xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำมาเลเซียเรียกร้องอาเซียนเพิ่มการค้าระหว่างกันท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซียเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินการอย่างมีจุดมุ่งหมายและเพิ่มการค้าระหว่างกันท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศในภูมิภาคประชุมหารือกันท่ามกลางความกังวลครั้งใหม่เกี่ยวกับภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ

ผู้นำมาเลเซียกล่าวกับรัฐมนตรีจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มีสมาชิก 10 ประเทศ ว่าภาษีศุลกากร ข้อจำกัดการส่งออก และอุปสรรคด้านการลงทุน เป็นเครื่องมือที่แหลมคมของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่เขาไม่ได้กล่าวถึงสหรัฐฯ โดยเฉพาะ

“ในขณะที่เรากำลังเผชิญแรงกดดันจากภายนอก เราจำเป็นต้องเสริมรากฐานภายในของเรา ค้าขายกันเองมากขึ้น ลงทุนกันเองมากขึ้น และส่งเสริมการบูรณาการระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา” นายกฯ อันวาร์ กล่าว

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าในอัตราสูงตั้งแต่ 25% ถึง 40% กับ 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะมีความพยายามจากบางประเทศที่เสนอสิทธิพิเศษอย่างกว้างขวางและเจรจาอัตราภาษีที่ต่ำกว่าก็ตาม

อาเซียนที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักถือเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก โดยบางประเทศได้รับประโยชน์จากการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานจากจีน ทั้งนี้ มีเพียงเวียดนามเท่านั้นที่บรรลุข้อตกลง ซึ่งลดอัตราภาษีจากเดิม 46% เหลือ 20%

อินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย กำลังหาทางเจรจาเพิ่มเติมก่อนที่จะเริ่มบังคับใช้มาตรการภาษีในวันที่ 1 ส.ค.

การประชุมที่กรุงกัวลาลัมเปอร์จะรวมถึงการประชุมระหว่างอาเซียนและพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่ ที่รวมถึงสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย อินเดีย และสหภาพยุโรป

คาดว่าตั้งแต่วันพฤหัสฯ (10) หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน และเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย จะเข้าร่วมการประชุมด้วย เช่นเดียวกับ มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งจะเดินทางเยือนเอเชียเป็นครั้งแรกเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของทรัมป์

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะแสดงความกังวลต่อความตึงเครียดทางการค้าโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในภูมิทัศน์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการฝ่ายเดียวที่เกี่ยวข้องกับภาษี ตามร่างแถลงการณ์ร่วมที่รอยเตอร์ได้เห็น

ร่างดังกล่าวที่ลงวันที่ 7 ก.ค. และมีขึ้นก่อนที่จะมีการประกาศอัตราภาษีล่าสุดไม่ได้กล่าวถึงสหรัฐฯ และใช้ถ้อยคำที่คล้ายกับคำแถลงของผู้นำอาเซียนในเดือนพ.ค. ซึ่งแถลงการณ์ทั้งสองฉบับระบุว่าภาษีศุลกากรนั้นไม่ทำให้เกิดผลดีและมีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกแตกแยกรุนแรงขึ้น

ในเดือนเม.ย. อาเซียนกล่าวว่าจะไม่ตอบโต้และบรรดาผู้นำได้ให้คำมั่นว่าข้อตกลงทวิภาคีใดๆ ที่ทำกับสหรัฐฯ จะไม่กระทบสมาชิกอาเซียนด้วยกัน

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคาร OCBC กล่าวว่าประเทศต่างๆ รวมถึงเวียดนามเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีที่มีเป้าหมายที่การถ่ายลำ มาตรการที่มุ่งเป้าไปที่สินค้าส่วนใหญ่จากจีน โดยยังคงมีคำถามเกี่ยวกับการบังคับใช้และการดำเนินการ

ประเด็นดังกล่าวจะยิ่งซับซ้อนขึ้นจากการที่ทรัมป์ขู่ขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มอีก 10% ต่อประเทศที่เข้าร่วมกลุ่ม BRICS โดยอินโดนีเซียเป็นสมาชิก สว่นมาเลเซีย ไทย และเวียดนาม เป็นประเทศหุ้นส่วน

อาเซียนจะส่งเสริมสนธิสัญญาเขตปลอดนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการประชุมครั้งนี้อาจทำให้ไทยและกัมพูชาพยายามคลี่คลายข้อพิพาทที่นำไปสู่การระดมกำลังทหารตามแนวชายแดนของประเทศและวิกฤตสำหรับรัฐบาลไทยที่ขณะนี้แขวนอยู่บนเส้นด้าย

ข้อพิพาทดังกล่าวเพิ่มแรงกดดันให้อาเซียนต้องรักษาแนวร่วมท่ามกลางปัญหาอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมทั้งสงครามกลางเมืองในพม่าที่ทวีความรุนแรงขึ้น และการร่างประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้กับจีน ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียได้เรียกร้องให้ทุกกลุ่มในพม่าที่อยู่ในภาวะสงครามสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามยังไม่ชัดเจนในคำกล่าวของเขาบ่งชี้ว่ามาเลเซียที่เป็นประธานอาเซียนจะรับรองการเลือกตั้งดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งนักวิจารณ์ต่างประณามว่าเป็นเรื่องหลอกลวงเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการปกครองของทหาร.
กำลังโหลดความคิดเห็น