xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทรัสเซียเดินหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพม่าแม้เพิ่งเผชิญแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - แผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะดำเนินต่อไปในพม่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและบางส่วนของประเทศได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวในเดือนมี.ค. บริษัทของรัฐบาลรัสเซียที่เป็นผู้นำโครงการเผยกับรอยเตอร์

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารและประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กเมื่อเดือนก่อน สามสัปดาห์ก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด ที่ทำให้หลายชุมชนพังราบและทำให้ประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 3,700 คน ที่ถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศในรอบหลายสิบปี

ข้อตกลงดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความร่วมมือในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก (SMR) ในพม่า ด้วยกำลังการผลิตเบื้องต้นที่ 110 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์ 2 เครื่อง ขนาด 55 เมกะวัตต์ ที่ผลิตโดยบริษัท Rosatom ที่เป็นบริษัทด้านพลังงานนิวเคลียร์ของรัฐบาลรัสเซีย

“แผ่นดินไหวเมื่อไม่นานนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแผนงานของ Rosatom ในพม่า Rosatom ยึดมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือระดับสากลสูงสุด ที่รวมถึงข้อกำหนดด้านความต้านทานแผ่นดินไหวที่เข้มงวด” บริษัทระบุ

อย่างไรก็ตาม Rosatom ปฏิเสธที่จะให้กรอบเวลาการก่อสร้างหรือรายละเอียดใดๆ ของสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกเสนอ ซึ่งจะใช้พลังงานจากเครื่องปฏิกรณ์ RITM-200N ที่ผลิตโดยบริษัท​

โฆษกรัฐบาลทหารพม่าไม่ได้ตอบรับการติดต่อจากรอยเตอร์เพื่อขอความคิดเห็น

การผลักดันพลังงานนิวเคลียร์ในพม่าเกิดขึ้นท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่ขยายตัว ที่เกิดจากการรัฐประหารในปี 2564 เมื่อกองทัพโค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี

รัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์และกลุ่มติดอาวุธที่ตั้งขึ้นใหม่เนื่องจากการรัฐประหาร ซึ่งรัฐบาลทหารสูญเสียพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ และต้องหันไปพึ่งพันธมิตรต่างชาติที่มีอยู่ไม่กี่ประเทศ รวมทั้งรัสเซีย

ความขัดแย้งที่ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ชายแดนติดกับจีนไปจนถึงชายฝั่งอ่าวเบงกอล ทำให้ประชาชนมากกว่า 3.5 ล้านคนต้องพลัดถิ่น และเศรษฐกิจพม่าที่ส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรมอยู่ในสภาพย่ำแย่

ปัจจุบัน พม่ากำลังพิจารณาทางเลือกในการระดมทุนสำหรับโครงการพลังงานนิวเคลียร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย “โครงการนี้อาจต้องใช้ทั้งเงินทุนของตนเองและเงินกู้” Rosatom ระบุ

ในสถานที่อื่นๆ เช่น บังกลาเทศ และอียิปต์ รัสเซียได้ให้ทุนสำหรับโครงการพลังงานนิวเคลียร์ผ่านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

ด้านเจ้าหน้าที่ไทยที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านซึ่งกำลังติดตามการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของพม่าอย่างใกล้ชิด ประเมินว่าโรงไฟฟ้าอาจสร้างขึ้นในกรุงเนปีดอ ตามการระบุของแหล่งข่าวความมั่นคงที่ได้รับข้อมูลเรื่องนี้ ส่วนพื้นที่ที่มีศักยภาพอีก 2 แห่ง ได้แก่พื้นที่ในภาคพะโค ทางตอนกลางของประเทศ และเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในภาคใต้ของพม่า ที่รัฐบาลทหารและรัสเซียได้ประกาศแผนที่จะสร้างท่าเรือและโรงกลั่นน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม พม่าตั้งอยู่บนจุดบรรจบของแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแผ่นดินไหวบ่อยที่สุดในโลก

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บาตาอัน ขนาด 621 เมกะวัตต์ ในฟิลิปปินส์ สร้างเสร็จในปี 2527 ด้วยมูลค่า 2,300 ล้านดอลลาร์ แต่ถูกระงับลงเนื่องจากภัยพิบัติเชอร์โนบิลในสหภาพโซเวียตใน 2 ปีต่อมา

ฟิลิปปินส์และประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ได้พยายามสำรวจพลังงานนิวเคลียร์หลายครั้ง แต่ความคืบหน้ายังจำกัด

อย่างไรก็ตาม เวียดนามได้กลับมาเดิมพันกับพลังงานนิวเคลียร์อีกหนหลังจากระงับโครงการไปในปี 2559

รัสเซียและพม่าได้ร่วมมือกันในภาคส่วนนี้มาหลายปีแล้ว โดยนักศึกษาชาวพม่ากำลังศึกษาพลังงานนิวเคลียร์และวิชาที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยรัสเซียภายใต้โควต้าของรัฐบาลตั้งแต่ปี 2562 ตามการระบุของ Rosatom

เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ส่วนประกอบของ SMR สามารถประกอบและขนส่งเป็นหน่วยเดียวไปยังสถานที่ที่จะติดตั้งได้ ตามข้อมูลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)

ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านพม่าของ International Crisis Group ระบุว่ารัฐบาลทหารพม่าให้ความสำคัญกับการส่งออกก๊าซธรรมชาติเพื่อหารายได้ ซึ่งก๊าซธรรมชาติสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศที่มีราคาถูกกว่า แผนนิวเคลียร์จึงไม่สมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจสำหรับรัฐบาลที่ขาดแคลนเงิน

“พลังงานนิวเคลียร์มีราคาแพงมาก และพม่าก็ไม่สามารถจ่ายไหว” ฮอร์ซีย์ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น