xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำมาเลเซียชี้ถึงเวลาที่รัฐบาลทหารพม่าและรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติจะต้องเจรจาหารือกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซียกล่าวว่า การเจรจาแยกกันกับผู้นำรัฐบาลทหารของพม่าและฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลทหารพม่าให้ผลลัพธ์ที่ดี ที่นับเป็นการติดต่อโดยตรงครั้งแรกระหว่างสองฝ่ายที่พัวพันในสงครามกลางเมืองที่รุนแรงและยืดเยื้อ

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อพบหารือกับอันวาร์เมื่อเดือนก่อน และในวันต่อมา ผู้นำมาเลเซียได้จัดการหารือทางออนไลน์กับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)

NUG ประกอบด้วยกลุ่มคนที่เหลืออยู่จากรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งของอองซานซูจีที่ถูกโค่นล้มในการรัฐประหารปี 2564 โดยมิน อ่อง หล่าย

ทั้งสองฝ่ายทราบถึงการมีส่วนร่วมดังกล่าว แหล่งข่าว 2 รายที่ทราบโดยตรงในเรื่องนี้ระบุ พร้อมเน้นย้ำถึงความเต็มใจของพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่จะมีส่วนร่วมในความพยายามสร้างสันติภาพ แม้จะตีตรารัฐบาลพลัดถิ่นว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

“เรามีส่วนร่วมแยกกัน แต่ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะต้องหารือกัน” อันวาร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่เมืองปุตราจายา ของมาเลเซีย

“ผมหมายความว่า ประชาชนในพม่าต้องตัดสินใจเพื่อตัวพวกเขาเอง” ผู้นำมาเลเซีย กล่าว

ด้านโฆษกของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติกล่าวว่า รัฐบาลเงาจะเปิดกว้างในการเจรจากับกองทัพ หากรัฐบาลทหารตกลงตามเงื่อนไข 6 ข้อ ที่รวมถึงการก่อตั้งสหพันธรัฐประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกองทัพไม่มีบทบาททางการเมือง และการสร้างกรอบการทำงานเพื่อความยุติธรรมในการเปลี่ยนผ่าน

“หากกองทัพพม่าตกลง เราก็จะมีการเจรจากันกับทางการทหารเกี่ยวกับการยุติการรัฐประหารและการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ” โฆษก NUG กล่าวกับรอยเตอร์

อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเป็นไปได้ที่กองทัพพม่าจะยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้

แต่ความคิดริเริ่มของอันวาร์ ที่เริ่มขึ้นในนามของอาเซียน กลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นประธานในปัจจุบัน ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลทหารดูเหมือนจะยอมรับการเจรจานับตั้งแต่พม่าตกอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายจากการรัฐประหารในเดือนก.พ. 2564

ความรุนแรงดังกล่าวคร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน ทำให้ผู้คนพลัดถิ่นกว่า 3.5 ล้านคน และทำลายเศรษฐกิจของประเทศ

กลุ่มต่อต้านติดอาวุธที่ประกอบด้วย กองทัพชาติพันธุ์และกลุ่มต่อต้านใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร ได้แย่งชิงพื้นที่บางส่วนจากรัฐบาลทหาร ขับไล่พวกเขาออกจากพื้นที่ชายแดน และบีบพื้นที่ที่รัฐบาลควบคุมให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ลุ่มภาคกลางมากขึ้นเรื่อยๆ

แหล่งข่าวทางการทูตรายหนึ่งระบุว่า เจ้าหน้าที่มาเลเซียเริ่มติดต่อกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มในพม่า


ที่กรุงเทพฯ อันวาร์ได้เน้นย้ำเกี่ยวกับการขยายเวลาหยุดยิงเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหลังจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,800 คน ในพื้นที่ภาคกลางของพม่า

และเขายังใช้โอกาสนี้พยายามวางรากฐานสำหรับกระบวนการสันติภาพที่กว้างขึ้น ผู้ที่ทราบเกี่ยวกับการหารือดังกล่าวระบุ

ความคิดริเริ่มของผู้นำมาเลเซียนี้คาดว่าจะเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในสัปดาห์หน้า ที่มีการจัดการหารือเฉพาะระหว่างสมาชิกกลุ่มที่มุ่งเน้นไปที่ความขัดแย้งก่อนการประชุม

อันวาร์ระบุว่าการผลักดันของเขาเป็นความพยายามจริงจังครั้งแรกในการมีส่วนร่วมของกลุ่ม

อาเซียนเรียกร้องการยุติความรุนแรงมาตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2564 ผลักดันแผนสันติภาพที่เรียกว่าฉันทามติ 5 ข้อ ที่แทบไม่มีความคืบหน้า และห้ามนายพลที่ปกครองพม่าเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่ม

แหล่งข่าว 3 คน ระบุว่า การทำงานเบื้องหลังสำหรับการเจรจาที่กรุงเทพฯ เริ่มขึ้นก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว แต่ภัยพิบัติดังกล่าวทำให้อันวาร์มีโอกาสได้หารือถึงประเด็นด้านมนุษยธรรมโดยตรงกับพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่ถูกเมินเฉยเกือบ 4 ปี จากประธานอาเซียนคนก่อนๆ

“การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมีความสำคัญในตัวของมันเอง แต่การบรรลุเป้าหมายนั้นเราจำเป็นต้องหยุดยิง และการหยุดยิงชั่วคราวจะช่วยปูทางสู่สันติภาพและการปรองดองในอนาคตได้” อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของอันวาร์ กล่าวกับรอยเตอร์

NUG คัดค้านการเจรจาระหว่างอันวาร์และพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในกรุงเทพฯ โดยเรียกร้องให้ใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งสำหรับการมีส่วนร่วมฝ่ายเดียวใดๆ กับผู้นำรัฐบาลทหาร

ตั้งแต่การเจรจาที่กรุงเทพฯ รัฐบาลทหารได้ประกาศขยายเวลาหยุดยิงที่ตกลงกันไว้ในตอนแรก เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรมหลังเกิดแผ่นดินไหว แต่กองทัพยังคงดำเนินการทางทหารอย่างรุนแรง รวมทั้งในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว

กาว กิม เฮือน เลขาธิการอาเซียนปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการโจมตีต่อเนื่องของกองทัพพม่า ระบุเพียงว่ายังไม่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ละเมิดข้อตกลงหยุดยิง

ในระยะสั้น กลุ่มภูมิภาคจำเป็นต้องผลักดันฝ่ายที่ทำสงครามในพม่าให้เคารพข้อตกลงหยุดยิง

สีหศักดิ์​ พวงเกตุแก้ว อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุว่าหากทุกคนเคารพข้อตกลงหยุดยิงและเห็นความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการนำฝ่ายต่างๆ มาเจรจากัน

การเคลื่อนไหวครั้งใหม่เพื่อเร่งให้เกิดการเจรจาในพม่ายังเกิดขึ้นท่ามกลางแผนการของรัฐบาลทหารที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธ.ค. ที่นักวิจารณ์มองว่าเป็นเรื่องหลอกลวงเพื่อให้บรรดานายพลยังอยู่ในอำนาจผ่านตัวแทน

ก่อนหน้านี้ อาเซียนระบุว่ารัฐบาลทหารควรให้ความสำคัญกับการสร้างสันติภาพมากกว่าการจัดการเลือกตั้ง

“การเจรจามีความสำคัญต่อการเลือกตั้ง หากไม่มีการเจรจาก็จะไม่มีความชอบธรรม และเราต้องยอมรับความจริงว่าการเลือกตั้งไม่ใช่จุดสิ้นสุดของความขัดแย้ง” สีหศักดิ์ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น