เอเอฟพี - รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติแผนการสร้างโรงงานซีเมนต์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ได้รับความคุ้มครอง ตามคำสั่งที่สำนักข่าวได้เห็นในวันอังคาร (29) ความเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดความกังวลในด้านสิ่งแวดล้อม
นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ลงนามในคำสั่งเมื่อเดือนม.ค. สำหรับการเช่าที่ดินขนาด 99 เฮกตาร์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเปรยลางให้กับบริษัท KP Cement เพื่อลงทุนในแผนตั้งโรงงานซีเมนต์ เอกสารระบุ
บริษัท KP Cement เป็นบริษัทที่มีความเกี่ยวพันทางการเมืองที่ดำเนินการขุดเหมืองหินปูนและหินอ่อนในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเปรยลางอยู่แล้ว ตามการรายงานของเว็บไซต์ข่าวด้านการอนุรักษ์ Mongabay ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้รายงานเรื่องการอนุมัติเป็นแห่งแรก
รายงานได้เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมที่ระบุว่าได้แสดงให้เห็นถึงการถางป่าในพื้นที่สัมปทาน
หินปูนเป็นส่วนประกอบสำคัญของซีเมนต์ ที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในการหล่อเลี้ยงภาคการก่อสร้างที่กำลังขยายตัวของกัมพูชา และยังเชื่อมโยงกับการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในประเทศด้วย
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเปรยลางครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดในภาคกลางของประเทศ และเป็นเป้าหมายของการทำเหมือง ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศระงับการออกใบอนุญาตการทำเหมืองใหม่ในป่าคุ้มครองในปี 2566
สำนักข่าวไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลได้ในทันทีเพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับใบอนุญาตหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากยกเลิกการระงับออกใบอนุญาตดังกล่าว
เปรยลาง ที่มีพื้นที่ 489,663 เฮกตาร์ เป็นป่าดิบชื้นที่ราบลุ่มที่เหลืออยู่ขนาดใหญ่ที่สุดในแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามข้อมูลของ Conservation International องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2548
นอกจากนี้ เปรยลางยังเป็นพื้นที่คุ้มครองใหญ่ที่สุดของกัมพูชา แม้ว่าจะมีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศก็ตาม
นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียดสำหรับโครงการนี้
“เรากังวลว่ามันจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่” เฮง กิมฮง กล่าว และเสริมว่าเขายังไม่เห็นการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใดๆ เกี่ยวกับโครงการนี้เลย
การตัดไม้อย่างผิดกฎหมายโดยไม่ถูกตรวจสอบทำให้พื้นที่ป่าของกัมพูชาลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตามการระบุของนักเคลื่อนไหว
ตั้งแต่ปี 2545-2566 ป่าดิบชื้นของกัมพูชาที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลกและเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนสำคัญ ได้หายไปถึง 1 ใน 3 ตามข้อมูลของ Global Forest Watch.