xs
xsm
sm
md
lg

ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เขมรแดงตื่นเต้นยินดีกับสถานะใหม่จากยูเนสโก ชี้เป็นเครื่องเตือนใจให้คนรุ่นหลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กินเวลานานถึง 4 ปี ในกัมพูชาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าพวกเขารู้สึกตื่นเต้นที่สถานที่ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในชีวิตของพวกเขาได้รับการรับรองจากยูเนสโก

สถานที่ทรมานและประหารชีวิตสุดอื้อฉาว 3 แห่งในกัมพูชาที่ถูกใช้งานโดยระบอบเขมรแดงในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อ 50 ปีก่อน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกเมื่อวันศุกร์ (11)

หนึ่งในสถานที่เหล่านั้นคือ พิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวลสเลง (Tuol Sleng) ในเมืองหลวง ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนมัธยมปลายที่ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นเรือนจำที่รู้จักในชื่อ S-21 ที่มีผู้ถูกคุมขังและมรทานราว 15,000 คน

“ผมรู้สึกตื่นเต้นมาก” ชุม เม็ย หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเรือนจำ S-21 ที่กำลังขายบันทึกความทรงจำของเขาอยู่ในบริเวณเรือนจำ ที่เขาเล่าว่าเขาถูกทุบตี ถูกช็อตไฟฟ้า และอดอาหาร

“การขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโกทำให้ผมนึกถึงการทรมานที่เกิดขึ้นกับผม” ชุม เม็ย กล่าว

ส่วนสถานที่อีก 2 แห่งคือ ศูนย์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เจืองเอก ที่อยู่ในกรุงพนมเปญเช่นกัน และอีกสถานที่หนึ่งที่รู้จักในชื่อ M-13 ในพื้นที่ชนบทในจ.กำปงชนัง

“ผมรู้สึกมีความสุขและตื่นเต้นที่ยูเนสโกรับรองพิพิธภัณฑ์ตวลสเลง เจืองเอก และ M-13 นี่คือสิ่งสำหรับคนรุ่นต่อไป” ชุม เม็ย กล่าว

ประชาชนราว 2 ล้านคนเสียชีวิตจากความอดอยาก การบังคับใช้แรงงาน การทรมาน หรือถูกสังหารในการสังหารหมู่ระหว่างปี 2518-2522

เมื่อวันเสาร์ (12) นักศึกษาและนักท่องเที่ยวได้เดินชมภาพถ่ายขาวดำของเหยื่อจำนวนมากในตวลสเลง และอุปกรณ์ของผู้คุมเรือนจำที่เก็บรักษา






ควน โสวัน สูญเสียญาติพี่น้องไปมากกว่า 10 คน จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เธอและพี่สาวได้สวดอธิษฐานถึงพี่เขยผู้ล่วงลับพร้อมนำอาหารและน้ำมาวางหน้าป้ายจารึกชื่อเหยื่อ เธอกล่าวว่าการขึ้นทะเบียนของยูเนสโกนั้นเป็นเรื่องดี และจะช่วยอนุรักษ์สถานที่เหล่านี้ไว้

“ฉันรู้สึกยินดีที่สิ่งที่เราชาวกัมพูชาต้องเผชิญได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก” หญิงวัย 82 ปี กล่าว

กระทรวงวัฒนธรรมกัมพูชาออกคำแถลงเมื่อวันศุกร์ระบุว่าการขึ้นทะเบียนดังกล่าวเป็นการยอมรับถึงความพยายามของกัมพูชาในการเปลี่ยนดินแดนที่เคยถูกทำลายล้างด้วยสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ให้กลายเป็นสถานที่แห่งสันติภาพและศักดิ์ศรี

นอง จันพาล อายุ 55 ปี ที่รอดชีวิตจาก S-21 ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก กลับมายังสถานที่แห่งนี้ทุกวันเพื่อขายบันทึกความทรงจำของเขาและรู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับแม่ของเขาที่เสียชีวิตที่นั่น

เขากล่าวว่าเขาดีใจและตื่นเต้นที่ตวลสเลง สถานที่แห่งความทรงจำอันขมขื่นที่ผู้คนมากมายต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างได้รับการยอมรับจากยูเนสโก และเขาหวังว่าการได้รับการยอมรับนี้ จะช่วยให้ตวลสเลงคงอยู่ตลอดไป และเป็นเครื่องเตือนใจเพื่อป้องกันไม่ให้ระบอบการปกครองเช่นนี้เกิดขึ้นในกัมพูชาอีก

เขากล่าวว่าสถานที่แห่งนี้เป็นบทเรียนชีวิตของผู้คนทั่วโลกเพื่อเข้าใจถึงระบอบการปกครองนี้อย่างชัดเจน พร้อมเสริมว่าการได้รับการรับรองจากยูเนสโกได้คืนความยุติธรรมบางส่วนให้แก่ดวงวิญญาณของแม่ของเขา และเหยื่อรายอื่นๆ ที่ตวลสเลง.














กำลังโหลดความคิดเห็น