เอเอฟพี - ผู้นำประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พบกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในวันนี้ (26) เพื่อหารือกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยคาดว่าประเทศที่พึ่งพาการค้าจะออกคำแถลงร่วมกันเพื่อแสดงความกังวลในเรื่องนี้
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะพยายามเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารของพม่าและคลี่คลายปัญหาที่เหลืออยู่เกี่ยวกับการเข้าร่วมกลุ่มของติมอร์ตะวันออก
ยุทธศาสตร์ของอาเซียนในการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่หลากหลายได้แสดงให้เห็นอย่างเต็มที่ ขณะที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน เดินทางถึงเมืองหลวงของมาเลเซีย หนึ่งวันก่อนการเจรจาหารือกับอาเซียนและประเทศในอ่าวอาหรับ
ในคำกล่าวเปิดงานต่อสื่อมวลชน นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย กล่าวว่า “ระเบียบโลกกำลังเปลี่ยนแปลง และระบบการค้าโลกกำลังตึงเครียดมากขึ้น จากการขึ้นภาษีฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ เมื่อไม่นานนี้”
“การคุ้มครองทางการค้ากำลังกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง และเราได้เห็นการแตกสลายของพหุภาคี” ผู้นำมาเลเซีย กล่าว
ทรัมป์ทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนในเดือนเม.ย. เมื่อเขาประกาศเรียกเก็บภาษีเป็นวงกว้าง ก่อนที่จะตกลงระงับการเรียกเก็บภาษีสำหรับประเทศส่วนใหญ่เป็นเวลา 90 วัน
การเจรจาทวิภาคีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและวอชิงตันกำลังดำเนินไป แต่กลุ่มยังคงความเป็นหนึ่งเดียว ตามคำกล่าวของมาเลเซียที่เป็นประธานอาเซียนหมุนเวียนในปีนี้
ตามร่างคำแถลงที่เอเอฟพีได้เห็น อาเซียนจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการภาษีฝ่ายเดียว ที่สร้างความท้าทายที่ซับซ้อนและหลายมิติต่อภูมิภาค
แต่อาเซียนระบุว่ากลุ่มจะไม่กำหนดภาษีศุลกากรตอบโต้ต่อสหรัฐฯ
แทนที่จะตอบโต้ อาเซียนกำลังพิจารณาขยายขอบเขตกับกลุ่มการค้าอื่นๆ รวมถึงสหภาพยุโรป ตลอดจนเพิ่มการค้าระหว่างประเทศสมาชิก รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของมาเลเซียกล่าว
การหารือในวันอังคาร (27) กับหลี่ เฉียง และคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ กลุ่มประเทศที่ประกอบด้วยบาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เน้นย้ำถึงความพยายามในการรักษาเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าที่กว้างขวาง
“ไม่ใช่แค่การถ่ายรูปกลุ่มเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่าอาเซียนพยายามมีส่วนร่วมเชิงยุทธศาสตร์กับกลุ่มต่างๆ กลยุทธ์ที่เราอาจเรียกว่าการทูตแบบหลายขั้ว” คู ยิง ฮุย จากมหาวิทยาลัยมาลายา กล่าว
อันวาร์กล่าวว่าเขาได้ส่งจดหมายถึงทรัมป์เพื่อขอให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ในปีนี้ แต่รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียระบุว่า สหรัฐฯ ยังไม่ตอบสนองต่อคำขอดังกล่าว
ด้านความสัมพันธ์ของอาเซียนกับจีนก็ไม่ง่ายเช่นกัน โดยในวันนี้ (26) เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้นำฟิลิปปินส์ได้กล่าวในที่ประชุมว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องนำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่มีผลผูกพันทางกฎหมายมาใช้
ปักกิ่งมีข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตในพื้นที่ดังกล่าวกับประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ โดยจีนและฟิลิปปินส์เผชิญหน้ากันในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทมาหลายเดือน
มาร์กอสกล่าวว่าควรเร่งดำเนินการนำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้มาใช้เพื่อปกป้องสิทธิทางทะเล ส่งเสริมเสถียรภาพ และป้องกันการวินิจฉัยผิดพลาดในทะเล
เมื่อวันอาทิตย์ (25) มาเลเซียพยายามเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารของพม่าที่เป็นประเทศสมาชิก ที่ผู้นำประเทศถูกห้ามเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนเนื่องจากไม่มีความคืบหน้าในข้อตกลงสันติภาพ 5 ข้อ ที่กลุ่มได้ตกลงกันไว้ในปี 2564
“สิ่งหนึ่งที่เราต่างเห็นพ้องกันนั่นก็คือรัฐบาลของพม่าต้องปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ที่พวกเขาได้ตกลงไว้เองในฐานะหนึ่งในผู้ลงนาม” โมฮัมหมัด ฮาซัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าว
ความพยายามทางการทูตของอาเซียนที่จะยุติความขัดแย้งยังคงไม่ประสบผลสำเร็จจนถึงตอนนี้ และเมื่อวันอาทิตย์ ฮาซันได้เรียกร้องให้พม่าขยายเวลาและขยายพื้นที่หยุดยิงที่ประกาศหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
นักการทูตระดับสูงคนหนึ่งกล่าวว่า อาเซียนอาจเพิ่มประเทศสมาชิกลำดับที่ 11 ก่อนสิ้นปีนี้
ติมอร์ตะวันออก ประเทศที่อายุน้อยที่สุดในเอเชีย มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการตามแผนงาน และมีการสนับสนุนอย่างแข็งขันที่หวังว่าประเทศจะได้เข้าร่วมกลุ่มภายในการประชุมสุดยอดครั้งหน้าในเดือนต.ค.
หลังการพบหารือของผู้นำในวันจันทร์ นายกรัฐมนตรีของติมอร์ตะวันออกได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เขาเชื่อว่าประเทศของเขาจะกลายเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ในปีนี้ แม้ยังต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่เหลืออยู่บางประการก็ตาม.