xs
xsm
sm
md
lg

กัมพูชาโหวตแก้รัฐธรรมนูญ ปูทางถอนสัญชาติพลเมืองสมรู้ร่วมคิดต่างชาติต่อต้านรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - สมาชิกรัฐสภากัมพูชาได้ปรับแก้รัฐธรรมนูญในวันนี้ (11) ที่ปูทางให้ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาว่าสมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติถูกเพิกถอนสัญชาติได้ ท่ามกลางความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวอาจถูกใช้ปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหารัฐบาลกัมพูชามานานแล้วว่าใช้กฎหมายที่เข้มงวดปราบปรามฝ่ายค้านและผู้เห็นต่างทางการเมือง

สมาชิกรัฐสภาทั้ง 125 คน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้แก้ไขถ้อยคำในรัฐธรรมนูญโดยระบุว่า “การได้รับ การสูญเสีย และการเพิกถอนสัญชาติเขมรจะเป็นไปตามกฎหมาย” ผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีระบุ

ก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญระบุว่า “พลเมืองเขมรจะไม่ถูกเพิกถอนสัญชาติ ถูกเนรเทศ หรือถูกส่งตัวข้ามแดนไปยังประเทศอื่น ยกเว้นแต่จะตกลงร่วมกัน”

เกิต ริธ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การปรับแก้นี้จะปูทางให้ทางการสามารถออกกฎหมายที่อนุญาตให้รัฐบาลเพิกถอนสัญชาติจากผู้ที่สมรู้ร่วมคิดกับมหาอำนาจต่างชาติที่ต่อต้านรัฐ

“หากคุณทรยศประเทศชาติ ประเทศชาติก็จะไม่เก็บคุณไว้” เกิต ริธ กล่าว พร้อมเสริมว่ากฎหมายเพิกถอนสัญชาติฉบับใหม่จะยื่นต่อรัฐสภาเพื่ออนุมัติในเร็วๆ นี้

แต่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะถูกนำไปใช้โจมตีผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและบุคคลฝ่ายค้าน

องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุในคำแถลงว่าการเพิกถอนสัญชาติจะเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง

“เรากังวลเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลกัมพูชาที่ได้อำนาจในการเพิกถอนสัญชาติของประชาชน จะใช้สิ่งนี้โดยมิชอบในการปราบปรามผู้วิจารณ์และทำให้พวกเขาไร้สัญชาติ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคขององค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุ

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ฮุนเซน อดีตผู้นำกัมพูชาที่ยังคงมีอิทธิพลและเป็นบิดาของนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ชาวกัมพูชาที่เข้าข้างต่างชาติที่ทำร้ายประเทศถูกเพิกถอนสัญชาติ

เขาแสดงความเห็นเรียกร้องดังกล่าวหลังจากบุคคลที่เป็นฝ่ายค้านซึ่งลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลท่ามกลางข้อพิพาทชายแดนกับไทยที่ยังดำเนินอยู่

“หากพวกเขา (ผู้วิจารณ์รัฐบาล) ไม่ได้ก่อกบฎหรือกระทำการใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของชาติ พวกเขาจะไม่ถูกเพิกถอนสัญชาติ แต่พวกเขาอาจเผชิญกับข้อหาอื่น” เกิต ริธ กล่าวเสริม

นักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านจำนวนมากถูกจำคุกหรือเผชิญกับคดีความทางกฎหมายที่ฟ้องร้องโดยเจ้าหน้าที่กัมพูชา

แกม สุขา ผู้นำฝ่ายค้าน ถูกตัดสินจำคุก 27 ปี ในปี 2566 จากข้อหากบฎ ข้อหาที่เขาปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า และถูกกักบริเวณในบ้านพักทันที.
กำลังโหลดความคิดเห็น