xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์มองฮานอยยังเป็นปลายทางที่ใช่อยู่หรือไม่ หลังสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้า 20% สินค้าถ่ายลำ 40%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ข้อตกลงการค้าที่ประกาศโดยสหรัฐฯ และเวียดนามทำให้เกิดคำถามใหม่สำหรับผู้ค้าปลีกเสื้อผ้าและชุดกีฬาเช่น ไนกี้ และอาดิดาส ที่ผลิตรองเท้าและเสื้อผ้าจากโรงงานในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมกล่าว


ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวเมื่อวันพุธว่าสหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนาม 20% ในขณะที่สินค้าจากการถ่ายลำจากประเทศที่ 3 ผ่านเวียดนามจะเผชิญกับภาษีนำเข้า 40%

โรงงานเสื้อผ้าและรองเท้าในเวียดนามพึ่งพาเส้นด้าย โพลีเอสเตอร์ และของประดับ เช่นกระดุมและซิปที่นำเข้าจากจีนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ยังไม่ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ประกอบในเวียดนามจากวัตถุดิบจากจีนจะได้รับผลกระทบจากภาษีถ่ายลำหรือไม่

โดยปกติแล้ว การถ่ายลำจะกำหนดใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ส่วนใหญ่ผลิตในจีน ส่งไปยังเวียดนาม จากนั้นติดฉลากใหม่และส่งออกว่าเป็นสินค้าผลิตในเวียดนาม

ทั้งนี้ ศุลกากรสหรัฐฯ ได้เฝ้าจับตาดูการกระทำดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ฝ่ายบริหารของทรัมป์ได้แสดงจุดยืนชัดเจนต่อเรื่องนี้ โดยสก็อต เบสเซนต์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่าการค้าจากเวียดนามจำนวนมหาศาลเป็นการถ่ายลำจากจีน ตามการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC เมื่อวันพฤหัสฯ

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามมากมายเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าฉบับดังกล่าว

“หากพูดอย่างตรงไปตรงมา การถ่ายลำถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในขณะที่การใช้ส่วนประกอบจากต่างประเทศตามข้อกำหนดของกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดของสินค้าถือเป็นการปฏิบัติโดยทั่วไป ความสับสนระหว่างแนวปฏิบัติทั้งสองนี้จะยิ่งสร้างความไม่แน่นอนมากขึ้น และเสี่ยงที่จะเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน” เฉิง ลู่ ศาสตราจารย์ภาควิชาการศึกษาแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย จากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ กล่าว

เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นสำหรับผู้ค้าปลีกและแบรนด์ต่างๆ ที่ต้องการลดการพึ่งพาโรงงานจีน แต่ยังกลายเป็นเป้าหมายของนโยบายทางการค้าที่ก้าวร้าวของทรัมป์ด้วย

เวียดนามเป็นผู้ผลิตรองเท้ากีฬารายสำคัญของไนกี้ โดยครองสัดส่วนถึง 50% ของรองเท้าแบรนด์ไนกี้ทั้งหมดในงบการเงินปีงบประมาณ 2567 ของบริษัท และยังเป็นประเทศซัปพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของอาดิดาส โดยผลิตสินค้าของแบรนด์เยอรมันนี้ 27%

โฆษกของไนกี้กล่าวว่าบริษัทยังคงพิจารณารายละเอียดของข้อตกลงนี้อยู่ ส่วนอาดิดาสปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น

“ด้วยการเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ และความเป็นไปได้ของภาษีถ่ายลำนี้ ฉันคิดว่าจะทำให้ผู้นำเข้าจำนวนมากตั้งคำถามว่าเวียดนามเป็นทางเลือกที่ดีจริงหรือ” ลีลา แลนดิส ที่ปรึกษาด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบศุลกากร ในฟอร์ตเวิร์ธ รัฐเท็กซัส กล่าว

แม้ว่ารายละเอียดของข้อตกลงยังไม่ได้รับการยืนยัน แต่แลนดิสกล่าวว่าภาษี 40% อาจถูกรวมอยู่ในภาษีสำหรับสินค้าใดๆ ก็ตามของจีน ที่ทำให้เป็นการลงโทษที่รุนแรง

โดยรวมแล้ว สหรัฐฯ นำเข้ารองเท้าจากเวียดนาม 274 ล้านคู่เมื่อปีที่แล้ว ตามข้อมูลของสมาคมผู้จัดจำหน่ายและค้าปลีกรองเท้าแห่งอเมริกา (FDRA) ที่เมื่อวันพุธได้ออกมาระบุว่าการกำหนดภาษีเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคชาวอเมริกัน

“ฝั่งเวียดนามรู้สึกผิดหวังกับการเรียกเก็บภาษีนำเข้า 20%” โจ เจอร์เก้น กรรมการผู้จัดการของบริษัท ABC Group ระบุ

การประกาศภาษีกับเวียดนามทำให้ช่องว่างกับจีนแคบลง ซึ่งสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าที่ 55% และอาจทำให้บางแบรนด์ตัดสินใจอยู่กับจีนแทนการเปลี่ยนซัปพลายเออร์ ซึ่งใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า เจอร์เก้นกล่าว

“เวียดนามมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอเนื่องจากโรงงานมีไม่มากพอ ขณะที่จีนมีกำลังการผลิตมากเกินความต้องการ ดังนั้นในความเห็นของเรา โรงงานจีนจะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ในระยะสั้น” เจอร์เก้น กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภาษี 20% ก็ยังดีกว่า 25-30% ที่ตลาดกลัว เรย์มอนด์ เจมส์ นักวิเคราะห์ กล่าว

และการประกาศข้อตกลงนี้จะช่วยยุติความไม่แน่นอนในระดับหนึ่ง และอาจส่งเสริมให้ผู้ค้าปลีกบางรายที่กำลังพิจารณาเวียดนามเดินหน้าและสั่งซื้อสินค้า จิม เคนเนเมอร์ กรรมการผู้จัดการของบริษัท Cosmo Sourcing กล่าว

“แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ใช่จีน 100%” จิม เคนเนเมอร์ กล่าว.




กำลังโหลดความคิดเห็น