เอพี - ผู้นำรัฐบาลทหารของพม่าได้ปรากฎตัวในงานพิธีรำลึกถึงพลเอกอองซาน วีรบุรุษแห่งอิสรภาพและบิดาของอองซานซูจี อดีตผู้นำพม่าที่ถูกจำคุกในวันเสาร์ที่ผ่านมา
นับเป็นครั้งแรกที่พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลารำลึกเนื่องในวันวีรชนนับตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลของซูจี และยึดอำนาจในเดือนก.พ. 2564 การปรากฎตัวของผู้นำรัฐบาลทหารครั้งนี้เกิดขึ้นขณะที่รัฐบาลกำลังเตรียมจัดการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็กำลังต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธต่อต้านการปกครองของทหารทั่วประเทศ
วันวีรชนเป็นวันสำคัญในปฏิทินของพม่ามานานหลายทศวรรษ แต่กองทัพได้ลดความสำคัญของวันหยุดนี้ลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พิธีนี้จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การลอบสังหารนายพลอองซาน อดีตนายรัฐมนตรีที่ถูกยิงเสียชีวิตขณะอายุ 32 ปี พร้อมด้วยสมาชิกคณะรัฐมนตรีอีก 6 คน และเจ้าหน้าที่อีก 2 คน ในปี 2490 เพียงไม่กี่เดือนก่อนที่พม่าจะได้รับอิสรภาพจากการปกครองของอังกฤษ
อู ซอ คู่แข่งทางการเมือง ถูกพิจารณาคดีและแขวนคอจากข้อหาวางแผนโจมตี
ซูจีที่ถูกควบคุมตัวหลังจากกองทัพยึดอำนาจในปี 2564 ไม่ได้เข้าร่วมพิธีเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน ปัจจุบันเธอกำลังรับโทษจำคุก 27 ปี ในหลายข้อหา ที่หลายคนมองว่าเป็นข้อกล่าวหาที่กุขึ้นเพื่อขัดขวางไม่ให้เธอทำกิจกรรมทางการเมือง และเธอไม่ได้ปรากฎตัวต่อสาธารณชนเลยนับตั้งแต่ถูกจับกุม
เย อ่อง ทัน ลูกชายของพี่ชายที่ห่างเหินของซูจี ได้ร่วมวางพวงมาลาหน้าหลุมศพของปู่ในพิธีหลักที่จัดขึ้นยังสุสานวีรชน ที่อยู่ไม่ไกลจากเจดีย์ชเวดากอง
ธงชาติพม่าถูกชักขึ้นเพียงครึ่งเสา สมาชิกสภาบริหารแห่งรัฐ คณะรัฐมนตรี รวมทั้งนายพลระดับสูง พร้อมกับพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้วางตะกร้าดอกไม้หน้าหลุมศพของวีรชนทั้ง 9
ด้านประชาชนในนครย่างกุ้งได้แสดงความเคารพต่อผู้นำเอกราชด้วยการบีบแตรรถในช่วงเวลาประมาณ 10.37 น. ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่เกิดเหตุโจมตีในปี 2490
ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยยังได้จัดการชุมนุมกระจายตัวตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ
พิธีรำลึกวันวีรชนนี้เกิดขึ้น 5 เดือนก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งกองทัพได้ให้คำมั่นว่าจะจัดขึ้นในสิ้นปีนี้
การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นความพยายามที่จะทำให้การยึดอำนาจของกองทัพมีความชอบธรรมผ่านการเลือกตั้ง และคาดว่าจะให้ผลการเลือกตั้งที่รับประกันว่าบรรดานายพลจะยังคงคุมอำนาจต่อไป
การยึดอำนาจของทหารในปี 2564 เผชิญกับการประท้วงอย่างสันติอย่างกว้างขวาง แต่หลังจากการชุมนุมอย่างสันติถูกปราบปรามด้วยกำลังรุนแรงถึงชีวิต ฝ่ายตรงข้ามการปกครองของทหารจำนวนมากก็จับอาวุธ และขณะนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศกำลังพัวพันกับความขัดแย้ง
นับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจ มีผู้เสียชีวิต 6,974 คน ซึ่งรวมถึงนักกวี นักเคลื่อนไหว นักการเมือง และบุคคลต่างๆ และมีผู้ถูกจับกุมตัวโดยกองกำลังรักษาความปลอดภัยอีกราว 29,405 คน ตามการระบุของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง องค์กรอิสระที่รวบรวมข้อมูลการจับกุมและผู้เสียชีวิตที่เชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศ แต่รัฐบาลทหารกล่าวว่าตัวเลขดังกล่าวนั้นเกินจริง
กองทัพที่ในขณะนี้ประเมินว่าควบคุมพื้นที่ได้ไม่ถึงครึ่งของประเทศ กำลังเร่งดำเนินการโจมตีตอบโต้เพื่อยึดคืนพื้นที่ที่ฝ่ายตรงข้ามควบคุมไว้ก่อนการเลือกตั้ง.