xs
xsm
sm
md
lg

กัมพูชาจับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้กว่า 1,000 คน ใน 5 พื้นที่ เด้งรับคำสั่งนายกฯ ปราบอาชญากรรมไซเบอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - กัมพูชาระบุว่าคำสั่งของนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ที่ให้หน่วยงานรัฐปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ที่ดำเนินการอยู่ในประเทศ ส่งผลให้มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยมากกว่า 1,000 คนในสัปดาห์นี้

ฮุน มาเนต ได้ออกคำสั่งให้รัฐดำเนินการปราบปรามเพื่อ “รักษาและปกป้องความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และความปลอดภัยทางสังคม”

“รัฐบาลสังเกตเห็นว่าการหลอกลวงทางออนไลน์กำลังก่อให้เกิดภัยคุกคามและความไม่มั่นคงในโลกและภูมิภาค ส่วนในกัมพูชา กลุ่มอาชญากรต่างชาติได้แทรกซึมเข้ามาเพื่อดำเนินการหลอกลวงทางออนไลน์เช่นกัน” คำแถลงของฮุน มาเนต ระบุ

สหประชาชาติและหน่วยงานอื่นๆ ได้ประเมินว่าการหลอกลวงทางไซเบอร์ ที่ส่วนใหญ่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างรายได้ให้กับแก๊งอาชญากรระหว่างประเทศหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี

คำแถลงของเนธ เพียกตรา รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศและตำรวจระบุว่า เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้มากกว่า 1,000 คนในปฏิบัติการบุกจับอย่างน้อย 5 จังหวัด ระหว่างวันจันทร์ถึงวันพุธ (14-16)

ผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวประกอบด้วยชาวเวียดนามมากกว่า 200 คน ชาวจีน 27 คน และผู้ต้องสงสัยจากไต้หวัน 75 คน และชาวกัมพูชา 85 คน ในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา และที่เมืองสีหนุวิลล์ ทางตอนใต้ ตำรวจยังยึดอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือหลายร้อยเครื่อง

รัฐมนตรีระบุว่า ชาวอินโดนีเซียอย่างน้อย 270 คน รวมถึงผู้หญิง 45 คน ถูกจับกุมในวันพุธที่เมืองปอยเปต ติดชายแดนไทยซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการหลอกลวงทางไซเบอร์และการพนัน ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ตำรวจในจ.กระแจะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ จับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 312 คน ที่ประกอบด้วยพลเมืองไทย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย พม่า และเวียดนาม ขณะที่ผู้ต้องสงสัย 27 คน จากเวียดนาม จีน และพม่า ถูกจับกุมในจ.โพธิสัตว์ ทางตะวันตกของประเทศ

องค์การนิรโทษกรรมสากลได้เผยแพร่ข้อค้นพบเดือนที่ผ่านมาจากการสืบสวนอาชญากรรมไซเบอร์ในกัมพูชานาน 18 เดือน ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า ผลการสืบสวนได้ชี้ให้เห็นถึงการสมรู้ร่วมคิดของรัฐในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยแก๊งอาชญากรชาวจีน

“รัฐบาลกัมพูชาจงใจเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย ที่รวมถึงการใช้แรงงานทาส การค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก และการทรมาน ที่กระทำโดยแก๊งอาชญากรในศูนย์หลอกลวงมากกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ” รายงานระบุ

การค้ามนุษย์มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับปฏิบัติการหลอกลวงทางไซเบอร์ เนื่องจากแรงงานมักถูกจ้างภายใต้การหลอกลวงและถูกกักขัง

“ผู้ที่รอดจากศูนย์หลอกลวงเหล่านี้ ถูกค้ามนุษย์และตกเป็นทาส พวกเขาเล่าถึงการติดอยู่ในฝันร้ายทั้งที่ยังมีชีวิต ถูกเกณฑ์เข้าทำงานในองค์กรอาชญากรรมที่ดำเนินการโดยได้รับความยินยอมอย่างชัดเจนจากรัฐบาลกัมพูชา” เลขาธิการองค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุ

การปราบปรามครั้งล่าสุดของกัมพูชาเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งกับไทย ประเทศเพื่อนบ้าน ที่เริ่มต้นจากการปะทะด้วยอาวุธในช่วงปลายเดือนพ.ค. จากข้อพิพาทชายแดนที่ทั้งสองประเทศอ้างสิทธิ และนำไปสู่การปิดพรมแดน และการโต้คารมกันแทบทุกวัน อดีตผู้นำที่เป็นมิตรของทั้งสองประเทศเริ่มห่างเหินกัน และเกิดการถกเถียงอย่างดุเดือดว่ามรดกทางวัฒนธรรมของชาติใดมีอิทธิพลต่ออีกฝ่าย

มาตรการที่ฝ่ายไทยเริ่มขึ้นรวมถึงการปิดจุดผ่านแดนได้เพิ่มความตึงเครียดมากขึ้นเป็นพิเศษ โดยกัมพูชาอ้างว่าเป็นการกระทำที่หยาบคายเพื่อตอบโต้การอ้างสิทธิเหนือดินแดน แต่ฝ่ายไทยระบุว่าเจตนาเดิมคือการปราบปรามปฏิบัติการหลอกลวงทางไซเบอรร์ที่เกิดขึ้นมานานในปอยเปต.


กำลังโหลดความคิดเห็น