เอพี - พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้พบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ที่เป็นพันธมิตรหลักของรัฐบาลทหารพม่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อ 4 ปีที่แล้ว สื่อของรัฐในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้รายงานในวันเสาร์ (10)
หลังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ รายงานว่า สี จิ้นผิง ให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือสำหรับการฟื้นฟูหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพม่าเมื่อเดือนมี.ค. และช่วยเหลือในความพยายามที่จะยุติสงครามกลางเมืองของประเทศ โดยผู้นำทั้งสองพบกันเมื่อวันศุกร์ (9) ในกรุงมอสโก นอกรอบงานพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี วันแห่งชัยชนะเหนือนาซีเยอรมนีในสงครามโลกที่ 2
รายงานระบุว่าพวกเขายังหารือถึงความสัมพันธ์ทวิภาคี การเสริมสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน และความร่วมมือเพื่อเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค ที่ปักกิ่งพยายามเสริมความแข็งแกร่งให้รัฐบาลทหารพม่า
จีนใช้อิทธิพลของตนกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เพื่อลดแรงกดดันของกลุ่มติดอาวุธต่อรัฐบาลทหาร ในความพยายามที่จะสร้างเสถียรภาพ
จีน รวมถึงรัสเซีย เป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ให้กับกองทัพพม่าในการทำสงครามกับกองกำลังที่สนับสนุนประชาธิปไตยและกองกำลังต่อต้านของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ปักกิ่งยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของพม่า และได้ลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในเหมืองแร่ ท่อส่งน้ำมันและก๊าซ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งปักกิ่งให้ความสนใจในด้านความมั่นคงของพม่ามากเป็นพิเศษเนื่องจากสองประเทศมีพรมแดนติดกันยาว 1,440 กิโลเมตร
รัฐบาลจีนยังคงรักษาความสัมพันธ์ในการทำงานกับกองทัพที่ปกครองพม่า ที่ถูกชาติตะวันตกหลายชาติปฏิเสธและคว่ำบาตรเนื่องจากกองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งของอองซานซูจี เมื่อเดือนก.พ. 2564 และการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้จีนยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการฟื้นฟูหลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่คร่าชีวิตผู้คนในพม่ามากกว่า 3,700 คน และบาดเจ็บมากกว่า 5,100 คน
แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้วิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายอยู่แล้วเลวร้ายลง โดยมีผู้คนมากกว่า 3 ล้านคนพลัดถิ่นจากบ้านของตนเอง และเกือบ 20 ล้านคน ต้องการความช่วยเหลือเนื่องจากสงคราม ตามการระบุของสหประชาชาติ
ปักกิ่งมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่มั่นคงที่คุกคามผลประโยชน์ของตนในพม่า เนื่องจากกองทัพพม่าพ่ายแพ้ในสนามรบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้ชายแดนจีน
การโจมตีที่เริ่มขึ้นในเดือนต.ค. 2566 ของกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ ที่ประกอบด้วยกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า กองทัพอาระกัน และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง สามารถเข้ายึดเมืองต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และเข้าควบคุมฐานทหาร กองบัญชาการ และเมืองยุทธศาสตร์ตามแนวชายแดนจีนในรัฐชาน
สิ่งที่เกิดขึ้นถูกมองอย่างกว้างขวางในเวลานั้นว่ากลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพได้รับการสนับสนุนโดยปริยายจากปักกิ่งเพื่อช่วยปราบปรามกิจกรรมผิดกฎหมายที่แพร่ระบาดอยู่ในพื้นที่ที่ควบคุมโดยคนเชื้อสายจีน
ในช่วงต้นปี 2567 ปักกิ่งเป็นตัวกลางในการเจรจาหยุดยิง แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็ล้มเหลวอย่างรวดเร็วเมื่อกลุ่มพันธุมิตรเปิดฉากโจมตีครั้งใหม่ นายพลผู้ปกครองพม่าและรัฐบาลจีนได้แสดงความวิตกกังวล เนื่องจากกลุ่มติดอาวุธสนับสนุนประชาธิปไตยและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ซึ่งบางครั้งทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ได้ชัยในการต่อสู้
ปักกิ่งกดดันให้กลุ่มติดอาวุธยอมมอบเมืองสำคัญที่ยึดได้
การรุกโจมตีของกลุ่มพันธมิตรเริ่มสูญเสียโมเมนตัมหลังจากจีนปิดจุดผ่านแดน ตัดกระแสไฟฟ้าในเมืองต่างๆ ของพม่า และใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อขัดขวางการสู้รบ
ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากปักกิ่ง ในเดือนที่ผ่านมากองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (MNDAA) ได้ถอนกำลังและฝ่ายบริหารออกจากเมืองล่าเสี้ยว ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการระดับภูมิภาคที่สำคัญ ที่กลุ่มติดอาวุธยึดได้ในเดือนส.ค. ปีก่อน
สมาชิกของ MNDAA กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่าทหารของกองทัพได้กลับเข้ามาและประจำการตามฐานต่างๆ ในเมืองอีกครั้งในปลายเดือนเม.ย.
โฆษกของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) กล่าวในการแถลงข่าวทางออนไลน์เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ว่าชาวบ้านในพื้นที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากเนื่องจากจีนและรัฐบาลทหารพม่าปิดกั้นการค้าในพื้นที่ที่ตนควบคุม
โฆษก TNLA ยังระบุว่าจีนได้เรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้กลุ่มหลีกเลี่ยงการปะทะตามแนวชายแดนและพื้นที่การลงทุนของจีน
TNLA ระบุในคำแถลงที่เผยแพร่ทางช่อง Telegram เมื่อวันเสาร์ว่า กองทัพดำเนินการโจมตีทางอากาศทุกวันในพื้นที่ที่กลุ่มควบคุม แม้ว่ารัฐบาลทหารจะขยายเวลาหยุดยิงถึงสิ้นเดือนพ.ค. ที่ประกาศหลังจากเกิดแผ่นดินไหว.