รอยเตอร์ - ฝรั่งเศสและเวียดนามได้ลงนามข้อตกลงจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส 20 ลำ วันนี้ (26) รวมถึงข้อตกลงอื่นๆ ขณะที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสเยือนกรุงฮานอย เพื่อแสวงหาการเพิ่มอิทธิพลในประเทศและรับมือกับภัยคุกคามจากภาษีของสหรัฐฯ
การเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการครั้งแรกของมาครง ที่เป็นครั้งแรกของประธานาธิบดีฝรั่งเศสในรอบเกือบทศวรรษ เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ขู่เมื่อวันศุกร์ว่าจะขึ้นภาษีสินค้าจากสหภาพยุโรป 50% ตั้งแต่เดือนมิ.ย. ที่ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดในกลุ่ม 27 ประเทศ
เวียดนามที่พึ่งพาการส่งออกและตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากวอชิงตันให้ซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น ได้ให้คำมั่นในการเจรจาการค้าเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี 46% ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของประเทศ ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ยุโรปเกิดความกังวลเกี่ยวกับข้อตกลงที่จะส่งผลกระทบต่อภูมิภาค
ข้อตกลงที่ลงนามระหว่างการเยือนของมาครงครอบคลุมถึงการจัดซื้อเครื่องบิน ความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ ทางรถไฟ ดาวเทียมสำรวจโลกของแอร์บัส และวัคซีนของบริษัทซาโนฟี่ (Sanofi)
ในคำแถลงต่อสื่อมวลชนโดยไม่อนุญาตให้มีการซักถาม ผู้นำฝรั่งเศสได้ย้ำถึงการสนับสนุนของฝรั่งเศสต่อเสรีภาพในการเดินเรือ ประเด็นที่เวียดนามให้ความสำคัญเนื่องจากมักขัดแย้งกับจีนเกี่ยวกับเขตแดนที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้
มาครงยังระบุว่าความร่วมมือกับเวียดนามเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการป้องกันแข็งแกร่งขึ้น โดยอ้างถึงการลงนามโครงการต่างๆ มากมายเกี่ยวกับการป้องกันและอวกาศ
ประธานาธิบดีเลือง เกื่อง ของเวียดนามกล่าวว่าความร่วมมือด้านการป้องกันเกี่ยวข้องกับการแบ่งปันข้อมูลในประเด็นยุทธศาสตร์ และความร่วมมือที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมการป้องกัน ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการต่อต้านการก่อการร้าย
ฝรั่งเศสปกครองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ราว 70 ปี จนกระทั่งถอนกำลังออกจากประเทศในปี 2497 หลังจากพ่ายแพ้อย่างยับเยินที่เดียนเบียนฟูในภาคเหนือของเวียดนาม ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดีขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และเมื่อปีก่อนได้ยกระดับความสัมพันธ์สู่ระดับสูงสุดของเวียดนาม
ในการเดินทางเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งนี้ยังรวมถึงอินโดนีเซียและสิงคโปร์ โดยมาครงจะเดินทางไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงฮานอยในวันอังคาร ก่อนที่จะบินต่อไปยังกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย
ข้อตกลงกับแอร์บัส (Airbus) ผู้ผลิตเครื่องบินของยุโรป เพื่อจัดซื้อเครื่องบินลำตัวกว้างรุ่น A330neo จำนวน 20 ลำ ของสายการบินเวียดเจ็ท (VietJet) เกิดขึ้นหลังสายการบินได้ทำข้อตกลงจัดซื้อเครื่องบิน 20 ลำเมื่อปีก่อน
แอร์บัสเป็นซัปพลายเออร์เครื่องบินหลักของเวียดนาม โดยครองสัดส่วนเครื่องบินถึง 86% ในฝูงบินของประเทศ ตามข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์การบิน Cirium
นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงแยกต่างหากกับบริษัท Airbus Defence ในระหว่างการเยือนเพื่อความร่วมมือกับเวียดนามในด้านดาวเทียมสำรวจโลก
แอร์บัสเจรจาหารือกับฮานอยมาเป็นเวลานานแล้วเพื่อทดแทนดาวเทียมสำรวจโลกของเวียดนามที่สร้างโดยบริษัท EADS และปล่อยขึ้นสู่อวกาศในปี 2558
เนื่องจากเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ อย่างมาก เวียดนามได้ส่งสัญญาณว่าอาจซื้อเครื่องบินโบอิ้งอย่างน้อย 250 ลำ โดยสายการบินเวียดนาม (Vietnam Airlines) ที่เป็นสายการบินแห่งชาติและเป็นสายการบินคู่แข่งของเวียดเจ็ท
เจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศกล่าวว่าข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยลดการเกินดุลการค้าอย่างมหาศาลของประเทศกับสหรัฐฯ และอาจทำให้ทรัมป์พอใจ
“ในการเจรจากับสหรัฐฯ เวียดนามควรแน่ใจว่าจะไม่ตัดสินใจในสิ่งที่กระทบต่อผลประโยชน์ของยุโรป” เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปรายหนึ่งระบุ
ทั้งนี้ ผู้นำเวียดนามได้รับคำแนะนำว่าการดำเนินการเช่นนั้นอาจเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับยุโรป ที่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับเวียดนามและเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของสินค้าเวียดนาม.