เอเอฟพี - สถานที่ทรมานและประหารชีวิตสุดอื้อฉาว 3 แห่งของกัมพูชา ที่เขมรแดงใช้กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อ 50 ปีก่อน ได้รับการขึ้นทะเบียนในรายชื่อมรดกโลกของยูเนสโกเมื่อวันศุกร์ (11)
กลุ่มลัทธิเหมาหัวรุนแรงนำโดยพลพต ได้กำหนดปฏิทินขึ้นใหม่เริ่มต้น ‘ปีศูนย์’ ในวันที่ 17 เม.ย. 2518 กวาดต้อนผู้คนออกจากเมืองเพื่อสร้างรัฐเกษตรกรรมบริสุทธิ์ที่ไร้ชนชั้น การเมือง หรือทุน ประชาชนราว 2 ล้านคนเสียชีวิตจากความอดอยาก บังคับใช้แรงงาน การทรมาน หรือถูกสังหารหมู่ระหว่างปี 2518-2522
สถานที่ในกัมพูชาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประกอบด้วยเรือนจำ 2 แห่ง และทุ่งสังหาร ที่ใช้ประหารชีวิตผู้คนหลายพันคน
“นี่คือภูมิทัศน์แห่งความทรงจำร่วมกันของเราในกัมพูชา” ยุก ชาง ผู้รอดชีวิตจากทุ่งสังหารและผู้อำนวยการศูนย์เอกสารแห่งกัมพูชา ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับความโหดร้ายของเขมรแดง กล่าว
“สิ่งนี้จะช่วยให้การสอนประวัติศาสตร์เขมรแดงมีประสิทธิภาพและตรงประเด็นมากขึ้น” ยุก ชาง กล่าว
สถานที่ 2 แห่งที่ถูกเพิ่มเข้าในรายชื่อนี้ตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวลสเลง และศูนย์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เจืองเอก
ตวลสเลงเคยเป็นโรงเรียนมัธยมปลายที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นเรือนจำที่รู้จักในชื่อ S-21 ที่มีผู้ถูกคุมขังและถูกทรมานราว 15,000 คน
ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สำหรับการรำลึกและให้ความรู้ โดยจัดแสดงภาพถ่ายขาวดำของเหยื่อจำนวนมากและอุปกรณ์ที่ใช้งานโดยผู้ทรมานเขมรแดงเก็บรักษาไว้
เจืองเอก อดีตสุสานชาวจีน ถูกใช้เป็นทุ่งสังหารอื้อฉาวที่ผู้ถูกคุมขังจากเรือนจำ S-21 ถูกประหารชีวิต
ศพกว่า 6,000 ศพถูกขุดขึ้นมาจากหลุมศพหมู่กว่า 100 หลุมในช่วงต้นทศวรรษ 1980 เอกสารของรัฐบาลกัมพูชาที่ยื่นต่อยูเนสโกระบุ
ทุกปีผู้คนหลายร้อยชีวิตจะร่วมกันสวดมนต์รำลึกหน้าอนุสรณ์สถานซึ่งจัดแสดงกะโหลกศีรษะของเหยื่อ และชมการแสดงของนักศึกษาที่จำลองฉากอาชญากรรมนองเลือดของเขมรแดง
เรือนจำอีกแห่งหนึ่งที่รู้จักในชื่อ M-13 ตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทในจ.กำปงชนัง ทางภาคกลาง เป็นหนึ่งในเรือนจำสำคัญที่สุดในยุคเขมรแดงช่วงแรก แต่ปัจจุบันเป็นเพียงพื้นที่รกร้าง
เจ้าหน้าที่เขมรแดงคิดค้นและทดสอบวิธีการสอบสวน การทรมาน และการสังหารหลากหลายรูปแบบที่นั่น และให้นักโทษอยู่ในหลุมที่ยังคงมองเห็นหลุมได้รางๆ ในปัจจุบัน เอกสารของกัมพูชาที่ยื่นต่อยูเนสโกระบุ
ศาลพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติได้ตัดสินจำคุกบุคคลสำคัญของเขมรแดง 3 คน รวมถึง กาง กึ๊ก เอียว หัวหน้าผู้คุมเรือนจำ S-21 ก่อนที่ศาลจะหยุดปฏิบัติการในปี 2565
พลพต หรือที่รู้จักในชื่อพี่ชายหมายเลขหนึ่งเสียชีวิตในปี 2541 ก่อนที่จะถูกนำตัวขึ้นศาล.