระจกหลากสีและมีโคมระย้าแพรวพราว

ส่วนลักษณะของพระมหาเจดีย์ฯนั้น เป็นเจดีย์สีขาวตกแต่งลวดลายตระการตาด้วยสีทองเหลืองอร่าม รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็กทั้ง 8 ทิศ วิหารคต ตัวองค์พระเจดีย์ แบ่ง 6 ชั้น คือ

ชั้นที่ 1 เป็นห้องโถงกว้างใหญ่โอ่อ่า ใช้เป็นห้องอเนกประสงค์ และประชุมบำเพ็ญบุญ

ชั้นที่ 2 เป็นที่ประชุมสงฆ์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ เวสสันดรชาดก ทศชาติชาดก และปริศนาธรรม

ชั้นที่ 3 เป็นพระอุโบสถสำหรับทำสังฆกรรมต่าง ๆ รอบฝาผนังประดิษฐานรูปเหมือนและประวัติย่อของปรมาจารย์(พระเถระ ลูกศิษย์สายของพระอาจารย์มั่น) จำนวน 101 องค์

ชั้นที่ 4 เป็นชั้นชมวิว ชมทัศนียภาพรอบบริเวณภูเขาเขียว

ชั้นที่ 5 เป็นชั้นพิพิธภัณฑ์ ที่เก็บรวบรวมอัฐบริขารของหลวงปู่ศรี และบางส่วนเป็นที่บรรจุอัฐิของพระเกจิอาจารย์เท่าที่พอจะหาได้ (แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รวบรวม)

ชั้นที่ 6 เป็นชั้นสูงสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้มาจากประเทศศรีลังกา

รายล้อมด้วยกำแพงที่มีความยาวประมาณ 4 กม. ซึ่งเป็นกำแพงที่มีความพิเศษคือเป็นทั้งห้องนอนสลับกับห้องน้ำ ส่วนด้านนอกมีโรงทาน 4 โรง มีสวนหย่อมและศาลาเพื่อเป็นที่พักผ่อนของพุทธศาสนิกชนและผู้มาเยือน

แม้ว่าพระมหาเจดีย์ฯจะดำเนินการสร้างมากว่า 16 ปี ใช้งบก่อสร้างไปกว่า 1 พันล้านบาท แต่ว่าพระมหาเจดีย์ฯก็ยังคงมีการก่อสร้างอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทางคณะผู้สร้างได้เปิดให้พุทธศาสนิกชนร่วมกันบริจาคสมทบทุนสร้างพระมหาเจดีย์ฯ โดยเงินบริจาคจะนำเข้ามูลนิธิพระมหาเจดีย์ชัยมงคล และนำดอกผลที่ได้มาใช้ในกิจการของวัดเพื่อเป็นพุทธบูชาจริงๆ ไม่มีเรื่องพุทธพาณิชย์มาเกี่ยวข้อง

ซึ่งทางคณะผู้ออกแบบวางโครงการไว้ว่าน่าจะสร้างพระมหาเจดีย์ฯให้เสร็จสมบูรณ์ในปี 2549 เพื่อให้ทันกับวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่ศรี แต่ถึงแม้ว่า ณ วันนี้พระมหาเจดีย์ฯ ยังคงก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์แต่ด้วยความตระการตาและความงดงามที่เกิดจากแรงศรัทธา ก็ส่งผลให้พระมหาเจดีย์ฯกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของจังหวัด พร้อมๆกับกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญไปเรียบร้อยโรงเรียนร้อยเอ็ดแล้ว

วัดร่องขุ่น กับพลังศรัทธาของชายชื่อเฉลิมชัย

จากอดีตวัดที่ทรุดโทรมไม่มีใครสนใจ แต่ว่าหลังจากที่ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินนามอุโฆษ ที่โดดเด่นทั้งด้านฝีมือเยี่ยมและฝีปากยอดได้มาสร้างอุโบสถของวัดนี้ขึ้นใหม่ ก็ทำให้วัดร่องขุ่นกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจระดับต้นๆของจังหวัดเชียงราย

เฉลิมชัย ได้เล่าว่า วัดร่องขุ่นนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความใฝ่ฝันที่ต้องการจะสร้างวัดสักแห่งก่อนที่ชีวิตจะหาไม่ เพื่อเป็นการคืนทุกอย่างให้แก่สังคมและโลก เนื่องจากว่าตนนั้นเป็นชาวพุทธแท้ เป็นจิตรกร โดยหลังจากที่กลับมาจากการวาดรูปจิตรกรรมฝาผนังเพื่อเป็นพุทธบูชา(ไม่คิดค่าจ้าง) ที่วัดพุทธปทีปในประเทศอังกฤษในปี 2531 ก็ได้เดินทางกลับบ้านเกิดที่จังหวัดเชียงราย และได้มาเห็นวัดร่องขุ่นอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก ตัวโบสถ์นั้นนอกจากใช้สังฆกรรมไม่ได้แล้วยังกลายเป็นที่อยู่ของค้างคาวฝูงใหญ่

เมื่อเฉลิมชัยเห็นก็เกิดความสะเทือนใจเป็นอันมาก เขาจึงคิดที่จะทำความฝันให้เป็นจริงด้วยการสร้างวัดร่องขุ่นขึ้นใหม่

แต่ตอนนั้นเฉลิมชัยยังไม่มีเงิน จึงได้ก้มลงกราบกับองค์พระประธานพรอมกับตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้ามีเงินขึ้นมาเมื่อไหร่จะกลับมาสร้างโบสถ์ และสร้างวัดนี้ใหม่ จนกระทั่งปลายปี 2540 เมื่อเขากลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีเงินทองพอที่จะทำตามที่อธิษฐานได้ เฉลิมชัยจึงได้ลงมือสร้างวัดร่องขุ่นอย่างจริงจัง เพื่อให้วัดนี้เป็นดังสัญลักษณ์ของคนที่ศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาและพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง คือต้องการทำถวายเพื่อเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้า

“ความตั้งใจของผมอีกอย่างหนึ่งในการสร้างวัดร่องขุ่นก็คือ ผมต้องการให้วัดนี้เป็นวัดที่แสดงถึงศิลปะในรัชกาลที่เก้า ซึ่งในหลวงท่านตรัสเสมอว่าวัดวาอารามต่างๆล้วนบ่งบอกถึงศิลปะประจำรัชกาลนั้นๆ ผมจึงได้สร้างวัดนี้ให้เป็นศิลปะประจำรัชกาลที่เก้า โดยให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร และตั้งใจว่าจะสร้างถวายในหลวงครบ 80 พรรษา ซึ่งวัดนี้ผมคิดว่าบางทีอาจจะเป็นงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของผม” เฉลิมชัยกล่าวพร้อมกับชี้มือชี้ไม้ตามสไตล์ถนัด

สำหรับแนวคิดในการสร้างวัดร่องขุ่นเฉลิมชัยบอกว่า ต้องการให้อุโบสถวัดร่องขุ่นเป็นดังแดนพุทธภูมิ ที่เปรียบเสมือนดินแดนสวรรค์ของพระพุทธเจ้า ดังนั้นการตกแต่งและสีภายนอกจึงใช้สีขาวที่สื่อถึงตัวแทนของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบริสุทธิคุณ นอกจากนี้ก็ยังมีการตกแต่งด้วยกระจกที่เป็นดังตัวแทนของพระปัญญาธิคุณ ซึ่งยามเมื่อสีขาวและกระจกต้องแสงแดดจะเกิดประกายเงินระยิบระยับ

และเมื่อจะเดินเข้าสู่ตัวโบสถ์ก็จะต้องเดินผ่านสะพาน ซึ่งเฉลิมชัยได้บอกว่าสะพานที่นำไปสู่โบสถ์นี้เปรียบดังการเชื่อมหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จากนั้นก็เป็นภายในอุโบสถ ที่ภายในจะเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีภาพพระองค์ใหญ่และมีพระอีกหนึ่งองค์สีขาวอยู่บนบัวขาว ส่วนองค์พระประธานจะมีขนาดครึ่งหนึ่งมีสีขาวบริสุทธิ์ ทางด้านเพดานและผนังจะเน้นที่สีเหลืองทอง ส่วนด้านนอกมีประตูห้าบาน ด้านเหนือประตูมีช่องสามเหลี่ยมอยู่ ซึ่งจะติดกระจกไว้เพื่อเวลาคนเดินข้ามสะพานมาก็จะมองเห็นองค์พระประธานทางช่องนั้น

ในส่วนของลวดลายต่างๆที่เฉลิมชัยตกแต่งตามหลังคา ซุ้มประตูหน้าต่าง ก็จะใช้เป็นงานปูนเสริมเหล็ก โดยแบบบางส่วน ลวดลายบางจุด เฉลิมชัยบอกว่า มันเกิดขึ้นมาจากนิมิตร ไม่มีแบบแปลนใดๆ แต่มันเกิดจากการเดินเข้าไปชี้สั่งช่างเอาดื้อๆเลยว่าตรงนี้ ต้องทำแบบนี้ ตรงนั้นควรทำแบบนั้น

ส่วนใครที่อยากรู้ว่าเฉลิมชัยวางงบประมาณในการก่อสร้างวัดร่องขุ่นเท่าไหร่ ก็อย่าได้ไปถามเลยเพราะเขาถือว่าวัดร่องขุ่นเป็นงานศิลปะที่เกิดขึ้นจากแรงศรัทธาเรื่องเงินจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ทุนรอนส่วนมากมาจากน้ำพักน้ำแรงของเฉลิมชัย แต่กระนั้นก็มีผู้ที่สนใจอยากจะบริจาคสบทบทุนสร้างวัดร่องขุ่น ซึ่งเขาก็ยินดี แต่มีข้อแม้ว่า จะรับบริจาคไม่เกิน 10,000 บาท และจะไม่มีการนำชื่อผู้บริจาคมาติดไว้ภายในวัดเพื่อแสดงให้สาธารณะชนรู้ว่าตนเองบริจาคเงินช่วยสร้างวัดเท่าไหร่ เหมือนวัดหลายๆที่

ส่วนถ้าจะถามว่าแล้วเมื่อไหร่วัดร่องขุ่นจะเสร็จ เฉลิมชัยได้บอกว่า น่าจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ประมาณปี 2550 ซึ่งหลังจากนั้นเฉลิมชัยก็ได้มีโครงการที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างอื่นๆต่อในบริเวณใกล้เคียง แต่ว่าหากตัวเองชีวิตดับดิ้นไปก่อนก็ได้วางตัวผู้ที่จะมาสืบสานงานต่อไว้แล้ว ยังไงก็ต้องตามดูกันต่อไปว่างานพุทธศิลป์ที่เกิดจากพลังแห่งศรัทธาของชายชื่อ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ นั้นเมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วจะงดงามวิจิตรขนาดไหน เพราะนี่ขนาดวัดร่องขุ่นยังสร้างไม่เสร็จก็มีคนโจษจันไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำแล้ว

ปราสาทสัจธรรม ศรัทธาผสานปรัชญาและศิลปะ

ท่ามกลางอารยธรรมที่ผุกร่อน ของโลกทุนนิยมตะวันตกที่ถาโถมเข้ามาในเมืองพัทยา ณ บริเวณแหลมราชเวช ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ได้มีงานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร นามว่า “ปราสาทสัจธรรม” ตั้งตระหง่านขึ้นแทรกตัวอยู่ท่ามกลางอาคารสมัยใหม่ของโลกทุนนิยม

ปราสาทสัจธรรมถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2524 โดยเล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้สร้างเมืองโบราณ และพิพิธภัณฑ์ช้างสามเศียรที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเล็กสร้างปราสาทหลังนี้ขึ้นจากศรัทธาที่มีต่อ ศาสนา ปรัชญา ในโลกตะวันออก ด้วยมุ่งหวังที่จะสร้างผลงาชิ้นนี้ให้กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย และต้องการให้มนุษย์ตระหนักในสัจธรรมแห่งชีวิต

นอกจากนี้เล็กก็ยังหวังว่าหากปราสาทหลังนี้สร้างเสร็จ จะเป็นดังสถานที่สำหรับให้บุคคลที่เป็นปราชญ์และปรัชญาเมธีจากที่ต่างๆทั่วโลกได้ปรากฏตัว พร้อมๆกับพูดในสิ่งที่เป็นคุณธรรมและปรัชญาให้คนทั้งหลายฟัง ส่วนในยามปรกติปราสาทหลังนี้ก็จะเป็นสถานที่ศึกษาศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งในเมืองไทย

ทั้งนี้เล็กได้สะท้อนแนวคิดและพลังแห่งศรัทธาของตนออกมาเป็นงานไม้ งานแกะสลัก ด้วยภูมิปัญญาช่างไทย คือไม่ใช้ตะปู แต่จะใช้การเข้าเดือย ตอกลิ่ม ตอกสลักแทน

ผ่านการบอกเล่าเรืองราวของศาสนาปรัชญา และวัฒนธรรมของชาวตะวันออก ซึ่งเล็กได้ใช้กุศโลบายถ่ายทอดเรื่องราวของเทพเจ้า เรื่องราวของพระโพธิสัตว์ และบุคคลสำคัญในแต่ละศาสนา เพื่อสื่อให้ผู้ที่เข้าไปพบเห็นเร่งสร้างความดี ละเว้นจากความชั่วต่างๆ โดยใช้ศิลปะตะวันออก ทั้ง ไทย จีน อินเดีย ขอม เนปาล อินโดนีเซีย ผสมผสานกันออกมาเป็นงานที่ลงตัว

สำหรับรูปธรรมที่สัมผัสได้ของปราสาทสัจธรรมก็คือ งานศิลปะสถาปัตยกรรมไม้ทรงจตุรมุขที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งภายนอกและภายในมีความน่าตื่นตาตื่นใจกับประติมากรรมไม้แกะสลัก เป็นรูปเทวดา เทพเจ้าต่างๆ ในหลายชนชาติที่สวยงามทั้งสัดส่วนและรายละเอียด โดยมีบุษบกไม้แกะสลักสูงสง่างาม ไม่มีเทวรูปใดๆ ในช่องประตูทั้ง 4 ด้าน ตั้งอยู่ตรงห้องโถงกลางของปราสาท อันสื่อถึงสัญลักษณ์ของการหลุดพ้น

ซึ่งก็ไปสอดคล้องแนวคิดทางนามธรรมที่เล็กต้องการสะท้อนให้เห็นถึงการหลุดพ้น รวมถึงเห็นถึงความสำคัญของศาสนาและปรัชญาที่เป็นสิ่งค้ำจุนโลก โดยปราสาทสัจธรรมเริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ตัวปราสาทสูง 105 เมตร มีเนื้อที่ภายใน 2,115 ตารางเมตร กว้างด้านละ 100 เมตร ใช้เงินลงทุนสร้างไปแล้วกว่าพันล้านบาท

สำหรับปัจจุบันปราสาทสัจธรรมสร้างลุล่วงไปแล้วประมาณ 60 % ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 15 ปี จะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งก็มีคนว่ากันว่าปราสาทหลังนี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกก็ได้ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า เล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้ริเริ่ม ออกแบบ และผู้ให้กำเนิดปราสาทแห่งนี้ได้ลาจากโลกไปเสียก่อน

แต่กระนั้นผลพวงจากความศรัทธา ความตั้งใจจริงของเล็ก วิริยะพันธุ์ ก็ส่งให้ปราสาทสัจธรรมเป็นที่กล่าวขานถึงของคนทั่วไปในวงกว้าง ดังไปถึงต่างประเทศ นอกจากนี้ปราสาทสัจธรรมยังได้รับคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ให้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ ซึ่งในแต่ละวันก็มีคนเดินทางมาชมความงาม ความยิ่งใหญ่ของปราสาทสัจธรรมกันไม่ได้ขาด แม้ว่าปราสาทหลังนี้จะยังสร้างไม่เสร็จก็ตาม

งานแห่งศรัทธา นับวันยิ่งมายิ่งน้อย

จากสถาปัตยกรรมที่เกิดจากพลังแห่งศรัทธาในเมืองไทยทั้ง 3 แห่ง คือ พระมหาเจดีย์ชัยมงคล วัดร่องขุ่น ปราสาทสัจธรรม สะท้อนให้เห็นว่างานที่เกิดจากพลังแห่งศรัทธานั้นสามารถดลบันดาลให้เกิดพลังในการสร้างสรรค์มาอย่างยิ่งใหญ่ แต่ก็น่าเสียดายว่าในยุคโลกาภิวัตน์ที่หลายๆคนนับเงินเป็นดังพระเจ้า ผลงานแห่งศรัทธานับวันก็ยิ่งมีให้เห็นน้อยลงทุกที

**************
อยู่ที่ไหน ไปอย่างไร

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ตั้งอยู่บนเขา บริเวณวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม ตำบลโคกสว่าง อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ระหว่างเวลา 06.00-17.30 น. สามารถเดินทาง ไปตามเส้นทางสายร้อยเอ็ด-อำเภอโพนทอง-อำเภอหนองพอก ระยะทาง 62 กิโลเมตร จากตัวเมืองร้อยเอ็ด ตามทางหลวงหมายเลข 2044 และ 2136 ส่วนผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 3 โทร. 0-4324-4498-9

วัดร่องขุ่น ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.เชียงราย เปิดให้เข้าชมทุกวัน สามารถไปจากตัวเทศบาลเมืองเชียงรายหรืออนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย ไปตามถนนที่จะไปพะเยา ประมาณ 13 กม. ก็จะเจอสามแยกทางเข้าน้ำตกขุนกรณ์ ให้เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 100 เมตร ส่วนถ้ามาจากทางเชียงใหม่ พอเจอปากทางแม่สรวยให้เลี้ยวซ้ายประมาณ 10 กม. ก็จะเจอทางเข้าวัดที่สามแยกเข้าน้ำตกขุนกรณ์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. ภาคเหนือ เขต 2 โทร. 0-5371-7433, 0-5374-4674-5

ปราสาทสัจธรรม เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 8.00 น. ถึง 17.00 น. การเดินทางจากพัทยาสามารถใช้ถนนสุขุมวิทเดินทางผ่านพัทยาเหนือ สู่ตำบลนาเกลือแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าเขตนาเกลือ เลี้ยวขวาที่ซอยนาเกลือ 12 จนถึงปราสาทไม้สัจธรรมที่ตั้งอยู่ริมทะเล สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท เมืองโบราณ จำกัด โทร. 0-3836-7229-30, 0-3836-7815
กำลังโหลดความคิดเห็น