MGR Online - ชาวตะอั้งกว่า 600 คน รวมตัวเดินขบวนประท้วงกองทัพตะอั้งให้หยุดทำเหมืองแร่ซิลิคอนบนดอยในเมืองน้ำคำ ชี้เป็นต้นตอปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง เผยนับแต่มีเหมือง ชาวตะอั้งในน้ำคำไม่เคยได้อะไร แต่นายทหาร TNLA กลับรวยเอา รวยเอา
สำนักข่าวหลายแห่งในรัฐฉาน รายงานว่า ช่วงเช้าของวันที่ 5 พฤษภาคม 2568 ชาวตะอั้งกว่า 600 ร้อยคนที่อาศัยอยู่ในเมืองน้ำคำ จังหวัดหมู่เจ้ ภาคเหนือของรัฐฉาน ได้ออกมาเดินขบวนประท้วงไปตามถนน ก่อนจะไปรวมตัวกันอยู่ด้านหน้าเหมืองแร่ซิลิคอน ของบริษัทเมียนมา ฉ่วยตีหนั่น หรือ Myanmar Golden Crop (MGC) บนดอยหม่านจาก บ้านหม่านจาก ตำบลป๋างหยก ห่างจากตัวเมืองน้ำคำไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 11 ไมล์
ชาวบ้านเหล่านี้ต่างชูป้ายและร้องตะโกนให้กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอั้ง(TNLA) และบริษัท MGC ยุติการทำเหมืองแร่ซิลิคอนที่นี่โดยทันที เนื่องจากเหมืองแร่แห่งนี้เป็นตัวสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมหลากหลายประการ ทำให้ชาวบ้านต่างทุกข์ยาก ประสบความลำบากในการทำมาหากิน
ชาวตะอั้งที่มาประท้วงให้ข้อมูลกับสื่อว่า หลังจากกองทัพตะอั้งได้ยกกำลังพลเข้ามาควบคุมเมืองน้ำคำเอาไว้ในปฏิบัติการ 1027 รอบแรก เมื่อปลายปี 2566 นายทหารตะอั้งได้ให้สัมปทานแก่บริษัท MGC เข้ามาทำเหมืองแร่ซิลิคอนบนดอยหม่านจาก เพื่อขุดแร่ส่งข้ามไปขายทางฝั่งจีน โดยไม่เคยบอกหรือสอบถามความคิดเห็นจากชาวบ้านก่อน
ที่สำคัญ ตลอดเวลากว่า 1 ปีมานี้ เหมืองแร่ซิลิคอนของบริษัท MGC กลับสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมหลากหลายประการ มีการตัดไม้ ทำลายป่า ทำลายแหล่งน้ำ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณเชิงดอยมีความยากลำบากในการทำมาหากิน ไม่สามารถทำการเกษตรหรือขึ้นไปหาของป่าได้
ในทางตรงกันข้าม นายทหารตะอั้งระดับผู้บังคับบัญชาที่มีส่วนอนุญาตให้บริษัท MGC เข้ามาทำเหมืองแร่ กลับมีฐานะดีขึ้น มีเงินมีทองใช้จ่ายอย่างสุขสบายอย่างเห็นได้ชัด จนชาวบ้านทนไม่ไหว จึงนัดรวมตัวกันออกมาเดินขบวนประท้วงในครั้งนี้
มีรายงานว่า การประท้วงครั้งนี้ได้สร้างบรรยากาศตึงเครียดให้เกิดขึ้นบริเวณหน้าเหมือง โดยทหารตะอั้งและชาวบ้านที่เป็นชาวตะอั้งเหมือนกัน ต่างถกเถียงกันอย่างรุนแรง แต่ยังไม่มีเหตุปะทะหรือทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด
เมืองน้ำคำเป็นเมืองชายแดนรัฐฉาน-จีน ฝั่งตรงข้ามเป็นเมืองรุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลยูนนาน
ตามรัฐธรรมนูญเมียนมา ฉบับปี 2008 ได้ให้การรับรองพื้นที่ปกครองตนเองชนชาติพันธุ์ตะอั้งหรือปะหล่องเอาไว้ มีพื้นที่ครอบคลุม 2 เมืองระดับอำเภอในรัฐฉานเหนือ คือ อำเภอน้ำสั่นและหม่านโต่ง ที่อยู่ห่างลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จากเมืองน้ำคำ แต่ทั้ง 2 อำเภอนี้ ไม่อยู่ติดกับชายแดนรัฐฉาน-จีน
กองทัพตะอั้งจึงเข้าร่วมปฏิบัติการกับอีก 2 กองกำลังติดอาวุธ คือกองทัพโกก้าง(MNDAA) และกองทัพอาระกัน (AA) ในนามพันธมิตรภาคเหนือ เปิดปฏิบัติการ 1027 รอบแรก ระหว่างเดือนตุลาคม 2566-เดือนมกราคม 2567 นำกำลังบุกโจมตีหน่วยทหารกองทัพพม่าหลายพื้นที่ในภาคเหนือของรัฐฉาน และกองทัพตะอั้งได้บุกเข้ามายึดเมืองน้ำคำเอาไว้ เพราะต้องการมีพื้นที่ชายแดนที่ติดกับจีน จากนั้นได้เข้ามาควบคุมการบริหารจัดการ ผลประโยชน์ทุกชนิดในเมืองน้ำคำจนถึงทุกวันนี้
สำหรับแร่ซิลิคอน เป็นส่วนผสมสำคัญสำหรับผลิตอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์และเซลพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้เป็นธาตุผสมในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และปุ๋ยเคมี