เอเอฟพี - สหประชาชาติระบุว่าในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา บังกลาเทศได้บันทึกจำนวนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศได้มากที่สุดนับตั้งแต่การอพยพครั้งใหญ่ของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในพม่าเมื่อเกือบทศวรรษที่แล้ว
หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติระบุว่ามีชาวโรฮิงญามากถึง 150,000 คน เดินทางมายังค่ายผู้ลี้ภัยค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศ นับตั้งแต่ต้นปี 2567
“การตกเป็นเป้าของความรุนแรงและการถูกกดขี่ข่มเหงในรัฐยะไข่ และความขัดแย้งที่ยังคงดำเนินอยู่ในพม่าส่งผลให้ชาวโรฮิงญาหลายพันคนต้องแสวงหาที่พักพิงในบังกลาเทศ” โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุ
“การอพยพของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเข้าไปยังบังกลาเทศ ที่กินเวลานานหลายเดือน ถือเป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดจากพม่าตั้งแต่ปี 2560 ที่มีชาวโรฮิงญาราว 750,000 คน หลบหนีความรุนแรงนองเลือดในรัฐยะไข่ที่เป็นบ้านเกิดของพวกเขา” โฆษก UNHCR กล่าว
นอกจากนี้ เขายังยกย่องบังกลาเทศที่เอื้อเฟื้อให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยโรฮิงญามาหลายชั่วอายุคน
แม้กระทั่งก่อนการอพยพครั้งล่าสุด ชาวโรฮิงญาราว 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในค่ายบรรเทาทุกข์ที่ทรุดโทรมในบังกลาเทศ ซึ่งส่วนใหญ่หลบหนีการปราบปรามของทหารในพม่าเมื่อปี 2560
ค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ซึ่งแออัดอยู่ในพื้นที่เพียง 24 ตารางกิโลเมตร จึงได้กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก โฆษก UNHCR ระบุ.