xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มซ่อม “สะพานรถไฟอังวะ” หลังพังถล่มลงน้ำจากแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สะพานอังวะเก่าข้ามแม่น้ำอิรวดีที่เชื่อมภาคมัณฑะเลย์กับสะกาย สะพานรถไฟเก่าแก่อายุเกือบ 100 ปี ที่หลังพังถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 กำลังได้รับการซ่อมแซม
MGR Online - กระทรวงก่อสร้างเมียนมาเริ่มซ่อมสะพานอังวะ สะพานรถไฟเก่าแก่ข้ามแม่น้ำอิรวดี เชื่อมภาคมัณฑะเลย์กับสะกาย หลังพังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568

ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2568 สื่อหลายแห่งในเมียนมา ได้เผยแพร่ภาพกระบวนการเริ่มต้นซ่อมแซมสะพานอังวะเก่า หรือสะพานสะกาย สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำอิรวดีอายุเกือบ 100 ปี ซึ่งพังถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา

ตามภาพที่ถูกเผยแพร่ เห็นเรือปั้นจั่นกำลังยกโครงสร้างเหล็กกับส่วนคานของสะพานที่ถูกแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวจนหลุดจมลงไปในแม่น้ำอิรวดี กลับขึ้นไปวางบนแนวต่อม่อสะพานอีกครั้ง โดยด้านบนของสะพาน มีวิศวกรและช่างของกระทรวงก่อสร้างยืนกำกับอยู่


สะพานสะพานอังวะเก่า หรือสะพานสะกาย สร้างขึ้นโดยอังกฤษตั้งแต่ พ.ศ.2477 ตั้งแต่ยุคที่พม่ายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เคยถูกทำลายมาแล้วครั้งหนึ่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพอังกฤษเป็นฝ่ายทำลายทิ้งเองขณะล่าถอย ถอนทัพออกจากพม่า เพื่อตัดการไล่รุกของกองทัพญี่ปุ่น แต่หลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว สะพานอังวะก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2497

สะพานแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองอังวะ และห่างจากตัวเมืองมัณฑะเลย์ลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ12 กิโลเมตร บริเวณใกล้ปากแม่น้ำมิดแหง่ที่บรรจบกับแม่น้ำอิรวดี ฝั่งตรงข้ามเป็นเมืองสะกาย เมืองเอกของภาคสะกาย ทางตอนเหนือขึ้นไปจากสะพานอังวะเก่าประมาณ 600 เมตร เป็นที่ตั้งของสะพานอิรวดี หรือสะพานยะดะนาโบ่ง หรือสะพานอังวะใหม่ ที่สร้างขึ้นเพื่อให้รถยนต์ข้ามเมื่อปี 2551


ที่ตั้งของสะพานอังวะทั้งเก่าและใหม่ เป็นศูนย์กลางคมนาคมที่สำคัญในตอนกลางของเมียนมา เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างภาคและรัฐต่างๆอีกหลายแห่ง กับกรุงมัณฑะเลย์ เนปิดอว์ และย่างกุ้ง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 เมษายน หรือ 2 สัปดาห์หลังเกิดแผ่นดินไหว ทีมทหารช่างจากอินเดีย ซึ่งเป็นวิศวกรผู้ชำนาญงานด้านป้องกันภัยอันตรายและการรื้อถอน ได้ถูกส่งมาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงก่อสร้างของเมียนมา เพื่อตรวจสอบ ประเมินสภาพความเสียหายและวางแผนซ่อมแซมสะพานอังวะเก่า

รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับสะพานแห่งนี้ เพราะเป็นจุดเชื่อมเส้นทางการค้าระหว่างอินเดียกับเมียนมา ผ่านทางหลวงเอเซียหมายเลข 1 (AH 1) และทางด่วนย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ ข้ามแม่น้ำอิรวดี ไปยังด่านชายแดนตะมู-โมเรห์ ประตูการค้าชายแดนที่สำคัญของอินเดีย-เมียนมา


นอกจากนี้ สะพานอังวะเก่ายังเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของโครงการทางด่วน 3 ประเทศ ไทย-เมียนมา-อินเดีย ที่เป็นเส้นทางต่อเนื่องจากระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ EWEC(East-West Economic Corridor) ระยะทางประมาณ 1,600 กิโลเมตร เชื่อมจากชายแดนแม่สอด จังหวัดตากของไทย ผ่านเมียนมา ไปถึงด่านชายแดนตะมู-โมเรห์ เพื่อเข้าสู่รัฐมณีปุระ ของอินเดีย

ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าการซ่อมแซมสะพานอังวะเก่า จะต้องใช้ระยะเวลาเท่าใด






กำลังโหลดความคิดเห็น