เอเอฟพี - ข้อตกลงการค้าของเวียดนามกับสหรัฐฯ แม้จะช่วยหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ที่หนักหน่วงของโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งใหม่ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง
เวียดนามมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและเม็กซิโก และตกเป็นเป้าเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงที่สุดประเทศหนึ่งในการประกาศภาษีตอบโต้ของทรัมป์เมื่อวันที่ 2 เม.ย.
ข้อตกลงที่ประกาศเมื่อวันพุธ (2) เป็นข้อตกลงฉบับแรกที่ทรัมป์บรรลุกับประเทศในเอเชีย ที่นักวิเคราะห์กล่าวว่าข้อตกลงนี้อาจช่วยให้เห็นรูปแบบที่วอชิงตันจะใช้กับประเทศอื่นๆ ที่ยังคงดิ้นรนเพื่อบรรลุข้อตกลง
แม้รอดจากอัตราภาษี 46% ที่กำหนดให้มีผลบังคับใช้ในสัปดาห์หน้า แต่เวียดนามยังคงเผชิญกับภาษีขั้นต่ำ 20% แลกกับการเปิดตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ รวมทั้งรถยนต์ ขณะเดียวกัน อัตราภาษีนำเข้า 40% จะนำไปใช้กับสินค้าที่ผ่านประเทศเพื่อเลี่ยงอุปสรรคทางการค้าที่รุนแรงกว่า หรือที่เรียกว่าการถ่ายลำ
วอชิงตันกล่าวหาว่าฮานอยติดฉลากใหม่กับสินค้าจีนเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้า แต่วัตถุดิบจากประเทศที่มีเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนาม
“จากมุมมองระดับโลก ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดอาจเป็นว่าข้อตกลงนี้ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับจีนเป็นส่วนใหญ่” บริษัทวิจัยด้านเศรษฐกิจ Capital Economics ระบุ
Capital Economics กล่าวว่าเงื่อนไขของการถ่ายลำจะถูกมองว่าเป็นการยั่วยุปักกิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการรวมเงื่อนไขที่คล้ายคลึงกันนี้ในข้อตกลงฉบับอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่าการเจรจาและข้อตกลงใดๆ ไม่ควรมุ่งเป้าหรือกระทบต่อผลประโยชน์ของบุคคลที่ 3
ราคาหุ้นของบริษัทเครื่องนุ่งห่มและผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬา ที่ส่วนใหญ่มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ในเวียดนาม พุ่งสูงขึ้นรับข่าวเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวในนิวยอร์ก
“นี่เป็นผลลัพธ์ที่ดีกว่าภาษี 46% แต่ผมจะยังไม่แสดงความยินดี” แดน มาร์ติน จากบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจเอเชีย Dezan Shira & Associates ในกรุงฮานอย กล่าว
“ในตอนนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐน ตัดสินใจตีความและบังคับใช้แนวคิดเรื่องการถ่ายลำอย่างไร หากสหรัฐฯ มองในมุมกว้างขึ้นและเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชิ้นส่วนต่างประเทศ แม้ว่ามูลค่าจะถูกเพิ่มเข้ามาในเวียดนาม แต่มันอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทจำนวนมากที่เล่นตามกฎ” แดน มาร์ติน กล่าวเสริม
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าผู้เจรจายังคงหารือรายละเอียดเพื่อข้อตกลงที่เป็นรูปธรรม
แต่ยังขาดรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงการถ่ายลำซึ่งทรัมป์ประกาศบนแพลตฟอร์ม Truth Social ของเขา
“ข้อตกลงที่ประกาศออกมาทำให้เวียดนามมีระดับของความแน่นนอนที่คู่ค้าของสหรัฐฯ รายอื่นๆ ไม่มี” อดัม ซิทคอฟฟ์ ผู้อำนวยการหอการค้าอเมริกันในเวียดนาม กล่าว
แต่เขากล่าวว่าการประเมินข้อดีและข้อเสียของข้อตกลงนี้ยังเป็นเรื่องยากหากไม่ได้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมว่าภาษีนั้นมีความหมายอย่างไร
“คำตอบของคำถามเหล่านี้สามารถสร้างความแตกต่างระหว่างเฉลิมฉลองหรือร้องไห้” อดัม ซิทคอฟฟ์ กล่าว
Bloomberg Economics คาดการณ์ว่าเวียดนามอาจสูญเสียการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ถึง 25% ในระยะกลาง ที่จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมากกว่า 2% ตกอยู่ในความเสี่ยงที่เป็นผลจากข้อตกลงดังกล่าว
“รัฐบาลเวียดนามจะพบว่าตนเองตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่จะต้องบังคับใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า” แจ็ค ชีฮาน หัวหน้าฝ่ายภาษีภูมิภาคของบริษัท DFDL กล่าว
รานา ซาเจดี ผู้เชี่ยวชาญจาก Bloomberg Economics กล่าวว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับวิธีการถ่ายลำว่าถูกกำหนดหรือบังคับใช้อย่างไรนั้น มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบทางการทูต
“คำถามที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือจีนจะตอบสนองอย่างไร ซึ่งปักกิ่งชี้แจงชัดเจนว่าจะตอบสนองต่อข้อตกลงที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของจีน การตัดสินใจตกลงที่จะขึ้นภาษีสินค้าที่ถือว่าเป็นการถ่ายลำผ่านเวียดนามอาจเข้าข่ายดังกล่าว การตอบโต้ใดๆ ก็ตามอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของเวียดนาม” ผู้เชี่ยวชาญจาก Bloomberg Economics กล่าว.