xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนเห็นพ้องเลือกตั้งพม่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เรียกร้องยุติความรุนแรงมุ่งสร้างสันติภาพเป็นลำดับแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โมฮัมหมัด ฮาซัน รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย ขณะกล่าวกับผู้สื่อข่าวนอกรอบการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน.
รอยเตอร์ - รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียระบุวันนี้ (11) ว่าอาเซียนได้เห็นพ้องกันว่าการเลือกตั้งในพม่าไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของประเทศยึดมั่นในความมุ่งมั่นที่จะรักษาสันติภาพเป็นอย่างแรก

พม่าที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของอาเซียน กำลังเผชิญกับภาวะสงครามกลางเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้น และนักวิจารณ์ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าการเลือกตั้งที่รัฐบาลทหารวางแผนไว้ว่าจะจัดขึ้นในปีนี้นั้นเป็นความพยายามที่จะยืดเวลาการปกครองของทหารผ่านตัวแทนโดยไม่มีฝ่ายค้านทางการเมืองอย่างแท้จริง

โมฮัมหมัด ฮาซัน รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียกล่าวว่าสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มาเลเซียเป็นประธานกลุ่มในปีนี้ ต้องการให้พม่าปฏิบัติตามแผนสันติภาพ ‘ฉันทมติ 5 ข้อ” ที่รัฐบาลทหารได้ตกลงไว้ในปี 2564 ไม่กี่เดือนหลังรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี

แผนสันติภาพส่วนใหญ่ล้มเหลว เนื่องจากรัฐบาลทหารไม่เต็มใจที่จะมีส่วนร่วมในการเจรจากับฝ่ายตรงข้ามด้วยมองว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ส่วนพรรคการเมืองฝ่ายค้านถูกทำลาย และพรรคการเมืองที่เหลืออยู่ถูกห้ามหรือไม่เต็มใจที่เข้าร่วมลงสมัครรับเลือกตั้ง

“การเลือกตั้งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของฉันทมติ 5 ข้อ เราได้แนะนำพม่าว่าการเลือกตั้งยังไม่ใช่เรื่องสำคัญในเวลานี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการยุติความรุนแรงทั้งหมด เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถร่วมโต๊ะกันได้” โมฮัมหมัดกล่าวกับผู้สื่อข่าวนอกรอบการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

อาเซียนได้ห้ามนายพลของพม่าเข้าร่วมการประชุมสำคัญๆ ตั้งแต่ปี 2565 จากความล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามแผนสันติภาพของกลุ่ม โดยตัวแทนของพม่าที่เข้าร่วมการประชุมเป็นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ

โมฮัมหมัดกล่าวว่ากลุ่มจะไม่ยอมรับการเลือกตั้งในพม่าที่ทุกฝ่ายไม่ได้มีส่วนร่วม

“การเลือกตั้งเพียงบางส่วนนั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ สิ่งนั้นจะไม่แก้ปัญหาใดๆ แต่จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง” โมฮัมหมัดระบุ

กองทัพพม่ากำลังต่อสู้เพื่อควบคุมการก่อกบฎที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์และขบวนการต่อต้านที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังจากการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ประชาชนอย่างน้อย 3.5 ล้านคนต้องพลัดถิ่นจากความรุนแรงดังกล่าว ตามการระบุของสหประชาชาติ

กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้กล่าวหารัฐบาลทหารว่ากระทำการทารุณกรรมต่อพลเรือนอย่างกว้างขวาง ที่พวกเขาปฏิเสธโดยระบุว่าเป็นการบิดเบือนข้อมูลของชาติตะวันตก

โมฮัมหมัดกล่าวเสริมว่าอาเซียนยังต้องการให้รัฐบาลทหารประกาศขยายเวลาและขยายพื้นที่การหยุดยิงชั่วคราวออกไปอีกหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในเดือนมี.ค. ทั้งนี้กลุ่มติดอาวุธ กลุ่มสิทธิมนุษยชน และผู้สังเกตการณ์ความขัดแย้งได้กล่าวหาว่ารัฐบาลทหารเพิกเฉยต่อการประกาศหยุดยิงของตนเองและยังคงใช้ปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลทหารได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น