รอยเตอร์ - รัฐสภาอินโดนีเซียเตรียมให้สัตยาบันข้อตกลงที่ทำกับเวียดนามในสัปดาห์หน้า ที่กำหนดเขตแดนของเขตเศรษฐกิจจำเพาะของสองประเทศในทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาท สมาชิกรัฐสภาเผยวันนี้ (1)
ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางเดินเรือเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นแหล่งที่มาของความตึงเครียดระหว่างจีนและเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำประมงและการสำรวจพลังงานในพื้นที่
สมาชิกรัฐสภาในคณะกรรมาธิการรัฐสภาที่กำกับดูแลข้อตกลงดังกล่าว กล่าวกับรอยเตอร์ว่ารัฐสภาและรัฐบาลจะตกลงอย่างเป็นทางการในการให้สัตยาบันในวันจันทร์ โดยการให้สัตยาบันจริงจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้าหรือสัปดาห์ถัดไป
ข้อตกลงที่ลงนามในปี 2565 หลังจากเจรจามานานกว่าทศวรรษ กำหนดพิกัดของเขตเศรษฐกิจจำเพาะของ 2 ประเทศในทะเลดังกล่าว และรัฐสภาเวียดนามก็จำเป็นที่จะต้องให้สัตยาบันต่อข้อตกลงดังกล่าวนี้ด้วย
อินโดนีเซียหวังว่าข้อตกลงนี้จะช่วยลดการรุกล้ำน่านน้ำของชาวประมงเวียดนาม ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของความตึงเครียดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ด้านผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายระหว่างประเทศของอินโดนีเซียที่รัฐสภาปรึกษาหารือเมื่อสัปดาห์ก่อน กล่าวกับรอยเตอร์ว่าข้อตกลงดังกล่าวหมายความว่าทั้งสองประเทศเมินเฉยต่อการกล่าวอ้างสิทธิในทะเลของจีน
จีนอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด รวมถึงบางส่วนของเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม และน่านน้ำนอกหมู่เกาะนาตูอา ของอินโดนีเซีย
ในปี 2559 อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ตัดสินว่าการกล่าวอ้างของจีนไม่มีมูลความจริงตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่จีนไม่ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว และยืนกรานว่าจีนดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายในดินแดนของตน
รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวกับรอยเตอร์ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะกำหนดขอบเขตทางกฎหมายสำหรับชาวประมง และกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในทะเลอย่างชัดเจน
“สำหรับอินโดนีเซีย พรมแดนทางทะเลเสร็จสมบูรณ์แล้ว ดังนั้นเรามีกฎหมายที่แน่นอน ที่ทำให้เราสามารถลาดตระเวน ขุดเจาะน้ำมันได้” รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศของแดนอิเหนา กล่าว
การลงนามข้อตกลงทางทะเลกับจีนของอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้วได้ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ที่นักวิเคราะห์กล่าวว่าข้อตกลงนี้อาจตีความได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจุดยืนที่ยึดถือกันมายาวนานของจาการ์ตาในฐานะรัฐที่ไม่อ้างสิทธิในทะเลจีนใต้
กระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวซ้ำหลายหนว่าอินโดนีเซียเป็นรัฐที่ไม่อ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ และไม่มีเขตอำนาจศาลทับซ้อนกับจีน.