เอเอฟพี - เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษในพม่าผ่านมาแล้ว 1 เดือน โดยที่กองทัพยังคงระดมทิ้งระเบิดโจมตีอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการสงบศึกด้านมนุษยธรรม ขณะที่ผู้รอดชีวิตหลายพันคนยังคงอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราว
สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐฯ รายงานว่า แผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด ถือเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดที่มีศูนย์กลางอยู่บนผืนดินขนาดใหญ่ของพม่านับตั้งแต่ปี 2455 และคร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 3,800 คน ตามยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการที่ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน
ความเสียหายที่เกิดขึ้นในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ทั้งอพาร์ทเม้นต์ ร้านน้ำชา โรงแรม และศาสนสถาน ถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายอย่างหนัก
“ผ่านมา 1 เดือนแล้ว แต่เรายังคงยุ่งมากในการพยายามที่จะฟื้นฟูสิ่งที่เราสูญเสียไป ผมไม่ใช่คนเดียวที่ประสบปัญหา แต่ทุกคนรอบตัวผมก็เหมือนกัน” ชาวมัณฑะเลย์คนหนึ่งที่ขอไม่เปิดเผยชื่อ กล่าว
ในขณะที่ผู้คนหลายหมื่นคนยังคงไม่มีที่อยู่อาศัยขณะที่ฤดูมรสุมกำลังใกล้มาถึง ซึ่งหน่วยงานช่วยเหลือต่างๆ ได้เตือนถึงความท้าทายครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น
นาเดีย คูรี หัวหน้าสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) ประจำพม่า กล่าวว่า ผู้คนกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ขณะเดียวกัน เธอกล่าวว่าองค์กรกำลังวางแผนบรรเทาทุกข์ระยะเวลา 2 ปี เนื่องจากขนาดของแผ่นดินไหวครั้งนี้ใหญ่มากในทางภูมิศาสตร์
กองทัพพม่าที่จุดชนวนสงครามกลางเมืองจากการยึดอำนาจในการรัฐประหารปี 2564 ได้ประกาศหยุดยิงเพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. แต่นับตั้งแต่นั้น ผู้สังเกตการณ์จาก Centre for Information Resilience ระบุว่ารัฐบาลทหารดำเนินการโจมตีทางอากาศ 65 ครั้ง
การโจมตีเมื่อวันพุธทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน และได้รับบาดเจ็บ 8 คน ในหมู่บ้านนอกเมืองทาบายิน ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 100 กิโลเมตร
“ผมซ่อนตัวทันทีหลังได้ยินเสียงระเบิด แต่พี่สาวของผมไม่รอด เธอวิ่งออกไปด้วยความตกใจระหว่างการโจมตี เศษสะเก็ดระเบิดโดนศีรษะของเธอ เธอเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ” โก อ่อง อายุ 40 ปี กล่าว
จอ ติน อายุ 46 ปี กล่าวว่าเธอหลบอยู่ในโรงเลี้ยงวัวขณะที่เครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด 2 ลูก
“กองทัพประกาศหยุดยิงเพราะแผ่นดินไหว แต่พวกเขาก็ทำลายประกาศนั้นไปแล้ว และยังโจมตีพลเรือนอยู่ตลอด” จอ ติน กล่าว
ประชาชนชาวพม่าในฝั่งตะวันออกยังเผยว่าพวกเขาจำเป็นต้องออกจากบ้านเรือนของตนจากการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านที่พยายามเข้ายึดเมืองที่อยู่บนเส้นทางการค้าสำคัญไปยังไทยในช่วงหยุดยิง เนื่องจากการสงบศึกจะสิ้นสุดลงในวันพุธนี้
หลังจากสงครามที่กินเวลามานาน 4 ปี ประชากรครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในความยากจน และ 3.5 ล้านคนเป็นผู้พลัดถิ่นตั้งแต่ก่อนเกิดแผ่นดินไหว
คูรีกล่าวว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักบางแห่งต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระดับสูงอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นที่อยู่ของผู้พลัดถิ่นจากการสู้รบ
“เวลานี้ความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมยิ่งสูงขึ้นไปอีกเพราะแผ่นดินไหว” คูรี กล่าว
ก่อนเกิดแผ่นดินไหว ประเทศที่มีประชากรมากกว่า 50 ล้านคนแห่งนี้ก็ต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบจากการตัดความช่วยเหลือระหว่างประเทศ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ลดงบประมาณด้านมนุษยธรรมของวอชิงตัน
โครงการอาหารโลกระบุว่าพวกเขาจะต้องตัดความช่วยเหลือด้านอาหารที่จำเป็น จำนวน 1 ล้านคนตั้งแต่เดือนเม.ย. ที่เป็นผลจากการขาดแคลนเงินทุน.