xs
xsm
sm
md
lg

UN ประณามกองทัพพม่าโจมตีอย่างน้อย 243 ครั้งแม้ประกาศหยุดยิงหลังแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - สหประชาชาติประณามการโจมตีอย่างต่อเนื่องของกองทัพพม่าแม้จะมีการประกาศหยุดยิงหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่คร่าผู้คนไปเกือบ 3,800 คนก็ตาม

“ความรุนแรงที่ไม่หยุดหย่อนที่เกิดขึ้นกับพลเรือน แม้จะมีการประกาศหยุดยิงอย่างเป็นทางการหลังจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ย้ำถึงความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องมุ่งมั่น และปฏิบัติตาม การหยุดสู้รบทั่วประเทศอย่างแท้จริงและถาวร และกลับสู่การปกครองของพลเรือน”​ โวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าว

ความขัดแย้งหลายฝ่ายครอบงำพม่ามาตั้งแต่ปี 2564 เมื่อกองทัพของพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย แย่งชิงอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี

หลังจากแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด รัฐบาลทหารได้เข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านเรียกร้องการหยุดสู้รบชั่วคราวในวันที่ 2 เม.ย. เพื่อจัดส่งความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์

แต่โวลเกอร์ เติร์ก กล่าวว่านับตั้งแต่แผ่นดินไหวจนถึงวันที่ 29 เม.ย. กองทัพได้เปิดฉากโจมตีอย่างน้อย 243 ครั้ง รวมทั้งการโจมตีทางอากาศ 171 ครั้ง โดยมีรายงานว่าพลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 200 คน

“การโจมตีส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังการหยุดยิงมีผลบังคับใช้” ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าว และเสริมว่าแม้กองทัพจะขยายเวลาหยุดยิงแต่สุดท้ายการหยุดยิงก็สิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย.

“กองทัพจำเป็นต้องหยุดโจมตีพลเรือนและวัตถุพลเรือนทั้งหมดในทันที” โวลเกอร์ เติร์ก ยืนกราน

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประณามว่าการโจมตีอย่างไม่หยุดหย่อนส่งผลกระทบต่อประชากรที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักและเหนื่อยล้าจากความขัดแย้งหลายปีแล้ว และยังถูกซ้ำเติมด้วยผลกระทบจากแผ่นดินไหว

ประชาชนเกือบ 20 ล้านคนในประเทศต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โวลเกอร์ เติร์ก ระบุ และเน้นย้ำว่าประชาชนในพม่าต้องการอาหาร น้ำ และที่พักพิง

“พวกเขาต้องการและต้องมีสันติภาพและการคุ้มครอง กฎหมายระหว่างประเทศชัดเจนว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะต้องสามารถเข้าถึงผู้ที่ต้องการได้โดยไม่มีอุปสรรค” โวลเกอร์ เติร์ก ระบุ

เติร์กเรียกร้องให้กองทัพพม่าให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอย่างแรก ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและความต้องการด้านมนุษยธรรม และบรรลุการแก้ไขวิกฤตนี้อย่างสันติ

“แทนที่จะลงทุนในกองกำลังทหารอย่างเปล่าประโยชน์ ควรเน้นที่การฟื้นฟูประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมในพม่า” โวลเกอร์ เติร์ก ระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น